โอ้พ่อจ๋า (ยาอะบะตี) 3

Submitted by dp6admin on Wed, 14/07/2021 - 18:48

ท่านนบีอิบรอฮีมยังได้พูดสะกิดใจบิดาของท่านในสิ่งที่เขายอมรับ คือชัยฏอนมารร้าย ไม่มีใครปฏิเสธว่าเป็นสิ่งที่เรายอมรับว่ามีอิทธิพลที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา สร้างไว้เพื่อเป็นข้อทดสอบว่าเราจะตามชัยฏอนตามอารมณ์หรือจะตามคำสั่งของพระเจ้า  ท่านนบีอิบรอฮีมได้เตือนบิดาของท่านว่า

يَا أَبَتِ إِنِّي أَخَافُ أَن يَمَسَّكَ عَذَابٌ مِّنَ الرَّحْمَن فَتَكُونَ لِلشَّيْطَانِ وَلِيّاً ﴿٤٥﴾

“ 45. โอ้พ่อจ๋า แท้จริง ฉันกลัวว่าการลงโทษจากพระผู้ทรงกรุณาปรานีจะประสบแก่ท่าน แล้วท่านก็จะเป็นสหายของชัยฏอน ”

กลุ่มชนของท่านนบีอิบรอฮีมนั้นบูชาสองอย่างคือ ดวงดาวและรูปเจว็ด เขาไม่เคยบูชาชัยฏอน แล้วทำไมตรงนี้ท่านนบีจึงเตือนว่าอย่าเคารพบูชาชัยฏอน ก็เพราะคนที่ปฏิเสธศรัทธา บูชาเจว็ด ทำชิริก แน่นอนก็ต้องอยู่ในแนวทางของชัยฏอนมารร้าย ชัยฏอนมารร้ายไม่เคยมาหามนุษย์และบอกว่ามาอิบาดะฮต่อฉันเถิด  เพราะถ้าบอกว่าให้มาบูชานั้น มนุษย์ก็ต้องรู้ว่านี่คือศัตรู แต่ชัยฏอนมันต้องการให้มนุษย์หลงผิดด้วยการหลอกลวง มันจึงวางแผนที่ลึกลับ โดยทำให้คนหลงผิดในสิ่งอื่น ในวัตถุอื่นๆ นั่นก็เป็นการบูชาชัยฏอนในทางอ้อม “แท้จริงชัยฏอนนั้นเป็นผู้ฝ่าฝืน” เป็นผู้ฝ่าฝืนนั้นหมายถึงไม่ยอมรับคำบัญชาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เมื่อไม่ยอมรับพระประสงค์ของอัลลอฮฺและปฏิบัติตามนโยบายของชัยฏอนก็ถือว่าเป็นคนที่บูชาชัยฏอนมารร้าย

ท่านนบีอิบรอฮีมเตือนบิดาของท่านให้สำนึกในอันตรายของสิ่งที่กำลังปฏิบัติอยู่ อันจะทำให้ท่านเป็นมิตรสหายกับชัยฏอน เพราะชัยฏอนพูดกับอัลลอฮฺแล้วว่ามนุษย์เป็นเหตุที่ทำให้มันต้องออกจากสวรรค์และเป็นชาวนรก มันก็จะทำให้ลูกหลานอาดัมเป็นมิตรสหายมันและเข้านรกไปด้วย มันจะไม่เข้าคนเดียว นบีอิบรอฮีมก็เตือนบิดาของท่านว่า “ฉันกลัวว่าถ้าหากท่านยังดื้อดึงกับอัลลอฮฺ(ซุบฮานะฮูวะตะอาลา)ในการทำชิริก  ท่านก็จะได้รับการลงโทษจากอัลลอฮฺอย่างมหันต์ และท่านจะเป็นมิตรสหายกับชัยฏอนและเป็นเครื่องมือของมัน”

