คุณสมบัติของผู้ตาม

Submitted by dp6admin on Thu, 05/09/2013 - 16:47
ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
28 เชาวาล 1434 (4 ก.ย.56)

ในทุกสังคมจะมีบุคคลที่เป็นผู้นำจำนวนน้อย เพราะคุณสมบัติของผู้นำจะต้องเข้มข้นและมีมาตรฐานสูง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบรรลุคุณสมบัติเหล่านี้ จึงทำให้ในสังคมทุกระดับมีผู้ตามมากกว่าผู้นำโดยปริยาย

 และเนื่องจากความรับผิดชอบของผู้นำนั้นถูกจับจ้องจากผู้ตาม(ด้วยเจตนาดีหรือมีอคติก็ตาม)  ทำให้ความรับผิดชอบของผู้ตามไม่ค่อยมีการกล่าวถึงมากนัก แม้กระทั่งผู้นำเผด็จการก็มักจะพูดถึงคุณสมบัติของผู้ตามประการเดียวคือการเชื่อฟังผู้นำเท่านั้น และหากไม่มีการกล่าวถึงรายละเอียดของเรื่องนี้ตามหลักการอิสลาม จะส่งผลให้เกิดฐานผู้ตามที่ไม่มีบรรทัดฐานในการตามผู้นำหรือแม้กระทั่งในการเลือกผู้นำของตนเองในอนาคต ทั้งๆ ที่คุณสมบัติของผู้ตามนั้นเป็นข้อมูลที่ถูกระบุในอัลกุรอานและหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อย่างชัดเจน จึงขอเรียบเรียงคุณสมบัติของผู้ตามใน 5 ประการ ดังต่อไปนี้

ประการแรก ผู้ตามจะต้องเตรียมเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์และกำหนดท่าทีของตนบนพื้นฐานแห่งความสุจริตและความเลื่อมใสต่อความถูกต้อง อันจะนำมาซึ่งความประจักษ์ชัดในจุดยืนและองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติของผู้นำด้วยเช่นเดียวกัน ดังที่ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ในซูเราะฮฺยูซุฟ อายะฮฺที่ 108 ว่า

قُلْ هَـٰذِهِ سَبِيلِي أَدْعُو إِلَى اللَّـهِ ۚ عَلَىٰ بَصِيرَةٍ أَنَا وَمَنِ اتَّبَعَنِي

 “(โอ้มุฮัมมัด) จงกล่าว นี่คือแนวทางของฉัน ฉันเรียกร้องสู่พระผู้เป็นเจ้าด้วยความประจักษ์ชัด ฉันและผู้ปฏิบัติตามฉัน”  
 
“ความประจักษ์ชัด” ในอายะฮฺนี้คือ บะศีเราะฮฺ ซึ่งในอัลกุรอานมีความหมายว่า ตัวบทหลักฐานหรือข้อชี้แนะจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ดังเช่นอายะฮฺที่ 104 ของซูเราะฮฺอัลอันอาม อัลลอฮฺตรัสว่า 
قَدْ جَاءَكُم بَصَائِرُ مِن رَّبِّكُمْ
“แท้จริงบรรดาหลักฐานจากพระเจ้าของพวกเจ้านั้นได้มายังพวกเจ้าแล้ว”
 
เพราะฉะนั้นความประจักษ์ชัดที่จะต้องเกิดขึ้นในการนำและการตามคือ ความประจักษ์ชัดที่เกิดจากองค์ความรู้อันมีตัวบทหลักฐานหรือเหตุผลจากตัวบทหลักฐานเท่านั้น และความประจักษ์ชัด(บะศีเราะฮฺ)นี้เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถแสวงหาได้หรืออาจเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงโปรดประทานให้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ แม้นว่าเขาไม่แสวงหาก็ตาม แต่อัลลอฮฺจะให้ทางนำและความกระจ่างสำหรับคนที่มีเจตนารมณ์ที่ดีต่อความถูกต้อง และมีความพร้อมที่จะตามความถูกต้องเสมอ 
 
