กุนูตในละหมาดวิตร

Submitted by dp6admin on Sat, 04/04/2009 - 00:44

เรียบเรียงจากการบรรยายของ เชคริฎอ อะหมัด สมะดี

จะกุนูตเมื่อใด ?

 ตำแหน่งของดุอาอฺกุนูตมี 2 ทรรศนะ ทรรศนะหนึ่งคือ หลังอ่านอัลกุรอานของร็อกอัตสุดท้ายก่อนรุกัวอฺ ซึ่งเป็นรายงานหลายหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ที่ได้สอนซอฮาบะฮฺ แต่มีอีกทรรศนะหนึ่งซึ่งอ้างหะดีษที่ท่านนบีได้สอนซอฮาบะฮฺให้กุนูตหลังเงยขึ้นจากรุกัวอฺ สรุปว่ามีทั้ง 2 แบบจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  แต่การกุนูตก่อนรุกัวอฺมีกระแสหะดีษมากกว่า หากต้องการกุนูตก่อนรุกัวอฺหรือหลังรุกัวอฺแบบใดแบบหนึ่งตลอดไปก็ทำได้ เพราะต่างเป็นรูปแบบที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ปฏิบัติ (มัซฮับหะนะฟียฺกุนูตก่อนรุกัวอฺเสมอ ส่วนมัซฮับชาฟิอียฺกุนูตหลังรุกัวอฺเสมอ และต่างก็ว่าคนที่ทำไม่ตรงกับมัซฮับของตนเอง เรื่องนี้เกิดจากการไม่ศึกษาซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ให้รอบคอบ)

ก่อนละหมาดวิตรฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  และซอฮาบะฮฺไม่ได้ประกาศล่วงหน้าว่าวันนี้จะกุนูตก่อนหรือหลังรุกัวอฺ จำเป็นที่มะมูมต้องระวังว่าอิมามจะปฏิบัติอย่างไร มีซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ที่เรามักละทิ้งคือ มะมูมต้องใจเย็นในการตามอิมาม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  บอกว่า “มะมูมที่แข่งกับอิมาม อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  จะเปลี่ยนให้ศีรษะเขาเหมือนลาในวันกิยามะฮฺ” ส่วนอิมามต้องตักบีรอย่างสมดุล เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ละหมาดแถวหลังและมองเห็นอิมาม ต้องอาศัยการฟังเสียง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  กล่าวว่า “แท้จริงอิมามถูกแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติตาม เมื่ออิมามตักบีร ท่านจึงตาม” หมายถึงอิมามตักบีรเสร็จเรียบร้อยแล้ว มะมูมจึงตักบีรตาม (ติดต่อกัน)

อุละมาอฺมีทรรศนะที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการกุนูตในวิตรฺ คำว่า “กุนูต” มี 2 ความหมายในภาษาอาหรับและหลักการศาสนา ความหมายหนึ่ง “กุนูต” แปลว่า ดุอาอฺ ส่วนอีกความหมายคือ ยืนละหมาดนาน ดังที่อัลลอฮฺ   ตรัสว่า

قَانِتِينَ وَقُومُواْ لِلّهِ ……
ความว่า “... และจงยืนละหมาดเพื่ออัลลอฮฺโดยนอบน้อม” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2/238)

และในหะดีษของท่านนบี   ที่ว่า “ผู้ใดตื่นละหมาดกลางคืนด้วย 100 อายะฮฺ จะถูกบันทึกว่าเป็นกอนิตีน”

 สำหรับในการละหมาดมีกุนูตทั้ง 2 ความหมาย ดังนั้นเราต้องทำความเข้าใจว่าเมื่อไรจะใช้ความหมายใด เพราะมีอุละมาอฺบางท่านเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องนี้ มีรายงานหะดีษจากท่านอนัส อิบนุ มาลิก ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ได้กุนูตในละหมาดซุบฮฺตลอดชีวิต มีเพียงอิมามชาฟิอียฺท่านเดียวที่เข้าใจว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ยกมือขอดุอาอฺกุนูตหลังรุกัวอฺในร็อกอัตที่สองของละหมาดซุบฮฺ โดยตีความคำว่า กุนูต ในหะดีษนี้เปรียบเทียบกับการขอดุอาอฺหลังรุกัวอฺในวิตรฺ เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ในตัวบทหะดีษไม่มีคำว่า “ดุอาอฺ” มีเพียงคำว่า “กุนูต” เท่านั้น

 อุละมาอฺส่วนมากมีความเห็นว่า “กุนูต” ในหะดีษนี้ไม่ใช่ดุอาอฺ แต่หมายถึง “การละหมาดยาวนาน” ในเวลาซุบฮฺที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ไม่เคยละทิ้ง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับหะดีษอื่น ๆ และอัลกุรอานที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงกล่าวถึงความสำคัญของการละหมาดซุบฮฺว่า

