การเตาบัตในศาสนาและอารยธรรมต่างๆ

Submitted by dp6admin on Thu, 06/12/2018 - 21:59

 

ข้อมูลและประวัติของการเตาบัตนั้นมีอยู่อย่างมากมายในศาสนาและอารยธรรมต่างๆแต่จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด วิธีการปฎิบัติและจุดมุ่งหมาย กล่าวคือการเตาบัตตัวในบางศาสนานั้นเป็นเพียงแค่การยอมรับสารภาพในความผิด เช่นในศาสนาคริสต์นั้นผู้ที่ทำความผิดจะทำการรับสารภาพในบาปที่เขาได้ก่อไว้อย่างละเอียดต่อหน้าบาทหลวงในห้องมืด จากนั้นบาทหลวงจะเอามือลูบหัวผู้สารภาพบาปนั้นและกล่าวว่า “ยืนขึ้นเถิด แท้จริงเจ้าได้ถูกให้อภัยแล้ว!!” ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเตาบัติตัวในศาสนาคริสต์นั้นได้กลายเป็นเรื่องระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกันไม่เกี่ยวกับพระเจ้า
 
ในขณะที่การเตาบัตในศาสนาของยิวนั้นเป็นเรื่องที่ลำบากและยุ่งยากในการปฎิบัติ นั่นคือผู้ที่ต้องการเตาบัตนั้นต้องกระทำพิธีกรรมต่างๆมากมายและเป็นพิธีกรรมที่ที่เหนื่อยและยากลำบาก จนกล่าวได้ว่าการเตาบัตในศาสนายิวนั้นเป็นเสมือนการลงโทษมากกว่าการขออภัยโทษ ทั้งนี้อันเนื่องมาจากแนวทางปฎิบัติและกฎเกณฑ์ของชาวยิวนั้นเต็มไปด้วยความรุนแรงแข็งกระด้างสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการที่พวกเขาได้รับโทษจากการที่พวกเขาไม่เชื่อฟังและกระด้างกระเดื่องจนถึงขั้นที่พวกเขาได้ฆ่าศาสนทูตบางท่านจากบรรดาศาสนฑูตที่ถูกประทานมายังพวกเขา
 
ส่วนการเตาบัตในศาสนาพุทธนั้นมีพื้นฐานจากความเชื่อเรื่องการหลุดพ้นจากความเจ็บปวดที่พวกเขาได้ใช้ชีวิตทั้งชีวิตในการค้นหาหนทางในการหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานในชาติหน้า(พวกเขาอ้างว่าการเกิดของชีวิตมนุษย์นั้นคือการชดใช้กรรมที่ได้กระทำมาในชาติที่แล้ว)ฉะนั้นแล้วในศาสนาพุทธนั้นมนุษย์ต้องพยายามปลดปล่อยตัวเองจากบาปเพื่อมิให้บาปนั้นติดตามตัวเขาไปในชาติต่อๆไป ดังนั้นสรุปได้ว่าการเตาบัตในศาสนาพุทธนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับพระเจ้าเลย
 
ศาสนิกของบางลัทธินั้นการเตาบัตคือการดำดิ่งจมตัวเองลงไปในแม่น้ำที่ถูกอ้างว่ามีความศักดิ์สิทธ์ ซึ่งเขาคิดว่าบาปที่เขาได้ทำมาตลอดชีวิตก็ถูกลบไปจากการกระทำดังกล่าว
 
หรือบางศาสนาได้ถือว่าการถวายของเส้นไหว้ให้กับบรรดาเจว็ดและเทวรูปต่างเป็นวิธีการในการเตาบัตและการชำระบาป หรือลัทธิบางอย่างนั้นได้กำหนดวิธีการเตาบัตให้เป็นการทรมานตัวเองด้วยการเฆี่ยน เผาหรือแทงตัวเอง
 
การเตาบัตของศาสนาต่างๆที่กล่าวมานั้นแทนที่เป็นสิ่งที่ช่วยให้มนุษย์ประสบความในการกลับเนื้อกลับตัวและปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้นแต่กลับกลายเป็นอุปสรรคและเป็นสาเหตุของความล้มเหลวของการกลับตัวทั้งในระดับบุคคลหรือองค์กร ซึ่งคุณสมบัติการเตาบัตที่ได้กล่าวมานั้นล้วนแล้วเป็นสิ่งที่ไร้สาระและเป็นวิธีการเตาบัตที่เพี้ยนและออกนอกกรอบธรรมชาติที่อัลลอฮ์สร้างมนุษย์มาสุดท้ายแล้วมนุษย์ชาติจึงยังคงอยู่ในความหลงทางและงมงายไม่สามารถปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้นได้
 
