การกระทำที่ดียิ่ง (สู่อีมานที่มั่นคง 1)

Submitted by admin on Wed, 08/04/2015 - 09:05

بسم الله الرحمن الرحيم، الحمد لله رب العالمين والعاقبة للمتقين ولا عدوان إلا على الظالمين، وأصلى وأسلم على أشرف الأنبياء والمرسلين، نبينا وحبيبنا المصطفى محمد صلوت الله وسلامه وبركاته عليه، وسبحانك اللهم لا علملنا إلا ما علمتنا إنك أنت العليم الحكيم، اللهم علمنا ما ينفعنا وارزقنا فهما، اللهم فقهنا في الدين وعلمنا التأويل، اللهم أرنا الحق حقا وارزقنا الاتباعه وأرنا الباطل باطلا وارزقنا الاجتنابه، اللهم آمين
 
พี่น้องผู้มีอีมานทั้งหลายครับวันนี้เราจะพบกับหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮฺวะซัลลัม บทหนึ่ง ซึ่งเป็นบทเรียนที่มีค่าสำหรับบรรดาผู้ที่มีอีมานเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตของเขา หะดีษบทนี้บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรียฺ รายงานจากท่านอบูซัร ญุนดุบ อิบนิญุนาดะฮฺ ท่านได้กล่าวว่า*
 
قُلْتُ يَا رَسُوْلُ اللهِ أَيُّ الأَعْمَالِ أَفْضَلُ ؟
“ท่านเราะสูลุลลอฮฺครับ การกระทำใดหรือครับที่มีความประเสริฐอย่างยิ่ง ?” 
قَالَ : الإِيمَانُ بِاللهِ وَالْجِهَادُ فِي سَبِيْلِهِ
ท่านนบีจึงตอบว่า “การกระทำอันดีงามอันมีความประเสริฐยิ่งก็คือ การศรัทธาต่ออัลลอฮฺและการญิฮาด (ต่อสู้) ในหนทางของอัลลอฮฺ”
قُلْتُ : أَيُّ الرِّقَابِ أَفْضَلُ ؟
ท่านอบูซัรจึงถามท่านนบีต่อว่า “แล้วทาสลักษณะใดครับที่มีความประเสริฐยิ่งที่เราจะปล่อยให้เป็นอิสระ ?” 
قَالَ : أَنْفَسُهَا عِنْدَ أَهْلِهَا وَأَكْثَرُهَا ثَمَنًا
ท่านนบีจึงกล่าวว่า “นั่นคือทาสที่มีคุณค่ามีราคาสูง” (กล่าวคือ ในยุคที่ยังมีทาส ซึ่งศาสนาอิสลามก็สนับสนุนให้มีการปล่อยทาสซึ่งเป็นการทำบุญ เป็นการทำกุศลในหนทางของอัลลอฮฺ) 
قُلْتُ : فَإِنْ لَمْ أَفْعَلْ ؟
ท่านอบูซัรจึงถามต่อว่า “โอ้ท่านนบีครับ  หากว่าฉันไม่สามารถที่จะกระทำการงานอันประเสริฐยิ่งเหล่านั้นได้ล่ะครับ ฉันควรทำอย่างไร ?" (ท่านอบูซัรฺได้ถามท่านนบี ถึงหนทางอื่นในการแสวงหาผลบุญ)
قَالَ : تُعِيْنُ صَانِعًا أَوْ تَصْنَعُ لأَخْرَقَ
ท่านนบีจึงตอบว่า “หากว่าท่านไม่สามารถที่จะปฏิบัติสิ่งดังกล่าวได้ ก็จงช่วยเหลือ (หรือพยายามที่จะช่วยเหลือ)คนที่มีงานในสังคม คนที่กำลังทำงาน (มีกิจกรรมมีภาระ) ถ้าเราไปสนับสนุนเขาจะเป็นสิ่งที่มีความประเสริฐอย่างยิ่งในอิสลาม หรือท่านไปช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีความสามารถในการทำงาน ไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมใดๆ ในการดำเนินชีวิตของเขา แล้วเราไปช่วยเขาในสิ่งที่เขาต้องการให้สำเร็จลุล่วง”
قُلْتُ : يَا رَسُوْلُ اللهِ أَرَأَيْتَ إِنْ ضَعُفْتُ عَنْ بَعْضِ العَمَلِ ؟
ท่านอบูซัรจึงถามต่อถึงการกระทำที่เขาสามารถปฏิบัติได้ว่า “ท่านเราะสูลลุลลอฮฺครับ แล้วถ้าหากว่าฉันไม่สามารถปฏิบัติสิ่งต่างๆ บางอย่างที่ฉันได้ถามท่านก่อนหน้านี้ได้ อันเนื่องจากความอ่อนแอทางด้านร่างกาย ทางด้านสุขภาพ เช่นนั้นฉันจะทำอะไรบ้าง ?”
قَالَ : تَكُفُّ شَرَّكَ عَنِ النَّاسِ فَإِنَّهَا صَدَقَةٌ مِنْكَ عَلَى نَفْسِكَ
ท่านจึงตอบว่า “สิ่งที่ท่านจะสามารถกระทำได้นั้น ถ้าหากว่ามีความอ่อนแอ ไม่มีความสามารถในการปฏิบัติสิ่งต่างๆ ที่ระบุไว้ข้างต้นได้ ท่านพึงระงับความเลวร้ายของท่านจากมนุษย์ทั้งหมด 
 
