12.1 การเดินทาง
ในหะดีษหลายบทเปิดโอกาสให้ผู้เดินทางเลือกระหว่างการถือศีลอดและไม่ถือศีลอด แต่เราต้องไม่ลืมว่าความเมตตาแห่งพระเจ้า ได้กล่าวไว้ในซูเราะฮฺอัลบะกอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 185 ว่า
وَمَن كَانَ مَرِيضاً أَوْ عَلَى سَفَرٍ فَعِدَّةٌ مِّنْ أَيَّامٍ أُخَرَ يُرِيدُ اللّهُ بِكُمُ الْيُسْرَ وَلاَ يُرِيدُ بِكُمُ الْعُسْرَ
ความว่า “และผู้ใดป่วยหรืออยู่ในระหว่างเดินทาง ก็ให้เขาถือศีลอดใช้ในวันอื่น อัลลอฮฺทรงประสงค์ความสะดวกแก่พวกเจ้า และพระองค์ไม่ประสงค์ความลำบากแก่พวกเจ้า” (2/185)
ฮัมซะฮฺ อิบนฺอัมร อัลอัสละมีย์ ได้ถามท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า ฉันจะถือศีลอดในขณะเดินทางหรือไม่ ? เพราะเขาเป็นคนชอบถือศีลอดมาก ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ตอบแก่เขาว่า “จงถือศีลอดหากท่านประสงค์ และจงละศีลอดหากท่านประสงค์” บันทึกโดย : อันบุคอรียฺและมุสลิม
عن أنس قال : كنا نسافر مع النبي صلى الله عليه وسلم فلم يعب الصائم على المفطر وا المفطر على الصائم .
มีรายงานจากอะนัสอิบนมาลิก แจ้งว่า “ฉันได้เดินทางพร้อมกับท่านร่อซูลุลลอฮฺในเดือนรอมฎอน ผู้ถือศีลอดมิได้ตำหนิผู้ละศีลอด และผู้ละศีลอดมิได้ตำหนิผู้ถือศีลอด” บันทึกโดย : อัลบุคอรียฺและมุสลิม
บรรดาหะดีษเหล่านี้เป็นการแสดงถึงทางเลือก มิได้หมายความว่าเป็นการกระทำที่ดีกว่า แต่ทว่าอาจจะเป็นการชี้แนะให้การละศีลอดมากกว่าการถือศีลอดด้วยหะดีษทั่วไปดังเช่นคำกล่าวของท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า
“แท้จริงอัลลอฮฺทรงชอบที่จะให้สิ่งที่เป็นที่อนุมัติถือปฏิบัติกัน เสมือนกับที่พระองค์ทรงเกลียดที่จะให้สิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนเป็นที่ปฏิบัติกัน” บันทึกโดย : อะหมัดและอิบนฺฮิบบาน
إن الله يحب أن تؤتى رخصه كما يكره أن تؤتى معصيتة
อีกรายงานหนึ่งกล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺทรงชอบที่จะให้สิ่งที่เป็นที่อนุมัติถือปฏิบัติกัน เสมือนกับที่พระองค์ทรงชอบที่จะให้ความตั้งใจมั่นเป็นที่ปฏิบัติกัน” บันทึกโดย : อิบนฺฮิบบานและอัลบัซซาร
แต่มีรายงานจากอะบีสะอี๊ด อัลคุดรีย์ แจ้งว่า “บรรดาศ่อฮาบะฮฺมีความเห็นว่า ผู้ใดพบว่าเขามีความแข็งแรงแล้วถือศีลอดก็เป็นการดี และผู้ใดพบว่าเขามีความอ่อนแอแล้วการละศีลอดก็เป็นการดี” บันทึกโดย : อัตติรมีซีย์และอัลบ่ะฆอวีย์
พึงทราบเถิดว่าการถือศีลอดขณะเดินทางนั้น ถ้าหากเป็นการลำบากแก่เขาแล้วก็ไม่เป็นความดีเลย หากแต่ว่าการละศีลอดเป็นการดีกว่า และเป็นที่ชอบแก่อัลลอฮฺ หลักฐานในเรื่องนี้มีรายงานจากศ่อฮาบะฮฺหลายคน แจ้งว่าท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
( لَيْسَ مِنَ البِّرِّ الصِّيَامُ فِيْ السَّفَرَ ) أخرجه البخاري ومسلم عن جابر