คุณสมบัตินี้เป็นเงื่อนไขสำคัญในการขจัดอคติหรือความคิดที่ไร้เหตุผล อันจะทำให้ผู้นำและผู้ตามสามารถเลือกข้างความถูกต้องได้ตลอดไป โดยไม่มีสิ่งที่จะเบี่ยงเบนความรู้สึกและความตระหนักต่อสัจธรรม ศาสนาอิสลามจึงบัญญัติให้ผู้ศรัทธาดำรงไว้ซึ่งสัจธรรม แม้นว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นกับตัวเรา คนใกล้เคียง หรือผู้เกี่ยวข้องกับเราก็ตาม 
 
ในขณะเดียวกันความเลื่อมใสในความจริงและความตั้งใจในการปฏิบัติตามสัจธรรมอันประจักษ์ชัดนั้นก็หาใช่เป็นเพียงข้ออ้าง แต่จำต้องมีเงื่อนไขรองรับ ซึ่งเงื่อนไขนั้นมี 3 ประการสำคัญ คือ 
1- จะต้องพิสูจน์ได้ว่าผู้เลื่อมใสต่อความจริงนั้นไม่เคยเข้าข้างตัวเขาเอง คนใกล้ตัว หรือพวกพ้อง
2- ผู้เลื่อมใสต่อความจริงนั้นจะต้องปฏิบัติหน้าที่แสวงหาความถูกต้องด้วยการศึกษาค้นคว้าจากตัวบทหลักฐานโดยตรงหรือผ่านผู้รู้ที่มีความบริสุทธิ์ซื่อตรง
3- เมื่อมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น ที่กลับก็จะต้องเป็นสิ่งที่อ้างอิงได้จากหลักการศาสนาและองค์ความรู้ของปราชญ์ที่อิงกับหลักการศาสนา 
 
 
ประการที่ 2 ผู้ตามจะต้องมีเหตุผลในการตามผู้นำและในการไม่ตามผู้นำ ซึ่งไม่อนุญาตให้ยอมรับหรือปฏิเสธผู้นำตามอำเภอใจ หรือด้วยเหตุผลที่ไม่มีข้ออ้างอิงกับหลักการศาสนา 
 
การตามผู้นำต้องมีเหตุผล 3 ประการ
 
1- ตามผู้นำที่ประกาศตามคำสั่งสอนของศาสนา เพราะผู้นำจะมีสิทธิ์ที่ต้องได้รับการเชื่อฟังก็ต่อเมื่อเขาเหล่านั้นเชื่อฟังคำสั่งสอนของศาสนา และการเชื่อฟังคำสั่งสอนของศาสนานั้นเป็นประเด็นที่สามารถพิสูจน์ได้ในคำพูดและภาคปฏิบัติของผู้นำในทุกมิติ เช่น การพูดจา แต่งกาย จรรยามารยาท วิถีชีวิต  ลักษณะการดำรงชีวิตของครอบครัว เช่น ภรรยาและคนใกล้ชิด ตลอดจนรูปแบบการทำงานศาสนา ที่ต้องสอดคล้องกับคำสั่งสอนของอิสลามอย่างสม่ำเสมอ 
 
2- จะต้องเป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับด้วยผลงานทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นการบรรยาย บทความ งานเขียน หรือผลงานต่างๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม เพราะถ้าพิสูจน์คุณสมบัตินี้ไม่ได้ หรือผู้ตามไม่ให้ความสำคัญในการพิสูจน์ผลงานของผู้นำ จะทำให้ผู้ที่ถูกสถาปนาเป็นผู้นำมีเป็นบุคคลไร้ความรู้ไร้ประสบการณ์ ไร้มารยาท และอาจไร้ศาสนาและศีลธรรมไปด้วย
 
3- วิสัยทัศน์ของผู้นำจะต้องกว้างขวางและมีความสอดคล้องกัน เช่น เป็นผู้นำที่ให้ความรู้ทุกแขนง ให้แนวคิดในการปฏิบัติและแก้ไขทุกปัญหาในสังคม และเป็นผู้นำที่ใส่ใจคนในสังคมทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ วัยรุ่น คนชรา หรือสตรีก็ตาม นี่คือวิสัยของผู้นำของสังคมทั่วไป แต่สำหรับผู้นำเฉพาะด้านหรือเฉพาะเรื่อง ก็จำต้องตรวจสอบวิสัยทัศน์ของเขาในแขนงหรือสาขาที่ตนจะถูกเลือกให้เป็นผู้นำ ซึ่งไม่บังควรอย่างยิ่งที่จะให้ผู้นำเฉพาะเรื่องมาเป็นผู้นำของสังคมทั่วไป หรือเอาเหตุผลละเอียดอ่อน มาโจมตีโครงการที่ใหญ่โต หรือนำมุมมองวิสัยทัศน์ที่จำกัดมาหักล้างวิสัยทัศน์ที่กว้างขวาง 
 
