สู่อีมานที่มั่นคง 57 สิ่งที่ทำลายอีหม่าน
ความผิดที่ทำลายอีมาน (กะบีเราะฮฺ(บาปใหญ่) และบาปเล็ก (เศาะฆีเราะฮฺ), ไสยศาสตร์,
บาปใหญ่ - การประหารชีวิตผู้อื่นโดยไม่มีสิทธิ,การกินดอกเบี้ย, ละเมิดทรัพยืยะตีม, ป้ายสีสตรีหรือบุรุษผู้บริสุทธิ์ว่าทำซินา, หลบหนีจากสงครามในหนทางของอัลลอฮฺโดยไม่มีสาเหตุ, การฝ่าฝืนบิดามารดา, ละเมิดความศักดิ์สิทธิ์ของบัยตุลลอฮฺ,
พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพทั้งหลายครับ อัสสลามุอลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์
มุอ์มินจะต้องรักษาอีหม่าน โดยรักษาหลักศรัทธา ความเชื่อมั่นที่ต้องมีอยู่อย่างสม่ำเสมอซึ่งเป็นเรื่องที่เราได้พูดกันอยู่ตลอด และต้องรักษาอวัยวะและพฤติกรรมของเขาจากสิ่งต่างๆ ที่จะเป็นอันตราย หรือทำลายอีหม่าน เช่น ความผิด (مَعْصِيَّة) การฝ่าฝืน การขัดหลักกการที่อัลลอฮ์ได้บัญชาไว้ หรือขัดกับคำสั่งสอนของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
ความผิดที่จะทำลายอีหม่านของเรานั้นแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ บาปใหญ่ หรือที่ภาษาอาหรับเรียกว่า (كَبِيرَة) ซึ่งคำพหูพจน์ก็คือ (كَبَائِر) และบาปเล็ก (صَغَائِر) ซึ่งทั้งสองประเภทในทัศนะของอิสลามถือว่าเป็นสิ่งหะรอม ต้องห้าม ต้องหลีกเลี่ยง ไม่อนุญาตให้ประพฤติเป็นอันขาด แต่ในสายตาหรือความเข้าใจของบางคนอาจจะนึกว่าบาปเล็กเป็นสิ่งที่อนุญาตให้ทำบ้าง แต่บาปใหญ่เป็นสิ่งที่ไม่อนุญาตให้ทำเด็ดขาด ความเข้าใจเหล่านี้เป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด ทั้งบาปเล็กและบาปใหญ่เป็นสิ่งที่ต้องห้ามเป็นอันขาดในทัศนะของอิสลาม แต่ข้อแตกต่างของบาปทั้งสองประเภทนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงหรือการลงโทษ หรือการที่ละเมิดหลักการศาสนาอย่างมหันต์
บาปใหญ่นั้นคือการละเมิดขอบเขตหลักการศาสนาอย่างมหันต์ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ฝ่าฝืนนั้นมีโอกาสที่จะถูกลงโทษในโลกดุนยานี้โดยกฎเกณฑ์หรือกฎหมายของศาสนาอิสลาม และมีโอกาสที่จะถูกลงโทษในวันกิยามะฮ์ด้วย
ส่วนบาปเล็ก มักจะไม่มีการลงโทษในโลกดุนยานี้ แต่จะเป็นความผิดที่เปิดโอกาสให้บ่าวของอัลลอฮ์ที่ประพฤติบาปเล็กนั้นมีโอกาสที่จะถูกลงโทษในวันกิยามะฮ์เช่นเดียวกัน
ความผิดที่เรียกว่าบาปใหญ่จะมีหลายชนิด เป็นความผิดที่ศาสนาสาปแช่งและถือว่าเมื่อประพฤติบาปใหญ่แล้ว จะถือว่ามนุษย์ หรือมุสลิม หรือมุอ์มินนั้นได้ประพฤติสิ่งที่ทำให้อีหม่านของเขานั้นถูกทำลายอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าของบาปใหญ่ นั่นก็คือการตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ (شِرْك) ที่จะทำลายอีหม่านอย่างมหันต์หรืออาจจะลบล้างอีหม่านด้วยซ้ำ
ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