จากอายะฮฺนี้เราได้บทเรียนในการตักเตือนผู้อาวุโสกว่า เมื่อลูกจะเตือนพ่อของเขาก็ต้องมีความสวยงาม มีความสงสารในการตักเตือน ให้เขารู้สึกว่าเราห่วงใย ไม่ใช่เพียงแต่เอาเรื่องตักเตือนมาพูดให้เขาฟังให้จบนั้นไม่ใช่  เราต้องเตือนให้เขารู้ว่าเราอยากให้เขาพ้นจากการทรมาน อยากจะให้เขาพ้นจากอันตรายจริงๆ ซึ่งมีอุทาหรณ์ที่จะยกตัวอย่างมาให้เข้าใจ   การที่เรากระทำสิ่งที่ดีสำหรับลูกหลานของเรา เราอบรมขัดเกลาลูกหลานอย่างดี นั่นเป็นทางรอดสำหรับคนที่เป็นพ่อ และจะทำให้เราพ้นจากชัยฏอน พ้นจากการทรมานในนรก เพราะคนที่มีลูกหลานนั้น แน่นอนถ้ามีใครเอาไฟ เอาปืน เอามีดมาจี้ลูก ย่อมไม่มีใครปล่อยลูกไว้อย่างนั้น แต่สำหรับบางคนเมื่อมีคนเอาไฟนรกมาให้ลูก เขากลับสนับสนุน เช่น ลูกมาหาพ่อ พ่อจ๋า ขอเงินหน่อย มีเพื่อนชวนไปดูหนัง พ่อก็บอก ดีมากลูก ไปดูหนังจะได้ไม่ไปยุ่งกับยาเสพติด เอาไปเลยเอาไปดูหนังกัน, พ่อขอเงินหน่อย จะเอาไปซื้อมือถือ มีแฟนใหม่จะได้เอาไว้คุยกัน ดีลูกจะได้ไม่ต้องมีเวลาว่าง ดีกว่าไปพูดเรื่องไร้สาระ นรกกำลังมาหาลูกนะครับ เราต้องสนับสนุนลูกในเรื่องที่ถูกต้อง และต้องตักเตือนเขาในเรื่องที่ผิดหลักการ 

ข้อตักเตือนที่ลูกพูดกับพ่อนั้นเป็นข้อเตือนซึงกันและกัน ไม่มีลูกคนใดอยากเห็นพ่อเข้านรก และแน่นอนไม่มีพ่อคนใดที่อยากให้ลูกเข้านรก สิ่งที่อิบรอฮีมยืนยันกับบิดาของท่าน คือข้อตักเตือนที่อิบรอฮีมพูดอยู่สม่ำเสมอ แสดงว่าท่านไม่ได้เตือนครั้งเดียวแล้วจบ นบีอิบรอฮีมเตือนแล้วเตือนเล่า เพราะจะทิ้งพ่อให้ทำสิ่งผิดหลักการไม่ได้ ถึงแม้ยังดื้อดึงก็ต้องตักเตือน  อยู่บ้านเดียวกัน ไม่เตือนไม่ได้ แม้กระทั่งพ่อกับลูก ลูกโตแล้วพ่อเตือนยังไงก็ไม่รับฟัง ดื้อแล้วเราจะปล่อยเหรอ การเตือนจะต้องเตือนไปเรื่อยๆ เพราะฮิดายะฮฺไม่ได้อยู่ที่เรา ฮิดายะฮฺอยู่ที่อัลลอฮฺ(ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) หน้าที่ของเราคือตักเตือนเขา

แต่พ่อของนบีอิบรอฮีมเบื่อที่จะรับฟังคำตักเตือน ก็พูดกับลูกในลักษณะที่ไม่ดี นี่เป็นบทเรียนที่เราจะต้องเอาไปใช้ บางครั้งเราไม่พอใจลูกก็พูดหยาบคายกับลูกของเรา ทำให้ลูกโกรธและรู้สึกว่านี่ไม่ใช่พ่อนะ ขนาดอิบรอฮีมเตือนพ่อและพูดอยู่ตลอด พ่อจ๋าๆ แต่พ่อของนบีอิบรอฮีมกลับตอบโต้ว่า

قَالَ أَرَاغِبٌ أَنتَ عَنْ آلِهَتِي يَا إِبْراهِيمُ لَئِن لَّمْ تَنتَهِ لَأَرْجُمَنَّكَ وَاهْجُرْنِي مَلِيّاً ﴿٤٦﴾

46. เขา(บิดา)กล่าวว่า เจ้ารังเกียจพระเจ้าทั้งหลายของฉันกระนั้นหรือ โอ้อิบรอฮีมเอ๋ย หากเจ้าไม่หยุดยั้ง(จากการตำหนิ) แน่นอน ฉันจะขว้างเจ้า(ด้วยก้อนหิน) และเจ้าจงไปให้พ้นจากฉันตลอดไป”

