ฉลองอีดใหญ่แต่ไม่สนุก

Submitted by dp6admin on Fri, 13/11/2009 - 19:18

ทั้งๆที่อีดุ้ลอัฎฮาเป็นอีดใหญ่ของประชาชาติอิสลาม เนื่องจากความประเสริฐแห่งเวลาและกิจกรรมที่มีการปฏิบัติในช่วงอีดอันมีความสำคัญทางศาสนกิจสำหรับมุสลิมนั้น แต่สภาพอีดปีนี้คงจะไม่มีรสชาติแห่งความสนุกสนานและความสำราญตามที่ศาสนาอนุโลมให้ ก็เพราะสังคมมุสลิมในเมืองไทยยังคงอยู่ในช่วงไว้ทุกข์สำหรับพี่น้องมุสลิมที่สูญเสียและเสียหายจากคลื่นสึนามิอันเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงยิ่งต่อสังคมมุสลิมในเมืองไทย ถึงแม้ว่าสังคมมุสลิมไทยจะมีความเสียใจต่อความเสียหายของพี่น้องมุสลิมต่างประเทศในเหตุการณ์สงครามต่างๆ ซึ่งคนส่วนมากมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว(แต่หาใช่เช่นนั้นไม่) แต่เหตุการณ์คลื่นสึนามิได้กระทบความรู้สึกของพี่น้องมุสลิมในประเทศไทยโดยเฉพาะ เนื่องจากภาพความเสียหายที่ได้สัมผัสเองหรือเห็นตามโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ จึงทำให้ความเศร้าโศกต่อเหตุการณ์นี้เป็นความเศร้าต่อเรื่องใกล้ตัว



    ในโอกาสอีดุ้ลอัฎฮาเราคงจะไม่บกพร่องในการปฏิบัติศาสนกิจและเฉลิมฉลองในวันอันประเสริฐตามพระบัญชาของอัลลอฮฺ และทำกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น ทำความดีในสิบวันแรกของซุลฮิจญะฮฺ ถือศีลอดวันอะรอฟาต(วันที่ 9 ซุลฮิจญะฮฺ) ละหมาดวันอีด และเชือดกุรบาน แต่เป็นสิ่งที่พลาดไม่ได้คือการที่เราต้องระลึกถึงพระมหากรุณาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ทรงให้เรามีชีวิตอยู่และได้รับอุทาหรณ์จากคลื่นสึนามิให้เป็นบทเรียนที่จะชี้แนะทางนำอันถูกต้องต่อชีวิตของเรา ดังนั้นผมขอสรุปบทเรียนและข้อคิดเกี่ยวกับสถานการณ์ดังนี้



    1. โลกมุสลิมอยู่ในสภาพเสมือนคนมึนเมาเพลิดเพลิน ไม่มีการระลึกถึงอดีตของประชาชาติในยุคที่รุ่งเรือง ไม่มีความพร้อมในปัจจุบันที่ยากลำบาก และไม่มีการเตรียมตัวต่ออนาคตที่เร้นลับ ทำให้ประชาชาติอิสลามประสบภัยพิบัติหลายชนิด ที่วางตัวเหมือนลักษณะของคนมึนเมา ไม่สามารถทรงตัวหรือควบคุมอิริยาบถและพฤติกรรมของตนได้

    เชคอะหมัด ยาซีน อุสต๊าซอับดุลอะซีซ อัรรอนติซี แกนนำของหะมาสถูกทหารอิสรออีลยิงสังหาร อันเป็นความเสียหายอย่างมากสำหรับอนาคตของพี่น้องมุสลิมในประเทศปาเลสไตน์ ประเทศอิรักถูกรุกรานและยึดครองจากสหรัฐอเมริกาที่ได้ก่อความเสียหายอย่างมหาศาลแก่ประเทศชาติอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และก่อนหน้านี้ประเทศอัฟฆอนิสตานที่ปกครองด้วยรัฐบาลฏอลีบันอันเป็นรัฐอิสลามอย่างแท้จริงก็ถูกรุมกินโต๊ะจากประเทศมหาอำนาจที่ไม่หวังดีต่อโลกมุสลิมและอิสลาม ทรัพยากรแผ่นดินและอำนาจของโลกมุสลิมถูกควบคุมด้วยกลุ่มมาเฟียมหาอำนาจระดับรัฐบาลประเทศหรือโจรสากลที่ทำให้โลกมุสลิมนั้นอยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างจากยุคจักรวรรดินิยม แต่ในยุคนี้ถึงแม้ว่าทุกประเทศในโลกมุสลิมมีเอกราช แต่ระบอบของโลกาภิวัฒน์ทำให้คำตัดสินใจของโลกมุสลิมไม่ได้ขึ้นอยู่กับมุสลิม

