ซูเราะตุนนูร อายะฮฺที่ 2

Submitted by dp6admin on Thu, 11/07/2019 - 21:27

เชคริฎอ อะหมัด สมะดี

 
الزَّانِيَةُ وَالزَّانِي فَاجْلِدُوا كُلَّ وَاحِدٍ مِّنْهُمَا مِائَةَ جَلْدَةٍ ۖ وَلَا تَأْخُذْكُم بِهِمَا رَأْفَةٌ فِي دِينِ اللَّـهِ إِن كُنتُمْ تُؤْمِنُونَ بِاللَّـهِ وَالْيَوْمِ الْآخِرِ ۖ وَلْيَشْهَدْ عَذَابَهُمَا طَائِفَةٌ مِّنَ الْمُؤْمِنِينَ ﴿٢﴾
 
2. ผู้ทำซินาหญิงและผู้ทำซินาชาย พวกเจ้าจงโบยแต่ละคนในสองคนนั้นคนละหนึ่งร้อยที และอย่าให้ความสงสารยับยั้งการกระทำของพวกเจ้าต่อคนทั้งสองในบัญญัติของอัลลอฮฺเป็นอันขาด หากพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันกิยามะฮฺ และจงให้กลุ่มหนึ่งจากบรรดาผู้ศรัทธาเป็นพยานในการลงโทษเขาทั้งสอง
 
 
บทบัญญัติแรก  อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
(الزَّانِيَةُ وَالزَّانِي فَاجْلِدُوا كُلَّ وَاحِدٍ مِّنْهُمَا  )
ความหมาย : ผู้ทำซินาหญิงและผู้ทำซินาชาย พวกเจ้าจงโบยแต่ละคนในสองคนนั้นคนละหนึ่งร้อยที
 
 الزَّانِيَةُ (อัซซานิยะฮฺ) - ผู้ทำซินาที่เป็นหญิง;  الزَّانِي (อัซซานียฺ) - ผู้ทำซินาที่เป็นชาย, สำหรับทั้งสองนั้นให้โบย  ให้เฆี่ยน  ให้ลงโทษ  
 
ในภาษาอาหรับคำศัพท์เพศหญิงจะมี ตัวตากลม (ة)  เรียกว่า ตาอุตตะนีษ  คำว่า  الزَّانِيَةُ (อัซซานียะฮฺ) คือผู้ทำซินาหญิง คำแรกนี้ สังเกตตากลม ส่วนคำว่า   الزَّانِي  คือผู้ทำซินาชาย  เช่นเดียวกับคำว่า มุอฺมิน ( مُؤْمِنٌ ) ใช้สำหรับผู้ชาย ส่วนผู้หญิงเรียกว่ามุอฺมินะฮฺ ( مُؤْمِنَةٌ ); หรือ มุสลิม ( مُسْلِمٌ ) - มุสลิมะฮฺ ( مُسْلِمَةٌ ) 
 