ท่านนบีอิบรอฮีมไม่ได้เอาของสกปรกหรือสิ่งเลวร้ายมาให้พ่อ แต่นำความจริงนำสัจธรรมให้บิดาของเขา แต่บิดากลับบอกว่า ไปให้พ้น นี่เป็นบทเรียนว่า บางครั้งการจะพูดกับลูกหลานหรือน้องๆ มีสิ่งที่ต้องระมัดระวัง การสนองตอบรับมันขึ้นอยู่ที่สำนวนการใช้ ผมจะยกตัวอย่างนะครับ พ่อจะเตือนลูกให้ไปละหมาด ระหว่าง “อะหมัดตื่นได้แล้ว ได้เวลาละหมาดแล้ว ไปละหมาดเร็ว” กับ “มุฮัมมัด ได้เวลาละหมาดแล้ว ไปอาบน้ำละหมาดกับพ่อ ละหมาดเสร็จแล้วจะได้กินขนมกัน” อันไหนที่จะมีผลดีกว่าสำหรับลูก แน่นอนว่าตัวอย่างหลังนั้นน่าฟังกว่า สำนวนที่น่ารักอ่อนโยนนั้นใช้ในเชิงเรียกร้องเชิญชวน แต่ไม่ใช่นำมาใช้ในทุกสถานการณ์ เมื่อลูกฝ่าฝืนหรือทำความผิดร้ายแรงก็ต้องใช้ความรุนแรงบ้าง เพราะความนิ่มนวลกับความรุนแรงนั้นมีจังหวะเวลาที่เหมาะสมของมัน การเชิญชวนอิบาดะฮฺเราไม่ใช้ความรุนแรงแต่เมื่อฝืนคำสั่งของศาสนาเขาต้องเข้าใจว่าศาสนาไม่ให้อภัย ตรงนี้นั้นพ่อเป็นตัวแทนของศาสนาในสิ่งที่ต้องปฏิบัติอันสมควรกับลูกของเขา ถึงแม้ว่าบิดาของอิบรอฮีมพูดหยาบคายกับท่าน นบีอิบรอฮีมก็ไม่เดินหนี แต่ยังยืนยันด้วยคำพูดที่นิ่มนวลว่า

قَالَ سَلَامٌ عَلَيْكَ سَأَسْتَغْفِرُ لَكَ رَبِّي إِنَّهُ كَانَ بِي حَفِيّاً ﴿٤٧﴾

 47. เขา(อิบรอฮีม) กล่าวว่า ขอความศานติจงมีแด่ท่าน ฉันจะขออภัยโทษจากพระเจ้าของฉันให้แก่ท่าน แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงเมตตากรุณาแก่ฉันมาก

ในช่วงแรกที่เชิญชวนท่านนบีอิบรอฮีมได้วิงวอนขอดุอาอฺให้แก่บิดาของท่านทั้งๆที่เป็นมุชริกอยู่ ภายหลังเมื่อนบีอิบรอฮีมเห็นว่าบิดาปฏิเสธและยังดื้อดึงกับพระเจ้าอย่างนี้แล้ว ท่านจึงรู้ว่าบิดาของท่านเป็นศัตรูของท่าน เรื่องนี้อัลลอฮฺก็ได้ระบุในซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ อายะฮฺ 114 ว่า

وَمَا كَانَ اسْتِغْفَارُ إِبْرَاهِيمَ لِأَبِيهِ إِلاَّ عَن مَّوْعِدَةٍ وَعَدَهَا إِيَّاهُ فَلَمَّا تَبَيَّنَ لَهُ أَنَّهُ عَدُوٌّ لِلّهِ تَبَرَّأَ مِنْهُ إِنَّ إِبْرَاهِيمَ لأوَّاهٌ حَلِيمٌ ﴿١١٤﴾

 114. และการขออภัยโทษของอิบรอฮีมให้แก่บิดาของเขามิได้ปรากฏขึ้น นอกจากเป็นสัญญาที่เขาได้ให้ไว้แก่บิดาของเขาเท่านั้น แต่เมื่อได้เป็นที่ประจักษ์แก่เขาแล้ว แท้จริงบิดาของเขาเป็นศัตรูของอัลลอฮฺ เขาก็ปลีกตัวออกจากบิดาของเขา แท้จริงอิบรอฮีมนั้นเป็นผู้อ่อนโยน และเป็นผู้มีขันติอดทน

<อันเป็นบทบัญญัติแก่ผู้ศรัทธาทุกคนว่าจะขอดุอาอฺให้กับบิดามารดา ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงที่ไม่ใช่มุสลิมในเชิงให้อภัยไม่ได้ แต่สามารถขอดุอาอฺในสิ่งที่อัลลอฮฺสนับสนุนให้ทำได้คือ ขอดุอาอฺให้อัลลอฮฺทรงฮิดายะฮฺแก่เขา ขอให้อัลลอฮฺเปิดใจเขา ขอให้อัลลอฮฺเปิดทางนำชี้แนะให้แก่เขา แต่เรื่องที่เราจะขออภัยโทษให้แก่เขานั้น เสมือนเป็นการไปบังคับอัลลอฮฺให้ให้อภัยกับคนดื้อ เป็นการไม่มีมารยาทกับอัลลอฮฺ อัลลอฮฺจึงห้ามแก่ผู้ศรัทธาว่าไม่ให้ขออภัยโทษให้แก่มุชริก แต่อิบรอฮีมก็ยังยืนยันในความเป็นลูกที่ดีด้วยการให้คำตักเตือนแก่ท่าน

 

(มีต่อ)