18. คืนอัลก็อดรฺ

Submitted by dp6admin on Mon, 31/08/2009 - 08:50

ความประเสริฐของคืนอัลก็อดรฺนั้นยิ่งใหญ่มาก เพราะเป็นคืนที่ร่วมเป็นพยานในการประทานอัลกุรอานุลการีม ซึ่งจะนำทางผู้ที่ยึดมั่น ในอัลกุรอานนั้นไปสู่แนวทางแห่งความรุ่งโรจน์ ความทรงเกียรติ และความเจริญรุ่งเรือง ประชาชาติอิสลามที่ดำเนินตามแนวทางของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อย่างเคร่งครัดแล้ว พวกเขาจะไม่จัดงานฉลองกันอย่างเอิกเกริก แต่จะแข่งขันกันทำอิบาดะฮฺในคืนนั้นด้วยความศรัทธามั่นและหวังผลการตอบแทน

18.1 ความประเสริฐของคืนอัลก็อดรฺ

เป็นการพอเพียงแล้วมิใช่หรือถึงสถานะของคืนอัลก็อดรฺว่า มีความดีความประเสริฐยิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน อัลลอฮฺได้ทรงยืนยันไว้ใน ซูเราะฮฺอัลก็อดรฺ ว่า

إِنَّا أَنزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةِ الْقَدْرِ ﴿١﴾ وَمَا أَدْرَاكَ مَا لَيْلَةُ الْقَدْرِ ﴿٢﴾
لَيْلَةُ الْقَدْرِ خَيْرٌ مِّنْ أَلْفِ شَهْرٍ ﴿٣﴾ تَنَزَّلُ الْمَلَائِكَةُ وَالرُّوحُ فِيهَا
بِإِذْنِ رَبِّهِم مِّن كُلِّ أَمْرٍ ﴿٤﴾ سَلَامٌ هِيَ حَتَّى مَطْلَعِ الْفَجْرِ ﴿
٥﴾

ความว่า “แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอัลก็อดรฺ และอะไรเล่าจะทำให้เจ้ารู้ได้ว่าคืออัลก็อดรฺนั้นคืออะไร ? คืนอัลก็อดรฺนั้นดียิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน บรรดามะลาอิกะฮฺและอัลรูฮฺ (ญิบรีล) จะลงมาในคืนนั้นโดยอนุมัติแห่งพระเจ้าของพวกเขา เนื่องจากกิจการทุกสิ่ง (ได้ถูกกำหนด) คืนนั้นมีความศานติจนกระทั่งรุ่งอรุณ” (97/1-5)

ในคืนอัลก็อดรฺนั้น ทุกๆ กิจการที่สำคัญถูกจำแนกไว้ อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ใน ซูเราะฮฺอัดดุคอน ว่า

إِنَّا أَنزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةٍ مُّبَارَكَةٍ إِنَّا كُنَّا مُنذِرِينَ ﴿٣﴾ فِيهَا يُفْرَقُ كُلُّ أَمْرٍ حَكِيمٍ ﴿٤﴾
 أَمْراً مِّنْ عِندِنَا إِنَّا كُنَّا مُرْسِلِينَ ﴿٥﴾ رَحْمَةً مِّن رَّبِّكَ إِنَّهُ هُوَ السَّمِيعُ الْعَلِيمُ ﴿٦﴾

ความว่า "แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอันจำเริญ แท้จริงเราเป็นผู้ตักเตือน ในคืนนั้นทุกๆ กิจการที่สำคัญถูกจำแนกไว้แล้วโดยบัญชามาจากเรา แท้จริงเราเป็นผู้ส่งมา เป็นความเมตตาจากพระเจ้าของเจ้า แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงได้ยินผู้ทรงรอบรู้” (44/3-6)

 

18.2 เวลาของคืนอัลก็อดรฺ

มีรายงานจากท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า คืนอัลก็อดรฺนั้นเป็นคืนที่ 21 คืนที่ 23, 25, 27 และ 29 และคืนสุดท้ายของรอมฎอน

หลักฐานที่มีน้ำหนักแข็งแรงระบุว่า คืนอัลก็อดรฺนั้นอยู่ในคืนคี่ของสิบคืนหลังในรอมฎอน ดังเช่นหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮฺ ที่กล่าวว่า

( كَانَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يُجَاوِرُ فِيْ العَشْرِ الأَوَاخِرِ مِنْ رَمَضَانَ وَيَقُوْلُ : تَحَرَّوْا ،
 وفي رواية : الْتَمِسُوا لَيْلَةَ القَدْرِ فِي الوِتْرِ مِنَ الْعَشْرِ الأَوَاخِرِ مِنْ رَمَضَانَ )
رواه البخاري ومسلم

ความว่า “ท่านร่อซูลุลลอฮฺเฝ้าคอยในสิบคืนหลังของรอมฎอนและกล่าวว่าพวกท่านจงแสงหา อีกริวายะฮฺหนึ่งว่าพวกท่านจงขวนขวายหา คืนอัลก็อดรฺในคืนคี่จากสิบคืนหลังของรอมฎอน”   บันทึกโดย : อัลบุคอรียฺ และมุสลิม

ถ้าหากผู้หนึ่งผู้ใดอ่อนเพลียหรือไม่สามารถก็อย่าให้พลาดโอกาสในเจ็ดคืนหลัง เพราะมีรายงานหะดีษจากอิบนอุมัรแจ้งว่า “ท่านร่อซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า พวกท่านจงขวนขวายหาในสิบคืนหลัง ถ้าหากคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านอ่อนเพลียหรือไม่สามารถก็อย่าให้พลาดโอกาสในเจ็ดคืนหลังที่เหลืออยู่”   บันทึกโดย : อัลบุคอรียฺ และมุสลิม

ดังกล่าวข้างต้นสรุปได้ว่ามุสลิมนั้นจะต้องแสวงหาคืนอัลก็อดรฺในสิบคืนคี่สุดท้ายของรอมฎอนคือ คืนที่ 21, 23, 25, 27 และ 29 ถ้าหากเขาอ่อนเพลียหรือไม่สามารถจะกระทำได้ก็ให้เขาแสวงหาในคืนคี่สุดท้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเจ็ดคืนหลังที่เหลืออยู่ คือคืนที่ 25, 27, 29 อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

18.3 มุสลิมจะแสวงหาคืนอัลก็อดรฺได้อย่างไร ?