الكبائر تسع أعظمهن إشراك بالله
ความว่า “บาปใหญ่นั้นมี 9 ชนิด สิ่งที่อันตรายที่สุดคือการตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์” (บันทึกโดยอบูดาวูด)
ประการถัดมาคือ ไสยศาสตร์ (السِحْر) ทั้งการทำ การเชื่อ การมีข้อเกี่ยวข้องกับมัน
ประการถัดมาคือ การฆ่าชีวิตผู้อื่นโดยไม่มีสิทธิ์ (قتل النفس بغير حق) การละเมิดสิทธิด้านชีวิตของผู้อื่น
ประการถัดมาคือ การกินดอกเบี้ย (أكل الربا)
ประการถัดมาคือ การกินทรัพย์เด็กกำพร้า (أكل مال اليتيم)
ประการถัดมาคือ การใส่ร้ายชายหรือหญิงบริสุทธิ์ว่าละเมิดประเวณี (قذف المحصنة) ในหะดีษใช้คำว่า สุภาพสตรี แต่ในทัศนะของอิสลามทั้งสตรีและบุรุษเมื่อถูกละเมิด ถูกกล่าวหา ถูกให้ร้ายว่าทำซินา ก็จะถือว่าเป็นการใส่ร้ายที่เป็นบาปใหญ่เหมือนกัน
ประการถัดมาคือ การหนีสงคราม (الفرار يوم الزحف) คือการหนีจากสงครามในหนทางของอัลลอฮ์โดยไม่มีเหตุผล สาเหตุหรืออุปสรรค
ประการถัดมาคือ การเนรคุณต่อบิดามารดา (عقوق الوالدين) การฝ่าฝืนบิดามารดาในสิ่งที่ท่านทั้งสองใช้ให้กระทำโดยไม่เป็นสิ่งที่ขัดกับหลักการอิสลาม
ประการถัดมาคือ (واستحلالُ البيتِ الحرامِ قبلتِكُم أحياءً وأمواتًا) การละเมิดต่อความศักดิ์สิทธิ์ของบัยตุลลอฮ์ อันเป็นกิบละฮ์หรือทิศที่เราต้องหันหน้าไปทั้งในยามปฏิบัติศาสนกิจเมื่อมีชีวิต และในยามที่เราถูกฝังหลังเสียชีวิต การละเมิดกิบละฮ์ บัยตุลลอฮ์ มัสญิดหะรอม ใครละเมิดสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ถือว่าได้กระทำบาปใหญ่
พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพทั้งหลายครับ เหล่านี้คือบรรดาบาปใหญ่บางชนิดที่ถูกระบุในหะดีษบทหนึ่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สอนไว้ พี่น้องอาจมีคำถามว่าแล้วบาปใหญ่มีแค่ 9 ชนิดนี้หรือ? คำตอบก็คือ แท้จริงการนับบรรดาบาปใหญ่ในทัศนะของอิสลามนั้นไม่ได้ระบุจำนวนไว้เพียง 9 ชนิดเท่านั้น เพราะในหะดีษอีกบทหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
الكبائر سبع - “บรรดาบาปใหญ่นั้นมี 7 ชนิด”
อุละมาอ์บางท่านได้พยายามนับบรรดาบาปใหญ่ในทัศนะอิสลามโดยการรวบรวมหะดีษหรือหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบาปใหญ่ พบว่าอาจจะมากกว่า 10-20 ชนิด ขณะที่อุละมาอ์บางท่านรวบรวมได้มากกว่า 70 ชนิดซึ่งมีรายงานจากเศาะหาบะฮ์บางท่านว่าบาปใหญ่นั้นอาจจะมากถึง 70 ชนิด
อิมามอิบนุหะญัร อัลฮัยตะมี หนึ่งในผู้รู้ที่มีชื่อเสียงในมัซฮับชาฟิอีมีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า (الزواجر عن اقتراف الكبائر) ซึ่งได้รวบรวมหลักฐานข้อมูลต่างๆ โดยนิติศาสตร์อิสลามที่พูดถึงเรื่องบาปใหญ่ เป็นผลงานที่ดีมากสำหรับผู้ศรัทธาที่อยากศึกษาเรื่องบาปใหญ่
