19.1 เคล็ดลับของการทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟ
อิมามอิบนุลก็อยยิม กล่าวไว้มีความว่า “ในเมื่อความดีเลิศอย่างต่อเนื่องของจิตใจในการมุ่งมั่นอยู่ในแนวทางของอัลลอฮฺนั้น ขึ้นอยู่กับการผินหน้าเข้าหาพระองค์องค์เดียว ทั้งนี้เพราะการสับสนของจิตใจจะรวบรวมให้เป็นหนึ่งเดียวไม่ได้นอกจากการหันหน้าเข้าหาอัลลอฮฺเท่านั้น"
และเป็นที่ทราบกันดีว่าส่วนเกินของอาหารและเครื่องดื่ม และการคลุกคลีกับผู้คนมากเกินไป ตลอดจนการพูดมากและการนอนมาก เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการสับสนและความยุ่งยากของจิตใจ และจะทำให้มันกระจัดกระจายและฟุ้งซ่านไปทุกหนแห่ง อีกทั้งเป็นการยับยั้งมิให้บ่าวของพระองค์มุ่งสู่การจงรักภักดีต่ออัลลอฮฺ ดังนั้นด้วยความเมตตากรุณาของพระผู้ทรงอำนาจที่มีต่อปวงบ่าวของพระองค์ จึงทรงประสงค์ที่จะบัญญัติให้มีการถือศีลอดแก่พวกเขา เพื่อที่จะบรรเทาส่วนเกินดังกล่าวให้ลดน้อยลง ต่อมาได้มีบัญญัติให้มีการเอี๊ยะอฺติก๊าฟซึ่งจุดมุ่งหมายและวิญญาณของมันคือ การสำรวมสติหรือการทำจิตใจให้หมกมุ่นและแน่วแน่อยู่กับอัลลอฮฺ และการยุติจากการทำธุระและกิจกรรมต่าง ๆ โดยสิ้นเชิง และในเวลาเดียวก็มีการนึกคิดและห่วงใยที่จะให้ได้มาซึ่งความโปรดปรานและความใกล้ชิดต่อพระองค์ นี่คือจุดมุ่งหมายและวิญญาณองการทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟ
19.2 ความหมายของการเอี๊ยะอฺติก๊าฟ
คือการธำรงไว้เพื่อกระทำสิ่งหนึ่ง กล่าวกันว่าผู้ที่เก็บกักตัวอยู่กับมัสยิด และขยันหมั่นเพียรเพื่อทำการอิบาดะฮฺในนั้น คือผู้ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟ
19.3 บัญญัติการทำอัลเอี๊ยะอฺติก๊าฟ
เป็นที่ชอบหรือเป็นซุนนะฮฺให้กระทำในเดือนรอมฎอนและเดือนอื่น ๆ ของปี ปรากฎว่าท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟในสิบวันหลังของเดือนเชาวาล
อุมัร อิบนุลค๊อฎฎ็อบได้กล่าวกับท่านนะบี ว่า โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮฺ แท้จริงฉันได้บนบานในสมัยญาฮิลียะฮฺไว้ว่า ฉันจะทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟคืนหนึ่งในมัสยิดอัลหะรอม ? ท่านนะบีตอบว่า จงปฏิบัติตามการบนบานของท่าน (คือทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟหนึ่งคืน) และการทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟที่ประเสริฐสุดคือภายในเดือนรอมฎอน ดังมีรายงานหะดีษของอะบีฮุรอยเราะฮฺ กล่าวว่า
( كَانَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَعْتَكِفُ في كُلِّ رَمَضَانَ عَشَرَةَ أَيَّامٍ
فَلَمَّا كَانَ العَامُ الَّذِيْ قُبِضَ فِيْهِ اعْتَكَفَ عِشْرِيْنَ يَوْمَاً ) رواه البخاري ومسلم
ความว่า “ท่านร่อซูลุลอฮฺ ได้ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟในทุกเดือนรอมฎอนเป็นเวลาสิบวัน ต่อมาในปีที่ท่านเสียชีวิตท่านได้ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟเป็นเวลา 20 วัน” บันทึกโดย “ อัลบุคอรียฺ และมุสลิม
การทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟที่ประเสริฐสุดคือช่วงสุดท้ายของเดือนรอมฎอน เพราะท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟในสิบคืนหลังของรอมฎอน จนกระทั่งท่านได้ถึงอะญัลของอัลลอฮฺ อัซซะวะญัล บันทึกโดย อัลบุคอรียฺ และมุสลิม จากรายงานของท่านหญิงอาอิชะฮฺ
19.4 เงื่อนไขของการทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟ
ไม่มีบัญญัติให้ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟในสถานที่อื่น ๆ นอกจากในมัสยิดเท่านั้น ดังคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
وَلاَ تُبَاشِرُوهُنَّ وَأَنتُمْ عَاكِفُونَ فِي الْمَسَاجِدِ
ความว่า “และพวกเจ้าอย่าสมสู่กับพวกนางขณะที่พวกเจ้าเป็นผู้ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟอยู่ในมัสยิด” (2/187)
สำหรับผู้ที่ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟ ซุนนะฮฺให้ถือศีลอดด้วย ดังมีหะดีษรายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺ
19.5 อนุญาตให้กระทำได้สำหรับผู้ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟ
19.5.1 อนุญาตให้ผู้ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟออกไปนอกมัสยิดได้ เมื่อมีความจำเป็น เช่นออกไปเพื่ออาบน้ำชำระร่างกาย ท่านหญิงอาอิชะฮฺ กล่าวว่า
“ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ขณะที่ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟอยู่ในมัสยิด ได้เอาศรีษะของท่านเข้ามาในห้องของฉัน เพื่อให้ฉันสระผมของท่าน (ระหว่างห้องของฉันกับมัสยิดมีประตูเปิดเข้าออกได้ ขณะนั้นฉันมีประจำเดือน) ท่านจะไม่เข้าไปในบ้านเว้นแต่เมื่อมีความจำเป็น เมื่อขณะที่ท่านทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟอยู่” บันทึกโดย : อัลบุคอรียฺ และมุสลิม
19.5.2 อนุญาตให้ผู้ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟและคนอื่น ๆ อาบน้ำละหมาดในมัสยิด ดังคำบอกเล่าของชายคนหนึ่งที่รับใช้ท่านนะบี ว่า
“ท่านนะบี ได้อาบน้ำละหมาดในมัสยิดอย่างรวดเร็ว” บันทึกโดย : อิมามอะหมัด ด้วยสายสืบที่ศ่อฮี้ฮฺ
19.5.3 ผู้ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟจะทำกระโจมเล็ก ๆ ทางด้านหลังของมัสยิดก็ได้ “ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ได้ทำกระโจมเล็ก ๆ ให้ท่านนะบี ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟ ทั้งนี้ด้วยคำสั่งของท่านนะบี” บันทึกโดย : อัลบุคอรียฺ และมุสลิม
19.6 การทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟของผู้หญิง
อนุญาตให้ผู้หญิงทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟพร้อมกับสามีของนาง หรือนางจะทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟโดยลำพังก็ได้ ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ได้กล่าวว่า “ท่านนะบีได้ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟในสิบคืนหลังของรอมฎอน จนกระทั่งท่านได้ถึงอะญัลของอัลลอฮฺ ต่อมาบรรดาภรรยาของท่านได้ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟหลังจากท่าน” บันทึกโดย : อัลบุคอรียฺ
ที่มา : หนังสือ การถือศีลอดตามบัญญัติอิสลาม, อาจารย์อะหมัด สมะดี ร่อหิมะฮุลลอฮฺ
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 778 views