การที่อายะฮฺนี้เริ่มด้วย الزَّانِيَةُ  คือเริ่มด้วยหญิงก่อน  มีหลายเหตุผลด้วยกัน  
  • เหตุผลแรก  คือ  ส่วนมากการทำซินาต้องมีการยินยอมหรือการยอมรับจากฝ่ายหญิง  ถึงแม้ว่าผู้ชายจะไปขอหรือไปเรียกแต่ถ้าผู้หญิงไม่ยอมก็ไม่สำเร็จ  หรือถ้าบังคับก็ไม่เรียกว่าซินา  จะเรียกว่า ข่มขืน หรือเรียกอย่างอื่นไม่ใช่ซินา  เพราะ ซินา จะต้องเป็นการยินยอมจากทั้งสองฝ่าย มีการตอบสนองซึ่งกันและกัน  ฉะนั้นฝ่ายสำคัญคือฝ่ายหญิง เพราะหากเธอไม่ยินยอม ซินาก็จะไม่เกิดขึ้นนั่นเอง  
  • หรืออีกเหตุผลหนึ่ง  คือ  อายะฮฺนี้อัลลอฮฺทรงบัญญัติไว้สำหรับชาวอาหรับในยุคก่อนอิสลาม  เพราะในยุคก่อนอิสลามนั้นจะมีผู้ค้าประเวณีกันอย่างแพร่หลายและทั้งหมดของผู้ค้าประเวณีนั้นเป็นผู้หญิง ซึ่งในสมัยนั้นจะใช้เต็นท์ที่ทำจากผ้าสีแดงหรือมีธงสีแดงเป็นสัญลักษณ์เพื่อให้รู้ว่าเป็นเต็นท์ของหญิงค้าประเวณี  ลักษณะเช่นนี้มีอยู่มากมายในสมัยนั้นแม้แต่บริเวณกะบะฮฺก็เช่นกัน ทำให้การทำซินาจึงดูเสมือนเป็นเรื่องปกติ  ฉะนั้นกฏในเรื่องการทำซินาจึงมีความเด็ดขาด  บางคนจึงอาจมีคำถามว่า “ทำไมถึงรุนแรงเช่นนี้?”  นั่นก็เพราะว่า การทำซินานั้นแพร่หลายอย่างมาก จนไม่สามารถใช้ความปราณีต่อไปได้อีกแล้วนั่นเอง 
เนื่องจากแต่ก่อนบริเวณกะบะฮฺจะมีเต็นท์ค้าประเวณี ซึ่งสามารถเข้า-ออกได้อย่างง่ายดาย   ด้วยเหตุนี้อัลลอฮฺจึงได้บอกเตือนแก่ผู้หญิงเป็นการเฉพาะ เนื่องจากเจ้าของเต็นท์ค้าประเวณีในสมัยก่อนอิสลามนั้นเป็นผู้หญิงทั้งหมด  หรือแม้กระทั่งหลังจากอิสลามได้มาแล้วก็ตาม เมื่อครั้งที่ท่านนบีอพยพไปเมืองมะดีนะฮฺ เต็นท์เหล่านั้นและการค้าประเวณีก็ยังคงมีอยู่โดยทั่วไปในเกาะอาหรับ  จนกระทั่งอิสลามได้มีกฎหมายที่มีลักษณะเด็ดขาดดังเช่นอายะฮฺนี้  จึงทำให้เรื่องซินาถูกขจัดออกไปจากสังคมอาหรับอย่างชัดเจน และนี่เอง คือเหตุผลว่า ทำไมจึงเริ่มต้นอายะฮฺด้วย الزَّانِيَةُ (อัซซานิยะฮฺ)
 
ในทำนองเดียวกับเรื่องการขโมย  ในซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อัลลอฮฺตรัสว่า (5:38) 
وَ السَّارِقُ وَالسَّارِقَةُ فَاقْطَعُوا أَيْدِيَهُمَا
ความหมาย : และผู้ขโมยชาย และผู้ขโมยหญิงนั้น จงตัดมือของเขาทั้งสองคน
  سَارِقُ  (ซาริกุ) ผู้ขโมยชาย,  سَارِقَةُ  (ซาริเกาะตุ) ผู้ขโมยหญิง; การที่เริ่มด้วยชายก็เนื่องจากผู้ขโมยส่วนมากเป็นผู้ชาย
 
