ความประเสริฐแห่งเดือนเราะญับ : แบบฉบับและบิดอะฮฺ

Submitted by dp6admin on Sat, 04/04/2009 - 15:47

ในบ้านเรามักจะมีการปฏิบัติที่สวนทางกับซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงต้องมีข้อตักเตือน แนะนำ ให้ปรับปรุงและแก้ไข และในเดือนรอญับจะมีบางกลุ่มบางคนที่นิยมทำอิบาดะฮฺพิเศษในเดือนรอญับ เช่น การถือศีลอด หรือการละหมาดบางชนิดที่ไม่มีแบบฉบับจากท่านนบี พฤติกรรมดังกล่าวบรรดาอุละมาอฺสั่งสอนให้ละทิ้งและหลีกเลี่ยง เพราะเป็นอุตริกรรมที่ค้านกับหลักการศาสนา แต่ถ้าหากว่าจะให้เกียรติเดือนนี้ในฐานะที่เป็นหนึ่งในบรรดาเดือนที่ต้องห้าม(อัลอัชฮุรุลหุรุม)** หรือจะปฏิบัติอิบาดะฮฺตามปกติก็ย่อมจะไม่มีปัญหา แต่อย่าให้เดือนรอยับเป็นเดือนแห่งเทศกาลประเภทหนึ่งประเภทใด มีฟัตวา(คำชี้แจง)จากท่านเชคอับดุลอะซีซ บินบาซ ร่อหิมะฮุลลอฮฺ อดีตมุฟตีแห่งประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่ได้พูดถึงประเด็นนี้ไว้

ท่านเชคอับดุลอะซีซ บินบาซ ได้ถูกถามว่า บางคนจะปฏิบัติอิบาดะฮฺบางชนิดในเดือนรอญับโดยเฉพาะ เช่น การละหมาดรอฆออิบ หรือการฉลองค่ำคืน 27 ของเดือนรอญับ ขอเรียนถามว่า การปฏิบัติดังกล่าวมีรากฐานแห่งบทบัญญัติศาสนาหรือไม่ ? ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนท่าน

คำตอบ : การละหมาดรอฆออิบหรือการฉลองค่ำคืนที่ 27 เดือนรอญับโดยเฉพาะ ซึ่งอ้างว่าเป็นคืนแห่งอิสรออฺและมิอฺรอจนั้น การกระทำดังกล่าวเป็นบิดอะฮฺ(อุตริกรรม)ทั้งสิ้น ซึ่งไม่อนุญาตให้ปฏิบัติ และไม่มีรากฐานในบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม และบรรดานักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญได้เตือนในสิ่งเหล่านี้ และเราได้บันทึกฟัตวา(คำชี้แจง)ในเรื่องเหล่านี้หลายครั้ง และระบุว่าการละหมาดรอฆออิบ(ซึ่งมักจะปฏิบัติในคืนวันพฤหัสสัปดาห์แรกของเดือนรอญับ) และการฉลองในคืนที่ 27 โดยมีความเชื่อว่าเป็นคืนที่เกิดเหตุการณ์อิสรออฺและมิอฺรอจ ทุกประเด็นดังกล่าวเป็นบิดอะฮฺและไม่มีหลักฐานยืนยันในศาสนา

ส่วนคืนอัลอิสรออฺและมิอฺรอจที่แท้จริงก็ไม่มีหลักฐานกำหนดวันแห่งเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างแน่นอน และถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลระบุถึงวันดังกล่าว ก็ไม่อนุญาตให้ฉลองในค่ำคืนนั้น เพราะเป็นสิ่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่เคยปฏิบัติ แม้กระทั่งบรรดาคุละฟาอฺรอชิดูนผู้นำสูงสุดในบรรดาสาวกนบีและศ่อฮาบะฮฺอื่นๆ ก็ไม่เคยฉลองเช่นเดียวกัน

ความประเสริฐอย่างยิ่งในศาสนานั้นคือการปฏิบัติตามแนวทางที่อัลลอฮฺตรัสไว้

وَالسَّابِقُونَ الْأَوَّلُونَ مِنَ الْمُهَاجِرِينَ وَالْأَنصَارِ وَالَّذِينَ اتَّبَعُوهُم بِإِحْسَانٍ رَّضِيَ اللَّـهُ عَنْهُمْ وَرَضُوا عَنْهُ وَأَعَدَّ لَهُمْ جَنَّاتٍ تَجْرِي تَحْتَهَا الْأَنْهَارُ خَالِدِينَ فِيهَا أَبَدًا ۚ ذَٰلِكَ الْفَوْزُ الْعَظِيمُ

มีความหมายว่า “บรรดาบรรพชนรุ่นแรกในหมู่ผู้อพยพ (ชาวมุฮาญิรีนจากมักกะฮฺ) และในหมู่ผู้ให้ความช่วยเหลือ (ชาวอันศอรจากมะดีนะฮฺ) และบรรดาผู้ดำเนินตามพวกเขาด้วยการทำดีนั้น อัลลอฮฺทรงพอพระทัยในพวกเขา และพวกเขาก็พอใจในพระองค์ด้วย และพระองค์ทรงเตรียมไว้ให้พวกเขาแล้ว ซึ่งบรรดาสวนสวรรค์ที่มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านอยู่เบื้องล่าง พวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล นั่นคือชัยชนะอันใหญ่หลวง” (อัตเตาบะฮฺ 100)

 

