โอ้พ่อจ๋า (ยาอะบะตี) 1

Submitted by dp6admin on Tue, 06/08/2019 - 21:53

 เรียบเรียงจากการบรรยายของ เชคริฎอ อะหมัด สมะดี, 17 ก.ค.47

 มุสลิมทุกคนต้องพิจารณาอีหม่านของตนอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้เรามีศักยภาพในการดำเนินชีวิตภายใต้หลักการของอิสลาม ตราบใดที่เราไหลกับกระแสของสังคม ไม่มุ่งมั่นศึกษาอิสลาม แน่นอนสิ่งแวดล้อมและสิ่งที่เป็นความชั่วความผิดย่อมจะเข้ามาอยู่ในหลักความเชื่อและหลักปฏิบัติของเรา ทำให้สังคมมุสลิมประสบปัญหาหรือความหายนะ การที่เราจะพัฒนาตนเองให้ใกล้ชิดกับหลักการ ก็จำเป็นต้องเริ่มจากอัลกุรอาน يا أبتي  เป็นคำศัพท์ที่หยิบยกมาจากอัลกุรอาน มีความหมายว่า พ่อจ๋า ซึ่งฟังแล้วไพเราะเกิดความอบอุ่น อันเป็นสัญลักษณ์แห่งมารยาทของบุตรที่ต้องปฎิบัติต่อบิดา และความอบอุ่นที่เราต้องการนั้นควรมาจากหลักการอิสลาม บทความนี้จะกล่าวถึงว่าอิสลามได้สอนให้เราสร้างความอบอุ่นในครอบครัวของเราอย่างไร และจะนำหลักการของอิสลามที่มีในอัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และประวัติศาสตร์อิสลามมาเป็นตัวอย่างในการบริหารชีวิตของเราและครอบครัว

ยาอะบะตี หรือ พ่อจ๋า เมื่อเราได้ยินด้วยภาษาไทยของเราใช้คำว่า จ๋า เราก็รู้แล้วว่ามันเป็นการเรียกร้องในกรณีพิเศษ ที่มีความนิ่มนวล มีความสงสารความเมตตา ไม่ใช่กรณีที่อย่างปัจจุบันนี้ ลูกเรียก พ่อๆ เรียกพ่ออย่างกับดุนี่ไม่ใช่ นี่กำลังพูดกับบิดาของเขาในลักษณะที่อยากเรียกร้องความเมตตา ความสงสารของบิดาของท่าน  พ่อจ๋า ยาอะบะตี ที่จริงภาษอาหรับก็เรียกว่า ยาอะบี ก็พอ ยา แปลว่า โอ้, อะบี คือ บิดาหรือพ่อ

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าอัลกุรอานที่อัลลอฮฺนำมาเป็นธรรมนูญแห่งชีวิตของเรา ย่อมจะมีเคล็ดลับที่จะทำให้เราประทับใจในเนื้อหาสาระที่มีอยู่ในอัลกุรอานแน่นอน มิเช่นนั้นกุรอานก็จะเป็นตำรา เป็นหนังสือธรรมดาเหมือนตำราทั่วไป แต่สิ่งที่เราต้องตระหนักว่าคำธรรมดาๆในอัลกุรอานนั้น มีคุณลักษณะที่ทำให้เราประทับใจ บางครั้งเราอ่านแล้วมันทะลุหัวใจ นั่นแสดงว่าพระดำรัสของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มีเคล็ดลับเป็นพิเศษในเนื้อหาของคำศัพท์

