คำนำ (พิมพ์ครั้งที่ 1)

Submitted by dp6admin on Mon, 31/08/2009 - 23:32

بسم الله الرحمن الرحيم

คำนำ

พิมพ์ครั้งที่ 1

الْحَمْدُ للهِ رَبِّ العَالَمِيْن ، وَالعَاقِبَةُ للمُتَّقِيْنَ ، وَلا عُدْوَانَ إِلا عَلَى الظَّالِمِيْن ، وَنُصَلِّي وَنُسَلِّمُ عَلَى أَشْرَفِ الأَوَّلِيْنَ وَالآخِرِيْنَ نَبِيِّنَا مُحَمَّدٍ وَعَلَى آلِهِ وَصَحْبِهِ وَمَنْ تَبِعَهُمْ بِإِحْسَانٍ إِلَى يَوْمِ الدِّيْن

อาจารย์อะหมัด สมะดี ร่อหิมะฮุลลอฮฺ เป็นนักวิชาการที่มีผลงานทางวิชาการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือบทความ ท่านได้อธิบายความหมายอัลกุรอาน 20 ญุซสุดท้าย ร่วมกับอาจารย์ดะหฺรี บินอะหมัด ที่ได้อธิบายอัลกุรอาน 10 ญุซแรก และทุกวันนี้สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับก็ยังตีพิมพ์ความหมายอัลกุรอานภาษาไทยของอาจารย์ดะหฺรีและอาจารย์อะหมัด ร่อหิมะหุมุลลอฮฺ แต่ไม่มีใครทราบว่าเป็นผลงานของอาจารย์สองท่านนี้ การถือศีลอดตามบัญญัติอิสลาม ก็เป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งของอาจารย์อะหมัด ซึ่งอัลอิศลาหฺสมาคมก็ยังตีพิมพ์โดยไม่เคยระบุชื่อเจ้าของหนังสือแต่อย่างใด

ในขณะที่อาจารย์อะหมัดมีชีวิตอยู่ ท่านไม่ชอบที่จะระบุนามของท่านในผลงานที่ได้เผยแพร่ออกมา ท่านมักจะใช้นามปากกาหรือไม่ระบุชื่อเลย ซึ่งเป็นอุปนิสัยของนักวิชาการที่มีบริสุทธิ์ใจและค่อนข้างหายากในโลกใบนี้  ผมในฐานะเป็นบุตรชายของท่านเคยเรียกร้องให้ท่านสงวนลิขสิทธิ์บ้าง กล่าวคือลิขสิทธิ์วิชาการที่เผยแพร่ทางวารสารหรือหนังสือ ไม่ใช่ลิขสิทธิ์ทางค่าตอบแทน เพราะอาจารย์อะหมัด สมะดี ร่อหิมะฮุลลอฮฺ ไม่เคยเรียกหรือรับค่าตอบแทนจากบทความหรือหนังสือที่ท่านเขียนเลย ท่านได้ตอบว่า ไม่เป็นไรหรอก ถ้าพิมพ์เผยแพร่ไปแล้วก็อัลฮัมดุลิลลาฮฺ

ความพึงพอใจในการทำงานเพื่อศาสนา มิใช่เฉพาะการตีพิมพ์บทความหรือหนังสือที่เป็นประโยชน์แก่พี่น้องมุสลิม แต่อาจารย์อะหมัดยังมีความสุขในการเขียนหนังสือ แปลอัลกุรอานและหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  อย่างอธิบายไม่ได้ คนใกล้ชิดเท่านั้นที่เคยเห็นโต๊ะหนังสือของท่าน ซึ่งเต็มไปด้วยตำรับตำรา อัลกุรอานและหะดีษ พจนานุกรมหลายภาษาที่ท่านใช้ในการแปลและเรียบเรียงบทความต่างๆ น้อยคนที่เคยเห็นอาจารย์อะหมัด (ร่อหิมะฮุลลอฮฺ) อดหลับอดนอนหลายวันหลายคืนเพื่อตรวจสอบหนังสือที่เตรียมเข้าโรงพิมพ์ และยิ่งน้อยกว่าคือคนที่เห็นอาจารย์อะหมัดใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อแปลหะดีษบรรทัดเดียว ไม่ใช่เพราะด้อยความสามารถในด้านการแปล แต่ท่านมีความละเอียดอ่อนในการเข้าใจสำนวนภาษาอาหรับและการเลือกภาษาไทยที่จะสื่อได้ถึงเจตนารมณ์ของเจ้าของสำนวนภาษาอาหรับ