และมีหะดีษศ่อฮี้ฮฺจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ว่า

(( من أحدث في أمرنا هذا ما ليس منه فهو رد ))

ความว่า “ใครก็ตามที่นำเสนอสิ่งใดในกิจการของเรา (ศาสนาของเรา) ซึ่งไม่มีปรากฏ สิ่งที่ถูกเสนอนั้นต้องถูกปฏิเสธ” (บันทึกโดยบุคอรียฺและมุสลิม)

และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เมื่อปราศรัยทุกครั้งจะยืนยันในคำกล่าวซึ่งมีใจความว่า

(( فإن خير الحديث كتاب الله وخير الهدى هدى محمد صلى الله عليه وسلم وشر الأمور محدثاتها وكل بدعة ضلالة ))

ความว่า “ถ้อยคำอันประเสริฐคือคัมภีร์ของพระองค์อัลลอฮฺ และทางนำอันประเสริฐคือทางนำของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และกิจกรรมอันชั่วร้ายคือกิจกรรมที่เป็นบิดอะฮฺ(อุตริกรรม) และบิดอะฮฺทุกชนิดเป็นฏอลาละฮฺ(การหลงผิด)” (บันทึกโดยอิมามมุสลิม)

 

เพราะฉะนั้น เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบรรดามุสลิมีนทั้งปวง ที่ต้องปฏิบัติตามซุนนะฮฺ และยืนหยัดในแนวซุนนะฮฺดังกล่าว และตักเตือนซึ่งกันและกันในการอนุรักษ์ซุนนะฮฺของท่านนบี พร้อมกับให้มีความระมัดระวังจากบิดอะฮฺต่างๆ โดยปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระผู้เป็นเจ้าที่ตรัสไว้มีความว่า “และพวกเจ้าจงช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรมและความยำเกรง”

وَالْعَصْرِ ﴿١﴾ إِنَّ الْإِنسَانَ لَفِي خُسْرٍ ﴿٢﴾ إِلَّا الَّذِينَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ وَتَوَاصَوْا بِالْحَقِّ وَتَوَاصَوْا بِالصَّبْرِ ﴿٣﴾

"ขอสาบานด้วยกาลเวลา แท้จริงมนุษย์นั้นอยู่ในการขาดทุน นอกจากบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลาย และตักเตือนกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม และตักเตือนกันและกันให้มีความอดทน” (ซูเราะฮฺอัลอัศรฺ 1-3)

 

และตามคำกล่าวที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ว่า

“  الدين النصيحة ศาสนาคือการตักเตือน”  ท่านถูกถามว่า “ตักเตือนให้แก่ใคร โอ้ร่อซูลของอัลลอฮฺ”

ท่านตอบว่า  لله ولكتابه ولرسوله ولأئمة المسلمين وعامتهم “ ตักเตือนเพื่ออัลลอฮฺ คัมภีร์ของพระองค์ ร่อซูลของพระองค์ และให้บรรดาผู้นำและบรรดามุสลิมีนทั่วไป” (บันทึกโดยอิมามมุสลิม)

สำหรับการประกอบอุมเราะฮฺในเดือนรอญับก็ไม่มีปัญหา ดังที่มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัร ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยประกอบอุมเราะฮฺในเดือนรอญับ (บันทึกโดยบุคอรียฺและมุสลิม) และท่านอิมามอิบนิรอญับ ได้ระบุในหนังสือ “อัลละฏออิฟ” ว่า ท่านอุมัรและบุตรของท่าน และท่านหญิงอาอิชะฮฺได้ประกอบอุมเราะฮฺในเดือนรอญับ และในหนังสือดังกล่าวมีระบุว่า ท่านมุฮัมมัด อิบนุซีรีน รายงานจากบรรดาสะลัฟว่า เขาก็กระทำเช่นนั้น วัลลอฮุวะลียุตเตาฟีก (ฟัตวานี้ตีพิมพ์ในวารสารอัดดะอฺวะฮฺ ฉบับ 1566 เดือนญุมาดาอัลอุครอ ฮ.ศ.1417)

-----------------------

** เดือนต้องห้าม - ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ได้อธิบายว่า สี่เดือนที่ต้องห้ามนั้นคือ เดือนซุลกะอฺดะฮฺ ซุลฮิจญะฮฺ มุฮัรรอม และรอญับมุฎ็อร โดยสามเดือนแรกเป็นสามเดือนต่อเนื่องกัน แต่เดือนรอญับที่ถูกแยกมาเป็นเดือนที่ต้อง ห้ามระหว่างเดือนญุมาดาอัลอาคิเราะฮฺกับเดือนชะอฺบาน เพราะในประวัติศาสตร์ของอาหรับก่อนยุคอิสลาม ชาวเผ่ารอบีอะตุบนุนิซารได้เรียกเดือนรอมฎอนว่าเดือนรอญับ และถือเป็นเดือนต้องห้ามแทนเดือนรอญับของเผ่ามุฎ็อร ซึ่งเดือนรอญับของมุฎ็อรเป็นการกำหนดที่ถูกต้องตามศาสนบัญญัติ จึงทำให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  เน้นในการกำหนดเดือนต้องห้ามว่าเป็นเดือนรอญับของมุฎ็อร  (คำอธิบายจาก ความประเสริฐของเดือนมุฮัรรอม)

 


ที่มา : วารสารอัซซุนนะฮฺ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี
วันที่ลงบทความ : 27 ก.ค. 50