การรักษาอีหม่านให้มั่นคงเมื่อมุสลิมถูกอธรรม 2 (สู่อีมานที่มั่นคง 14)

Submitted by admin on Sat, 20/08/2016 - 11:27
 
 
การที่เราจะมีอีหม่านที่มั่นคงต่อพระผู้เป็นเจ้านั้นขึ้นอยู่กับการที่เรามีความเชื่อมั่นในบรรดาคุณลักษณะของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา และการที่เรารู้จักพระองค์ เพราะเป็นไปไม่ได้สำหรับมุอ์มินที่มีความสัมพันธ์กับอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ด้วยการเคารพภักดีในการสักการะ การปฏิบัติศาสนกิจหรือการเชื่อฟังหลักเกณฑ์ของศาสนาอิสลามที่มาจากพระองค์ ทั้งๆ ที่มุอ์มินเหล่านั้นยังไม่รู้จักอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา อย่างถูกต้องหรือลึกซึ้ง 
 
หลายเรื่องที่บรรดามุอ์มินตระหนักในด้านการปฏิบัติศาสนากิจ เช่น การละหมาด, การถือศีลอด หรือการบริจาคซะกาตก็ดี แต่ในแง่ของการเชื่อมั่นต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลาก็อาจจะขาดความศรัทธาที่มั่นคง 
 
ในวันนี้ผมจะยกสองตัวอย่างที่เป็นประเด็นเกี่ยวกับอีหม่านที่มั่นคงต่อพระผู้เป็นเจ้า
 
ตัวอย่างแรก เกี่ยวกับการที่เราเชื่อว่าอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลามีพระนามว่า “อัล-ร็อซซาก” (الرَّزَاقُ) มีความหมายว่า “ผู้ให้ริซกี, ผู้ทรงให้ปัจจัยยังชีพ, ผู้ทรงประทานทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตได้” 
 
อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลาทรงตรัสไว้ในสูเราะฮฺ อัซ-ซาริยาต ว่า 
﴿ وَمَا خَلَقۡتُ ٱلۡجِنَّ وَٱلۡإِنسَ إِلَّا لِيَعۡبُدُونِ ٥٦ مَآ أُرِيدُ مِنۡهُم مِّن رِّزۡقٖ وَمَآ أُرِيدُ أَن يُطۡعِمُونِ ٥٧ إِنَّ ٱللَّهَ هُوَ ٱلرَّزَّاقُ ذُو ٱلۡقُوَّةِ ٱلۡمَتِينُ ٥٨ ﴾ [الذاريات: ٥٦،  ٥٨]  
ความว่า “และข้ามิได้สร้างญิน และมนุษย์เพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่อเคารพภักดีต่อข้า  ข้าไม่ต้องการปัจจัยยังชีพจากพวกเขา และข้าก็ไม่ต้องการให้พวกเขาให้อาหารแก่ข้า แท้จริงอัลลอฮฺ คือผู้ประทานปัจจัยยังชีพอันมากหลาย ผู้ทรงพลัง ผู้ทรงมั่นคง” (อัซ-ซาริยาต : 56-58)
 
พระองค์ทรงสร้างมนุษย์และญินเพื่อให้เคารพภักดีต่อพระองค์เท่านั้น หน้าที่ของมนุษย์และญิน หรือทุกสรรพสิ่งที่อยู่ในโลกนี้ต้องเคารพภักดี ต้องประกาศสัจธรรมต่อพระผู้เป็นเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลาไม่ต้องการให้มนุษย์และญินนำปัจจัยยังชีพมาให้แก่พระองค์ และแท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ประทานปัจจัยยังชีพแด่ผู้อื่นและทรงเป็นผู้ที่มีความมั่นคง 
 