إِنَّ قُرْآنَ الْفَجْرِ كَانَ مَشْهُوداً  أَقِمِ الصَّلاَةَ لِدُلُوكِ الشَّمْسِ إِلَى غَسَقِ اللَّيْلِ وَقُرْآنَ الْفَجْرِ

ความว่า “จงดำรงการละหมาดตั้งแต่ตะวันคล้อยจนพลบค่ำ (ทุกเวลา) และการละหมาดซุบฮฺ ซึ่งมีการอ่านอัลกุรอาน แท้จริงการอ่านอัลกุรอานในละหมาดซุบฮฺจะมีสักขีพยาน (หมายถึงให้อ่านอัลกุรอานอย่างยาวนาน)” (อัลอิสรออฺ 17/78)

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  เคยอ่านซูเราะฮฺอันนะหฺลิ อัลอิสรออฺ อัลอะอฺรอฟ และอันนิซาอฺในร็อกอัตเดียวของละหมาดซุบฮฺ นอกจากนี้ ลูกชายของซอฮาบะฮฺท่านหนึ่งจะขอดุอาอฺในร็อกอัตที่สองของละหมาดซุบฮฺ ซอฮาบะฮฺท่านนั้นจึงบอกว่า “ลูกเอ๋ย นี่มันบิดอะฮฺ” อุละมาอฺยืนยันกับทรรศนะของซอฮาบะฮฺท่านนี้

ต้องตั้งข้อสังเกตว่าท่าน อนัส อิบนุมาลิก ผู้รายงานหะดีษข้างต้นเป็นซอฮาบะฮฺรุ่นเด็ก(เมื่อท่านนบีเสียชีวิต ท่านอนัสมีอายุเพียง 15 ปี) ซึ่งไม่มีซอฮาบะฮฺอาวุโสคนใดรายงานว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ขอดุอาอฺกุนูตในละหมาดซุบฮฺ เป็นไปไม่ได้ว่าอนัสจะรู้มากกว่าซอฮาบะฮฺท่านอื่น แสดงว่า “กุนูต” ในหะดีษนี้คือท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ละหมาดซุบฮฺยาว หรือไม่ได้ละหมาดสั้นอย่างสม่ำเสมอ หากมีความจำเป็นต้องละหมาดสั้นในบางครั้งสามารถทำได้

กุนูตวิกฤต อุละมาอฺตั้งชื่อว่า “กุนูตุนนะวาซิล” คือปัญหาของประชาชาติอิสลาม เมื่อพี่น้องมุสลิมเดือดร้อน ท่านนบีบัญญัติให้อิมามรณรงค์ขอดุอาอฺในการละหมาดทุกวักตู (ถ้าทำได้) หรือเลือกบางวักตูก็ได้ โดยการกุนูตก่อนหรือหลังรุกัวอฺในร็อกอัตสุดท้าย ขอดุอาอฺให้อัลลอฮฺช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมและลงโทษผู้อธรรม

กุนูตในวิตรฺ อุละมาอฺมีความขัดแย้งว่าหะดีษต่อไปนี้ศ่อฮี้ฮฺหรือไม่ นั่นคือหะดีษของท่านหะซัน อิบนุ อะลียฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา บันทึกโดยอิมามนะซาอียฺ อบูดาวูด และติรมิซียฺ ว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ได้สอนฉันให้กล่าวดุอาอฺกุนูต* และซอละวาตนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม”

*ดุอาอฺกุนูตในละหมาดวิตรฺ

โอ้อัลลอฮฺ ขอได้โปรดนำทางฉัน ให้อยู่กับบรรดาผู้ที่อยู่ในทางนำแล้วด้วยเถิด

اللَّهُمَّ اهْدِنِيْ فِيْمَنْ هَدَيْتَ 

และขอให้ฉันมีความปลอดภัย กับบรรดาผู้ที่มีความปลอดภัย

وَعَافِنِيْ فِيْمَنْ عَافَيْتَ ،

และขอพระองค์ทรงช่วยเหลือฉัน กับหมู่ที่พระองค์ทรงช่วยเหลือพวกเขา

وَتَوَلَّنِيْ فِيْمَنْ تَوَلَّيْتَ ،

และขอพระองค์ทรงให้ความจำเริญแก่ฉัน ในสิ่งที่ทรงประทานแก่ฉัน

وَبَارِكْ لِيْ فِيْمَا أَعْطَيْتَ ،

และขอพระองค์ทรงคุ้มครองฉันให้พ้นจากความเลวร้ายที่พระองค์กำหนดทรงกำหนดไว้แล้ว

>وَقِنِيْ شَرَّ مَا قَضَيْتَ ،

แท้จริงพระองค์เท่านั้นที่ทรงมีสิทธิกำหนดกฎสภาวะและตัดสินผู้อื่น โดยไม่มีผู้ใดมีอำนาจกำหนดและตัดสินต่อพระองค์ท่าน**

