ชาย-หญิง ในสังคมมุสลิม

Submitted by dp6admin on Tue, 07/04/2009 - 16:12

การแยกระหว่างชายหญิง

เรื่องนี้เราจะสังเกตได้จากหลาย ๆ เหตุการณ์ในอิสลาม เช่นการละหมาด ซึ่งจะต้องแยกหญิงชาย ทั้ง ๆ ที่ในขณะละหมาดมุสลิมีนและมุสลิมะฮฺอยู่ในสภาพที่เรียบร้อยที่สุด ไม่มีใครคิดถึงเรื่องความสวยงามเรื่องผู้หญิงผู้ชาย แต่อัลลอฮฺตะอาลาก็ยังยืนยันให้แยกระหว่างหญิงชายในกรณีที่บริสุทธิ์ที่สุดนี้ ซึ่งบ่งบอกว่านี่เป็นสภาพที่เราจะต้องนำมาปฏิบัติในการดำเนินชีวิตและในสังคมทั่วไป

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ย้ำเรื่องเหล่านี้ โดยระบุไว้อย่างชัดเจนในบทฮะดีษ -- "กลุ่มส่วนตัวของสุภาพสตรี จงอย่าเข้าไปยุ่งกับพวกนาง" -- เพื่อไม่ให้เกิดฟิตนะฮฺในสังคมจากการปะปนกันระหว่างชายและหญิง แม้กระทั่งในเครือญาติหรือในครอบครัวเดียวกัน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ยืนยันอย่างเข้มงวด หลังจากที่ท่านนบีสั่งให้แยกระหว่างชายและหญิง มีชายหนึ่งถามท่านนบีว่า "โอ้ท่านร่อซูล แล้วส่วนเครือญาติ (เช่น ลูกพี่ลูกน้อง)ที่จะมาเข้าบ้าน จะเข้ามาอยู่ในหมู่ผู้หญิงได้ไหม?" ท่านนบีตอบว่า "เครือญาติ (ที่ไม่ใช่มะหฺรอมที่เข้ามาในหมู่ผู้หญิงโดยไม่มีสิทธิ) นั่นคือความตาย" -- หมายถึงว่านั่นคือความหายนะที่เราต้องระมัดระวัง ซึ่งศาสนาบัญญัติให้แยกชายหญิงในหมู่เครือญาติหรือใครก็ตาม ทั้งในที่สาธารณะ เช่น ห้องเรียน รถแท็กซี่ รถเมล์ ฯลฯ และในที่ส่วนตัวเช่น ผู้หญิงนั่งอยู่ด้วยกัน 4-5 คน ผู้ชายคนเดียวจะเข้าไปนั่งร่วมอยู่ด้วยไม่ได้ ท่านนบีไม่อนุญาต หรือกรณีที่ผู้หญิงอยู่บ้านคนเดียว ผู้ชายที่เป็นพี่น้องเครือญาติของสามีของนางจะเข้ามานั่งร่วมกับนางไม่ได้


การแยกระหว่างชายและหญิงในการทำงานชมรมมุสลิม

การที่เราเรียกตัวเองว่าเป็น ชมรมมุสลิม ก็หมายถึงว่าเป็นชมรมสำหรับมุสลิม กาเฟรที่จะเข้ามาทำงานกับเราก็ไม่เหมาะสมอยู่แล้ว ที่เรามารวมตัวเพราะเราเป็นมุสลิม และอยากจะยืนหยัดในการแสดงตัวว่าเป็นมุสลิม ถ้าหากว่าเราปราศจากหรือไร้ลักษณะของอิสลาม แล้วจะเป็นชมรมมุสลิมได้อย่างไร เราจะต้องยึดลักษณะของอิสลามเป็นเกณฑ์ ซึ่งจะทำให้เราอยู่ในความปราโมทย์ของอัลลอฮฺตะอาลา ความเมตตาและความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ ถ้าหากการทำงานในด้านศาสนาของเราฝ่าฝืนอัลลอฮฺ แล้วอัลลอฮฺจะช่วยเราหรือ? เราอ้างว่าเราเป็นมุสลิม แต่คนที่เข้ามาที่ชมรม กลับไม่เห็นว่าเรามีลักษณะของมุสลิมเลย มีแต่หิญาบ บางที่ก็ไม่ต่างกับชมรมของต่างศาสนิกเลย เมื่อเราแสดงตัวแล้วว่าเราเป็นชมรมมุสลิม เราก็ต้องเสนอกฎเกณฑ์ของอิสลาม อิสลามให้แยกระหว่างชายหญิง เราก็ต้องแยก กิจกรรมของมุสลิมะฮฺสามารถทำงานกันเองได้ กิจกรรมของมุสลิมีนก็สามารถทำงานกันเองได้  และมุสลิมะฮฺที่ทำงานโดยแยกจากมุสลิมีนจะประสบความสำเร็จมากกว่า