ความจริงในคืนอันประเสริฐนี้ ผู้ใดถูกห้ามจากการได้รับเกียรติในคืนนี้ แน่นอนเขาจะถูกห้ามจากการได้รับความดีต่าง ๆ และจะไม่มีผู้ใดถูกห้ามจากความดีของมัน เว้นแต่ผู้ที่ถูกห้ามเท่านั้น ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นซุนนะฮฺของมุสลิมที่จะต้องขวนขวายในการจงรักภักดีต่ออัลลอฮฺ โดยฟื้นฟูคืนอัลก็อดรฺให้มีชีวิตชีวาด้วยความศรัทธามั่นและหวังผลตอบแทนอันยิ่งใหญ่ เพราะหากเขาปฏิบัติเช่นนั้นอัลลอฮฺ จะทรงอภัยโทษในความผิดของเขาที่ได้กระทำมาในอดีต

( مَنْ قَامَ لَيْلَةَ القَدْرِ إِيْمَانَاً وَاحْتِسَابَاً غُفِرَلَهُ مَا تَقَدَّمَ مَنْ ذَنْبِهِ )
رواه البخاري ومسلم

ความว่า “ผู้ใดธำรงรักษาคืนอัลก็อดรฺด้วยความศรัทธามั่นและด้วยความหวังในการตอบแทน เขาจะได้รับการอภัยจากบาปกรรมในอดีต”

ซุนนะฮฺให้มีการวิงวอนขอดุอาอฺมาก ๆ ในคืนวันนั้น มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺว่า

( قُلْتُ : يَا رَسُولَ الله . أَرَأَيْتَ إِنْ عَمِلْتُ أَيَّ لَيْلَةٍ لَيْلَةُ القَدْرِ ، مَا أَقُوْلُ فِيْهَا ؟
قَالَ : قُوْلِيْ :
اللَّهُمَّ إِنَّكَ عَفُوٌّ تُحِبُّ العَفْوَ فَاعْفُ عَنِّي )
رواه الترمذي وابن ماجة عن عائشة بسند صحيح

ความว่า “ฉันได้กล่าวกับท่านร่อซูลว่า โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ท่านจะเห็นเป็นอย่างไรหากฉันรู้ว่าคืนไหน ๆ ก็ตามเป็นคืนอัลก็อดรฺ ฉันจะวิงวอนกล่าวว่าอย่างไร ? ท่านร่อซูลกล่าวตอบว่า “เธอจงกล่าวว่า อัลลอฮุมมะ อินนะกะ อะฟูวุน ตุฮิบบุลอัฟวะ ฟะอฺฟุ อันนียฺ (โอ้พระเจ้าแห่งข้าพระองค์ แท้จริงพระองค์ท่านเป็นผู้ทรงอภัย พระองค์ท่านชอบที่จะให้อภัย ดังนั้นขอพระองค์ทรงอภัยให้แก่ข้าพระองค์)”

18.4  เครื่องหมายของคืนอัลก็อดรฺ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้พรรณาเช้าวันรุ่งขึ้นของคืนอัลก็อดรฺ เพื่อให้พวกเราทราบถึงเครื่องหมายของคืนอัลก็อดรฺ ว่า
( صَبِيْحَةُ لَيْلَةِ القَدْرِ تَطْلُعُ الشَّمْسُ لا شُعَاعَ لَهَا ، كَأَنَّهَا طِسْتٌ حَتَّى تَرْتَفِعَ ) أخرجه مسلم

ความว่า “ท่านร่อซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า เช้าวันรุ่งขึ้นของคืนอัลก็อดรฺ ดวงอาทิตย์จะขึ้นโดยไม่มีลำแสงอาทิตย์เสมือนกับว่ามันเป็นอ่างจนกระทั่งมันสูงขึ้น”   บันทึกโดย : มุสลิม

มีรายงานจากอิบนฺอับบาส แจ้งว่าท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

( لَيْلَةُ القَدْرِ لَيْلَةٌ سَمْحَةٌ طَلِقَةٌ لا حَارَّةٌ وَلا بَارِدَةٌ ، تُصْبِحُ الشَّمْسُ صَبِيْحَتَهَا ضَعِيْفَةً حَمْرَاءَ )
رواه الطيالسي وابن خزيمة والبزار وسنده حسن

ความว่า “คืนอัลก็อดรฺเป็นคืนที่เรียบง่าย มีอากาศสบายไม่ร้อน ไม่เย็น ดวงอาทิตย์จะขึ้นในวันรุ่งขึ้นมีแสงแดงอ่อน”   บันทึกโดย : อัฎฎ่อยาลิซียฺ อิบนฺคุซัยมะฮฺ และอัลบัซซาร และว่าเป็นสายสืบที่หะซัน
 


ที่มา : หนังสือ การถือศีลอดตามบัญญัติอิสลาม, อาจารย์อะหมัด สมะดี ร่อหิมะฮุลลอฮฺ