1005 ลำดับความสำคัญในการศึกษาความรู้ด้านศาสนา

Submitted by dp6admin on Thu, 09/04/2009 - 01:39

คำถาม : ความรู้ด้านศาสนาในปัจจุบันมีมากมายหลายสาขา แต่เราควรลำดับความสำคัญในการเรียนรู้อย่างไรจึงจะถูกต้องครับ

 

คำตอบ

อัสสลามุอะลัยกุม วะเราะหฺมะตุ้ลลอฮฺ วะบะร่อกาตุฮฺ

หลักสูตรการศึกษาศาสนาตามลำดับที่อัลกุรอานได้กล่าวถึงคือ การศึกษาเรียนรู้หลักศรัทธาและความเชื่อที่เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าเป็นอันดับแรก เพราะอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้กล่าวกับท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไว้ว่า

فاعلم أنه لا  إله إلا الله
ความว่า "สูเจ้าจงรู้เถิดว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ"

และในลำดับการประทานอัลกุรอานลงมาจะพบว่า ซูเราะฮฺมักกียะฮฺคือบทบัญญัติที่ถูกประทานลงมาในเมืองมักกะฮฺ ซึ่งเป็นยุคแรกที่ท่านนบีเริ่มเทศนานั้น เป็นบทบัญญัติที่กล่าวถึงหลักศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อพระผู้เป็นเจ้าและวันปรโลก รวมถึงสิ่งเร้นลับ อาทิเช่น นรก สวรรค์ มลาอิกะฮฺ และอื่นๆ จึงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องอื่นคือ การศึกษาเรื่องอีมานให้ครบถ้วน แต่มิใช่หมายรวมว่าต้องศึกษารายละเอียดปลีกย่อยของวิชาอะกีดะฮฺ(หลักศรัทธา)ให้เชี่ยวชาญ แต่ให้ศึกษาเรื่องอะกีดะฮฺที่จะทำให้มุสลิมนั้นรู้จักอัลลอฮฺและร่อซูลอย่างแท้จริง และให้เอกภาพแด่พระผู้เป็นเจ้าอย่างเคร่งครัด และเชื่อในสิ่งเร้นลับอย่างมั่นคง

ต่อจากนั้นก็ให้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนากิจและทำอิบาดะฮฺ โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นวาญิบ หมายถึงที่ต้องปฏิบัติอย่างเร่งด่วน เช่น การละหมาด ถือศีลอด และอื่นๆ และเมื่อถึงขั้นที่ต้องปฏิบัติเรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็จำเป็นต้องศึกษาเรื่องนั้น หมายถึงภายใต้รายละเอียด ข้อแนะนำ และบทบัญญัติของอิสลาม เช่น ผู้ที่จะทำธุรกิจ ก็ต้องศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการค้าเพื่อให้พ้นจากบาปต่างๆที่เกี่ยวกับการค้า หรือเมื่อจะมีคู่ครองก็ต้องศึกษาหลักการอิสลามและจริยธรรมอิสลามเกี่ยวกับการเป็นคู่ครองเป็นพ่อเป็นแม่ 

อันดับต่อมาคือความรู้ที่ต้องศึกษาเมื่ออยู่ในตำแหน่งที่มีลักษณะส่วนรวม เช่น จะเป็นอิมามนำละหมาด ก็ต้องมีความรู้เพียงพอสำหรับหน้าที่ที่ต้องปฏิบัตินี้ หรือหากจะเป็นผู้นำในสังคมก็ต้องศึกษาเรียนรู้ระบอบการปกครองในอิสลาม เพื่อให้การปกครองนั้นขึ้นอยู่กับหลักการอิสลาม

ดังกล่าวเป็นข้อแนะนำเกี่ยวกับวิชาการทั่วไป แต่ในชีวิตของเราย่อมประสบอะไรที่ต้องรู้อย่างเร่งด่วน เช่น ปัญหาด้านสังคม หรือเกี่ยวกับอุตริกรรมที่ถูกปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง หรือวิกฤติในโลกหรือในสังคม จึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับทัศนะอิสลามต่อเรื่องเหล่านั้น ก็ให้ศึกษาไปตามความจำเป็น โดยอาศัยตำรับตำราที่น่าเชื่อถือของนักปราชญ์อิสลามที่มีชื่อเสียงและไว้ใจความรู้ของเขาได้ มิฉะนั้นก็ให้ถามผู้รู้ที่มีความเชี่ยวชาญกว้างขวางด้านวิชาการโดยเฉพาะนิติศาสตร์อิสลาม เพื่อให้มีความกระจ่างในเรื่องนั้นๆ เพราะมุสลิมทุกคนเมื่อเจอวิกฤติอย่างหนึ่ง และได้ยินทัศนะของผู้คนหรือลัทธิศาสนาต่างๆ แต่ยังไม่รู้คำชี้ขาดของอัลอิสลามเกี่ยวกับวิกฤตินั้น จะเป็นข้อบกพร่องที่ไม่ดีงามสำหรับมุสลิมที่เอาใจใส่เรื่องศาสนา

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องราวของอัลอิสลามอย่างต่อเนื่อง โดยให้การศึกษาเสาะหาความรู้จากอัลอิสลามเป็นกิจวัตรประจำวัน เช่น อ่านหนังสือ ฟังเทปหรือซีดี หรือฟังวิทยุภาคมุสลิม หรือแม้กระทั่งศึกษาทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันนี้การศึกษาอิสลามด้วยภาษาไทยมีความสะดวกอย่างมาก

นั่นเป็นข้อแนะนำสำหรับคนทั่วไป หมายถึงคนที่ต้องการเรียนรู้เรื่องราวของอัลอิสลามเพื่อเอาตัวรอดจากความหายนะและแสวงหาสวนสวรรค์ในโลกนี้ แต่สำหรับคนที่จะศึกษาเรียนรู้เรื่องราวของอัลอิสลามเพื่อเป็นผู้รู้หรือเป็นโต๊ะครู ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักสูตรที่เข้มข้นและยาวนานกว่านี้

สุดท้ายนี้ การศึกษาเรียนรู้เรื่องราวของอัลอิสลามเป็นหน้าที่ของมุสลิมและมุสลิมะฮฺทุกคน ตั้งแต่บรรลุศาสนภาวะจนถึงแก่อายั้ล(ความตาย) เพราะความรู้นั้นเป็นเสบียงแห่งจิตวิญญาณ เสมือนอาหารเป็นเสบียงแห่งสรีระร่างกาย หากจิตวิญญาณขาดเสบียงทางนี้ ย่อมเสื่อมเสียเสมือนสรีระที่จะเสื่อมเสียหากขาดอาหารที่เหมาะสมและจำเป็น

ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ให้ท่านเป็นผู้มีความอดทนในการศึกษาเถิด

วัสสลามุอะลัยกุม วะเราะหฺมะตุ้ลลอฮฺ วะบะร่อกาตุฮฺ

ริฎอ อะหมัด สมะดี

29 ก.ย. 48

 

วันที่ตอบ