คำถาม : ซะกาตฺการค้า ต้องจ่ายอย่างไรบ้างครับ
-คิดจากยอดขายที่ได้
-คิดจากกำไรที่ได้
-แล้วถ้าขาดทุนในการขายต่อชิ้นต้องจ่ายหรือไม่
-แล้วถ้าคิดรวมสินค้าทุกตัวแล้วเป็นขาดทุนจะต้องจ่ายหรือไม่
เช่นซื้อปากกามา 10 ด้าม ด้ามละ 10 บาท นำมาขายต่อ ด้ามละ 15 บาท ต้องออกซะกาตฺเท่าไหร่ แล้วถ้าขายไปได้แค่ 2 ด้ามต้องออกซะกาตฺเท่าไหร่ครับ
คำตอบ
อัสสลามุอะลัยกุม วะเราะหฺมะตุ้ลลอฮฺ วะบะร่อกาตุฮฺ
สำหรับซะกาตการค้าแบ่งเป็น 2 ประเภท
ประเภทแรก การค้าที่เป็นฤดูหรือเฉพาะกิจ เช่น มีต้นทุนอยู่ก้อนหนึ่ง เมื่อรู้ว่าสินค้าหนึ่งสินค้าใดตลาดกำลังนิยมอยู่ก็จะรีบซื้อและขายเฉพาะสินค้านั้นในเวลานั้น การค้าประเภทนี้ถ้าจำนวนต้นทุนรวมถึงกำไรบรรลุจำนวนนิศอบของซะกาต (คือมูลค่าทองคำ 85 กรัม) ก็ต้องออกซะกาตจากต้นทุนและกำไร 2.5 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องรอคอยให้ครบ 1 ปี หมายถึงเมื่อขายสินค้าหมดแล้วและได้กำไรก็ให้คำนวณต้นทุนกับกำไรโดยหักค่าใช้จ่ายด้วยและออกซะกาต ถ้าขายสินค้าไม่หมดก็ให้คิดต้นทุนกับกำไรเฉพาะของสินค้าส่วนที่ขายได้เท่านั้น
ประเภทที่สอง การค้าที่ทำเป็นประจำ หมายถึง ซื้อขายอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นมืออาชีพหรือเป็นรายได้ประจำก็ให้กำหนดวันนับต้นปีและปลายปี เมื่อครบ 1 ปีให้คำนวณต้นทุนของสินค้าที่ซื้อขาย(ไม่คิดต้นทุนอุปกรณ์เครื่องมือเช่น มูลค่าอาคาร โต๊ะ ฯลฯ) รวมถึงกำไรที่ได้มาจากการค้าตลอด 1 ปี โดยหักค่าใช้จ่าย(ถ้ายังไม่ได้หักเลยตลอดระยะ 1 ปี แต่ถ้าหักอยู่อย่างต่อเนื่องการคำนวณต้นทุนกับกำไรก็จะมีการหักค่าใช้จ่ายไปโดยปริยาย) และออกซะกาต 2.5 เปอร์เซ็นต์จากต้นทุนและกำไรที่คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายโดยไม่คิดกำไรสินค้าที่ยังไม่ได้ขาย หมายถึงให้คิดต้นทุนกับกำไรของสินค้าที่ขายเรียบร้อยแล้วเท่านั้น
วัสสลามุอะลัยกุม วะเราะหฺมะตุ้ลลอฮฺ วะบะร่อกาตุฮฺ
ริฎอ อะหมัด สมะดี
26 ต.ค. 48
- Log in to post comments
- 1282 views