(الزَّانِيَةُ وَالزَّانِي  -อัซซานิยะตุวัซซานียฺ ) หนังสือบางเล่มให้ความหมายว่า ผู้หญิงที่ทำชู้กับผู้ชายที่ทำชู้  ซึ่งไม่ชัดเจนเท่าใดนักในหลักการศาสนา  เพราะความหมายของ “ซินา” คือ การมีเพศสัมพันธ์หรือร่วมเพศ  จนกระทั่งอวัยวะเพศเข้าไปในอวัยวะเพศ  แต่การทำชู้ใช้กับลักษณะที่เป็นคู่รักที่ไม่ใช่สามีภรรยากัน  ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องมีการผิดประเวณีก็ได้  ฉะนั้นถ้าใช้คำว่า “เป็นชู้” จึงไม่ครอบคลุมความหมายของซินา  ซินาถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะเกี่ยวพันกับการลงโทษ ศาสนาจึงได้กำหนดเงื่อนไขสำหรับบทลงโทษไว้อย่างชัดเจน   ฉะนั้นการให้ความหมายจึงต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักการปฏิบัติ และหลักการลงโทษในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นการแปล  (الزَّانِيَةُ وَالزَّانِي) จะใช้คำว่าผู้ทำประเวณี  เนื่องจาก คำว่า “ประเวณี” คือ การทำผิดด้านเพศโดยเฉพาะ ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อแปลเป็นภาษาไทยจะได้ความที่ไม่ชัดเจนมากนัก  เช่น การใช้คำว่า “ทำชู้”*  ในพจนานุกรมหมายถึงการมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับภรรยาคนอื่น  แต่คำว่า “ซินา” ในภาษาอาหรับ คือการมีเพศสัมพันธ์ของชายหญิงที่ไม่ได้แต่งงานกัน ซึ่งจะเป็นภรรยาผู้อื่นหรือยังไม่ได้แต่งงาน ก็ถือว่าทำซินากัน
 
ฉะนั้นเราต้องเข้าใจว่า  “ซินา”  หมายถึงการร่วมเพศระหว่างชายและหญิงที่ไม่มีสัญญาสมรสไม่มีสัญญานิกาหฺ แต่การร่วมเพศหรือผิดประเวณีโดยไม่ตั้งใจไม่นับเป็นซินา  เช่น  มีผู้ชายไปแต่งงานกับผู้หญิงโดยไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน และมีคนบอกเขาว่านี่คือภรรยาของคุณ  แต่มาทราบภายหลังว่า คนนี้ไม่ใช่ภรรยาของเขาจริงๆ   ซึ่งเช่นนี้จะไม่เรียกว่าซินา ไม่เรียกว่าผิดประเวณี  เพราะไม่มีการตั้งใจทำซินา  เนื่องจากซินาต้องมีเจตนาที่ตั้งใจกระทำสิ่งเหล่านั้น  นอกจากนี้การที่ผู้หญิงถูกบังคับ  ก็ไม่ถือว่าผู้หญิงคนนั้นทำซินา  
 
เงื่อนไขต่าง ๆ นี้  จะเกี่ยวข้องกับคำว่า  الزَّانِي  กับ  الزَّانِيَةُ   เพราะถ้าเงื่อนไขเหล่านี้ไม่มี ก็จะไม่ถือว่าทำซินา  คำว่าซินาเป็นกริยา  ต้องปฏิบัติ  อะไรจึงจะเรียกว่าซินา  จูบอย่างเดียวไม่ใช่ซินา  ร่วมนอนกันไม่ใช่ซินา  ซินาคืออวัยวะเข้าสู่อวัยวะ  นี่เป็นการชี้แจงไว้อย่างชัดเจนจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
 
มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี (ชื่อ มาอีฟ  อัลฆอนิบี)  เขาบอกท่านนบีว่า  “ฉันนี้ทำซินา ขอให้ท่านลงโทษเถิด”  นบีก็ถามว่า  “ท่านเพียงแต่จูบอย่างเดียวรึป่าว”    เขาบอกว่า “ไม่”   ท่านนบีก็ถามต่อว่า “ท่านไปสัมผัสอย่างเดียวรึเปล่า ? ”  เขาบอกว่า “ไม่  ฉันทำซินาจริง ๆ”   ท่านนบีจึงถามว่า “ทำอย่างที่เขาทำกันหรือ ? ”  ท่านนบีก็เอ่ยว่า  “ลาอันลาตานิฟตาฮา”  ซึ่งแปลว่าร่วมเพศ  ตรงนี้เราต้องระมัดระวังในเรื่องใส่ร้ายเรื่องกล่าวหา  มันไม่ใช่เรื่องเล็ก  การจูบกันก็มีการลงโทษแต่ไม่ใช่การลงโทษที่อัลลอฮฺระบุไว้ในอายะฮฺนี้  
 