ในทางตรงกันข้ามกัน ชีวิตแห่งวัตถุนิยมในสังคมแห่งการบริโภคอย่างปัจจุบันนี้ทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตไม่ต่างอะไรกับสัตว์เดรัจฉานที่พยายามบำบัดความอยากของตัวเองที่ไม่มีวันสิ้นสุด ด้วยการวิ่งไล่กวดสิ่งหลอกลวงจอมปลอมของดุนยา เปรียบเสมือนว่ามนุษย์ได้กลายเป็นทาสของความรื่นเริงและเงินทองนั้นได้กลายเป็นพระเจ้าที่ทุกคนต่างบูชา จนถึงขึ้นที่มนุษย์รู้สึกภูมิใจในการประพฤติชั่วและกระทำบาปอย่างเปิดเผย หรือแม้แต่แข่งขันกันทำความชั่วโดยมีได้กำหนดรางวัลให้กับผู้ที่ชั่วได้มากที่สุด ความละอายไม่มีหลงเหลือ จรรยามารยาทที่ดีงามหายหมดสิ้น ไม่มีความรู้สึกสำนึกผิด ซึ่งตัวอย่างการใช้ชีวิตแบบนี้มีให้เห็นได้ทั่วไปในสังคมตะวันตกอันเป็นสังคมที่ปราศจากความเกี่ยวข้องกันระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าของเขา 
 
การกลับไปสู่สิ่งอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺนั้นเป็นความขาดทุนและการไม่เตาบัตตัวต่ออัลลอฮฺนั้นเป็นความหายนะอย่างใหญ่หลวง นอกจากนี้การเตาบัตนั้นยังเป็นแนวทางของบรรดานบีและรอซูลรวมถึงบรรคนศอและหฺ ดังที่อัลกุรอานระบุไว้ว่า
 
يَا قَوْمَنَا أَجِيبُوا دَاعِيَ اللَّهِ وَآمِنُوا بِهِ  يَغْفِرْ لَكُم مِّن ذُنُوبِكُمْ وَيُجِرْكُم مِّنْ عَذَابٍ أَلِيمٍ ﴿٣١﴾
ความว่า “โอ้หมู่ชนของเราเอ๋ย จงตอบรับต่อผู้เรียกร้องของอัลลอฮฺเถิด และจงศรัทธาต่อเขา พระองค์จะทรงอภัยโทษจากความผิดของพวกท่านให้แก่พวกท่าน และจะทรงให้พวกท่านรอดพ้นจากการลงโทษอันเจ็บปวด”(46 : 31)
 
وَمَن لَّا يُجِبْ دَاعِيَ اللَّهِ فَلَيْسَ بِمُعْجِزٍ فِي الْأَرْضِ وَلَيْسَ لَهُ مِن دُونِهِ أَولِيَاء أُوْلَئِكَ فِي ضَلَالٍ مُّبِينٍ ﴿٣٢﴾
ความว่า “และผู้ใดที่ไม่ตอบรับผู้เรียกร้องของอัลลอฮฺ เขาจะไม่รอดพ้น (จากการลงโทษ) ในแผ่นดินนี้ และสำหรับเขาจะไม่มีผู้คุ้มครองอื่นจากพระองค์ ชนเหล่านี้อยู่ในการหลงผิดอย่างชัดแจ้ง”(46 : 32)
 
สิ่งที่ต้องกระทำหลังจากทำการเตาบัตคือ การกลับไปสู่หลักการอันถูกต้องของอัลลอฮฺและการนอบน้อมเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ การเดินรอยตามบรรดานบีและรอซูลของพระองค์ การปฎิบัติตามสิ่งที่พวกเขาได้นำมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งนบีท่านสุดท้าย มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
เรื่องที่จำเป็นต้องคำนึงถึงอย่างมากในการเตาบัตคือ การเตาบัตนั้นจะไม่มีค่าใดๆหากผู้ที่เตาบัตไม่มีการให้เอกภาพหรือเตาฮีดต่ออัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีการเชื่อฟังและปฎิบัติตามท่านศาสดามุฮัมมัด เพราะสองสิ่งนี้คือปัจจัยในการได้รับทางนำที่เที่ยงตรงนั่นเอง อัลลอฮฺตรัสว่า 
 