فَإِنَّكَ تَقْضِيْ وَلاَ يُقْضَى عَلَيْكَ 

และแท้จริงไม่มีใครจะต่ำต้อย หากเขาคือผู้ที่พระองค์สนับสนุนช่วยเหลือ

وَإِنَّهُ لاَ يَذِلُّ مَنْ وَالَيْتَ

และไม่มีใครจะมีเกียรติสูงส่ง หากพระองค์ถือว่าเขาเป็นศัตรู (ไม่มีใครจะได้
รับชัยชนะ ถ้าหากเป็นศัตรูกับอัลลอฮฺ  )

وَ لاَ يَعِزُّ مَنْ عَادَيْتَ

มหาจำเริญแด่พระองค์ ผู้ทรงอภิบาลพวกเรา และพระองค์ทรงสูงส่ง

تَبَارَكْتَ رَبَّنَا وَتَعَالَيْتَ

ไม่มีความปลอดภัยและทางรอดใด ๆ นอกจากไปสู่พระองค์ท่านเท่านั้น

لاَ مَلْجَأَ وَلاَ مَنْجَا مِنْكَ إِلاَّ إِلَيْكَ .

     (**หมายถึง อัลลอฮฺทรงมีอำนาจในการกำหนดกฎสภาวะ และผู้อื่นไม่สามารถกำหนดขอบเขตไม่ให้พระองค์เข้ามาได้ อำนาจของพระองค์ไม่มีขีดจำกัด นี่คืออะกีดะฮฺของมุสลิม อัลลอฮฺ   ทรงเป็นผู้ตัดสินและกำหนดเพียงองค์เดียว ดังที่พระองค์ตรัสในอัลกรอานว่า لَا يُسْأَلُ عَمَّا يَفْعَلُ وَهُمْ يُسْأَلُونَ
 “พระองค์จะไม่ทรงถูกสอบถามในสิ่งที่พระองค์ทรงปฏิบัติ แต่พวกเขาต่างหากที่อัลลอฮฺย่อมมีสิทธิสอบสวน” (อัลอัมบิยาอฺ 21/23))

 อุละมาอฺส่วนมากมีความเห็นว่าหะดีษนี้อยู่ในระดับที่หะซัน (พอใช้ได้) จึงมีทรรศนะว่าการกุนูตในวิตรฺเป็นที่กระทำได้ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นว่าหะดีษนี้ไม่ศ่อฮี้ฮฺ ถือว่าเรื่องกุนูตในวิตรฺไม่มีตัวบทที่ศ่อฮี้ฮฺ จึงไม่ควรทำ แต่เป็นทรรศนะที่อ่อน เพราะมีการรณรงค์กุนูตในวิตรฺจากซอฮาบะฮฺมากมาย เป็นไปไม่ได้ที่ทรรศนะของซอฮาบะฮฺจะไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  สรุป ทรรศนะที่มีน้ำหนักมากกว่าคือ ให้กุนูตในละหมาดวิตรฺ

แต่ก็มีความเห็นที่แตกต่างกันอีกว่า (1) ให้กุนูตในวิตรฺตลอดปี เพราะไม่มีหลักฐานกำหนดว่าต้องกุนูตเฉพาะบางช่วงเวลา หรือ (2) กุนูตตลอดเดือนรอมฎอน หรือ (3) กุนูตเฉพาะ 15 คืนสุดท้ายของรอมฎอน สรุป ทรรศนะที่มีน้ำหนักคือ ให้กุนูต (คนเดียว) ตลอดปีได้

ส่วนการกุนูตเป็นญะมาอะฮฺ มีหลักฐานจากท่านนบี   เรื่องกุนูตวิกฤต (ในละหมาดฟัรฎู) เป็นญะมาอะฮฺ ส่วนการกุนูตวิตรฺเป็นญะมาอะฮฺไม่มีหลักฐานจากท่านนบี   แต่มีจากซอฮาบะฮฺ รายงานส่วนมากบอกว่าซอฮาบะฮฺจะกุนูตญะมาอะฮฺในวิตรฺเฉพาะ 15 คืนสุดท้าย สรุป ทรรศนะที่มีน้ำหนักคือ กุนูตวิตรฺเป็นญะมาอะฮฺตั้งแต่คืนที่ 15 ของเดือนรอมฎอน

 

  qunut1a.jpg   qunut1b.jpg

>>> กุนูตในละหมาดวิตร (ในเดือนรอมฎอน) 2


วันที่ลงบทความ : 8 ต.ค. 49
ที่มา : เรียบเรียงจาก  2549-09-10 การละหมาดกิยามุลลัยลฺ 2 (บ้านตานีพันธ์)