ผู้ทำซินามีหลายลักษณะ  คือ  ผู้ทำซินาที่มีครอบครัวแล้ว  และผู้ทำซินาที่เป็นโสด(ยังไม่มีครอบครัว)  บทบัญญัติในอายะฮฺนี้เกี่ยวกับผู้หญิงหรือผู้ชายที่กระทำซินาโดยยังไม่มีครอบครัว  ต้องลงโทษโดยการโบยหรือเฆี่ยนร้อยที  แต่ถ้าหากมีครอบครัวแล้วทำซินาการลงโทษคือการขว้างด้วยหินจนตาย  บทบัญญัตินี้มาจากอัลกุรอานที่อัลลอฮฺประทานลงมาซึ่งสำนวนถูกยกเลิก แต่ด้านหุกุมหรือการปฏิบัติก็ยังคงอยู่ โดยดูจากซุนนะฮฺหรือการปฏิบัติของท่านนบี  ในบันทึกฮะดีษของอิหม่ามบุคอรี  ท่านอุมัรขึ้นมิมบัรแล้วกล่าวว่า   “ผู้ใหญ่ถ้ากระทำซินาให้ขว้างหิน”   ซึ่งคนที่ทำซินาที่มีครอบครัวแล้วท่านนบีก็ลงโทษโดยการขว้างหินจนตายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคนยิว  หรือคนอื่น ๆ   ฉะนั้นเรื่องนี้จึงถูกยกเลิกเพียงสำนวนอย่างเดียว  เพราะท่านนบีได้ปฏิบัติ  และท่านอะลีก็เคยลงโทษผู้หญิงที่ทำซินาโดยการเฆี่ยนร้อยทีและขว้างหินด้วยเช่นกัน  โดยท่านอะลีกล่าวว่า “ฉันเฆี่ยนด้วยบทบัญญัติแห่งอัลกุรอาน  และขว้างหินด้วยบทบัญญัติแห่งอัซซุนนะฮฺ”  
 
เรื่องนี้มีข้อขัดแย้งระหว่างอุละมาอฺ  ในประเด็นที่ว่าผู้ทำซินาที่มีครอบครัวแล้วนั้นต้องขว้างหินจนตาย  หรือเฆี่ยนร้อยทีแล้วขว้างหินจนตาย  แต่สำหรับอายะฮฺนี้  อัลลอฮฺตรัสว่า  (الزَّانِيَةُ وَالزَّانِي) หญิงหรือชายที่ทำซินา(โดยไม่มีครอบครัว)  คำว่า “โดยไม่มีครอบครัว” นี้ไม่มีระบุในอัลกุรอาน  แต่ยกมาจากบทบัญญัติต่าง ๆ
 
 فَاجْلِدُوا كُلَّ وَاحِدٍ مِّنْهُمَا  “พวกท่านทั้งหลายจงลงโทษโดยการเฆี่ยนเขาเหล่านั้นที่ทำซินา”  
كُلَّ وَاحِدٍ مِّنْهُمَا “ทุกคนในสองคนที่ทำซินา”  
مِئَةَ  แปลว่า “ร้อย” 
 جَلْدَةٍ  แปลว่า “เฆี่ยน”  
وَلَا تَأْخُذْكُم بِهِمَا رَأْفَةٌ فِي دِينِ اللَّهِ   “และอย่าให้มีความสงสารของสูเจ้า” 
 رَأْفَةٌ   แปลว่า สงสาร เมตตา 
 