ในอัลกุรอาน อัลลอฮฺได้ตรัสถึงเรื่องของ ท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม เมื่อท่านได้รับพระบัญชาจากอัลลอฮฺให้ประกาศสัจธรรม ท่านนบีอิบรอฮีมถือว่าเป็นหน้าที่ของท่านที่ต้องเผยแผ่สัจธรรมของอัลลอฮฺ และท่านได้ตระหนักว่าบุคคลแรกที่มีสิทธิรับคำตักเตือนจากท่านก็คือบิดามารดาของท่าน ซึ่งอัลกุรอานได้เล่าเรื่องราวของนบีอิบรอฮีมกับบิดาของท่าน แต่มิได้หมายถึงว่ามารดาของท่านไม่ได้รับการตักเตือน เพราะบิดาของท่านนบีอิบรอฮีมเป็นช่างสร้างเจว็ด สร้างรูปปั้น และขายให้ชาวบ้านบูชา เมื่อนบีอิบรอฮีมได้รับสัจธรรมจากอัลลอฮฺที่ต้องทำลายชิริกทำลายความเท็จนี้ แน่นอนบุคคลแรกที่ต้องรับคำตักเตือนก็คือคนในครอบครัว พ่อของท่านเอง ไม่บังควรที่จะไปพูดกับเพื่อนบ้าน ทั้งๆที่พ่อตนเองเป็นผู้ก่อปัญหาใหญ่ในสังคมคือชิริก เรื่องราวระหว่างท่านนบีอิบรอฮีมกับบิดาของท่านในอัลกุรอานนั้นเป็นเรื่องที่ใครอ่านแล้วต้องประทับใจ ต้องซาบซึ้งและต้องมีความรู้สึกว่า สัจธรรมที่มาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มันไม่ใช่สัจธรรมอย่างเดียว หากยังมีความสวยงาม มีศิลปะ มีสิ่งที่ทำให้มุสลิมเป็นผู้มีอุปนิสัย มีมารยาท มีจริยธรรมสูง

เรื่องราวการตักเตือนของท่านนบีอิบรอฮีมกับบิดาของท่าน มีบทเรียนที่เราจะนำมาชี้แจงว่า หัวข้อนี้ไม่ได้เตือนพ่อและไม่ได้เตือนลูกอย่างเดียว แต่เป็นการเตือนซึ่งกันและกัน ซึ่งจะนำลูกมาเป็นตัวอย่างในการตักเตือนพ่อ เพราะส่วนมากในสังคมเราจะเห็นพ่อเตือนลูก แต่ไม่ค่อยได้ยินว่าลูกเตือนพ่อ ที่ลูกเตือนพ่อไม่ใช่ว่าลูกดีกว่าพ่อ แต่ที่ลูกจะเตือนพ่อก็เพราะเราอยากจะแสดงถึงปัญหาในสังคม ถึงอุทาหรณ์ที่เราเห็นว่ามันปรากฏในสังคมอย่างชัดเจน บางครั้งบางคราวบางกรณี พ่อเป็นผู้ขัดขวางความดีไม่ให้ถึงลูก พ่อจะเป็นผู้ไม่ให้ลูกเป็นคนดี พ่อเป็นผู้ทำให้ลูกเป็นคนชั่วคนเลว เราก็อยากจะหยิบยกอุทาหรณ์ตรงนี้ว่า ลูกที่น่าจะเป็นคนดี กำลังเรียกร้องความสนใจของพ่อ โอ้พ่อจ๋า พ่อจ๋า พ่อต้องทำอะไรกับหนูกับผม เพื่อให้ผมเป็นคนดี และจะนำเรื่องของท่านนบีอิบรอฮีมมาเป็นตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกซึ่งมีอยู่หลายลักษณะ

แรกคือลักษณะผู้ใหญ่กับผู้น้อย คือ คนโตกับคนเล็ก คนมีอายุมากกับคนมีอายุน้อย อันเป็นธรรมชาติของพ่อกับลูก ซึ่งคุณพ่อหรือผู้ใหญ่มีหน้าที่ต้องเตือนและดูแลลูกในการที่จะประคับประคองลูกให้เป็นคนดี  แต่บางคนคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกมีแค่นี้ นี่คือปัญหา ข้าเป็นผู้ใหญ่เอ็งเป็นผู้น้อยก็ต้องรู้ตัวเอง ครั้นเมื่อพ่อผิดแล้วลูกมาเตือน หลายคนอาจคิดว่า เป็นลูกจะมาเตือนพ่อได้ยังไง คนอายุน้อยจะมาเตือนคนอายุมากได้ยังไง อย่ายึดว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เราคิดว่าผู้เตือนจะเป็นใครก็ได้ แม้จะเป็นรุ่นน้อง เป็นรุ่นลูก เราก็ต้องรับฟัง

