ยืนหยัดอย่างคนแปลกหน้า (สู่อีมานที่มั่นคง 67)

Submitted by dp6admin on Thu, 30/05/2024 - 11:58
เนื้อหา

สู่อีมานที่มั่นคง 67 โดย เชคริฎอ อะหมัด สมะดี

พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพทั้งหลายครับ อัสสลามุอลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์ 

พระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

...وَافْعَلُوا الْخَيْرَ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ
ความว่า “...และสูเจ้าจงกระทำความดีเพื่อเป็นความสำเร็จสำหรับสูเจ้า” (ส่วนหนึ่งจากอายะฮฺที่ 77 ซูเราะตุลฮัจญฺ) 

การที่มุอ์มินนั้นมีความตระหนักในคุณธรรมความดี นั่นคือส่วนสำคัญที่จะบ่งบอกถึงอีหม่าน ความศรัทธาที่อยู่ในจิตใจของเขา แต่การที่ผู้ที่กระทำความดีนั้นมีการยืนหยัด มีความมั่นคงในการกระทำความดี และมีความเข้มงวดในคุณธรรมของเขา นั่นก็จะบ่งบอกถึงอีหม่านที่มั่นคงของเขาเช่นเดียวกัน

ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้แจ้งถึงยุคก่อนวันกิยามะฮฺ ซึ่งจะเป็นยุคที่ลำบาก เป็นยุคที่มีเรื่องราวเปลี่ยนแปลงมากในชีวิตของบรรดามนุษย์ทั้งหลาย เราจึงจะเห็นว่าการกระทำความดี คุณธรรมหรืออีหม่านที่ควรจะเป็นเรื่องหลักในชีวิตของมุอ์มินนั้นจะกลายเป็นเรื่องไม่สำคัญ ส่วนเรื่องเลวร้ายจะกลายเป็นเรื่องสำคัญกว่า คนดีจะถูกประณาม คนเลวจะถูกยกย่อง คนโกหกจะถูกเชื่อ คนพูดจริงจะถูกปฏิเสธ นั่นคือสภาพที่จะเกิดขึ้นในยุคก่อนวันกิยามะฮฺ แต่ท่านนบีก็ยังยืนยันว่าเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับบรรดาผู้ศรัทธาที่ต้องตระหนักในความดี ไม่สนใจในสายตาของมนุษย์ที่อาจจะมองถึงพวกเขาว่าเป็นคนแปลกหน้าหรือคนที่น่าประหลาด ท่านนบีถือว่าการกระทำความดีในยุคสมัยหรือสังคมที่มองความดีเป็นสิ่งแปลกประหลาดนั้น นั่นคือสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายว่าเรายืนหยัดในแนวทางที่ถูกต้อง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

طوبى للغرباء

ฏูบา หมายถึงความสำเร็จหรือสวนสวรรค์หรือผลบุญอันใหญ่หลวงที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ศรัทธา

อุละมาอ์บางท่านได้ยกหะดีษบทหนึ่งอธิบายว่า “ฏูบา” คือต้นไม้ต้นหนึ่งที่มีขนาดใหญ่มากในสวนสวรรค์ หมายถึงว่าคนที่ท่านนบีพูดถึงคือ “อัลฆุเราะบาอ์” นั้นจะประสบความสำเร็จ จะเข้าสวรรค์และอยู่ภายใต้เงาหรือความร่มเย็นของต้นไม้ต้นนี้ ส่วนคำว่า “ฆุเราะบาอ์” นั้นแปลว่า “คนแปลกหน้า” เป็นพหูพจน์ของ “เฆาะรีบ” ท่านนบีไม่ได้พูดถึงคนแปลกหน้าที่เดินทางหรือคนแปลกหน้าในด้านสัญชาติหรือลักษณะใบหน้าหรืออื่นๆ แต่ท่านพูดถึงคุณลักษณะของการกระทำของคนเหล่านี้ที่เหมือนการกระทำของคนแปลกหน้า คนที่อยู่ในสังคมโดยสังคมมองเขาว่าเป็นคนแปลกหน้าทั้งๆ ที่เป็นคนสัญชาติเดียวกัน เป็นเจ้าของบ้านเมือง เป็นบุคคลที่เป็นเจ้าของท้องถิ่นหรือหมู่บ้าน แต่ก็ยังถือว่าเป็นคนแปลกหน้า