ผู้หญิงส่วนมาก (แม้กระทั่งคนต่างศาสนิก) จะมีความละอาย บางคนไม่เข้าชมรม เพราะเห็นว่าในชมรมมีผู้ชายเกเรไม่สุภาพ เข้าแล้วอึดอัด เมื่อมีการแยกอาจจะโดยการกั้นด้วยผ้าม่านก็มีความอุ่นใจ เพราะปกติผู้หญิงก็อยากอยู่กับผู้หญิง เหมือนกันผู้ชายก็อยากอยู่กับผู้ชาย ซึ่งอิสลามก็สนับสนุนในเรื่องเหล่านี้


การคุยกันทางอินเตอร์เน็ทระหว่างชายหญิง

นี่เป็นตัวอย่างปัญหาในยุคลำบาก สิ่งที่ซึมลึกเข้าไปในชีวิตของเรา โดยผลักดันให้เราต้องนิยม วัยรุ่นที่ไม่แช็ทก็ถือว่าล้าสมัย แต่ตามหลักศาสนาถูกหรือไม่ การพูดคุยระหว่างชายหญิง ศาสนาไม่ปฏิเสธ แต่ต้องมีสาเหตุ เช่นผู้ชายมีความต้องการจะพูดกับผู้หญิง ถ้าเป็นความต้องการที่เป็นประโยชน์ทางด้านศาสนามีความจำเป็น ก็พูดได้ แต่การพูดคุยโดยไร้สาระ ศาสนาไม่อนุญาตเลย และศาสนาสั่งไว้เสมอว่า ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายจะต้องมีรั้วมีขอบเขต เพื่อป้องกันฟิตนะฮฺ เพราะฟิตนะฮฺเกิดจากการมอง การสัมผัส การพูดคุย -- อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า "โอ้มุฮัมมัด จงกล่าว (จงสั่ง) ผู้ศรัทธาชายและหญิงให้ลดสายตาจากสิ่งที่ไม่อนุญาตให้มอง"

ชายคนหนึ่งมาบอกท่านนบีว่าเขาจะแต่งงาน ท่านนบีถามว่า "แล้วท่านได้มองผู้หญิงที่ท่านสู่ขอหรือยัง" เขาตอบว่ายัง ท่านนบีก็บอกว่า "จงไปขอดูนาง" -- ในการสู่ขอ (คิฏบะฮฺ) เพื่อแต่งงาน เป็นสิทธิของผู้ชายและผู้หญิงด้วยที่จะมองดูอีกฝ่าย จะขอดูใบหน้าหรือมือ ถ้าเราวิเคราะห์บทนี้ แสดงว่าเดิมมองไม่ได้ คุยก็ไม่ได้  แล้วการจะไปพูดคุยหรือไปแช็ทกับผู้หญิงนั้น มีสาเหตุเพื่ออะไร ถ้าเพื่อเผยแผ่อิสลามหรือพูดคุยด้านศาสนา และเป็นผู้ที่มีความมั่นคงในศาสนาก็อนุญาต แต่ถ้าเป็นการพูดคุยไร้สาระ ถามเรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัว อิสลามก็ไม่อนุญาต

 

การจัดงานแต่งงานตามแบบอิสลาม

โดยทั่วไป เจ้าสาวที่แต่งกายเรียบร้อยตามแบบมุสลิมะฮฺ และมีมะหฺรอมอยู่ร่วมกับนางด้วยก็สามารถที่จะออกมาช่วยงานได้ ท่านนบีเคยไปร่วมงานวลีมะห์นิกาหฺของเศาะฮาบะฮฺท่านหนึ่งที่บ้าน โดยมีเจ้าสาวออกมาช่วยจัดการเรื่องการเลี้ยงอาหาร แต่นางอยู่ในสภาพที่แต่งกายเรียบร้อย แต่ถ้าเป็นที่สาธารณะที่มะหฺรอมไม่สามารถจะอยู่กับผู้หญิงได้ตลอดเวลา ก็ควรจะแยกระหว่างชายหญิง ผู้ชายก็ต้อนรับแขกผู้ชาย ผู้หญิงต้อนรับแขกผู้หญิง ที่จริงอิสลามนั้นเป็นเรื่องง่าย ที่เราเห็นว่าเป็นเรื่องยาก เพราะชีวิตเราเคยชินกับสิ่งที่ไม่ใช่อิสลาม เคยชินกับวัฒนธรรมของตะวันตกหรือศาสนิกอื่น เมื่อมาเจอหลักการอิสลามที่ไม่เคยชิน จึงกลายเป็นเรื่องยากสำหรับเราไป

การแยกชายหญิงนี้ สำหรับกรณีที่ผู้หญิงไม่มีมะหฺรอมร่วมอยู่ด้วย แต่ถ้าหากนั่งร่วมกับชายอื่นโดยที่ผู้หญิงมีมะหฺรอมนั่งอยู่ด้วยก็สามารถทำได้ แต่ผู้หญิงต้องผู้ในสภาพที่แต่งกายเรียบร้อยและสำรวมกิริยามารยาท

 

 

 


 


เรียบเรียงจากการบรรยายของ เชคริฎอ อะหมัด สมะดี, ค่ายมุสลิมะฮฺ (15-06-2545)

วันที่ลงบทความ : 3 ก.ย. 50