นักวิชาการอิสลามได้ระบุถึงเงื่อนไขหรือหลักปฎิบัติที่ผู้ต้องการเตาบัตต้องกระทำมีดังนี้
หนึ่ง - ถอนตัวจากบาปนั้น โดยผู้ที่ต้องการเตาบัตต้องละทิ้งและเลิกการกระทำที่เป็นบาปนั้นด้วยความเต็มใจของตัวเขาเอง ไม่ว่าบาปนั้นจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม
สอง - ต้องรู้สึกเสียใจและสำนึกผิดในบาปที่ได้กระทำ
สาม - ต้องตั้งใจอย่างแน่วแน่และสัญญากับตัวเองว่าจะไม่กลับไปกระทำบาปนั้นอีก
สี่ - ต้องปลดพันธนาการตัวเองและรับผิดชอบต่อหนี้หรือสิทธิของผู้อื่นที่เขาได้ละเมิด ในกรณีที่บาปนั้นเกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้อื่น ผู้ทำการเตาบัตต้องคืนสิทธินั้นให้กับเจ้าของหรือต้องขออภัยโทษจากผู้ที่ถูกละเมิด
จากหลักเกณฑ์ที่ได้กล่าวมานั้นจะเห็นได้ว่า การสำนึกหรือการรับสารภาพในความผิดและการละทิ้งบาปนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญต่อผู้ที่ทำการเตาบัต ซึ่งคนที่ไม่รู้สึกถึงบาปที่เขากระทำและไม่ยอมรับผิดในบาปนั้น เขาจะไม่มีวันที่จะละทิ้งการกระทำที่เป็นบาปนั้นได้ เปรียบได้กับคนป่วยที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองมีโรค เขาจะไม่มีทางรักษาให้หายได้ เพราะเขาจะปฎิเสธอย่างแข็งขันที่จะไปหาหมอ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
“แท้จริงเมื่อบ่าวได้สำนึกและสารภาพในความผิดแล้วและทำการเตาบัตตัว อัลลอฮฺจะทรงรับการเตาบัตนั้น” บันทึกโดยบุคอรียฺ
และจากเงื่อนไขดังกล่าวนั้นเราจะเห็นว่าความผิดหรือสิทธิระหว่างมนุษย์กับอัลลอฮฺนั้นจะอยู่บนพื้นฐานของ “การให้อภัย” หรือ المسامحة ซึ่งทำได้โดยการวิงวอนขออภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แต่ความผิดหรือสิทธิระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันนั้นจะอยู่บนพื้นฐานการขอขมา หรือ المشاحّة أو المطالبة ซึ่งการที่จะหลุดจากพันธนาการนี้ต้องได้รับการอภัยจากเจ้าของสิทธิ
และจากเงื่อนไขดังที่กล่าวมาเช่นกันทำให้เราเข้าใจว่าการเตาบัตนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ มิใช่เป็นสิ่งที่อนุโลมให้ทำ(คือจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้) เพราะการเตาบัตในอิสลามนั้นย่อมมีผลต่อการกระทำและคำพูดของตัวผู้ที่เตาบัต กล่าวคือเป็นไปไม่ได้เลยที่คนหนึ่งจะอ้างว่าเขาได้เตาบัตตัวแล้ว แต่ในขณะเดียวกันเขายังคงกระทำบาปนั้นอยู่ และเป็นไปไม่ได้เลยที่คนหนึ่งคนใดจะบอกว่าเขาเป็นผู้เตาบัตแล้วในขณะที่เขายังคงเรียกร้องและเชิญชวนผู้อื่นไปสู่การทำบาปหรือความผิดนั้น ฉะนั้นการเตาบัตของคนๆหนึ่งจะไม่ประสบความสำเร็จและไม่เป็นการเตาบัตที่มีความบริสุทธิ์ใจ(อิคลาศ)ถ้าหากเขายังคงดื้อดึงและมั่นคงอยู่กับความผิดนั้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสไว้ว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا تُوبُوا إِلَى اللَّهِ تَوْبَةً نَّصُوحاً عَسَى رَبُّكُمْ أَن يُكَفِّرَ عَنكُمْ سَيِّئَاتِكُمْ وَيُدْخِلَكُمْ جَنَّاتٍ تَجْرِي مِن تَحْتِهَا الْأَنْهَارُ يَوْمَ لَا يُخْزِي اللَّهُ النَّبِيَّ وَالَّذِينَ آمَنُوا مَعَهُ نُورُهُمْ يَسْعَى بَيْنَ أَيْدِيهِمْ وَبِأَيْمَانِهِمْ يَقُولُونَ رَبَّنَا أَتْمِمْ لَنَا نُورَنَا وَاغْفِرْ لَنَا إِنَّكَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ ﴿٨﴾
ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงขอลุแก่โทษแด่อัลลอฮฺด้วยการลุแก่โทษอย่างจริงจังเถิด บางทีพระเจ้าของพวกเจ้าจะลบล้างความผิดของพวกเจ้าออกจากพวกเจ้า และจะทรงให้พวกเจ้าเข้าสวนสวรรค์หลากหลาย ณ เบื้องล่างสวนสวรรค์นั้นมีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน วันที่อัลลอฮฺจะไม่ทรงทำให้นะบีและบรรดาผู้ศรัทธาร่วมกับเขาต้องอัปยศ แสงสว่างของพวกเขาจะส่องจ้าไปเบื้องหน้าของพวกเขาและทางเบื้องขวาของพวกเขา พวกเขาจะกล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของเรา ขอพระองค์ได้ทรงโปรดทำให้แสงสว่างของเราอยู่กับเราตลอดไปและทรงยกโทษให้แก่เราแท้จริงพระองค์ท่านเป็นผู้ทรงอานุภาพเหนือทุกสิ่ง” (66:8)
ซึ่งท่านอุมัร บินอัลคอฏฏ๊อบ ได้ถูกถามถึง การเตาบัตที่บริสุทธิ์ (التوبة النصوح) ท่านได้ตอบว่า “คือการที่คนๆหนึ่งได้เตาบัตจากความผิด จากนั้นเขาจะไม่หวนกลับไปกระทำมันอีกเลยตลอดไป”
จะเห็นได้ว่าหลักการเตาบัตข้อสองและสามนั้นเป็นหลักการที่เกี่ยวข้องกับจิตใจและสามัญสำนึก ไม่มีผู้ใดที่จะรับรู้ได้นอกจากอัลลอฮฺตะอาลา ฉะนั้นการสำนึกในความผิดและการตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะไม่หวนกลับไปปฎิบัติอีกนั้นเป็นสิ่งที่ฝังแน่นอยู่ในหัวใจของผู้เตาบัต ไม่มีผู้ใดสามารถล่วงรู้ได้ นี่แสดงให้เห็นถึงการที่ผู้กระทำผิดนั้นย่อมต้องรับผิดชอบต่อบาปของเขา และเขาคนเดียวเท่านั้นที่สามารถเติมเต็มความดีในชีวิตของเขาได้ ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
(فإن يتوبوا يك خيراً لهم)
ความว่า “และหากพวกเขาสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว ก็เป็นสิ่งดีแก่พวกเขา” (9:74)
อย่างไรก็ตามจำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรจะเน้นย้ำและกำชับถึงเรื่องการชดใช้หนี้หรือคืนสิทธิต่างๆกลับไปสู่เจ้าของในกรณีที่ความผิดนั้นเป็นเรื่องระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน ฉะนั้นแล้วหากใครขโมยหรือยักยอกทรัพย์สินของผู้อื่น วาญิบ(จำเป็น)ที่เขาต้องคืนหรือชดใช้ทรัพย์สินนั้นให้กับเจ้าของ หากใครที่นินทาว่าร้ายผู้อื่น วาญิบที่เขาต้องไปขออภัยจากคนๆนั้น หากใครทำร้ายคนอื่นก็เช่นกัน วาญิบที่เขาต้องขอโทษจากคนนั้นก่อนที่เขาจะทำการเตาบัต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน กล่าวคือหากมีความยากลำบากหรือไม่มีความเป็นเป็นไปได้ที่จะขออภัยโทษจากคนที่เราอธรรมเขา อย่างน้อยเราก็ควรดุอาอฺและขออภัยโทษให้เขาแทน
และเพื่อให้การเตาบัตนั้นมีความสมบูรณ์ ผู้เตาบัตต้องแก้ไขความผิดหรือสิ่งที่เขาได้ทำให้เสียหาย ดังนั้นผู้ใดที่ชักชวนผู้อื่นไปสู่ความผิดหรือบาป เช่น คนที่สูบบุหรี่ ผู้หญิงที่แต่งตัวเปิดเผยเอาเราะฮฺ โดยเฉพาะบรรดานักแสดงและนางแบบ รวมถึงผู้ที่กระทำความผิดอย่างเปิดเผยและเป็นตัวอย่างในทางที่ไม่ดีทั้งหลาย นอกจากพวกเขาต้องละทิ้งพฤติกรรมชั่วทั้งหลายแล้ว พวกเขายังต้องรับผิดชอบและแก้ไขในสิ่งที่พวกเขาได้กระทำด้วยอย่างสุดความสามารถ หากหญิงใดเคยแนะนำเชิญชวนหญิงอื่นให้เปิดเผยเอาเราะฮฺ เธอต้องเตาบัตตัวและเชิญชวนผู้หญิงคนนั้นไปสู่หิญาบ โดยสรุปแล้วหากใครก็ตามเคยชักชวนผู้อื่นไปสู่ความชั่วใดๆเขาจำเป็นต้องชักชวนให้คนๆนั้นทำการเตาบัตและปรับปรุงแก้ไขการกระทำเหล่านั้น
และเช่นเดียวกัน บรรดาผู้ที่กระทำสิ่งอันเป็นบิดอะฮฺ(อุตริกรรมทางศาสนา) รวมทั้งผู้เผยแพร่ลัทธิหรือความเชื่อที่หลงทางทั้งหลาย พวกเขาจำเป็นต้องแก้ไขในสิ่งที่พวกเขากระทำ อย่างไรก็ตามการที่ผู้เตาบัตไม่สามารถแก้ไขสิ่งชั่วที่ได้เคยทำนั้นก็มิได้ทำให้การเตาบัตระหว่างเขากับอัลลอฮฺเป็นโมฆะ แต่เขายังคงมีพันธะที่ต้องรับผิดชอบต่อมนุษย์ที่เขาได้อธรรม และต้องชดเชยจากผลบุญที่เขามีให้กับคนที่เขาอธรรมนั้น
และอีกสิ่งหนึ่งที่การเตาบัตในอิสลามแตกต่างจากการเตาบัตในศาสนาอื่นคือ การเตาบัตนั้นจะมีอิทธิพลและส่งผลดีในการแก้ไขปรับปรุงการดำเนินชีวิตของมนุษย์ให้กลับมาอยู่ในหลักการที่ถูกต้องของศาสนาทั้งในปัจจุบันและอนาคต นั่นคือผู้ที่เตาบัตตัวแล้วเขาก็เปรียบเสมือนมนุษย์คนใหม่ จะได้รับการปฎิบัติเหมือนกับคนดีทั่วไป ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาอดีตของเขาจะสกปรกไปด้วยความชั่วและบาปอันมากมายก็ตาม อัลลอฮฺตรัสว่า
وَالَّذِينَ إِذَا أَنفَقُوالَمْ يُسْرِفُوا وَلَمْ يَقْتُرُوا وَكَانَ بَيْنَ ذَلِكَ قَوَاماً ﴿٦٧﴾ وَالَّذِينَ لَا يَدْعُونَ مَعَ اللَّهِ إِلَهاً آخَرَ وَلَا يَقْتُلُونَ النَّفْسَ
الَّتِي حَرَّمَ اللَّهُ إِلَّا بِالْحَقِّ وَلَا يَزْنُونَ وَمَن يَفْعَلْ ذَلِكَ يَلْقَ أَثَاماً ﴿٦٨﴾ يُضَاعَفْ لَهُ الْعَذَابُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ وَيَخْلُدْ فِيهِ مُهَاناً ﴿٦٩﴾