เราจะพยายามที่จะพูดถึงบาปใหญ่ต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคม ในชีวิตปัจจุบันของเรานี้เพื่อเป็นการตักเตือนบรรดาผู้ศรัทธาที่อยากจะอนุรักษ์อีหม่านของเขาให้มั่นคงมิให้ประพฤติบาปใหญ่ต่างๆ
ถ้ามีคำถามว่า การศึกษาบาปใหญ่ที่เราไม่อยากกระทำอยู่แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร? ผลประโยชน์ถูกระบุในอัลกุรอานดังดำรัสของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า
إِنْ تَجْتَنِبُوا كَبَائِرَ مَا تُنْهَوْنَ عَنْهُ نُكَفِّرْ عَنْكُمْ سَيِّئَاتِكُمْ وَنُدْخِلْكُمْ مُدْخَلا كَرِيمًا
ความว่า “หากพวกเจ้าได้หลีกห่างจากบรรดาบาปใหญ่ที่ถูกห้ามไว้จากพวกเจ้าแล้วไซร้ เราก็จะลบล้างความผิดต่างๆ ของพวกเจ้า (บาปเล็ก) และเราจะนำพวกเจ้าเข้าสู่สถานที่อันมีเกียรติ” (อันนิสาอ์ อายะฮ์ที่ 31)
คือการที่เราหลีกเลี่ยงจากบรรดาบาปใหญ่จะทำให้อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา อภัยโทษแก่เราและให้เกียรติเรา นั่นคือสิ่งที่พระองค์รับประกัน หากเราพยายามที่จะรักษาอวัยวะของเรา พฤติกรรมของเราไม่ให้ปฏิบัติบาปใหญ่ แล้วพระองค์จะอภัยโทษในความผิดเล็กๆ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติบาปใหญ่นั้นเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ในทัศนะของอิสลาม เมื่อมุสลิมหรือมุอ์มินสามารถยืนหยัดรักษาตัวของเขาจากการทีบาปใหญ่ได้นั้นก็ถือว่าเป็นบุญคุณจากกอัลลอฮ์ที่ให้เตาฟีกแก่เขา ช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งเสริมให้จิตใจของเรานั้นมีพลัง มีแรง มีความสามารถในการหลีกเลี่ยงจากการทำบาปใหญ่
บางคนอาจจะนึกว่าเป็นเรื่องง่ายที่จะหลีกเลี่ยงจากบรรดาบาปใหญ่ แต่ไม่ใช่ครับพี่น้อง เพราะบาปใหญ่นั้นไม่ใช่เพียง 20-30 ชนิดที่เราจะต้องหลีกเลี่ยง แต่บาปใหญ่บางชนิดนั้นเรามีโอกาสที่จะทำมันทุกวัน เพราะอุละมาอ์กล่าวว่า บาปใหญ่นั้นอาจเกิดขึ้นจากการสะสมความผิดเล็กจำนวนมาก หมายถึงคนที่ทำความผิดเล็กหรือบาปเล็กโดยไม่กลับเนื้อกลับตัว คนที่ทำบาปเล็กด้วยความดื้อต่อหลักการ คนที่ทำบาปเล็กด้วยความสะใจ ด้วยการโอ้อวด คนที่ทำบาปเล็กแล้วนำบาปเหล่านั้นไปพูดต่อ ไปเล่าต่อให้คนอื่นกระทำด้วย หมายถึงเขาได้เผยแพร่ความผิดของเขา เรียกร้อง สนับสนุนให้คนอื่นกระทำด้วย นั่นเป็นลักษณะของบุคคลที่ละเมิดหลักการโดยตั้งใจ คนเหล่านี้คือคนที่นำความผิดเล็กๆ ของเขาไปสู่ลักษณะของบาปใหญ่
นั่นคือสิ่งที่เราต้องระมัดระวังนะครับ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่เป็นอันตรายหรือจะทำลายอีหม่านความศรัทธาของเรา ฝากไว้กับพี่น้องเพียงเท่านี้ครับ วัสสลามุอลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์
เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 57, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 1129 views