    คลื่นสึนามิเป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่อัลลอฮฺทรงกำหนดและบัญชาให้เกิดขึ้นเพื่อแสดงพระเดชานุภาพของพระองค์ให้บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาต่อพระองค์สำนึกตัว และให้บรรดาผู้ศรัทธาต่อพระองค์พินิจพิจารณาสภาพของตนเองให้รอบคอบ ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้มนุษยชาติทั้งมวลมีความรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ปลอดภัย และความมั่นคงของเทคโนโลยีพร้อมอำนาจที่ถูกสะสมด้วยอาวุธ เศรษฐกิจ และกำลังทหาร ย่อมช่วยไม่ได้ถ้าหากต้องเผชิญกับภัยพิบัติอย่างสึนามิ

    แต่บทเรียนที่สำคัญสำหรับผู้ศรัทธา คือการที่ผู้ศรัทธานั้นต้องกลับมาเชื่อในพระอำนาจ พระเดชานุภาพและพระบารมีของอัลลอฮฺ ที่จะทำให้ผู้ศรัทธาเชื่อมั่นในความสามารถของพระองค์ในการช่วยเหลือบรรดาผู้ศรัทธา คลื่นสึนามิจะทำให้ผู้ศรัทธาเชื่อเหลือเกินว่าประเทศมหาอำนาจถึงแม้ว่าจะยิ่งใหญ๋มั่งคั่งเพียงใด แต่เมื่อพระบัญชาจากอัลลอฮฺกำหนดให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียหายหรือได้รับชัยชนะก็จะเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์ มิใช่ความต้องการของประเทศมหาอำนาจ อันเป็นความเชื่อที่โลกมุสลิมต้องตระหนักในช่วงนี้ ขณะที่โลกกำลังหลงกับอารยธรรมและอำนาจของตะวันตก จนทำให้โลกมุสลิมลืมพระเจ้าและละทิ้งหลักการของอิสลาม

    และเราจะต้องไม่ลืมว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในแถบนี้เป็นผลเสียจากการฝ่าฝืนหลักการของศาสนาและการทำลายศีลธรรมโดยนักท่องเที่ยวตะวันตกที่เราทราบกันดีว่าเขามาทำอะไรตามชายหาดของภูเก็ต พังงา ตลอดจนถึงชายหาดที่ศรีลังกา



    2. ในเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ผู้ศรัทธาต้องทำให้ความเสียหายนั้นเป็นกำไรเพิ่มพูนสภาพจิตใจให้เข้มแข็งด้วยการอดทนซอบัรและหวังในผลบุญจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะผู้ที่เสียชีวิตจมน้ำย่อมเป็นชะฮีดดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้เสียชีวิตจมน้ำเป็นชะฮีด” (บันทึกโดยอิบนุอะซากิร และเชคอัลบานีย์กล่าวว่าศอเฮียะฮฺ) และผู้ที่สูญเสียพี่น้องญาติใกล้ชิดหรือเพื่อนฝูงไปกับคลื่นสึนามิ หากอดทนซอบัรต่อความเสียหายเหล่านี้ เขาย่อมได้รับการตอบแทนอันใหญ่หลวงจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ว่า อัลลอฮฺตรัสว่า “ใครก็ตามที่ฉันได้ยึดวิญญาณของที่รักของเขาโดยเขาอดทนและหวังในผลบุญของฉัน ก็จะไม่มีการตอบแทนใดๆที่เหมาะสมสำหรับเขานอกจากสวนสวรรค์”

    การอดทนและสำนึกตัวในเหตุการณ์นี้ ย่อมเป็นสถานะพิเศษสำหรับผู้ศรัทธาเท่านั้น เพราะผู้ที่ไม่มีความศรัทธาจะไม่สามารถปรับความรู้สึกต่อเหตุการณ์อันรุนแรงนี้ ดังที่เราเห็นต่างศาสนิกที่ไม่สามารถบรรลุคุณประโยชน์ในเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศก ก็เพราะความเสียหายสำหรับผู้ที่ไม่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺจะเป็นกำไรไม่ได้



    3.  สังคมมุสลิมต้องตื่นตัวฟื้นฟูสภาพความเป็นญะมาอะฮฺให้มากขึ้น เพราะภัยพิบัติที่เกิดกับส่วนหนึ่งของสังคม ย่อมเป็นภัยพิบัติของส่วนอื่นด้วย ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ว่า “อุปมาพี่น้องมุสลิมในการเมตตาซึ่งกันและกัน และการรักใคร่ซึ่งกันและกัน อุปมัยดังร่างกายเดียวกัน เมื่อส่วนหนึ่งเจ็บปวด ส่วนอื่นก็จะมีปรากฏซึ่งอาการไข้และอดนอน” เพราะฉะนั้นสังคมมุสลิมต้องมีความรับผิดชอบระดับหนึ่งต่อผู้เสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องผู้ศรัทธาที่ยากจน อาทิ ชาวประมงที่สูญเสียทั้งบ้าน เรือ และเครื่องมือประกอบอาชีพของเขา แต่การชดเชยที่ดีเลิศคือการฟื้นฟูสภาพความเป็นมุสลิมในละแวกนั้น ให้พี่น้องมุสลิมในภาคใต้กลับเนื้อกลับตัวและเป็นปึกแผ่นเดียวเพื่อเผชิญกับอุปสรรคต่อไป



    4. ผู้นำสังคมมุสลิมจำเป็นต้องประเมินผลแห่งการบริหารสังคมของตน โดยคำนึงถึงผลงานเกี่ยวกับสภาพความเป็นสังคมมุสลิมที่จะเป็นคะแนนในเชิงบวกสำหรับพวกเขา เพราะในเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ เราได้เห็นผู้นำมุสลิมไม่สามารถบริหารวิกฤตและแก้ไขปัญหาได้ เพราะขาดคุณสมบัติแห่งผู้นำหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นผู้นำที่ตระหนักในหลักการการปกครองโดยระบอบอิสลามที่คำนึงถึงชูรอและอนุรักษ์กฎหมายอิสลามและกติกาแห่งการปกครองด้วยกฎหมายอิสลาม เพราะฉะนั้นการเลือกผู้นำในสังคมมุสลิมจึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมมุสลิม รวมถึง พรบ. ที่เกี่ยวกับองค์กรมุสลิมทุกชนิดจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมมุสลิมปัจจุบัน



    5. นักวิชาการและนักเผยแผ่อิสลามจำเป็นต้องมีบทบาทมากขึ้นในการเผยแผ่อิสลามและเรียกร้องสู่สัจธรรมและศีลธรรมของอิสลาม โดยเฉพาะในสังคมไทยที่มีวิสัยทัศน์ต่อศีลธรรมแตกต่างจากวิสัยทัศน์ของมุสลิม อาทิเช่น มารยาทของสตรี อบายมุขที่อิสลามห้ามอย่างเด็ดขาดเช่นสุรา และหลักการอิสลามในด้านการค้าและครอบครัวโดยทั่วไป รวมถึงหลักการอิสลามด้านการเมืองและการปกครอง และสำคัญที่สุดคือหลักศรัทธาในทัศนะของอิสลามซึ่งมีเนื้อหามากมายที่สังคมไทยต้องรับรู้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจในศาสนาอิสลามสามารถศึกษาและใช้ดุลยพินิจในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของตน ซึ่งภัยพิบัตินี้ทำให้สังคมไทยที่อยู่ในสภาพเหมือนคนตกใจ สิ่งใดที่ให้กำลังใจกับคนเหล่านี้ย่อมจะได้รับการสนองตอบรับอย่างดี อันเป็นโอกาสที่จะให้อิสลามขยายตัวได้ในทุกระดับ



    สุดท้ายนี้พี่น้องอาจมีมุมมองของบทเรียนจากเหตุการณ์นี้ที่แตกต่างจากผม เพราะเราอาจเห็นอะไรที่ผู้อื่นไม่สามารถเห็นได้ เนื่องจากลักษณะชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมได้เปรียบเทียบเหตุการณ์นี้ประหนึ่งอัลลอฮฺทรงส่งจดหมายให้แก่มนุษยชาติทั้งหลายตามทะเบียนตำแหน่งแห่งความศรัทธา มีความศรัทธามากน้อยเท่าไหร่หรือไม่มีเลย ย่อมจะได้รับบทเรียนจากเหตุการณ์นี้ระดับหนึ่ง แต่คนที่หลับหูหลับตาหลบหนีจากอุทาหรณ์ของสึนามิ เปรียบเสมือนเปลี่ยนหมายเลขทะเบียนของตน จึงทำให้จดหมายจากอัลลอฮฺนี้ไม่ถึงเขา และยังมีบางคนที่ได้รับจดหมายแต่ไม่ยอมอ่าน หรืออ่านจดหมายแต่ยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจแล้วแต่ไม่ยอมสำนึก หรืออาจสำนึกแล้วแต่ยังไม่ตัดสินใจที่จะเริ่มชีวิตใหม่และเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นถ้าเรายังไม่ได้บทเรียนจากสึนามิ เราต้องถามตัวเราเองว่า...



ปัญหาอยู่ที่ใคร?

 


เชคริฎอ อะหมัด สมะดี, วารสารร่มเงาอิสลาม ม.ค.2548