ถึงเวลาแล้วที่สังคมมุสลิมในประเทศไทยต้องรู้จักเจ้าของหนังสือหลายเล่ม บทความนับร้อยบท ที่สังคมได้ประโยชน์ทางวิชาการอย่างคำนวณไม่ได้ และถึงเวลาแล้วที่ต้องรำลึกถึงนักวิชาการที่ได้ทำงานเพื่อสังคมมุสลิมอย่างไม่เปิดเผย ถึงแม้ว่าสังคมไม่ได้รับรู้ แต่ท่านพอใจแล้วที่อัลลอฮฺทรงรู้ และสมควรสำหรับสถาบันต่างๆ ที่ยังพิมพ์หนังสือและบทความของท่านที่ต้องระบุนามของท่านในผลงานนั้น เพราะท่านเสียชีวิตแล้ว และการที่สังคมรับรู้เจ้าของผลงานดังกล่าว จะทำให้พี่น้องที่ได้รับประโยชน์จากวิชาการของอาจารย์อะหมัด สมะดี ขอดุอาอฺให้แก่ท่าน

ชมรมอัซซุนนะฮฺเป็นชมรมที่ถูกก่อตั้งเพื่อเผยแผ่อิสลามตามกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺ โดยมีอาจารย์อะหมัด สมะดี เป็นประธานชมรมท่านแรก และในโอกาสต้อนรับเดือนรอมฎอนปีฮิจเราะฮฺศักราช 1429 นี้ ทางคณะกรรมการชมรมฯ ขอเสนอผลงานชิ้นนี้ เพื่อเป็นวิทยาทานสำหรับพี่น้องมุสลิม และเป็นกุศลธรรมให้แก่อาจารย์อะหมัด สมะดี ด้วย ทั้งนี้ทางชมรมอัซซุนนะฮฺยังมีโครงการเผยแพร่ผลงานของท่าน โดยเฉพาะความหมายอัลกุรอานภาษาไทยที่ได้รับความนิยมในสังคมอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งโรงพิมพ์กษัตริย์ฟาฮัด ณ มะดีนะฮฺนคร ได้ตีพิมพ์แจกและจำหน่ายจนทุกวันนี้ แต่อาจารย์อะหมัด สมะดี ร่อหิมะฮุลลอฮฺ ได้ปรับปรุงแก้ไขความหมายอัลกุรอานเพื่อพิมพ์ครั้งสมบูรณ์ ซึ่งชมรมอัซซุนนะฮฺกำลังรณรงค์หาทุนเพื่อพิมพ์หนังสือความหมายอัลกุรอานนี้ ซึ่งจะเป็นความหมายอัลกุรอานที่น่าเชื่อที่สุดของสังคมมุสลิมในประเทศไทย อินชาอัลลอฮฺ

สุดท้ายนี้ชมรมอัซซุนนะฮฺขอขอบคุณพี่น้องมุสลิมที่บริจาคทรัพย์ และพี่น้องที่ช่วยในการตรวจทาน จัดพิมพ์ และให้ข้อแนะนำ เพื่อให้หนังสือเล่มนี้มาถึงมือท่าน และขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  ให้พระองค์ได้โปรดเมตตาและให้อภัยโทษแก่อาจารย์อะหมัด สมะดี และให้ท่านได้อยู่ในหมู่ผู้ศรัทธาที่เข้าสวรรค์ชั้นสูง ซึ่งอยู่กับบรรดานบี ชุฮะดาอฺ และศอลิฮีนทั้งหลายด้วยเทอญ

ริฎอ อะหมัด สมะดี
ชมรมอัซซุนนะฮฺ บางกอกน้อย
18 ชะอฺบาน 1429
19 สิงหาคม 2551


ที่มา : หนังสือ การถือศีลอดตามบัญญัติอิสลาม, อาจารย์อะหมัด สมะดี ร่อหิมะฮุลลอฮฺ

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง