พระเจ้ามีหรือไม่ ?

Submitted by dp6admin on Mon, 06/04/2009 - 16:26

คำถามนี้ เป็นคำถามที่มีอยู่ในอัลกุรอาน เป็นคำถามที่ท้าทายมนุษยชาติทั้งหลาย เพราะคำตอบของคำถามนี้ย่อมมีอยู่ในจิตใจของมนุษย์ทุกคน อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ในกุรอานว่า

قَالَتْ رُسُلُهُمْ أَفِي اللَّهِ شَكٌّ فَاطِرِ السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضِ

ความว่า “บรรดาร่อซูลของพวกเขาได้กล่าวว่า “มีการสงสัยในอัลลอฮฺ พระผู้สร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินกระนั้นหรือ?”
(14:10

มีใครสงสัยต่ออัลลอฮฺต่อพระเจ้าหรือ ? คำถามนี้มิได้ถามเฉพาะผู้ศรัทธาเท่านั้น การนำเสนอเรื่องหลักศรัทธา(อะกีดะฮฺ)ในหลักการอิสลามประเด็นสำคัญสำหรับมุอฺมินคือต้องไม่มีความสงสัยหรือคลางแคลงใจ  ต้องศรัทธาร้อยเปอร์เซนต์เสมือนสัมผัสเอง เรียกว่า “อิลมุลยะกีน”

ถ้าถูกถามว่า “เห็นอัลลอฮฺไหม ?”  แน่นอนต้องตอบว่า “ไม่เห็น” ไม่เห็นแล้วศรัทธาได้อย่างไร?  นี่คือความสำคัญของการศึกษาอะกีดะฮฺ(หลักศรัทธา) คือเพื่อสร้างความมั่นใจ(ยะกีน)ต่อพระเจ้า

ความเข้าใจมี 2 ชนิด คือ อัยนุลยะกีน คือความมั่นใจที่เกิดจากการสัมผัสได้โดยการมองเห็น และ อิลมุลยะกีน คือความมั่นใจที่เกิดจากการความรู้ เสมือนสัมผัสเอง ต้องศรัทธาอัลลอฮฺเสมือนว่าเห็นพระองค์

อิสลาม มีสามตำแหน่ง คือ อิสลาม อีมาน  และอิหฺซาน ซึ่ง อิหฺซาน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อธิบายว่าหมายถึง ให้เจ้าสักการะ(อิบาดะฮฺ)ต่อพระผู้เป็นเจ้าเสมือนเจ้าเห็นพระองค์ นี่คือิลมุนยะกีน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการศึกษาอย่างแท้จริง



พระเจ้าแปลว่าอะไร?



นัยยะคำว่า พระเจ้า ในศาสนาคริสต์เชื่อว่าพระเจ้ามี 3 ส่วน (ตรีเอกานุภาพ)

นัยยะคำว่า พระเจ้า ที่ตีความตามศาสนาพุทธ คำว่า พระ แปลว่า พระพุทธ, เจ้า แปลว่า ผู้เป็นใหญ่, ส่วนคำว่า “พระเจ้า” หมายถึง พระพุทธเจ้า, เทพผู้เป็นใหญ่, คำนำหน้าเจ้าแผ่นดินและเจ้านาย (ความหมายตามพจนานุกรม)

ซึ่งความหมายที่เป็นนัยยะของคำศัพท์เหล่านี้ไม่สามารถนำมาตีความในศาสนาอิสลามได้ ถ้าตีความตามนัยยะของคำว่า อิลาฮฺ (إِلَه)  ในภาษาอาหรับแปลว่า “พระเจ้า” แต่ตามความหมายในหลักศรัทธาที่มาจากอัลกุรอานคำว่า “อิลาฮฺ” และคำว่า “พระเจ้า” แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงความจำเป็นต้องศึกษาความหมายของคำว่า “พระเจ้า”



บางคนเมื่อถูกถามว่า รู้จักอัลลอฮฺไหม? คำตอบของแต่ละคนจะบ่งบอกถึงความบกพร่องในการศึกษาวิชาอะกีดะฮฺ พูดได้ว่ามีมุสลิมที่ยังไม่รู้จักอัลลอฮฺ มีคนที่อ้างตนว่าเป็นมุสลิม แต่เมื่อต่างศาสนิกถามว่า พระเจ้าของท่านคือใคร ? เป็นอย่างไร ? กลับอธิบายไม่ได้ ทำให้เราต้องตระหนักว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพระเจ้า เหมือนกับว่าเราต้องศึกษาใหม่ เรื่องความศรัทธาหรืออะกีดะฮฺนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก บางคนละหมาดมาเป็นสิบๆปี เมื่อถูกถามว่า ท่านอิบาดะฮฺต่อใคร? อัลลอฮฺ, แล้วคุณลักษณะของพระองค์เป็นอย่างไร? แล้วท่านรู้จักอัลลอฮฺแค่ไหน?

