3. อะมานะฮฺต่อศาสนา

Submitted by dp6admin on Thu, 06/12/2018 - 21:22

الأَمَانَةُ تِجَاهَ دِيْنِ الإِسْلام
3. อะมานะฮฺต่อศาสนา

    มุสลิมทุกคนต้องแสวงหาเกียรติยศจากการเผยแผ่และสนับสนุนอัลอิสลาม ซึ่งเป็นอะมานะฮฺอันใหญ่หลวงที่ผู้ศรัทธาต้องรักษาไว้ โดยไม่มีทางเลือกว่าจะละทิ้งหรือปลดปล่อยกิจกรรมของศาสนา เพราะอัลลอฮฺ   ได้ทรงมอบหมายหน้าที่นี้ไว้แก่ประชาชาติอัลอิสลาม ตราบใดที่เราไม่ปฏิบัติหน้าที่นี้อย่างถูกต้อง เราก็จะถูกเปลี่ยนให้ผู้อื่นมาทำหน้าที่แทนเรา ดังที่อัลลอฮฺทรงตักเตือนผู้ศรัทธาไว้มีความว่า “และถ้าพวกเจ้าผินหลังออก พระองค์ก็จะทรงเปลี่ยนหมู่ชนอื่นแทนพวกเจ้า แล้วพวกเขาเหล่านั้นจะไม่เป็นเช่นพวกเจ้า” (มุฮัมมัด 38)

ท่านริบอียฺ อิบนุอามิร( رِبْعِيُّ بْنُ عَامِر )  ได้กล่าวว่า

( اللهُ ابْتَعَثَنَا لِنُخْرِجَ العِبَادَ مِنْ عِبَادَةِ العِبَادِ إِلَى عِبَادَةِ رَبِّ العِبَادِ وَمِنْ جَوْرِ الأَدْيَانِ إِلَى عَدْلِ الإِسْلام )

“อัลลอฮฺทรงส่งเรา (หมายถึงประชาชาติอิสลาม) มาเพื่อนำประชาคมโลกออกจากการตั้งภาคีกับอัลลอฮฺ สู่การให้เอกภาพแด่พระองค์องค์เดียว และเพื่อนำประชาคมโลกออกจากความอธรรมแห่งศาสนาต่างๆ สู่ความยุติธรรมแห่งอิสลาม” นั่นคืออะมานะฮฺ(ความรับผิดชอบ)ที่ศ่อฮาบะฮฺท่านนี้มีต่อศาสนา ทั้งๆที่ท่านเป็นสามัญชนที่ไม่มีตำแหน่งพิเศษหรือคำสั่งใช้เฉพาะสำหรับท่าน แต่ท่านมีความรับผิดชอบ ในฐานะที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งในประชาชาติอัลอิสลาม

ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกมุสลิมย่อมจะมาจากความบกพร่องในหน้าที่ที่มุสลิมทุกคนมีต่อศาสนาอิสลาม และถ้าหากว่าประชาชาติอัลอิสลามทั้งหมดอันมีจำนวนเกือบสองพันล้านคนได้ทำหน้าที่อย่างกระตือรือร้น และดิ้นรนต่อสู้ทำการญิฮาดเพื่อศาสนาแล้ว แน่นอน ตำแหน่งของประชาชาติอัลอิสลามคงจะอยู่ในแนวหน้าเช่นในอดีต แต่เป็นสภาพที่น่าเศร้าและเสียใจที่ประชาชาติอัลอิสลามถูกทำลายและถูกเหยียดหยามด้วยน้ำมือของเรานั่นเอง ทั้งนี้ก็เพราะเรานั้นยังไม่ทำหน้าที่ต่อศาสนาของเราด้วยความรับผิดชอบ

แท้จริง หากผู้หนึ่งผู้ใดได้พินิจพิจารณาศาสนานี้อย่างถ่องแท้แล้ว ก็จะตระหนักดีว่าเขาถูกกำหนดมาให้เป็นผู้ยึดมั่นเพื่อการเผยแผ่และเป็นผู้ชี้แนะแนวทาง และถ้าจะใคร่ครวญให้ลึกซึ้งแล้วก็จะประจักษ์อีกว่า ผู้ใดที่แสดงตนเป็นมุสลิมที่เคร่งครัด โดยปราศจากความรับผิดชอบต่อศาสนาของเขาแล้ว แท้จริงเขาก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับนักบวชนักพรตที่จำศีลอยู่ในถ้ำ ทั้งๆที่เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าไม่มีนักบวชหรือนักพรตในศาสนาอิสลาม

คำสั่งใช้ของพระผู้เป็นเจ้าในตอนเริ่มแรกของการประทานอัลกุรอานลงมานั้นก็คือ การใช้ให้ประกาศตักเตือน และเผยแผ่วะฮียฺแก่มวลมนุษย์ ดังที่พระองค์ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลมุดดัรซิร ว่า

﴿ يَا أَيُّهَا المُدَّثِّر . قُم فَاَنذِر ﴾
ความว่า "โอ้ผู้ห่มกายอยู่เอ๋ย จงลุกขึ้นแล้วประกาศตักเตือน"

หลังจากนั้น อัลวะฮียฺก็ได้ทะยอยลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่สิ่งที่ถูกประทานลงมานั้นมีตัวบทมากมายที่เป็นหลักฐานเกี่ยวกับวิชาฟิกฮุดดะอฺวะฮฺ (ศิลปะในการเผยแผ่ศาสนา) ซึ่งประมวลไว้ด้วยคำสั่งใช้ที่ให้ความสนใจในเรื่องของการเผยแผ่อัลอิสลาม เช่นดำรัสของพระองค์ที่ว่า

 ﴿ فاصْدَعُ بِمَا تُؤمر وَأَعرِض عَنِ المُشرِكِين ﴾

ความว่า "ดังนั้นจงประกาศอย่างเปิดเผย ในสิ่งที่เจ้าถูกบัญชาและจงผินหลังให้พวกมุชริกีน" (อัลฮิจรฺ 94)

﴿ قُلْ هَذِهِ سَبِيْلِيْ أَدْعُوْ إِلَى اللهِ عَلَى بَصِيْرَةٍ أَنَا وَمَنِ اتَّبَعَنِيْ وَسُبْحَانَ اللهِ وَمَا أَنَا مِنَ الْمُشْرِكِيْن ﴾

ความว่า "จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด นี่คือแนวทางของฉัน ฉันเรียกร้องไปสู่อัลลอฮฺอย่างประจักษ์แจ้ง ทั้งตัวฉันและผู้ปฏิบัติตามฉัน และมหาบริสุทธิ์แห่งอัลลอฮฺ ฉันมิได้อยู่ในหมู่ผู้ตั้งภาคี"(ยูซุฟ 108)

﴿ ادْعُ إِلَى سَبِيلِ رَبِّكَ بِالْحِكْمَةِ وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ وَجَادِلْهُمْ بِالَّتِى هِىَ أَحْسَنُ ﴾

ความว่า "จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระเจ้าของเจ้าโดยสุขุมและด้วยการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า"(อันนะหลฺ 125)

อัลอายาตดังกล่าว ได้ฉายภาพของมุสลิมนักเผยแผ่ที่ดำเนินตามแนวทางของท่านนะบี    แต่แท้จริงนั้น ท่านนะบี   เป็นผู้เริ่มต้นให้ความสนใจและมีความห่วงใยในบุคลิกภาพของนักเผยแผ่ที่มีความวิตกกังวลในเรื่องของศาสนา บุคคลแรกที่ท่านนะบี   ได้เรียกร้องเชิญชวนให้เข้าสู่อิสลามก็คือ อะบูบักร อัศศิดดี๊ก   อะบูบักรมิได้รีรอหรือมีความคิดที่จะหันเหจากความรับผิดชอบอันหนักอึ้งนี้แต่อย่างใด ทว่าเขาได้เคลื่อนไหวนับตั้งแต่วันแรกเพื่อเผยแผ่ศาสนานี้ จนกระทั่งเป็นที่ปรากฏว่าด้วยความพยายามในครั้งนั้น ได้มีบรรดาคนหนุ่มชั้นหัวหน้าของชาวกุเรชยอมเข้ารับอิสลามจำนวนถึง 6 คน นอกเหนือจากความพยายามของเขาที่จะปลดปล่อย บรรดาทาสที่ตอบรับศาสนาใหม่จากการถูกหน่วงเหนี่ยวในการเป็นทาสอีกหลายคน