ความว่า “ไม่เป็นความดีเลยที่จะถือศีลอดในขณะเดินทาง” บันทึกโดย : อัลบุคอรียฺและมุสลิม รายงานจากญาบิร
ข้อเตือนสติ
มีบางคนอาจจะสงสัยว่า การถือศีลอดในยุคปัจจุบันนี้ไม่เป็นที่อนุญาตและพากันตำหนิหรือเย้ยหยันผู้ที่ปฏิบัติตามการอนุมัติของอัลลอฮฺ หรือเห็นว่าการถือศีลอดเหมาะสมกว่า เพราะการคมนาคมสะดวกง่ายดาย สำหรับบุคคลเหล่านี้ เราขอเตือนให้ความสนใจต่อคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
وَمَا كَانَ رَبُّكَ نَسِيّاً ﴿٦٤﴾
ความว่า "และพระเจ้าของเจ้านั้นมิทรงหลงลืมสิ่งใดเลย” (19/64)
และคำตรัสของพระองค์ที่ว่า
وَاللّهُ يَعْلَمُ وَأَنتُمْ لاَ تَعْلَمُونَ ﴿٢٣٢﴾
ความว่า “และอัลลอฮฺนั้นทรงรอบรู้แต่พวกเจ้าไม่รู้” (2/232)
และคำตรัสของพระองค์ในอายะฮฺที่กล่าวถึงการอนุญาตให้ละศีลอดในขณะเดินทางที่ว่า
أُخَرَ يُرِيدُ اللّهُ بِكُمُ الْيُسْرَ وَلاَ يُرِيدُ بِكُمُ الْعُسْرَ
ความว่า “อัลลอฮฺทรงประสงค์ความสะดวกง่ายดายแก่พวกเจ้า และไม่ทรงประสงค์ความยากลำบากแก่พวกเจ้า” (2/185)
กล่าวคือ ความสะดวกและความง่ายดายแก่ผู้เดินทางนั้นเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประสงค์ และเป็นจุดมุ่งหมายของบัญญัติศาสนา เป็นการพอเพียงแล้วว่าผู้ที่บัญญัติศาสนา คือพระผู้ทรงให้บังเกิดกาลเวลาและสถานที่และมนุษย์ ดังนั้นพระองค์ทรงรอบรู้ยิ่งถึงความต้องการของมนุษย์และสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของพวกเขา และสิ่งที่เหมาะสมแก่พวกเขา พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า
أَلا يَعْلَمُ مَنْ خَلَقَ وَهُوَ اللَّطِيفُ الْخَبِيرُ ﴿١٤﴾
ความว่า "พระผู้ทรงสร้างจะมิทรงรอบรู้ดอกหรือ ? ว่าพระองค์คือผู้ทรงตระหนักยิ่ง ผู้ทรงรอบรู้อย่างถี่ถ้วน” (67/14)
ที่เรานำมากล่าวนี้เพื่อให้พี่น้องมุสลิมได้รับทราบไว้ว่า เมื่ออัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ได้กำหนดกิจการใดแล้ว สำหรับเขาไม่มีทางเลือกในเรื่องของเขา แต่เขาจะต้องทบทวนพร้อมกับปวงบ่าวของอัลลอฮฺผู้ศรัทธา ผู้นอบน้อมถ่อมตน ซึ่งพวกเขาจะเสนอแนะกิจการใด ๆ อันเป็นการล้ำหน้าเมื่ออยู่ต่อหน้าอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์โดยพวกเขาจะกล่าวว่า
سَمِعْنَا وَأَطَعْنَا غُفْرَانَكَ رَبَّنَا وَإِلَيْكَ الْمَصِيرُ ﴿٢٨٥﴾
ความว่า “เราได้ยินแล้ว เราได้ปฏิบัติตามแล้ว การอภัยโทษจากพระองค์เท่านั้นที่พวกเราปรารถนา โอ้พระเจ้าของพวกเรา และยังพระองค์ท่านเท่านั้นการกลับไป (หาพระองค์)” (2/285)
12.2 การป่วย
อัลลอฮฺทรงอนุญาตให้คนป่วยละศีลอดได้ เป็นความเมตตาและเป็นการผ่อนผันให้แก่เขา คนป่วยที่อนุญาตให้ละศีลอดได้นั้น คือผู้ป่วยเมื่อถือศีลอดอาจทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต หรือทำให้การเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น หรือกลัวว่าการฟื้นจากการป่วยจะล่าช้าไป อัลลอฮฺทรงรอบรู้ดียิ่ง