قُلْ أَطِيعُوا اللَّهَ وَأَطِيعُوا الرَّسُولَ فَإِن تَوَلَّوا فَإِنَّمَا عَلَيْهِ مَا حُمِّلَ
 وَعَلَيْكُم مَّا حُمِّلْتُمْ وَإِن تُطِيعُوهُ تَهْتَدُوا وَمَا عَلَى الرَّسُولِ إِلَّا الْبَلَاغُ الْمُبِينُ ﴿٥٤﴾
ความว่า “จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด “พวกเจ้าจงเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮฺ และจงเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลร่อซูล หากพวกเขาผินหลังให้แท้จริงหน้าที่ของเขา (ร่อซูล) คือสิ่งที่ได้ถูกมอบหมาย และหน้าที่ของพวกเจ้าคือสิ่งที่ได้ถูกมอบหมายเช่นกัน และหากพวกเจ้าเชื่อฟังปฏิบัติตามเขาแล้ว พวกเจ้าก็จะอยู่ในทางที่ถูกต้อง (ฮิดายะฮฺ) และหน้าที่ของอัลร่อซูลไม่มีอื่นใด นอกจากการเผยแผ่อันชัดแจ้ง” (24 : 54)
 
การเตาบัตนั้นเป็นการงานของมนุษย์แต่ละคนไม่สามารถมอบหมายให้กับผู้อื่นหรือพึ่งพาผู้อื่นให้ทำการเตาบัตแทนตัวเองไม่ได้ เพราะอิสลามได้วางรากฐานสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า 
 
أَلاَّ تَزِرُ وَازِرَةٌ وِزْرَ أُخْرَى ﴿٣٨﴾ 
 ความว่า “ไม่มีผู้แบกภาระคนใดที่จะแบกภาระของผู้อื่นได้” (53:38)
 
นั่นคือไม่มีมนุษย์คนใดสามารถแบกรับบาปแทนมนุษย์คนอื่นได้ ด้วยเหตุดังกล่าวนี่เองการขออภัยโทษจากบาปในอิสลามนั้นเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดต่อผู้ที่กระทำบาปนั้น จึงเห็นได้ว่าหลักการของอิสลามเกี่ยวกับเรื่องการเตาบัตนั้นแตกต่างกับศาสนาคริสต์อย่างสิ้นเชิง เพราะในศาสนาคริสต์ที่ถูกบิดเบือนนั้นมีหลักศรัทธาที่เชื่อว่าพระเจ้าอยู่ในร่างนบีอีซาและได้ถูกตรึงบนไม้กางเขนเพื่อเป็นการชำระบาปของมนุษยชาติที่ต้องรับผิดชอบต่อบาปของนบีอาดัมที่ได้ฝ่าฝืนพระเจ้าโดยการรับประทานจากต้นไม้ต้องห้ามจนทำให้ต้องถูกเนรเทศออกจากสวรรค์ !! 
อิสลามเชื่อว่าความผิดของนบีอาดัมไม่มีใครสามารถแบกรับได้นอกจากตัวท่านนบีอาดัมเองซึ่งท่านได้เตาบัตตัวและขออภัยโทษจากอัลลอฮฺในความผิดของท่านแล้ว ตามที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ 
 
فَأَكَلا مِنْهَا فَبَدَتْ لَهُمَا سَوْآتُهُمَا وَطَفِقَا يَخْصِفَانِ عَلَيْهِمَا مِن وَرَقِ الْجَنَّةِ وَعَصَى آدَمُ رَبَّهُ فَغَوَى ﴿١٢١﴾
ความว่า “ดังนั้น เขาทั้งสองจึงกินจากต้นไม้นั้น สิ่งพึงสงวนของทั้งสองจึงถูกเผยแก่เขาทั้งสอง เขาทั้งสองจึงเริ่มเอาใบไม้ของสวนนั้นมาปกปิดบนตัวของเขาทั้งสอง และอาดัมได้ฝ่าฝืนพระเจ้าของเขา เขาจึงหลงผิด” (20:121)
ثُمَّ اجْتَبَاهُ رَبُّهُ فَتَابَ عَلَيْهِ وَهَدَى ﴿١٢٢﴾
ความว่า “ภายหลัง พระเจ้าของเขาทรงคัดเลือกเขาแล้วทรงอภัยโทษให้แก่เขา และทรงแนะทางที่ถูกต้องให้เขา” (20:122)
 