 وَلَا تَأْخُذْكُم بِهِمَا رَأْفَةٌ فِي دِينِ اللَّهِ  
"อย่าให้มีความสงสารเมตตาเกิดขึ้นในสิ่งที่เป็นศาสนาแห่งพระผู้เป็นเจ้าในการที่จะลงโทษต่อคนที่ละเมิดขอบเขตของศาสนา"
อุละมาอฺก็คิดว่า เหตุใดในอายะฮฺนี้จึงระบุว่าอย่าให้มีการสงสาร ทั้ง ๆ ที่ศาสนานี้เป็นศาสนาแห่งความเมตตา  ซึ่งอุละมาอฺได้อธิบายว่า บทบัญญัติต่าง ๆ ที่อัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้แนะนำให้บรรดาผู้ศรัทธาปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดนั้นก็เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ไปทำซินา โดยในขั้นแรกคือไม่ให้มอง  สองไม่ให้สัมผัส  สามไม่ให้อยู่สองคนโดยลำพัง ไม่ให้ปะปนซึ่งผู้หญิงกับผู้ชาย  ไม่ให้มีการพูดคุยโดยทำให้เกิดอารมณ์ใคร่  ขั้นตอนต่างๆ ในการป้องกันไม่ให้เกิดความผิดนี้  ถ้าหากมุสลิมหรือใครก็ตามได้ละเมิดแต่ละขั้นตอนดังกล่าวนี้ก็จะนำไปสู่การทำซินา  ซึ่งคนที่ละเมิดขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้จนกระทั่งไปสู่ซินาได้นั้นก็ถือว่าแย่พอสมควรแล้วที่ทำในสิ่งที่ศาสนาห้าม  คนเหล่านี้จึงไม่ควรที่จะได้รับความเมตตาอีก ยิ่งไปกว่านั้น การทำซินาไม่ใช่ความผิดส่วนตัวแต่เป็นความผิดแห่งสังคม  ก่อนจะถึงสังคมก็ต้องเป็นความผิดแห่งตระกูลเพราะการทำซินาถือเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของตระกูล  ซึ่งในทุกศาสนาทุกวัฒนธรรมถือว่าซินาเป็นสิ่งที่เลวร้าย  แม้กระทั่งศาสนาที่ไม่ได้มาจากพระผู้เป็นเจ้า หรือวัฒนธรรมต่าง ๆ ก็ถือว่าซินาเป็นสิ่งที่ไม่เป็นทางการ เป็นสิ่งที่แอบกระทำ  เป็นสิ่งที่เลวร้าย  
 
การทำซินาจะทำลายศักดิ์ศรีของตระกูล ดังเช่นตัวอย่างของหญิงคนหนึ่งในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นางถูกกล่าวหาว่าทำซินา ซึ่งโดยหลักการแล้วผู้หญิงจะพ้นโทษซินาได้นั้นต้องมีการสาบาน 5 ครั้ง  โดยในการสาบานครั้งสุดท้ายใช้สำนวนว่า  “ถ้าหากว่าฉันทำซินาจริง ๆ ขอให้ความสาปแช่งจงประสบแก่ฉัน”  ก่อนการสาบานครั้งที่ห้าอันเป็นครั้งสุดท้ายนั้น  นบีก็ได้เตือนว่า ครั้งที่ห้านี้ถ้าโกหกจริง ๆ จะถูกสาปแช่งทั้งดุนยาและอาคิเราะฮฺ  ซึ่งความจริงผู้หญิงคนนี้ทำซินาและนางก็กระซิบบอกว่า ฉันจะไม่ทำลายศักดิ์ศรีของตระกูลฉัน  นางจึงสาบานเท็จเพื่อให้พ้นจากการถูกใส่ร้ายว่าทำซินา  เพราะนางรู้ว่าเรื่องซินานี้จะทำลายตระกูลทำลายศักดิ์ศรี  หากถูกกล่าวหาว่าทำซินาจะดูเลวร้ายอย่างยิ่ง  ซึ่งสำหรับชาวอาหรับแล้วถือว่าเป็นเรื่องที่เหยียดหยามมาก  
 