12.3 การมีประจำเดือนและการมีเลือดหลังคลอดบุตร
บรรดาอุละมาอฺมีความเห็นพ้องต้องกันว่า หญิงที่มีประจำเดือนและหญิงที่มีเลือดหลังคลอดบุตรไม่อนุญาตให้ทั้งสองถือศีลอด และเธอทั้งสองจะต้องละเว้นการถือศีลอดและจะต้องถือศีลอดใช้ในเวลาต่อมา และหากว่าเธอทั้งสองถือศีลอด การถือศีลอดนั้นใช้ไม่ได้ รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้จะติดตามมาภายหลัง อินชาอัลลอฮฺ
12.4 ชายชราและหญิงชรา
อิบนฺอับบาส กล่าวว่า
( الشَّيْخُ الكَبِِيْرُ وَالْمَرْأَةُ الكَبِِيْرَةُ لا يَسْتَطِيْعَانِ أَنْ يَصُوْمَا فَيُطْعِمَانِ كُلِّ يَوْمٍ مِسْكِيْنَاً )
رواه البخاري من قول إبن عباس
ความว่า “ชายชราและหญิงชราที่ไม่สามารถจะถือศีลอดได้ เขาทั้งสองจะต้องให้อาหารแก่คนยากจนขัดสนทุกวันเป็นการทดแทน” บันทึกโดย : อัลบุคอรียฺ
และอิบนฺอับบาส ได้อ่านอายะฮฺที่ว่า
﴿ وَعَلَى الَّذِينَ يُطِيْقُوْنَهُ فِدْيَةٌ طَعَامُ مِسْكِيْنٍ ﴾
ความว่า “และสำหรับผู้ที่ถือศีลอดโดยลำบากยิ่ง ก็ให้ชดใช้ (การถือศีลอด) ด้วยการให้อาหารแก่คนยากจนขัดสนหนึ่งคน” และกล่าวว่า “คือชายชราที่ไม่สามารถจะถือศีลอดก็ให้เขาละศีลอดและจ่ายข้าวสาลีครึ่งศออฺแก่คนยากจนขัดสนทุกวัน” บันทึกโดย : อัดดารุกุฎนีย์
มีรายงานจากอะบีฮุรอยเราะฮฺ แจ้งว่า “ผู้ใดเข้าสู่วัยชราแล้ว เขาไม่สามารถจะถือศีลอดรอมฎอนได้ ดังนั้นให้เขาจ่ายข้าวสาลีหนึ่งมุด (ครึ่งศออฺ) ทุกวัน” บันทึกโดย : อัดดารุกุฎนีย์
12.5 หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร
เป็นความเมตตาอันยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺที่มีต่อปวงบ่าวที่อ่อนแอ โดยอนุญาตให้พวกเขาเหล่านั้นละศีลอดได้ เช่นหญิงมีครรภ์ และหญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนม
มีรายงานจากอะนัส อิบนฺมาลิก อัลกะอฺบีย์ แจ้งว่าฉันได้เข้าไปหาท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และได้พบท่านกำลังรับประทานอาหาร ท่านได้กล่าวขึ้นว่า “เข้ามาที่นี่และกินอาหารด้วยกันซิ” ฉันได้กล่าวแก่ท่านว่า แท้จริงฉันถือศีลอดแล้วท่านได้กล่าวว่า “เข้ามาที่นี่ ฉันจะพูดกับท่านถึงเรื่องการถือศีลอด แท้จริงอัลลอฮฺทรงลดหย่อนการละหมาดย่อให้แก่ผู้เดินทาง และทรงผ่อนผันการถือศีลอดให้แก่หญิงมีครรภ์และหญิงเลี้ยงลูกด้วยนม" ฉันขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ท่านนะบีได้กล่าวถึงบุคคลสองประเภทหรือหนึ่งในสองประเภท น่าเสียดายที่ฉันไม่ได้ร่วมกินอาหารของท่านนะบี
บันทึกโดย : อัตติรมิซีย์ อันนะซาอีย์ อะบูดาวู๊ด และอิบนฺมาญะฮฺ
ที่มา : หนังสือ การถือศีลอดตามบัญญัติอิสลาม, อาจารย์อะหมัด สมะดี ร่อหิมะฮุลลอฮฺ
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 150 views