กล่าวคือ ถ้าหากท่านไม่สามารถอีมานต่ออัลลอฮฺ หมายถึงการปฏิบัติต่างๆ อันเนื่องมากจากการอีมานต่ออัลลอฮฺ ซึ่งมีหลายอยู่หลายระดับดังที่ท่านนบีได้กล่าวในการบันทึกของมุสลิม รายงานจากอบูฮุร็อยเราะฮฺว่า 
 
عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ ، قَالَ : قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : " الإِيمَانُ بِضْعٌ وَسِتُّونَ ، أَوْ : بِضْعٌ وَسَبْعُونَ ،
شُعْبَةً ، أَعْلاهَا شَهَادَةُ أَنْ لا إِلَهَ إِلا اللَّهُ ، وَأَدْنَاهَا إِمَاطَةُ الأَذَى عَنِ الطَّرِيقِ ، وَالْحَيَاءُ شُعْبَةٌ مِنَ الإِيمَانِ "
“อีมานนั้นมีมากกว่าหกสิบอันดับหรือระดับ หรือเจ็ดสิบ, ระดับสูงสุดของอัลอีมานนั่นคือการยืนยันว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ, และระดับต่ำสุดก็คือการขจัดสิ่งที่เป็นอันตรายออกไปจากถนนหนทาง, และความละอายนั้นเป็นระดับหนึ่งของอัลอีมาน ”
 
ท่านนบีแนะนำท่านอบูซัรว่าหากไม่สามารถปฏิบัติภาคต่างๆ หรือระดับต่างๆ ของอัลอีมาน คือไม่สามารถทำญิฮาดหรือปล่อยทาสหรือช่วยคนอื่นได้ อย่างน้อยเราก็ต้องระงับความเลวร้ายของเรา ความชั่วที่เราจะทำกับคนอื่นนั้น ท่านนบีบอกว่าจงระงับสิ่งเหล่านั้นจากพี่น้องของเรา นั่นเป็นการเศาะดะเกาะฮฺที่เราจะบริจาคให้แก่คนอื่นและเป็นการทำกุศลเช่นเดียวกัน”
 
เราจะสังเกตเห็นว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  ได้ชี้แนะถึงกระบวนการการปฏิบัติตัวในหนทางของอัลลอฮฺ มีการทำงานในด้านศาสนาหรือการทำงานเพื่อแสวงบุญในหนทางของอัลลอฮฺหลายรูปแบบ ท่านนบีก็เสนอแนะสิ่งแรกที่มีความประเสริฐคือให้เราอีมานต่ออัลลอฮฺอย่างสมบูรณ์ โดยที่อีมานนั้นมิใช่เพียงแค่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอะลา เพราะเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคนที่จะเชื่อถือศรัทธาเพียงอย่างเดียว แต่อีมานที่อิสลามต้องการจากเรานั้นคือความเชื่อในภาคปฏิบัติด้วย ฉะนั้น อะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺจะยืนยันว่าอีมานนั้นคือ القول والعمل - การกล่าวยืนยันและปฏิบัติเพื่อยืนยันเช่นเดียวกัน
 
แล้วท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  ก็ได้ชี้แนะถึงการกระทำที่มีความประเสริฐเช่นเดียวกันนั่นคือการญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ ดังที่มีหะดีษอีกบทหนึ่งจากท่านมุอาซ อิบนุญะบัล ในบันทึกของอัตติรมีซียฺท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  ได้กล่าวว่า 
(( رَأْسُ الأَمْرِ الإِسْلَامُ، وَعُمُودُهُ الصَّلَاةُ، وَذُرْوَةُ سَنَامِهِ الجِهَادُ فِي سَبِيْلِ اللهِ((  رواه الترميذي
“ภารกิจที่สำคัญที่สุดของมนุษย์นั้นคืออัลอิสลาม, เสาหลักของมันนั้นคือการละหมาดและภารกิจอันสูงสุดในมันนั้นก็คือการทำญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ” 
 
นั่นคือการญิฮาดเพื่อให้ดำรัสของอัลลอฮฺนั้นสูงส่ง ถ้าไม่สามารถทำได้ หากมีทรัพย์สมบัติที่จะไปซื้อทาสแล้วปล่อยนั่นก็จะเป็นการดี เป็นการกระทำที่มีความประเสริฐสำหรับท่าน 
 
