1106 ประจำเดือนมาเมื่อเข้าเวลาละหมาดแล้ว ต้องละหมาดชดใช้หรือไม่

Submitted by dp6admin on Wed, 22/07/2009 - 16:19
คำถาม
คำถาม:
ถ้าประจำเดือนมา เมื่อเข้าเวลาละหมาดแล้ว แต่ยังไม่ได้ละหมาด ทัศนะที่ถูกต้องจำเป็นต้องละหมาดใช้หรือไม่คะ เคยฟังที่เชคอบรมเรื่องเลือดสตรี ถ้าจำไม่ผิดเชคบอกว่าทัศนะที่มีน้ำหนักคือต้องละหมาดใช้ ทีนี้อ่านพบในหนังสือเล่มนี้ ไชคุลอิสลาม อิบนุไตยฺมียะฮฺ รอฮิมะฮุลลอฮฺ บอกว่าไม่ต้องละหมาดใช้
คำเตือนในเรื่องกฎต่างๆที่เกี่ยวข้องกับบรรดาหญิงผู้ศรัทธา

เรียบเรียงโดย ดร. ซอและหฺ อิบนุ เฟาซาน

ส่วนเมื่อเวลาละหมาดได้มาถึง หลังจากที่นางได้มารอบเดือนหรือนิฟาสก่อนที่นางจะละหมาด คำที่มีน้ำหนักนั้นคือ ไม่จำเป็นแก่นางที่จะละหมาดชดเชยที่นางทันเวลาเริ่มแรกของมัน หลังจากนั้นนางได้มารอบเดือนหรือนิฟาสก่อนที่จะละหมาด ไชคุลอิสลาม อิบนุไตยฺมียะฮฺ รอฮิมาฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในมัจมั๊วฟะตาวา เล่มที่ 23 หน้าที่ 335 ในปัญหานี้ว่า “และสิ่งที่ชัดเจนที่สุด ในหลักฐานนั้นคือ แนวความคิดของอบูหะนีฟะฮฺ และมาลิก นั้นก็คือไม่จำเป็นแก่นางที่จะต้องชดเชย เพราะว่าการชดเชยนั้นแท้ที่จริงแล้วมันจำเป็นด้วยการมีการสั่งใช้ใหม่และตรงนี้ไม่มีการสั่งใช้ให้นางละหมาดชดเชย และอีกประการหนึ่งนางได้เลื่อนการละหมาด ไปจนถึงเวลาอนุญาตในการเลื่อนได้ ได้ทำให้เกิดการล่าช้าที่เป็นไปโดยที่นางไม่ได้บกพร่อง ส่วนผู้นอนหลับ หรือผู้หลงลืมนั้น (ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้บกพร่องเช่นเดียวกัน) สิ่งที่เขาทำนั้นไม่ได้เป็นการละหมาดชดเชย หากแต่อันนั้นมันเป็นเวลาละหมาดสำหรับเขาในขณะที่เขาตื่นขึ้นมาและนึกขึ้นได้"


คำตอบ

ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงระหว่างบรรดาอุละมาอฺ ซึ่งมีอยู่สองทัศนะหลักๆ

ทัศนะแรก เมื่อเข้าเวลาละหมาด โดยนางสะอาดอยู่แล้วผ่านพ้นเวลาอันเพียงพอที่จะละหมาดจำนวน 2 หรือ 4 ร็อกอะฮฺ แล้วก็มีเลือดประจำเดือนออกมาหลังจากนั้น จะต้องชดใช้เวลาละหมาดนั้นๆ ซึ่งเป็นทัศนะของอิมามชาฟิอียฺและอิมามอะหมัด หลักฐานที่ทัศนะนี้อ้างอิงคือ หลักฐานทุกบทที่ใช้ให้ละหมาด เพราะถือว่านางได้ปรากฏตัวในเวลาละหมาด ครบซึ่งคุณสมบัติของผู้ที่ต้องดำรงซึ่งการละหมาด

ทัศนะที่สอง เป็นทัศนะของอิมามอบูหะนีฟะฮฺและอิมามมาลิก เห็นว่า ไม่ต้องชดใช้การละหมาดในเวลานั้น เนื่องจากว่าการชดใช้จะต้องมีหลักฐานสั่งใช้และนางมิได้บกพร่องที่ไม่ได้ละหมาดในช่วงแรกของเวลา

ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ ได้ให้น้ำหนักในทัศนะที่สอง ด้วยเหตุผลที่ระบุข้างต้น และบรรดาอุละมาอฺที่ซาอุดิอาระเบียส่วนมากก็จะให้ทัศนะเหมือนชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺ

ทั้งนี้ทัศนะที่ว่าไม่ต้องชดใช้นั้น กำชับว่าถ้านางชดใช้จะเป็นการดี เพื่อให้ความรับผิดชอบได้ปราศจากการสอบสวน และเพื่อให้พ้นจากความขัดแย้งระหว่างบรรดาอุละมาอฺทั้งหลาย ทั้งนี้ทั้งนั้นความผิดของนางที่ไม่ละหมาดช่วงแรกของเวลานั้น ต่อเมื่อไม่มีอุปสรรคใดๆที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เช่น ถ้ารู้หรือทราบว่าน้ำจะขาดช่วงปลายของเวลา ก็จะต้องรีบละหมาดต้นเวลา เช่นเดียวกัน หากนางคาดว่าประจำเดือนจะมาช่วงปลายเวลาละหมาด ก็จะเป็นปัจจัยจำกัดเวลาสำหรับนางเท่านั้น ให้ละหมาดต้นเวลาเป็นพิเศษ หากนางคาดว่าจะมีประจำเดือนตอนปลายเวลาและนางตั้งใจล่าช้าการละหมาดจนเลือดประจำเดือนออก ก็ถือว่าไม่ปฏิบัติเท่าที่สามารถปฏิบัติได้ ทั้งๆที่ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา กล่าวว่า "ฟัตตะกุลลอฮะ มัสตะเฏาะอฺตุม" หมายความว่า "พวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮฺ เท่าที่พวกเจ้าปฏิบัติได้"

ริฎอ อะหมัด สมะดี