การทบทวนในชีวิตของมุสลิมนั้นต่างจากมิติการทบทวนชีวิตของศาสนาอื่น เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการทบทวนชีวิตในรูปแบบสากลหรือของศาสนาอื่นนั้นก็มี อย่างการคิดบัญชี การประเมินผล บางศาสนาก็ละเอียด สำหรับมิติของการทบทวนในอิสลามที่เราใช้ว่า มุฮาซะบะฮฺ (مُحَاسَبَة) นั้นไม่มีในศาสนาอื่นแน่นอนแน่นอน เพราะการทบทวนชีวิตของมุสลิมนั้นคือ การทบทวนเพื่อโลกหน้า (อาคิเราะฮฺ)
ซึ่งมิตินี้ในรูปแบบอื่นนั้นไม่มี ไม่ว่าจะเป็นบริษัท การคิดบัญชี การประเมินผล เรื่องเหล่านี้เขาไม่คำนึง อนาคตในโลกหน้าของเขาจะเป็นอย่างไร เขาไม่คำนึงว่ารายได้ที่มาจากสิ่งหรือแหล่งฮะรอมมันจะส่งผลกระทบต่อชีวิตในโลกหน้าอย่างไร
ศาสนาอิสลามของเราได้ให้ความสำคัญมากในเรื่องการทบทวนชีวิตของมุสลิมทุกคน จนกระทั่งเป็นคำสั่งสอนสำคัญที่ถูกระบุในอัลกุรอานหลายๆ ครั้งทีเดียว อิสลามเราไม่มีเนื้อหาอันใดที่จะนำเสนอดีกว่าอัลกุรอานหรือหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม หรือภาคปฏิบัติของบรรดาสะสะฟุศศอลิหฺ ซึ่งเป็นบรรพชนตัวอย่างที่ประพฤติตัวใกล้เคียงและสอดคล้องกับหลักการอัลอิสลามมากที่สุด ทั้งนี้ การที่เราศึกษาเรื่องราวนี้มิได้หมายความว่าผู้ที่ศึกษาไม่รู้ข้อมูลอัลกุรอาน หะดีษที่จะนำเสนอ แต่ข้อมูลที่จะเสนอล้วนเป็นที่รู้จักและศึกษากันมาแล้ว แต่การทบทวนนี้จะนำเนื้อหาจากอัลกุรอานและหะดีษที่เรารู้แล้วมาบรรจุลงในตารางของการสำรวจชีวิตเพื่อให้ตัวบทเหล่านั้นมีประสิทธิผล ไม่ใช่เป็นเพียงหลักฐานที่ท่องจำหรืออ่านอย่างเดียว
การเป็นนักวิชาการถ้าสอนแต่หลักฐานวิชาการอย่างเดียวไม่ได้ติดตามผลงาน ผลการพัฒนาของสมาชิก ลูกศิษย์ ที่ได้ศึกษาเรื่องศาสนา เช่น ศึกษาศาสนา 30 ปี แต่ชีวิตไม่ได้พัฒนานั้นเป็นการหลอกลวง เป็นการรับรองความชั่วร้ายที่ปรากฎในชีวิตที่ศึกษาเรื่องศาสนาให้คนเข้าใจหรือรู้สึกว่ามีความเพียงพอแล้วให้ศึกษาอย่างเดียว ไม่ต้องพัฒนาชีวิต
การทบทวนชีวิตมักถูกกล่าวอยู่หลายครั้งเพื่อให้ตัวผู้พูดเองและพี่น้องประเมินผลงานของพวกเรา ชีวิตของพวกเราได้ก้าวหน้าสู่ความถูกต้องของหลักการที่เป็นแบบฉบับ เป็นตัวอย่างที่เราตั้งไว้ข้างหน้าหรือเป็นเพียงตุ๊กตาหรือรูปภาพที่แขวนไว้ซึ่งอาจไม่มีความหมายเลยในชีวิตของเรา การทบทวนนี้จะทำให้เราสามารถวัดความห่างระยะของช่วงระหว่างเรากับหลักการ เรากับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เรากับซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
ทั้งนี้ การพัฒนาชีวิตหรือการทบทวนชีวิตมิใช่เพียงทบทวนชีวิตในระดับส่วนตัว แต่เป็นการทบทวนเพื่อพัฒนาชีวิตให้ขยายผล ขยายการสำรวจตนเองให้มีประสิทธิภาพกับคนใกล้เคียงด้วยเพราะมุสลิมที่มีความเที่ยงธรรม แต่ถ้าหากเราใช้ความเที่ยงธรรมนั้นกับตนเองเท่านั้นก็ถือเป็นมุสลิมที่ทรยศต่อหลักการด้วย เมื่อเรารู้ความจริงความถูกต้องแต่ก็ไม่เคยปฏิบัติให้คนอื่นเห็น มันเป็นตัวอย่างให้เปรียบเทียบให้ทบทวนให้แก้ไข ฉะนั้นเป็นเรื่องที่น่าจะเข้าใจได้สำหรับพี่น้อง ผู้พูดมีเป้าหมายให้พี่น้องไม่ใช่เพียงการปรับปรุง แก้ไข เปลี่ยนแปลงเฉพาะตัวเองอย่างเดียว แต่ต้องการให้ความดีที่พี่น้องได้รับนั้นเป็นความดีที่ปรากฏในครอบครัวของท่าน ญาติพี่น้องของท่าน ชุมชนของท่าน ตลอดจนสังคมทั้งหมด หากท่านมีบารมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งหมด
ในซูเราะฮอัลฮัชรฺ ซึ่งเป็นชื่อหนึ่งของวันกิยามะฮฺ เมื่อมนุษย์ทั้งหลายฟื้นคืนชีพแล้วอัลลอฮฺก็จะบังคับให้มนุษยชาติทั้งหลายชุมนุมรวมตัวในสถานที่แห่งวันกิยามะฮฺเพื่อคิดบัญชี ตอนท้ายของซูเราะฮฺนี้ มีอายะฮฺที่คุ้นหู สำหรับคนที่อ่านอัลกุรอานหรือละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิด บรรดาอิมามมักอ่านซูเราะฮฺหรืออายะฮฺนี้ เป็นอายะฮฺหลักเมื่อพูดถึงในการทบทวนชีวิต อายะฮฺนี้ส่งผลกระทบต่อการเข้าใจเป้าหมายในการใช้ชีวิตของเราที่เกี่ยวกับวันปรโลก เพราะแน่นอนมุสลิมที่มองวันกิยามะฮฺ หรือคนอื่นที่ไม่มองถึงวันกิยามะฮฺเหมือนมุสลิมข้อแตกต่างย่อมชัดเจน คืออายะฮฺที่ว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آَمَنُوا اتَّقُوا اللَّهَ وَلْتَنْظُرْ نَفْسٌ مَا قَدَّمَتْ لِغَدٍ وَاتَّقُوا اللَّهَ إِنَّ اللَّهَ خَبِيرٌ بِمَا تَعْمَلُونَ
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ยพวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และทุกชีวิตจงพิจารณาดูว่าอะไรบ้างที่ตนได้เตรียมไว้สำหรับ พรุ่งนี้ (วันกิยามะฮฺ) และจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงรู้ดียิ่งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” (ซูเราะฮฺอัลฮัชรฺ 59 : 18)
แต่การเตรียมซึ่งการตักวาภายในจิตใจได้อย่างไรนี่คือเรื่องใหม่ที่อายะฮฺได้พูดถึง คำว่า “วันพรุ่งนี้” มิได้หมายถึงวันกิยามะฮฺจะมาถึงในวันพรุ่งนี้ และในอีกอายะฮฺหนึ่งได้กล่าวถึง เมื่อวันกิยามะฮฺมาถึงอัลลอฮฺได้ทำลายทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้แล้ว ทรัพย์สิน สิ่งต่างๆ ที่มันสง่างามบนโลกนี้ได้ถูกทำลายให้พังหมด
كَأَن لَّمْ تَغْنَ بِالْأَمْسِ
เสมือนไม่เคยสง่างามมาเมื่อ วันวาน (โลกดุนยา) (ซูเราะฮฺยูนุส 10:24)