ผู้นำเหล่านี้ก็จะต้องได้รับการพิสูจน์ด้วยคุณสมบัติทางด้านความรู้และผลงาน แต่สำหรับผู้ตามที่มิได้เลือกผู้นำตามคุณสมบัติที่ระบุไว้ข้างต้น ก็นับว่าเป็นผู้ตามที่ไม่มีเหตุผลในการเลือกผู้นำของตนเอง และย่อมก่อให้เกิดความผิดพลาดในการเลือกผู้นำ ได้ผู้นำที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมหรือสนับสนุนผู้นำที่ไม่ดี หรืออาจมีท่าทีต่อต้านผู้นำดีที่มีคุณสมบัติข้างต้นก็เป็นได้ ซึ่งทุกวันนี้การมีผู้นำที่มีคุณสมบัติไม่ครบหรือไม่มีคุณสมบัติของผู้นำเลย ล้วนแล้วเป็นผลงานของผู้ตามที่ไม่มีบรรทัดฐานในการเลือกผู้นำของตนเองทั้งสิ้น 
 
แต่โปรดสังเกตว่าผู้นำที่มีคุณสมบัติที่ดีนั้น ไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติที่ครบถ้วนทุกประการของคุณงามความดี ผู้ตามบางคนก็คาดหวังผู้นำที่ไม่มีความผิดหรือไม่มีข้อบกพร่องเลย เมื่อเจอผู้นำที่มีความดีหลายประการ แต่มีข้อบกพร่องเพียงบางประการ ก็ไม่ประเมินความดีกับความไม่ดีของผู้นำนั้น และรีบสรุปว่าความบกพร่องบางประการนั้นเป็นข้อตำหนิที่ทำให้ผู้นำนั้นสิ้นสภาพการเป็นผู้นำ แลจะถูกต่อต้านจากผู้ตามที่ไร้บรรทัดฐานและเหตุผล
 
ประการที่ 3 ผู้ตามต้องยอมรับสถานภาพแห่งการเป็นผู้ตาม และไม่ร่วมกับผู้ตามคนอื่นๆ เพื่อเปลี่ยนท่าทีของพวกตนให้กลายเป็นผู้นำของผู้นำ เพราะผู้ตามนั้นมีหน้าที่ตรวจสอบว่าผู้นำใช้บรรทัดฐานที่ถูกต้องในการนำผู้คนหรือไม่ หากผู้นำมีความคลาดเคลื่อนในการทำหน้าที่ ผู้ตามต้องใช้ระบบชูรอของอิสลามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กล่าวคือ ปรึกษาหารือกับผู้นำและผู้ตามที่เกี่ยวข้อง ในการหาทางออกและวิธีแก้ไขให้ดีที่สุด มิใช่นำคำพูด พฤติกรรม หรือยกพรรคพวกและใช้อิทธิพลของตนเองในการข่มขู่ กดขี่ หรือบังคับผู้นำในปฏิบัติทัศนคติของผู้ตาม ดังกล่าวนี้เป็นรูปแบบสังคมป่าเถื่อนที่ไม่มีระบอบการปกครอง และจะนำมาซึ่งความวุ่นวายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ 
 
สำหรับผู้นำ จำต้องยอมรับในระบอบชูรอและเสียงส่วนมากของคำปรึกษาหากไม่ขัดกับหลักการศาสนาอย่างชัดเจน และสำหรับผู้ตามนั้น ย่อมมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและในการตักเตือนผู้นำในเชิงลับหรือเปิดเผย แต่ไม่มีสิทธิในการประณามประจานหรือต่อต้านผู้นำแต่อย่างใด 
 