أُنَاسٌ صَالِحُونَ، فِي أُنَاسِ سُوءٍ كَثِيرٍ، مَنْ يَعْصِيهِمْ أَكْثَرُ مِمَّنْ يُطِيعُهُمْ

ท่านนบีได้อธิบายคำว่า “คนแปลกหน้า” ที่จะประสบความสำเร็จในวันกิยามะฮฺได้เข้าสวรรค์อย่างแน่นอน หมายถึงบรรดามนุษย์ที่กระทำความดีโดยอยู่ในสังคมที่มีบรรดามนุษย์กระทำความชั่วอย่างมากมาย คนดีจำนวนน้อยอยู่ในสังคมที่กระทำความชั่วส่วนมาก บุคคลที่จะเชื่อฟังเขา น้อยกว่าบุคคลที่จะฝ่าฝืนเขา บุคคลที่จะปฏิเสธหรือประณามเขาจะมากกว่าบุคคลที่จะปฏิบัติตามเขา คนที่กระทำความดีทั้งๆ ที่มีจำนวนน้อยถือว่าเป็นลักษณะที่จะบ่งบอกว่าพวกเขามีความยืนหยัดมีความเข้มงวดในการปฏิบัติความดี เพราะการที่ทำความดีแล้วไม่มีคนสนับสนุน เห็นด้วยหรือส่งสเริม นั่นคือสิ่งที่จะทำให้คนที่ทำความดีนั้นน้อยใจ หรือไม่มีกำลังใจหรือไม่มีความกระตือรือร้นในการปฏิบัติความดี แต่เมื่อเห็นเขายังทำความดี ยังยืนหยัดและยังกระตือรือร้นในการกระทำความดี ไม่สนใจในการประณามของคนชั่ว ไม่สนใจในการต่อต้านของคนที่กระทำความเลว ก็แสดงว่าคนที่กระทำความดีในสภาพนี้เป็นคนที่มีความเข้มงวดในอีหม่าน ยืนหยัดในคุณธรรมในศาสนา 

ท่านนบียืนยันว่าคนเหล่านี้เป็นคนแปลกหน้าที่จะประสบความสำเร็จ พวกเขาเป็นคนส่วนน้อยในสังคมจริงๆ ถูกประณามจริงๆ สังคมมองว่าพวกเขาแปลกหน้า ไม่มีคุณค่า ไม่มีใครเชื่อฟัง ทำความดีก็ถูกประณาม ทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสังคมก็ถูกว่าถูกด่า นำสิ่งดีมาให้สังคม นำของหอมๆ ดีๆ ที่จะทำให้สังคมนั้นมีลักษณะที่สง่างาม แต่พวกเขาก็ยังถูกปฏิเสธ ท่านนบีก็ถือว่าพวกเขาคือคนแปลกหน้าที่จะประสบความสำเร็จ

เราจะเห็นได้ว่าสังคมขณะนี้ทั่วโลกจะมีลักษณะเช่นนี้ คือคนทำความดีถูกปฏิเสธ ถูกประณาม ถูกต่อต้าน แต่เมื่อกระทำความชั่วก็จะถูกสรรเสริญ ยกย่อง ให้เกียรติ นั่นคือลักษณะหรือสัญญาณของวันกิยามะฮฺที่จะบ่งบอกถึงความยากลำบากของบรรดาผู้ศรัทธา มื่อเราพูดถึงอีหม่านที่มั่นคงก็หมายถึงว่าเราต้องสร้างความศรัทธาที่จะทำให้เรานั้นมีความสามารถในการยืนหยัด มีศักยภาพในการรักษาและอนุรักษ์อีหม่าน คุณธรรม ความดี จริยธรรมแห่งอิสลามของเรา ตราบใดที่เราจะมองถึงสายตาของสังคม การกระทำของเรานั้นเราจะใช้เครื่องหมายคือสังคมมองยังไง เห็นด้วยหรือไม่ ประณามหรือไม่ ยกย่องหรือไม่ เครื่องหมายตรงนี้มันค้านกับสิ่งท่านนบีได้แจ้งไว้ คือเราต้องมองถึงหลักการ คุณธรรม ความถูกต้อง แม้ว่าคนส่วนมากหรือส่วนน้อยจะสนับสนุนหรือส่งเสริมก็ตาม

وَإِن تُطِعْ أَكْثَرَ مَن فِي الْأَرْضِ يُضِلُّوكَ عَن سَبِيلِ اللَّهِ...
ความว่า “หากว่าเจ้าได้เชื่อฟังส่วนมากของมนุษย์บนแผ่นดินนี้ พวกเขาก็จะทำให้เจ้าหลงผิด...” (ส่วนหนึ่งของอายะฮฺที่ 116 ซูเราะตุลอันอาม)

ความถูกต้อง ไม่ได้อยู่ในส่วนมาก ความจริง สัจธรรมไม่ได้อยู่ในเสียงส่วนมาก ไม่จำเป็นนะครับที่จะอยู่ในเสียงส่วนมาก เพราะเป็นไปได้ที่ส่วนมากนั้นจะปฏิบัติความชั่วและอยู่กับความเท็จ อัลกุรอานและท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงสอนว่าในยุคก่อนวันกิยามะฮฺจะมีลักษณะแปลกมากๆ

سيأتِي على الناسِ سنواتٌ خدّاعاتٌ؛ يُصدَّقُ فيها الكاذِبُ، ويُكذَّبُ فيها الصادِقُ، ويُؤتَمَنُ فيها الخائِنُ، ويخَوَّنُ فيها الأمينُ، وينطِقُ فيها الرُّويْبِضَةُ . قِيلَ : وما الرُّويْبِضةُ ؟ قال : الرجُلُ التّافِهُ يتَكلَّمُ في أمرِ العامةِ

ท่านนบีกล่าวว่า จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่นานหลายปีเกิดขึ้นกับมนุษย์ เป็นช่วงเวลาแห่งการหลอกลวง ผู้คนจะสับสน ไม่มีความมั่นคง ไม่มีความชัดเจน คนที่พูดเท็จพูดโกหกนั้นสังคมจะเชื่อเขา ส่วนคนพูดความจริงนั้นผู้คนจะปฏิเสธ คนทรยศหรือทุจริตกลับได้รับอะมานะฮฺ (ความไว้วางใจ) ส่วนคนที่มีความซื่อสัตย์มีสัจจะมีความถูกต้อง กลับจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนทรยศ ไร้อมานะฮฺ

นั่นคือลักษณะแปลกที่ท่านนบีบอกว่ามันจะเกิดขึ้น คนที่มีลักษณะ “รุวัยบิเฎาะฮฺ” จะปราศรัย คำนี้ในภาษาอาหรับเป็นเหมือนคำประณามหรือเยาะเย้ยแต่เศาะหาบะฮฺก็ยังไม่เข้าใจ เศาะหาบะฮฺจึงถามว่า “อะไรคือรุวัยบิเฎาะฮฺ?” ท่านนบีจึงบอกว่า “พวกเขาคือคนที่ไม่มีคุณค่า คนต่ำต้อย คนที่ไม่มีความมั่นคงในด้านความรู้ ในด้านศาสนา ประสบการณ์ หรือเรียกว่าคนที่สังคมมองเขาว่าเป็นคนที่ไม่สนใจในเรื่องที่มีความสำคัญ แต่กระนั้นเขาก็ยังออกมาพูดถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในสังคม ปัญหาใหญ่ๆ ในสังคม เขาจะเข้ามาเกี่ยวข้อง มายุ่ง มาให้ทัศนะ ให้ความรู้ ให้การอธิบาย การชี้แจง การแนะนำ

อย่างที่เราเห็นนะครับคนที่เกี่ยวข้องกับการเตะฟุตบอลก็จะมีทัศนะหรือเข้ามาชี้แจงสังคมในเรื่องศาสนา คนที่เป็นดาราก็จะเข้ามาฟัตวาในศาสนา คนที่มีเรื่องราวที่เกี่ยวกับดุนยาแต่ก็จะมาชี้แจงแนะนำสังคมให้ปฏิบัติในเรื่องยิ่งใหญ่ที่เกี่ยวกับศาสนาหรือสังคม คนที่ไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ ก็จะมีบารมี มีบทบาท มีอำนาจในการชี้แนะให้สังคมกระทำอย่างไรในเรื่องศาสนา เราได้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้ปรากฏในสังคม เป็นสิ่งที่ท่านนบีเตือนให้เราระมัดระวังและเป็นสิ่งที่เราจะต้องนำมาเป็นบทเรียนในการรักษาอีหม่านของเราให้ยืนหยัดในการกระทำความดี ในคุณธรรม เพื่อเป็นการสร้างอีหม่านที่มั่นคง

วัสสลามุอะลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์


เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 67, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ยืนหยัดอย่างคนแปลกหน้า (สู่อีมานที่มั่นคง 67)