อัลกุรอานได้ให้นัยยะของเวลา เมื่อพูดถึงเรื่องกิยามะฮฺ คือความสั้นของระยะเวลาที่มันห่างระหว่างเรา อดีตและอนาคต ถ้าเราจะมองถึงมิติแห่งเวลามันยาวมาก ตัวอย่างเช่น อดีตของโลกนี้หรืออดีตของมหาจักรวาลนี้ นับเป็นพันๆ ล้านปี ถ้าพูดถึงทั่วไป แต่อัลกุรอานได้สรุปเวลานี้ทั้งหมด อายุของโลกนี้ จักรวาลทั้งหมด เมื่อถึงวันกิยามะฮฺแล้ว เสมือนเมื่อวันวานนี้ไม่เคยมีอะไรเลย เมื่อกล่าวถึงโลกปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่ วันกิยามะฮฺก็ยังไม่เกิดขึ้น อัลลอฮฺ จะกล่าวถึงวันกิยามะฮฺ คือวันพรุ่ง โลกนี้ในอัลกุรอานหมายถึงอดีต และโลกหน้าคืออนาคต ระหว่างอดีตกับอนาคต ถ้าเรามองด้วยมิติของคนธรรมดา อดีตและอนาคตจะสรุปได้อย่างไรในเวลาเพียง 2 วัน แต่อัลกุรอานบอกไว้ในสองวัน โลกนี้ทั้งหมดคือเมื่อวาน และโลกกิยามะฮฺคือวันพรุ่ง ฉะนั้นชีวิตของเรามีเพียง 2 วัน
ถ้าระยะเวลาของท่านในชีวิตมีเพียง 2 วัน ท่านจะทำอย่างไร เวลาสั้นๆ อย่างนี้เราจะทำอย่างไร แต่ในความเป็นจริงเราก็รู้ อัลกุรอานก็รู้ว่าเวลาจริงมันไม่ได้สั้น แต่เมื่อกุรอานได้พูดถึง โดยนำความสั้นของเวลามากล่าว คือเพื่อให้มนุษย์เข้าใจและไม่ละเลย ประวิงเวลาคิดว่าวันกิยามะฮฺอีกไกลโดยที่ไม่ต้องเกรงกลัว ให้พิจารณาถึงสิ่งที่ได้เตรียมไว้สำหรับวันกิยามะฮฺ หมายถึง ยังมีระยะเวลาที่ให้เราพิจารณา คิดบัญชีว่าเราได้ทำอะไรดีๆ บ้าง หรือได้ทำอะไรชั่วๆ บ้าง การพิจารณาของสิ่งเหล่านี้ ความชั่วที่ทำไป ความดีที่ได้ทำอยู่ หรือจะทำ นี่คือที่อุละมาอฺเรียกว่า มุฮาซะบะฮฺ
เรื่องของการทบทวนชีวิตเป็นตำแหน่งของอีมานที่ผู้ศรัทธาต้องมี แต่ตำแหน่งของมุฮาซะบะฮฺจะมาตอนไหน อุละมาอฺบอกว่า มันต้องมีอาซีมัตในการเตาบัต คือความตั้งใจในการกลับเนื้อกลับตัวก่อน
ก่อนที่จะมีมุฮาซะบะฮฺ จะต้องมีการตั้งใจกลับเนื้อกลับตัว มันเป็นไปไม่ได้ หากคนที่จะพิจารณาทบทวนชีวิตจะสามารถถึงตำแหน่งนี้ การได้คิดบัญชีละเอียด เคยทำอะไรมาบ้าง ประเมินตนเองอย่างเคร่งครัดว่าตนเองดีหรือไม่นั้น มันเป็นไปไม่ได้คนที่จะถึงตำแหน่งนี้ เว้นแต่ต้องได้ผ่านมาแล้ว ซึ่งตำแหน่งแห่งการเตาบัตกลับเนื้อกลับตัวอย่างตั้งใจแล้ว
แต่สำหรับคนที่ยังไม่ได้เตาบัตหมายถึง ใช้ชีวิตเหมือนเดิม อยู่อย่างเดิม ไม่ได้ตั้งใจเตาบัต คนนี้จะมีโอกาสได้ทบทวนชีวิตไหม ตอบว่าไม่มี ฉะนั้นผู้ที่ต้องการทบทวนชีวิตตนเองต้องมีการเตาบัต (กลับเนื้อกลับตัว) มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิต ท่านต้องเปลี่ยนชีวิตของท่านสู่ความถูกต้อง
เรียบเรียงจาก ทบทวนชีวิต (ไฟล์เสียง), ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี, 3 ธ.ค.49 โดย อุมมุญันนะฮฺ
วีดีโอ/ไฟล์เสียง :
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- Log in to post comments
- 434 views