ความว่า “และบรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขาใช้จ่าย พวกเขาก็ไม่สุรุ่ยสุร่าย และไม่ตระหนี่ และระหว่างทั้งสองสภาพนั้น พวกเขาอยู่สายกลาง และบรรดาผู้ที่ไม่วิงวอนขอพระเจ้าอื่นใดคู่เคียงกับอัลลอฮฺ และพวกเขาไม่ฆ่าชีวิตซึ่งอัลลอฮฺทรงห้ามไว้ เว้นแต่ด้วยสัจธรรมและพวกเขาไม่ประเวณี และผู้ใดที่ประพฤติสิ่งดังกล่าวจะได้รับบาปอย่างใหญ่หลวง การลงโทษในวันกิยามะฮฺจะถูกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าสำหรับเขา และเขาจะอยู่ในนั้นอย่างอัปยศ” (25:67-69)
ซึ่งอายาตเหล่านี้ได้ถูกประทานลงมายังนครมักกะฮฺ (ตามที่ท่านอิบนุอับบาสได้บอกไว้) เหล่าบรรดามุชรีกีนได้ถามว่า “มีสิ่งใดเล่าที่จะสามารถช่วยให้เรารอดพ้นจากความผิดที่เราได้กระทำมาโดยเราได้ทำการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺและเราได้ฆ่าชีวิตมนุษย์ที่อัลลอฮฺทรงห้ามฆ่าและเราได้ปฎิบัติความชั่วทุกรูปแบบ!!” อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จึงได้ประทานอายะฮฺที่ว่า
إِلَّا مَن تَابَ وَآمَنَ وَعَمِلَ عَمَلاً صَالِحاً فَأُوْلَئِكَ يُبَدِّلُ اللَّهُ سَيِّئَاتِهِمْ حَسَنَاتٍ وَكَانَ اللَّهُ غَفُوراً رَّحِيماً ﴿٧٠﴾ وَمَن تَابَ وَعَمِلَ صَالِحاً فَإِنَّهُ يَتُوبُ إِلَى اللَّهِ مَتَاباً ﴿٧١﴾
ความว่า “เว้นแต่ผู้ที่กลับเนื้อกลับตัว และศรัทธา และประกอบการงานที่ดี เขาเหล่านั้นแหละอัลลอฮฺจะทรงเปลี่ยนความชั่วของพวกเขาเป็นความดี และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ และผู้ใดกลับเนื้อกลับตัวและกระทำความดี แท้จริงเขากลับเนื้อกลับตัวเข้าหาอัลลอฮฺอย่างจริงจัง” (25:70-71)
ความเมตตาของอิสลามนั้นได้กำหนดให้การเตาบัตเป็นเรื่องง่าย มิได้เป็นสิ่งยุ่งยากสำหรับผู้กระทำผิด แต่ได้บัญญัติให้มันเป็นสิ่งที่สะดวกสำหรับผู้ที่ต้องการปรับปรุงแก้ไขชีวิตของเขา เพื่อจะได้เป็นสมาชิกที่ดีของศาสนา สังคม ครอบครัวและเป็นประโยชน์ต่อประชาชาติโดยรวม
อิสลามถือว่าการเตาบัตนั้นเปรียบเสมือนการปกป้องสังคมจากความชั่วทั้งหลาย และสร้างความสงบสุขภายในสังคม เพราะการเตาบัตนั้นช่วยทำให้มนุษย์มีความหวัง ไม่สิ้นหวังในความเมตตาของอัลลอฮฺถึงแม้เขาจะทำความผิดไว้มากก็ตาม อัลลอฮฺตรัสว่า
قُلْ يَا عِبَادِيَ الَّذِينَ أَسْرَفُوا عَلَى أَنفُسِهِمْ لَا تَقْنَطُوا مِن رَّحْمَةِ اللَّهِ إِنَّ اللَّهَ يَغْفِرُ الذُّنُوبَ جَمِيعاً إِنَّهُ هُوَ الْغَفُورُ الرَّحِيمُ ﴿٥٣﴾
ความว่า “จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด ปวงบ่าวของข้าเอ๋ย! บรรดาผู้ละเมิดต่อตัวของพวกเขาเอง พวกท่านอย่าได้หมดหวังต่อพระเมตตาของอัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงอภัยความผิดทั้งหลายทั้งมวล แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (39:53)
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 5216 views
WCimage