ความหมายของคำว่า พระเจ้า ในหลักศรัทธาของอัลอิสลามมีสาระมากมายในวิชาเตาฮีด ก่อนอื่นเราต้องศึกษาคำว่า เตาฮีด แปลว่าอะไร เพื่อให้เราได้รู้จักพระเจ้า เพราะบางศาสนาไม่ให้ความสำคัญกับพระเจ้า อันเนื่องมาจากเขาเห็นว่าความทุกข์ของมนุษย์คือความเจ็บปวด ความยากจน ไม่มีความสุข ฯลฯ การรู้ว่ามีพระเจ้าหรือไม่ไม่มีผลต่อการปลดความทุกข์ของเขา ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อคำว่า พระเจ้า  แต่ในศาสนาอิสลามนั้นความทุกข์ของมนุษย์นั้นคือความหายนะที่ประสบกับนรกในวันปรโลก ซึ่งมาจากการกระทำในโลกนี้ ส่วนความทุกข์ในโลกนี้เป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยที่เราต้องอดทนและทำความดี พระผู้เป็นเจ้าจะให้ความอดทนและความดีนั้นเป็นผลบุญที่จะได้รับการตอบแทนในโลกหน้า ทุกคนจะรับผิดชอบการกระทำของตนเองที่ทำไว้ในโลกนี้ ซึ่งเราจะเห็นว่าหลักศรัทธาของพุทธและอิสลามแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การจะทำความเข้าใจหลักศรัทธาของอิสลามก็ต้องศึกษาตามกระบวนการของศาสนาอิสลาม

บางศาสนาบางลัทธิ เช่น วัตถุนิยมนั้นมีความเกี่ยวข้องกับอะกีดะฮฺ เพราะเป็นลัทธิที่ทำให้มนุษย์ไม่เชื่อในสิ่งเร้นลับอย่างนรกและสวรรค์ มุสลิมจะไม่เชื่อหรือสงสัยในเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักศรัทธาซึ่งต้องศรัทธาอย่างมั่นคง เพราะเป็นรุกุ่นอีมาน(หลักศรัทธา) และมุสลิมต้องมีคำชี้แจงต่อผู้ที่มีความเชื่อเหล่านี้ รวมทั้งอีกกลุ่มหนึ่งคือ เซคิวลาร์ ที่แยกศาสนาออกจากโลก จำกัดศาสนาอยู่เฉพาะในมัสยิดหรือโบสถ์เท่านั้น ไม่ให้มามีอิทธิพลในสังคม ธนาคาร หน่วยงานราชการ ฯลฯ

บางศาสนาเชื่อว่ามีพระเจ้าจริง แต่ความเชื่อต่อพระเจ้าแตกต่างจากมุสลิม มีนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันคนหนึ่งนับถือศาสนายิว เชื่อในพระเจ้า เมื่อได้ศึกษาดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ก็เริ่มเชื่อแล้วว่าโลกนี้ต้องมีผู้สร้างคือพระเจ้า เป็นไปไม่ได้ที่มันจะเกิดขึ้นมาเอง การโคจรของโลกและดวงดาวต่างๆเป็นไปอย่างมีระบบไม่เคยชนกัน แสดงว่ามีผู้สร้างระบบนี้ขึ้น นักวิทยาศาสตร์บางคนอาจะเรียกว่า วิศวกรผู้ยิ่งใหญ่เป็นผู้สร้างโลกนี้ แต่เมื่อถูกถามว่าผู้ที่สร้างโลกและตั้งระบบเหล่านี้เป็นอย่างไร ? เขาจะไม่มีคำตอบ เพราะทฤษฎีแบบนี้ไม่ได้มาจากพระเจ้า ฉะนั้นคำตอบในเรื่องนี้ย่อมต้องมาจากอัลลอฮฺเท่านั้น ลักษณะของอัลลอฮฺเป็นอย่างไร ? อัลลอฮฺบัญชาให้เราปฏิบัติตนอย่างไร ? ล้วนต้องมาจากพระเจ้า

คนที่เริ่มรู้แล้วว่าต้องเชื่อต่อพระเจ้า แต่ไม่รู้ว่าจะเชื่อต่อพระเจ้าอย่างไร ถ้ามีต่างศาสนิกที่เชื่อว่ามีพระเจ้า ก่อนตายเขาถูกถามว่าเชื่อต่อพระเจ้าไหม? ตอบว่า “เชื่อ” พอไหม? ในวันปรโลกเขาจะรอดพ้นไหม ? คำตอบคือ “ไม่พอ” การเชื่อในพระเจ้าอย่างเดียวโดยที่ไม่รู้ถึงลักษณะของพระเจ้านั้นไม่ได้

 


เรียบเรียงจากการบรรยายของ เชคริฎอ อะหมัด สมะดี, 2548-06-25 อะกีดะฮฺ 1 (ทุ่งครุ)

วันที่ลงบทความ : 26 ส.ค. 50