ในอิสลามนั้นการเตาบัตเป็นการงานที่ต้องปฎิบัติอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วจบ แต่เป็นการงานที่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตมนุษย์ ถึงแม้ว่ามนุษย์คนนั้นจะเป็นคนดีคนศอและฮฺก็ตาม  ดังเช่นที่ท่านนบีได้ปฎิบัติเป็นแบบอย่างในเรื่องดังกล่าว ซึ่งท่านได้กล่าวว่า “โอ้มนุษย์ทั้งหลาย สูเจ้าจงเตาบัตตัวต่ออัลลอฮฺและขออภัยโทษต่อพระองค์ในความผิดที่พวกเจ้าได้กระทำเถิด แท้จริงแล้วฉัน(ท่านนบี)ทำการเตาบัตต่ออัลลอฮฺในหนึ่งวันนั้นมากกว่าหนึ่งร้อยครั้ง” นี่คือใคร?? นี่คือท่านศาสดามุฮัมมัดผู้ที่อัลลอฮฺได้ทรงให้อภัยในสิ่งที่ท่านได้เคยกระทำและสิ่งที่ยังไม่ได้กระทำ ถึงกระนั้นท่านก็ยังเตาบัตมากกว่าหนึ่งร้อยครั้งในหนึ่งวัน แล้วนับประสาอะไรเล่ากับผู้ที่ชีวิตของเขาเต็มไปด้วยบาปและความผิดต่างๆนานา!!
 
การเตาบัตนั้นเป็นโอกาสของมนุษย์ที่จะทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากโทษทัณฑ์และผลลัพท์ของบาปและความผิดที่ได้กระทำมาระหว่างมนุษย์และบ่าวของเขา ท่านนบีได้กล่าวว่า “และอัลลอฮฺจะทรงรับการเตาบัตจากผู้ที่เตาบัตตัว” บันทึกโดยบุคอรีและมุสลิม ซึ่งการการทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากโทษทัณฑ์ของบาปนั้นทำให้มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่อย่างสงบและมีความสุข อัลลอฮฺตรัสว่า
 
وَأَنِ اسْتَغْفِرُواْ رَبَّكُمْ ثُمَّ تُوبُواْ إِلَيْهِ يُمَتِّعْكُم مَّتَاعاً حَسَناً إِلَى أَجَلٍ مُّسَمًّى وَيُؤْتِ كُلَّ ذِي فَضْلٍ فَضْلَهُ وَإِن تَوَلَّوْاْ فَإِنِّيَ أَخَافُ عَلَيْكُمْ عَذَابَ يَوْمٍ كَبِيرٍ ﴿٣﴾ 
 ความว่า “และพวกท่านจงขอนิรโทษจากพระเจ้าของพวกท่าน แล้วจงกลับเนื้อกลับตัวต่อพระองค์ พระองค์จะทรงหใปัจจัยแก่พวกท่านซึ่งปัจจัยที่ไปจนถึงวาระหนึ่งที่กำหนดไว้ และพระองค์จะทรงประทานแก่ทุก ๆ ผู้ทำความดีซึ่งความดีของเขาและหากพวกท่านผินหลังให้ แท้จริงฉันกลัวแทน พวกท่านซึ่งการลงโทษในวันอันยิ่งใหญ่” (11:3)
 
 นอกจากนี้ผู้ที่ทำการเตาบัตนั้นเป็นผู้หนึ่งในกลุ่มชนที่ประสบความสำเร็จ(ในโลกอาคีเราะหฺ) ตามที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า 
فَأَمَّا مَن تَابَ وَآمَنَ وَعَمِلَ صَالِحاً فَعَسَى أَن يَكُونَ مِنَ الْمُفْلِحِينَ ﴿٦٧﴾
ความว่า “ส่วนผู้ลุแก่โทษและเขาได้ศรัทธา และประกอบความดี บางทีเขาจะอยู่ในหมู่ผู้บรรลุความสำเร็จ” (28:67)
 