 
ประการที่ 4 ผู้ตามจะต้องมีความรอบคอบก่อนจะตำหนิติเตียนผู้นำ เพราะบางครั้งผู้ตามไม่มีความรู้เพียงพอที่จะเข้าใจเหตุผลของผู้นำในการกระทำบางประการ เช่น การที่ท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบ ไม่พอใจการที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทำสัญญากับชาวกุเรชที่ตำบลฮุดัยบียะฮฺ ในปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ 6 หรือ 7 เนื่องจากท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบ มิได้มองไกลเหมือนท่านนบี ที่มองถึงประโยชน์ของสัญญานี้ในแง่ของการเผยแผ่อิสลามที่จะสามารถทำได้ทั่วคาบสมุทรอาหรับ แต่หลังจากนั้นท่านอุมัรก็ได้สำนึกผิดที่คัดค้านท่านนบีในครั้งนั้นและพยายามทำความดีตลอดชีวิตเพื่อลบล้างข้อผิดพลาดในการคัดค้านผู้นำในครั้งนั้นโดยมิได้ศึกษาอย่างรอบคอบ
 
สาเหตุที่ทำให้ผู้ตามบางคนรีบตำหนิ คัดค้าน หรือประจานผู้นำนั้น คือการที่ไม่พยายามสอบถามเหตุผลของผู้นำในสิ่งที่ผู้ตามไม่พอใจก่อนที่จะนำไปประจาน หรือตำหนิติเตียน และไม่เป็นข้ออ้างสำหรับผู้ตามว่าไม่สามารถเข้าถึงผู้นำได้ เพราะการเป็นผู้ตามที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบและตักเตือนผู้นำต้องมีมานะและความพยายามในการหาโอกาสและจังหวะที่เหมาะสมในการเตือนผู้นำ
 
 
ประการที่ 5 ผู้ตามจะต้องเลื่อมใส บริสุทธิ์และหวังดีต่อผู้นำเสมอ ท่านอิมามอะหมัดได้กล่าวไว้ว่า “หากข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้ามีคำวิงวอนที่อัลลอฮฺจะตอบรับอย่างแน่นอน ข้าพเจ้าจะให้คำวิงวอนนั้นได้แก่ผู้นำของข้าพเจ้า เพราะสิ่งดีๆ ที่ได้แก่ผู้นำนั้นจะเป็นผลดีต่อสังคมทั่วไป” เพราะฉะนั้นผู้ตามจะต้องมีความบริสุทธิ์ในการช่วยเหลือผู้นำด้วยการให้ข้อตักเตือนต่างๆ เป็นข้อตักเตือนที่ผู้นำน้อมรับได้ ไม่ใช่ข้อตักเตือนที่มีกำแพงและอุปสรรคในการนำไปใช้ เช่น เตือนผู้นำในเชิงเสียหายด้วยการใส่ร้ายใส่ความ หรือทำให้หมดความเชื่อถือศรัทธาในตัวผู้นำ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ตามหลักรัฐศาสตร์ถือว่าเป็นการกบฎผู้นำและโทษอาจถึงขั้นประหารชีวิต โดยแน่นอนการสร้างกระแสในสังคมให้ผู้นำหมดความน่าเชื่อถือ เป็นการสร้างฟิตนะฮฺให้สังคมไม่มีผู้นำ และสังคมที่ไม่มีผู้นำนั้นจะใกล้กับความหายนะมากกว่าสังคมที่มีผู้นำ และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ในหะดีษบันทึกโดยอิมามมุสลิมว่า
 
“ผู้ใดที่มายังประชาชาติของฉันขณะเขาสมัครสมานสามัคคีเป็นปึกแผ่น ต้องการให้เขาแตกแยก ก็จงประหารชีวิตเขา แม้นว่าจะเป็นใครก็ตาม”
 
ซึ่งหะดีษนี้จะบ่งถึงความสำคัญของการรักษาความสามัคคีในสังคมและกำหนดทิศทางที่ชัดเจนในการลดความขัดแย้งและขจัดความแตกแยกให้หมดสิ้นไปจากสังคม และการสร้างกระแสให้สังคมต่อต้านผู้นำนั้นเป็นการก่อให้เกิดความแตกแยก ความอ่อนไหวในสังคมใหญ่ และหากสังคมมุสลิมเป็นเช่นนั้นก็จะขาดความเป็นพี่น้อง ความเป็นเอกภาพ และความเป็นประชาชาติอิสลามเดียวกัน
 
 
 
 
 
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
คุณสมบัติของผู้ตาม