และสิ่งที่เป็นผลมาจากซินาก็มีมาก โดยเฉพาะเรื่องลูก เพราะลูกซินา ถือเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุด ดังกล่าวนี้จึงบ่งบอกว่า เรื่องซินา ไม่ใช่แค่ความผิดส่วนตัว  กฎหมายสากลมักบอกว่ามันเป็นสิทธิส่วนตัว  เป็นเสรีภาพ  ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ อย่างในประเทศอเมริกา  เด็กที่เกิดในอเมริกา  20%  เป็นลูกซินา และปัญหาส่วนใหญ่ในสังคมก็มักจะเกิดจากคนที่มาจากการทำซินา   ซึ่งความจริง ร่างกายของมนุษย์มีศักดิ์ศรี  ศาสนาปกป้องศักดิ์ศรีของร่างกายมนุษย์  ผู้ปกครองจะมาเตะมุสลิมคนใดคนหนึ่งโดยไร้เหตุผลไม่ได้ ถือว่าอธรรม  การที่ศาสนาต้องลงโทษรุนแรงสำหรับผู้ทำซินา  ก็เพราะคนเหล่านี้อันตรายต่อสังคมจนไม่มีโอกาสที่จะเมตตาปราณีเขาแล้ว   
 
เช่นเดียวกับคนขโมย  ซึ่งตามหลักถ้าใครมาละเมิดเราแล้วตัดมือเราโดยไร้เหตุผลต้องชดเชย  300 ดีนาร  ปัจจุบันก็เป็นแสน  และในศาสนาถ้ามือไปขโมยเงินจำนวน  200  ร้อยบาท  ต้องถูกตัดมือ  นักปรัชญาคนหนึ่งจึงบอกว่า “มือถ้าถูกละเมิดต้องชดใช้เป็นแสนเป็นล้าน  แต่ทำไมเวลามือไปขโมยเงินแค่สองร้อยบาทจึงถูกตัดอย่างไม่มีคุณค่า”  อิมามอิบนุเญาซียฺเป็นอาลิม(ผู้รู้)คนหนึ่งเขาก็ตอบโต้ว่า มือถ้ามันไม่ขโมยแสดงว่า มันมีอะมานะฮฺ มือนั้นก็จะมีคุณค่าและศาสน่าให้ความคุ้มครองปกป้อง  แต่ถ้ามือไปขโมยก็ถือว่ามันทรยศ ม่มีคุณค่าและสมควรจะตัดทิ้งไป  เช่นเดียวกับร่างกายของมนุษย์ที่อัลลอฮฺให้เป็นเนียะมัตเป็นความโปรดปราน ควรจะใช้ในสิ่งที่ตรงกับคำดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.)  เมื่อร่างกายของเราผิวหนังของเรารู้สึกมีความสุขจากการทำซินา ซึ่งเป็นวิถีทางที่ไม่ถูกหลักการ ร่างกายนั้นก็ไม่มีคุณค่าต้องโดนลงโทษ  ฉะนั้นอุละมาอฺจึงตั้งข้อสังเกตว่าบทลงโทษสำหรับผู้ทำซินาเป็นการลงโทษทั่วร่างกายยกเว้นศีรษะ  การที่ลงโทษทั่วร่างกายได้นั้น  เพราะความสุขที่เขาได้รับมันทั่วร่างกาย  จึงสมควรที่จะรู้สึกถึงความเจ็บปวดแทนที่ความสุขที่เขาได้รับโดยที่เขาไม่ได้รับอนุญาตจากพระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
 
إِن كُنتُمْ تُؤْمِنُونَ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الْآخِرِ
 
 
 

หมายเหตุ อักษรสีน้ำเงินในวงเล็บคืออายะฮฺอัลกุรอาน

* คำว่า “ชู้” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ว่า “น. คู่รัก; ผู้ล่วงประเวณี; การล่วงประเวณี, ชายที่ร่วมประเวณีด้วยเมียเขา เรียกว่า เป็นชู้, หญิงที่ยังมีสามีอยู่แล้วร่วมประเวณีกับชายอื่น เรียกว่า มีชู้

เรียบเรียงจาก ตัฟซีรซูเราะตุนนูร ครั้งที่ 1, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี, 24 ธ.ค.46 โดย ทีมงานบะนาตุลฮุดา