อัลกุรอานยังได้อธิบายอีกว่าการเตาบัตของมนุษย์นั้นเป็นความต้องการของพระเจ้า ซึ่งตามหลักการศาสนาอิสลามแล้วสมควรและจำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษย์ต้องเพียรพยายามและปฎิบัติการเตาบัตอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ อัลลอฮฺตรัสว่า 
وَاللّهُ يُرِيدُ أَن يَتُوبَ عَلَيْكُمْ وَيُرِيدُ الَّذِينَ يَتَّبِعُونَ الشَّهَوَاتِ أَن تَمِيلُواْ مَيْلاً عَظِيماً ﴿٢٧﴾
ความว่า “และอัลลอฮฺ ทรงปรารถนาที่จะอภัยโทษให้แก่พวกเจ้า และบรรดาผู้ที่ปิบัติตามความใคร่ใฝ่ต่ำนั้นปรารถนาที่จะให้พวกเจ้าเอนเอียงออกไปอย่างมากมาย” (4:27)
 
أَلَمْ يَعْلَمُواْ أَنَّ اللّهَ هُوَ يَقْبَلُ التَّوْبَةَ عَنْ عِبَادِهِ وَيَأْخُذُ الصَّدَقَاتِ وَأَنَّ اللّهَ هُوَ التَّوَّابُ الرَّحِيمُ ﴿١٠٤﴾
ความว่า “พวกเขาไม่รู้ดอกหรือว่า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงรับการสำนึกผิดจากปวงบ่าวของพระองค์ และทรงรับบรรดาสิ่งที่เป็นทาน(ศ่อดะเกาะฮฺ) และแท้จริงอัลลอฮฺนั้นคือ ผู้ทรงอัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (9:104)
فَسَبِّحْ بِحَمْدِ رَبِّكَ وَاسْتَغْفِرْهُ إِنَّهُ كَانَ تَوَّاباً ﴿٣﴾
ความว่า “ดังนั้นจงแซ่ซ้องสดุดีด้วยการสรรเสริญพระเจ้าของเจ้า และจงขออภัยโทษต่อพระองค์เถิด แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษเสมอ” (110:3)
 
และเนื่องจากการเตาบัตนั้นเป็นภาระหน้าที่ของผู้ที่ทำความผิด ดังนั้นอัลลอฮฺจึงมิได้กำหนดให้มนุษย์คนใดหรือสิ่งใดๆเป็นตัวช่วยหรือเป็นสื่อกลางระหว่างผู้เตาบัตกับพระองค์ มนุษย์สามารถที่จะนมัสการ วิงวอน ขอดุอาอฺ ขอพรและขออภัยโทษจากอัลลอฮฺได้ด้วยหัวใจและร่างกายของเขาเอง ไม่จำเป็นต้องทำการเตาบัตที่มัสยิด ไม่จำเป็นต้องเตาบัตต่อหน้าผู้รู้นักวิชาการหรือคนศอและหฺ ไม่จำเป็นที่เขาต้องสารภาพบาปต่ออิหม่ามหรือผู้ใด เพราะการเตาบัตนั้นเป็นสิทธิระหว่างบ่าวและพระเจ้าของเขา อัลลอฮฺได้กล่าวว่า 
وَالَّذِينَ إِذَا فَعَلُواْ فَاحِشَةً أَوْ ظَلَمُواْ أَنْفُسَهُمْ ذَكَرُواْ اللّهَ فَاسْتَغْفَرُواْ لِذُنُوبِهِمْ وَمَن يَغْفِرُ الذُّنُوبَ إِلاَّ اللّهُ وَلَمْ يُصِرُّواْ عَلَى مَا فَعَلُواْ وَهُمْ يَعْلَمُونَ  
ความว่า “บรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขากระทำสิ่งชั่วใด ๆ หรือ อยุติธรรมแก่ตัวเองแล้ว พวกเขาก็รำลึกถึงอัลลอฮฺแล้วขออภัยโทษในบรรดาความผิดของพวกเขา และใครเล่าที่จะอภัยโทษบรรดาความผิดทั้งหลายให้ได้ นอกจากอัลลอฮฺแล้ว และพวกเขามิได้ดื้อรั้นปฏิบัติในสิ่งที่เขาเคยปฏิบัติมาโดยที่พวกเขารู้กันอยู่” (3:135) 
 