กระบวนการต่างๆ ที่ท่านนบีจะแนะนำให้เราปฏิบัตินั้นขึ้นอยู่กับความสามารถของเรา สุดท้ายอบูซัรจึงถามท่านนบีถึงสิ่งที่เขาจะปฏิบัติโดยไม่ต้องมีทรัพย์สมบัติ เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้อย่างง่าย ท่านนบีจึงบอกว่าเพียงแค่ช่วยเหลือผู้อื่นที่ขาดความสามารถอย่างเช่นคนตาบอดไม่สามารถไปมัสญิด หรือคนที่ต้องการอาหารถ้าเราไปช่วยเหลือเขานั้นก็เป็นความประเสริฐสำหรับอีมาน สำหรับการปฏิบัติในด้านศาสนาของเรา
 
ท่านอบูซัรจึงถามถึงลักษณะของบุคคลที่อาจจะมีความอ่อนแอมากในภาคปฏิบัติของเขา หรือไม่สามารถทำอะไรมากๆ ได้ท่านนบีจึงสอนจึงระบุคุณสมบัติที่มีความประเสริฐในมันโดยการสั่งใช้ให้ระงับความเลวของเรา นิสัยที่ไม่ดีของเรา มารยาทที่ไม่ดีของเรา ถ้าเราระงับไว้เก็บไว้ไม่ไปทำกับคนอื่น ไม่แสดงกับคนอื่น หมายถึงว่าถ้าหากว่าเราเป็นบุคคลที่อาจใช้คำหยาบหรือด่าคนอื่น ท่านนบีบอกว่าเพียงแค่เราระงับคำด่า ระงับนิสัยที่ไม่ดีสิ่งเลวร้ายที่มีอยู่ ณ จิตใจของเรานั้นก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับเรา และเป็นการบริจาค เป็นเศาะดะเกาะฮฺสำหรับเรา
 
จะสังเกตได้ว่าศาสนาอิสลามนั้นจะมีหลายประตูในการทำกุศลหรือแสวงบุญ และนั่นคือหนทางของศาสนาอิสลาม สำหรับผู้ศรัทธานั้นทุกคนจะมีโอกาสบรรลุเป้าหมายในชีวิตของเขาด้วยความตั้งใจ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะศาสนาอิสลามของเรานั้นเป็นศาสนาที่ง่าย เราไม่ต้องการไปหาสื่อเพื่อไปถึงพระผู้เป็นเจ้าของเรา เราสามารถปฏิบัติความดี เราสามารถกระทำอิบาดะฮฺ ทำกุศลได้โดยไม่ต้องผ่านคนอื่น โดยไม่ต้องผ่านสื่อไปสู่อัลลอฮฺ เป็นหนทางที่ง่ายดายสำหรับบรรดาผู้ศรัทธาทุกคน และนั่นเป็นหนทางที่ท่านนบีได้แนะนำแก่ท่านอบูซัรเพื่อเป็นแนวทางชีวิตของเขาในการปฏิบัติความดีงามในหนทางของอัลลอฮฺ
 
เหล่านี้เป็นบทเรียนที่ดีมากจากสุนนะฮฺของท่านนบี เพื่อที่จะได้เป็นธรรมนูญแห่งชีวิตของเราว่า “โอกาสในการกระทำความดี การบรรลุถึงความดีในอัลอิสลามนั้นง่ายดาย และมีอยู่เสมอ”
وصلى الله على نبينا محمد وعلى آله وصحبه وبارك وسلم والحمد لله رب العالمين
 

*عَنْ أَبِي ذَرٍّ جُنْدُبٍ بْنِ جُنَادَةٍ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : قُلْتُ يَا رَسُوْلُ اللهِ أَيُّ الأَعْمَالِ أَفْضَلُ ؟ قَالَ : الإِيمَانُ بِاللهِ وَالْجِهَادُ فِي سَبِيْلِهِ، قُلْتُ : أَيُّ الرِّقَابِ أَفْضَلُ ؟ قَالَ : أَنْفَسُهَا عِنْدَ أَهْلِهَا وَأَكْثَرُهَا ثَمَنًا، قُلْتُ : فَإِنْ لَمْ أَفْعَلْ ؟ قَالَ : تُعِيْنُ صَانِعًا أَوْ تَصْنَعُ لأَخْرَقَ، قُلْتُ : يَا رَسُوْلُ اللهِ أَرَأَيْتَ إِنْ ضَعُفْتُ عَنْ بَعْضِ العَمَلِ ؟ قَالَ : تَكُفُّ شَرَّكَ عَنِ النَّاسِ فَإِنَّهَا صَدَقَةٌ مِنْكَ عَلَى نَفْسِكَ، متفق عليه

เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 1, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ-อุมมุซัยฟุลลอฮฺ