การที่เราเชื่อว่าอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา เป็นผู้ประทานปัจจัยยังชีพจะทำให้เราตระหนักในการทำมาหากินว่า ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดบนแผ่นดินนี้มีอำนาจหรือมีบารมีในการห้ามริซกี หรือที่จะขัดขวางริซกีที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ทรงกำหนดไว้ ตราบใดที่เรามีความสงสัยว่ามนุษย์คนหนึ่งคนใด หรือบุคคลที่มีความสามารถในการขัดขวางริซกีหรือปัจจัยยังชีพที่พระองค์ทรงกำหนดไว้กับเรา นั่นก็หมายถึงเรามีความศรัทธาที่บกพร่องต่อพระผู้เป็นเจ้า 
 
ถ้าเราเชื่อว่าอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ทรงกำหนดให้วันนี้ตอนเช้าต้องดื่มน้ำชากับขนมปัง หรือทานอาหารชนิดหนึ่งชนิดใด แต่กลับมาเชื่อว่าคนเหล่านั้นมีสิทธิให้การห้ามหรือขัดขวางริซกีที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ทรงกำหนดแก่เรา ความเชื่อเหล่านี้จะเป็นตัวทำลายอีหม่านที่มั่นคง ถ้าเราเชื่อว่าหัวหน้าหรือเจ้าของบริษัทที่เราทำงานอยู่มีสิทธิในการให้หรือห้ามริซกีของเรา มันหมายถึงว่าเรามีความบกพร่องต่อความเชื่อมั่นต่อพระผู้เป็นเจ้าของเรา ไม่มีคนหนึ่งคนใดที่สามารถขัดขวางริซกีของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา แม้กระทั่งขนมปังคำเดียวที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ให้เรารับประทานในวันนี้หรือพรุ่งนี้ หมายความว่า สิ่งที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลาทรงกำหนดย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน นั่นคือการที่เราต้องเชื่อในพระเดชานุภาพของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา 
 
ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของมนุษย์หลายคนที่บกพร่องต่อการปฏิบัติศาสนกิจก็ดี หรือในการดำเนินชีวิตด้วยการมีเนียตบนหลักการศาสนาอิสลามก็ดี อันเนื่องจากขาดความเชื่อมั่น ขาดความอีหม่านที่มั่นคงต่อพระผู้เป็นเจ้า ปัญหาที่ว่าไม่มีใครที่มีอำนาจในการแบ่งริซกีที่จะขัดขวางคำบัญชาว่า คนหนึ่งคนใดจะได้ปัจจัยยังชีพในเรื่องหนึ่งเรื่องใด นั่นเป็นงานของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ทั้งสิ้น 
 
ดังนั้นบรรดาพี่น้องมุสลิมในบางที่บางแห่งอาจจะทำงานที่โรงงานต้องการปฏิบัติศาสนกิจแต่หัวหน้าไม่ยอมให้เขาทำ เช่น การไม่ให้ละหมาด หรือไม่ให้แสดงความเป็นมุสลิม ไม่ให้แสดงความเป็นบ่าวต่อพระผู้เป็นเจ้า อย่างเช่นห้ามไม่ให้ไว้เครา ห้ามไม่ให้ละหมาด หรือห้ามไม่ให้ปฏิบัติในสิ่งที่ศาสนากำหนดไว้อย่างชัดเจน ด้วยความห่วง ด้วยความกลัวต่อปัจจัยยังชีพที่ต้องการจากหน่วยงานนี้ จึงทำให้เขาอ่อนแอต่อการกดดัน จะเห็นว่าเขาบกพร่องในการปฏิบัติศาสนกิจ เช่นไม่ยอมละหมาดเพราะหัวหน้าไม่ให้ละหมาด และเมื่อถามว่าทำไมไม่ละหมาด ก็จะอ้างว่าถ้าละหมาดก็ทำงานไม่ได้ ไม่มีเงินเดือน เมื่อไม่มีเงินเดือนก็ไม่มีกิน นั่นเป็นสิ่งที่มักจะถูกอ้างในทุกครั้งที่มีการเจรจาระหว่างบุคคลที่ต้องการจะยืนหยัดในหลักการศาสนาด้วยการอ้างว่ามีการเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า แต่การที่มีความเชื่อมั่นต่อเดชานุภาพของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลาผู้ทรงประทานริซกีหรือปัจจัยยังชีพแก่เรานั้นเป็นสิ่งที่น่าสงสัยไปเสียแล้ว 
 
มุอ์มินต้องเชื่อว่าไม่มีใครมีอำนาจในการขัดขวางริซกี ดังนั้นการที่เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าของเรามีอำนาจในการบริหารโลกนี้และวันปรโลก ในการที่จะจัดการทุกสิ่งทุกอย่างนั้นทำให้เราเชื่อมั่นว่าสิทธิของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ต้องมาก่อนสิทธิของทุกๆ คน 
 
หากทุกๆ คนบนโลกนี้ที่มีอำนาจหรือสิทธิที่เหนือกว่าเรา ก็จะเห็นว่าอำนาจและสิทธิของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ต้องมาก่อนมนุษย์คนนั้น อันเนื่องจากว่าอีหม่านและความเชื่อมั่นของเราต่อพระองค์จะมาก่อนความเชื่อมั่นหรือเชื่อฟังที่เราจะมีต่อมนุษย์คนหนึ่งคนใด และนั่นคืออีหม่านหรือความศรัทธา
 
ตัวอย่างที่สอง เช่นสถานการณ์ที่เรากำลังเห็นอยู่ เรากำลังเห็นผู้อธรรมหรือประเทศมหาอำนาจที่กำลังใช้ความรุนแรงมากมายกับประเทศที่อาจจะอ่อนแอหรือไม่มีพลัง ตามสถิติหรือตามความเป็นไปได้ ทุกคนก็จะเห็นว่าประเทศมหาอำนาจจะต้องชนะประเทศที่อ่อนแอหรือประเทศที่ไม่มีความสามารถที่เท่าเทียมกัน แต่ในเครื่องชั่งของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา บรรดามุอ์มินจะไม่มองเช่นนี้ มุอ์มินจะมองในพระเดชานุภาพของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา 
 
บรรดาผู้ศรัทธาที่มีความเชื่อมั่น ที่มีอีหม่านที่มั่นคงต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา เช่นในสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สงครามอัล-อะหฺซาบ (غزوة الاحزاب) ท่านนบีอยู่ที่เมืองมะดีนะฮฺ แต่บรรดามุชริกีน ผู้ปฏิเสธอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา รวบรวมชาวกุร็อยฺชฺ (قريش) พร้อมเผ่าคุซาอะฮฺ (خزاعة) และบรรดายะฮูดที่อยู่ในเมืองมะดีนะฮฺ เพื่อถล่มท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม บรรดาบุคคลเหล่านั้นได้ล้อมเมืองมะดีนะฮฺจากทุกทิศ โดยบรรดามุสลีมีนไม่สามารถออกจากเมืองมะดีนะฮฺได้ สงครามอัล-อะหฺซาบ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ อัล-ค็อนดัก (غزوة الخندق) เป็นสงครามที่ทำให้บรรดามุอ์มินีนหลายท่านมีความอึดอัดและความกลัวอย่างมากทีเดียว แต่บรรดามุอ์มินีนที่มีความตระหนักและความเชื่อมั่นต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา สามารถเพิ่มเติมอีหม่านของเขาในสถานการณ์เช่นนี้ อันเนื่องจากว่าพวกเขาเชื่อแล้วในพระเดชานุภาพของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ดังที่พระองค์ทรงตรัสไว้ในสูเราะฮฺอัล-อะหฺซาบ ว่า 
 
﴿ وَلَمَّا رَءَا ٱلۡمُؤۡمِنُونَ ٱلۡأَحۡزَابَ قَالُواْ هَٰذَا مَا وَعَدَنَا ٱللَّهُ وَرَسُولُهُۥ وَصَدَقَ ٱللَّهُ وَرَسُولُهُۥۚ وَمَا زَادَهُمۡ إِلَّآ إِيمَٰنٗا وَتَسۡلِيمٗا ٢٢ ﴾ [الاحزاب : ٢٢]  
ความว่า “และเมื่อบรรดาผู้ศรัทธาได้เห็นพรรคต่างๆ เหล่านั้น พวกเขา (มุอ์มิน) ได้กล่าวว่า “นี่คือสิ่งที่อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ได้สัญญาไว้แก่เรา และอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ตรัสไว้จริงแล้ว” และมันมิได้เพิ่มสิ่งใดให้แก่พวกเขา นอกจากการศรัทธาและการนอบน้อม” (อัล-อะหฺซาบ : 22)
 
เมื่อบรรดามุอ์มินีนเห็นกลุ่มชนต่างๆ ที่กำลังต่อต้านพระผู้เป็นเจ้า ต่อต้านบรรดามุอ์มินีน แทนที่จะกลัว หรือรู้สึกอ่อนแอ กลับเป็นคนที่มีอีหม่านเพิ่มขึ้น และบรรดามุอฺมินีนกล่าวว่า 
قَالُواْ هَٰذَا مَا وَعَدَنَا ٱللَّهُ وَرَسُولُهُۥ
การที่กลุ่มชนล้อมเมืองมะดีนะฮฺ การที่เรายังอยู่ในสภาพที่อ่อนแอและไม่สามารถกระทำอะไรได้ นั่นคือสิ่งที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลาและเราะสูลของพระองค์สัญญาไว้ ก็หมายถึงว่า อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลาและเราะสูลได้สัญญาไว้ เมื่อเราอ่อนแอ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลาจะทรงช่วยเหลือเราอย่างแน่นอน وَرَسُولُهُۥ وَصَدَقَ ٱللَّهُ وَرَسُولُهُۥۚ
 
และแน่นอนสัจธรรมและความจริงเป็นคำพูดของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลาและเราะสูลของพระองค์ และเหตุการณ์เหล่านั้นไม่ได้ทำอะไรแก่ผู้ศรัทธา นอกจากเพิ่มเติมอีหม่านของเขา เพิ่มเติมความนอบน้อมของเขาให้เกิดขึ้นในจิตใจ การที่เพิ่มอีหม่านที่มั่นคง ทั้งๆ ที่อยู่ในสภาพที่อ่อนแอ คืออีหม่านที่มั่นคงที่เราต้องสร้างในปัจจุบันนี้ เราอย่ามองในภาพรวม ภาพที่กำลังหลอกคนที่ไม่มีอีหม่านว่าขณะนี้คนแข็งแรงจะชนะคนอ่อนแอ อันนั้นในมาตรฐานของคนบนโลกนี้หรือทั่วไป แต่ในมาตราฐานของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา มุอ์มินถึงแม้ว่าจะอ่อนแอ หรือจะแข็งแรงกว่าคนที่ไม่ใช่มุอ์มิน คนที่มีความศรัทธาหรืออีหม่านที่มั่นคงต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลาจะแข็งแรงกว่าคนที่ไม่มีอีหม่านที่มั่นคงต่อพระองค์
 
สิ่งเหล่านี้ เป็นจุดสำคัญที่เราต้องมีจิตสำนึกอย่างสม่ำเสมอเพราะหากว่าเราไม่รักษาอีหม่านของเราในตรงนี้ แน่นอนแล้วความเชื่อมั่นต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ก็จะเป็นเพียงแค่คำพูดที่เราอ้างต่อตนเองว่าเราเชื่อในอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา แต่การที่เราเชื่อในพระองค์มันจะต้องมีความตระหนักและมีความเชื่อในพระเดชานุภาพของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา
 
 

เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 14, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ-อุมมุซัยฟุลลอฮฺ