อิสลามมิได้กำหนดให้การเตาบัตต้องกระทำในเวลาใดเวลาหนึ่งห้ามกระทำในเวลาอื่น แต่อิสลามเปิดโอกาสให้มุสลิมทำการเตาบัตได้ในทุกเวลา เมื่อใดที่มุสลิมต้องการเตาบัตเขาจะพบว่าประตูแห่งความเมตตาของอัลลอฮฺนั้นเปิดอ้าสำหรับผู้กระทำความผิดเสมอ พระหัตถ์ของพระองค์เปิดรับการเตาบัตของเขาตลอดเวลา มีรายงานจากท่านอบี มูซา อัลอัชอารีได้รายงานหะดีษที่ท่านนบีกล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺตะอาลาจะแผ่พระหัตถ์ของพระองค์ตอนกลางคืนเพื่อรับการเตาบัตจากที่ผู้ที่ทำบาปในเวลากลางวัน และจะแผ่พระหัตถ์ของพระองค์ในเวลากลางวันเพื่อรับการเตาบัตจากผู้ที่ทำบาปในเวลากลางคืน จนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้น” บันทึกโดยอิหม่ามอะหมัด และมีอีกหะดีษบันทึกโดยอัตตัรมีซียฺ ท่านนบีได้กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺตะอาลาจะรับการเตาบัตของบ่าว(ทุกเมื่อ)เว้นแต่ในสภาพที่วิญญาณใกล้ออกจากร่าง”
 
ด้วยหลักการอิสลามที่ได้กล่าวมานั้น ย่อมที่จะทำให้การเตาบัตหรือการขอลบล้างบาปประสบความสำเร็จและให้ผลลัพธ์ที่ดีต่อชีวิตมนุษย์ เพราะความผิดหรือบาปที่เขาได้กระทำมาจะเป็นความลับระหว่างเขากับอัลลอฮฺ เช่นเดียวกับการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องในชีวิตมนุษย์นั้นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลไม่มีใครที่รู้ดีไปมากกว่าตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้เองที่ทำให้ผู้เตาบัตในอิสลามจะรู้สึกถึงความมั่นคงทางด้านจิตใจ และจะเป็นสิ่งที่จะสร้างมนุษย์ให้มีคุณภาพทั้งด้านร่างกายและด้านอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเอง ครอบครัวและสังคมโดยรวม
 
แท้จริงอิสลามนั้นได้สั่งสอนให้มุสลิมทำการเตาบัตจากทุกๆความผิดที่ได้กระทำแม้ว่าจะเป็นความผิดที่เป็นบาปใหญ่ ซึ่งนักปราชญ์อิสลามส่วนใหญ่เห็นว่าผู้ที่กระทำความผิดหรือบาปทุกชนิดถึงแม้จะเป็นบาปใหญ่ จำเป็นอย่างยิ่งที่เขาจะต้องทำการเตาบัตตัวต่ออัลลอฮฺและปกปิดความผิดนั้นไว้โดยไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะชนหรือแจ้งผู้ปกครองเพื่อพิจารณาลงโทษในโลกดุนยา ซึ่งมีหลักฐานในหนังสือ มุวัฎเฎาะอฺของอิหม่ามมาลิก รายงานว่าท่านนบีได้กล่าวว่า “จงห่างไกลจากสิ่งสกปรกโสมม(สิ่งที่ผิดหลักการศาสนา)ทั้งหลายที่อัลลอฮฺได้ห้ามไว้ และเมื่อผู้ใดได้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากสิ่งที่ห้ามดังกล่าวก็จงปกปิดมันไว้(เพราะอัลลอฮฺให้ปกปิดเรื่องนั้นมิให้ผู้อื่นรู้ยกเว้นเตาเขาเอง)” นี่คือหลักฐานแสดงถึงความสำคัญ บทบาทและอิทธิพลของการเตาบัตในอันที่จะนำความสงบสุขทางจิตใจมาสู่สมาชิกในสังคม
 

ที่มา : หนังสือ เตาบัตในอิสลาม, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง