วิธีต้อนรับเดือนรอมฎอน 2

Submitted by dp6admin on Mon, 03/08/2009 - 16:18

วิธีที่ 3 الدُّعَاءُ
การวิงวอน(ดุอาอฺ)   


การวิงวอน(ดุอาอฺ)ต่ออัลลอฮฺ ให้เรามีชีวิตอยู่เพื่อปฏิบัติอิบาดะฮฺในเดือนรอมฎอนอีกครั้ง หนึ่ง ด้วยสุขภาพพลานามัยอันสมบูรณ์

قَالَ أَنَسُ بْنُ مَالِكٍ : كَانَ النَّبِيُّ صَلَّى الله عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا دَخَلَ رَجَب قَالَ : اللَّهُمَّ بَارِكْ لَنَا في رَجَبِ وَشَعْبَانَ وَبَلِّغْنَا رَمَضَانَ .   رواه أحمد والطبراني

ความว่า : ท่านอนัสอิบนุมาลิก ได้รายงานไว้ว่า เมื่อถึงเดือนรอยับแล้ว ท่านนบี   ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะกล่าวว่า โอ้อัลลอฮฺ ขอให้เรามีความจำเริญในเดือนรอยับและเดือนชะอฺบาน และขอให้เราบรรลุสู่เดือนรอมฎอน  (บันทึกโดยอะหมัดและฏ๊อบรอนียฺ เชคอัลบานียฺว่าเฎาะอีฟ ใช้สำนวนนี้ขอดุอาอฺได้ แต่อย่าเชื่อว่าเป็นดุอาอฺของท่านนบี)

บรรดาสะละฟุศศอและฮฺมักจะวิงวอนเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อจะได้บรรลุถึงเดือนรอมฎอน และวิงวอนเพื่อให้อัลลอฮฺ   ตอบรับความดีงามที่ได้กระทำไว้ในเดือนรอมฎอน และเมื่อมุสลิมเห็นจันทร์เสี้ยวของเดือนรอมฎอน เป็นซุนนะฮฺให้กล่าวดุอาอฺว่า

دعاء رؤية الهلال
ดุอาอฺเห็นจันทร์เสี้ยวของต้นเดือน

 اللهُ أَكْبَرُ . اللَّهُمَّ أَهِلَّهُ عَلَيْنَا بِالأَمْنِ وَالإِيْمَانِ وَالسَّلامَةِ وَالإِسْلامِ وَالتَّوْفِيْقِ لِمَا تُحِبُّ وَتَرْضَى رَبِّيْ وَرَبُّكَ اللهُ .   

رواه الترمذي والدارمي وصححه ابن حبان

คำอ่าน : อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุมมะอะฮิลละฮู อะลัยนา บิลอัมนิ วัลอีมานิ วัสสลามะติ วัลอิสลามิ วัตเตาฟีกิ ลิมา ตุฮิบบุ วะตัรฎอ ร็อบบี วะร็อบบุกัลลอฮุ

ความว่า : อัลลอฮฺทรงเกรียงไกร โอ้อัลลอฮฺ ขอให้(จันทร์เสี้ยวนี้)ปรากฏต่อเราด้วยความสวัสดิภาพ ความศรัทธา ความปลอดภัย อิสลาม และทางนำในสิ่งที่พระองค์ทรงโปรดและพอพระทัย พระผู้อภิบาลของฉันและท่านคืออัลลอฮฺ  (บันทึกโดยติรมิซียฺและดาริมียฺ อิบนิฮิบบานกล่าวว่าศ่อเฮียะฮฺ)

วิธีที่ 4 التَّوْبَة
การกลับเนื้อกลับตัว


การต้อนรับเดือนรอมฎอนด้วยความตั้งใจที่จะออก ห่างและละทิ้งความผิดทุกชนิด พร้อมทั้งกลับเนื้อกลับตัวอย่างบริสุทธิ์ใจ เพราะบรรดาผู้ศรัทธามีหน้าที่ต้องเตาบัต(กลับเนื้อกลับตัว)ในทุกเวลาอยู่ แล้ว เมื่อถึงเดือนรอมฎอนก็เป็นโอกาสทองที่เราต้องเตาบัตตัว เพราะถ้าหากไม่สามารถกลับเนื้อกลับตัวในเดือนนี้ แล้วเมื่อไหร่เล่าจะกลับเนื้อกลับตัว อัลลอฮฺ   ตรัสไว้ว่า

﴿ وَتُوبُوا إِلَى اللَّهِ جَمِيعاً  أَيُّهَا الْمُؤْمِنُونَ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ ﴾

ความว่า : และพวกเจ้าทั้งหลายจงขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮฺเถิด โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เพื่อพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ (อันนูร 31)

 

เดือนรอมฎอนเป็นโอกาสดีที่จะเริ่มชีวิตใหม่อันขาวบริสุทธิ์และปราศจากมลทิน โดยตั้งใจคืนดีกับ 

  • อัลลอฮฺ  โดยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นบ่าวของพระองค์
  • ร่อซูลของอัลลอฮฺ  โดยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นผู้ยืนหยัดในแนวทางของท่าน
  • ครอบครัว สังคม และสิ่งแวดล้อม คือชีวิตทั้งปวงให้ขึ้นอยู่กับพระบัญชาของอัลลอฮฺ

ชีวิตเช่นนี้ย่อมเป็นชีวิตที่สดใส มีความสุข และประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน

มุสลิมทุกคนต้องทบทวนว่าเขาจะสามารถปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาได้เท่าไรใน เดือนรอมฎอน มนุษย์ที่ยังบูชาอารมณ์ใฝ่ต่ำ สักการะต่อกิเลสที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของเขา มนุษย์ที่ยังมีอุปนิสัยปะปนไปด้วยนิสัยของผู้ปฏิเสธศรัทธา(กาฟิร) ไม่ตระหนัก ในพระบัญชาของอัลลอฮฺ แต่คำนึงถึงอิทธิพลของสังคม กระแสสังคม และอำนาจแห่งสิ่งแวดล้อม จนทำให้ละเลยซึ่งความเป็นมุสลิม และความเป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์ที่ยังข้องเกี่ยวกับอบายมุข อาทิเช่น การผิดประเวณี(ซินา) การดื่มสุรา การกินดอกเบี้ย(ริบา) การเล่นพนัน ความลามก การสูบบุหรี่ ยาเสพติด และอื่นๆ บุคคลเหล่านี้มีความจริงใจหรือไม่ ที่จะกลับเนื้อกลับตัวและปรับปรุงชีวิตให้สอดคล้องกับความสดใสของเดือนรอม ฎอน? จริงจังหรือไม่ที่จะวางตนเองในกรอบของหลักการอิสลามอย่างเคร่งครัด? บริสุทธิ์ใจหรือไม่ที่จะประกาศความเลื่อมใสต่ออิสลามและ คำสั่งสอนของอัลอิสลาม?

ไม่เป็นสิ่งที่ห่างไกลจากความเป็นไปได้ว่า บุคคลที่เคยใช้ชีวิตของเขาตลอดมาอย่างไร้ศาสนา และจริยธรรม ที่จะกลับเนื้อกลับตัวอย่างรวดเร็วในเดือนรอมฎอน แต่หาเป็นเรื่องง่ายไม่ เพราะสภาพของเขาเสมือนคนป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่าจำ เป็นต้องผ่าตัดเอาส่วนอันตรายออกจากร่างกาย เพื่อจะได้รับความปลอดภัยจากเชื้อโรคอันชั่วร้าย จึงจำเป็นต้องได้รับความเจ็บปวด และการที่จะเปลี่ยนชีวิตจากสภาพบุคคลที่ไม่คำนึงถึงหลักการ มุ่งมั่นในผลประโยชน์และความสุขส่วนตัว ทั้งยังสร้างความปั่นป่วนและความระส่ำระสายในสังคม เมื่อใครได้ยินชื่อจะหาความดีในประวัติไม่เจอ ให้กลายเป็นบุคคลที่มีอีมานมีคุณธรรม สร้างสรรค์ความดีให้แก่สังคม เมื่อใครได้ยินชื่อจะหาความชั่วในประวัติของเขาไม่พบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็น ต้องใช้ความมานะพยายาม และต้องขอความช่วย เหลือจากอัลลอฮฺอย่างต่อเนื่อง


ที่มา : หนังสือ การถือศีลอดตามบัญญัติอิสลาม, อาจารย์อะหมัด สมะดี ร่อหิมะฮุลลอฮฺ