ลักษณะที่สอง  คือ สิ่งที่เราต้องรักษาอย่างดีและเป็นสิ่งที่เด่นชัดในครอบครัวที่อบอุ่น คือความสัมพันธ์ในลักษณะเพื่อนกับเพื่อน  แต่ต้องมีความพอดี ไม่ใช่ถึงขั้นที่ลูกลืมตัวนึกว่าพ่อเป็นเพื่อนอยู่ตลอด พ่อก็เช่นกัน ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่กับผู้น้อยด้วย มีตัวอย่างจากเพื่อนผม เขาเคยไปศึกษากับอาจารย์ท่านหนึ่ง  เมื่อเข้าไปในบ้านอาจารย์คนนั้น ก็เห็นลูกศิษย์เข้ามาหาอาจารย์ มากินข้าว พูดเล่นกับอาจารย์ เพื่อนผมก็เลยไปเตือนอาจารย์คนนั้นว่า  ท่านปล่อยให้ลูกศิษย์ทำกับท่านแบบนี้มันไม่เหมาะนะ ต้องรักษาศักดิ์ศรีผู้รู้ด้วย อาจารย์คนนั้นก็ตอบว่า ลูกศิษย์ของฉันเป็นเยาวชนเป็นวัยรุ่น ถ้าหากว่าฉันทำตัวเป็นอาจารย์ เป็นเหมือนคนที่อยู่ตำแหน่งสูง ใครจะเข้ามาหาก็ต้องกราบเข้ามาหาฉัน แน่นอนคงจะไม่มีใครใครกล้าเข้ามาพูดคุยปรึกษากับฉัน เรื่องส่วนตัวหรือความลับก็จะไม่มีใครเข้ามาพูดกับฉัน เพราะฉันสูงอยู่ข้างบน แต่ถ้าหากว่าได้พูดคุยพูดเล่นด้วยกัน จะทำให้เขารู้สึกว่าฉันเป็นเพื่อนใกล้ชิดกับเขา เมื่อมีเรื่องราวที่มันอยู่ข้างในในชีวิตของเขาเขาก็จะมาปรึกษาเรา

นี่แหละครับ ทำไมลูกหลานบางเวลาเขามีปัญหาเกิดขึ้นในชีวิตของเขา จึงไม่ปรึกษาแม่ พ่อ อา ลุง พี่ แต่ไปปรึกษาเพื่อน ไปปรึกษาคนที่อยู่ในโรงเรียน ไปปรึกษาคนที่อยู่ข้างถนน ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ เพราะอะไร  เพราะพวกนี้เขาจะคลุกคลีกัน ไปเที่ยวด้วยกันก็จะสนิทกันใกล้ชิดกัน และนี่คืออุปสรรคที่ทำให้เราไม่สามารถคุ้มครองและปกป้องลูกหลานของเราได้ นี่เป็นเรื่องที่เราต้องระวัง เปรียบเสมือนลูกกำลังพูดกับพ่อ พูดกับแม่ พ่อจ๋า แม่จ๋า อยากจะพูดคุยกับพ่อ อยากจะพูดคุยกับแม่ แต่เมื่อเวลาที่ต้องมาพูดถึงเรื่องที่มันน่าอาย เรื่องที่ไม่กล้าพูดก็จะกลัว จะเกรงใจกลัวพ่อดุ กลัวแม่ดุ กลัวผู้ใหญ่ตำหนิว่า เอาเรื่องอะไรมาพูดกับผู้ใหญ่ ตรงนี้นะครับที่เราต้องระวัง ลักษณะความสัมพันธ์ของเราต้องมีหลายวิสัยทัศน์

ลักษณะที่สามคือ ครูกับลูกศิษย์ นี่คือลักษณะที่ต้องอยู่ในจิตสำนึกพ่อและแม่  พ่อกับแม่ไม่ใช่บุคคลที่เอื้ออำนวยให้ลูกมีความสุข หากับข้าวให้ลูกกินอย่างเดียว พ่อแม่เป็นครูคนแรกในชีวิตของลูก พ่อแม่เป็นอาจารย์คนแรกในชีวิตของลูก ต้องคำนึงอย่างนี้ ลูกเมื่อไปหาครู เขาก็ไม่มีโอกาสจะพูดคุยกับพ่อแม่ แสดงว่าพ่อกับแม่ยังไม่ทำหน้าที่สั่งสอนลูกเหมือนกับครู และลูกศิษย์ของเขา