เป็นที่ประจักษ์แจ้งแล้วว่าการเคลื่อนไหวของบรรดาศ่อฮาบะฮฺของท่านนะบี   ในดินแดนต่างๆ หลังจากที่ท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว เป็นหลักฐานยืนยันถึงบุคลิกภาพซึ่งท่านนะบี   ได้หล่อหลอมและอบรมพวกเขา ให้เป็นผู้ที่มีบุคลิกลักษณะแห่งการเคลื่อนไหวเพื่อศาสนาที่ไม่รู้จักคำว่าหยุดนิ่งและการปิดบัง
ในการอธิบายความหมายดำรัสของอัลลอฮฺ   ที่ว่า  ﴿ يَا أَيُّهَا المُدَّثِّر . قُم فَاَنذِر ﴾ ความว่า "โอ้ผู้ห่มกายอยู่เอ๋ย จงลุกขึ้นแล้วประกาศตักเตือน" นั้น ท่าน ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า เป็นสิ่งจำเป็นแก่ประชาชาติที่จะต้องประกาศและเผยแผ่สิ่งที่ถูกประทานลงมายังท่านนะบีมุฮัมมัด   และจะต้องทำหน้าที่ตักเตือนดังที่ท่านได้ประกาศตักเตือน เพราะอัลลอฮฺ   ได้ตรัสไว้ว่า

﴿ فَلَوْلا نَفَرَ مِنْ كُلِّ فِرْقَةٍ مِّنْهُمْ طَآئِفَةٌ لِّيَتَفَقَّهُواْ فِى الدِّينِ وَلِيُنذِرُواْ قَوْمَهُمْ إِذَا رَجَعُواْ إِلَيْهِمْ لَعَلَّهُمْ يَحْذَرُونَ ﴾

ความว่า "..ทำไมแต่ละกลุ่มในหมู่พวกเขาจึงไม่ออกไปเพื่อหาความเข้าใจในเรื่องศาสนา และเพื่อจะได้ตักเตือนหมู่คณะของพวกเขาเมื่อพวกเขาได้กลับมายังหมู่คณะของพวกเขา.." (อัตเตาบะฮฺ 122)
และพวกญินเมื่อได้ยินการอ่านอัลกุรอาน "พวกเขาก็หันหลังกลับไปยังหมู่ชนของพวกเขา เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ตักเตือน"
(อัลอะฮฺก็อฟ 29)

อิหม่ามอิบนุลก็อยยิม ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า การเผยแผ่ซุนนะฮฺของท่านนะบี   แก่ประชาชาตินั้น ประเสริฐยิ่งกว่าการยิงลูกศรไปยังหน้าอกของศัตรู เพราะการยิงลูกศรไปยังหน้าอกของศัตรูมีผู้คนกระทำกันมากมาย ส่วนการเผยแผ่ซุนนะฮฺนั้นไม่มีใครกระทำกัน นอกจากบรรดาผู้รับมรดกและตัวแทนของบรรดานะบีในประชาชาติของพวกเขา(หมายถึงบรรดาผู้รู้)ขออัลลอฮฺ   ทรงบันดาลให้พวกเราอยู่ในบรรดาผู้รับมรดก ด้วยความเมตตากรุณาของพระองค์ด้วยเทอญ

จากข้อมูลที่ศึกษากันข้างต้นสามารถสรุป อะมานะฮฺต่อศาสนา ให้เป็นวาระปฏิบัติในชีวิตของเราได้ดังต่อไปนี้

1)    ถือว่าการเผยแผ่ศาสนาอิสลามเป็นภารกิจ(อะมานะฮฺ)ที่สำคัญมากในชีวิต
2)    ศึกษาทุกวิถีทางในการทำงานเพื่อศาสนาให้มีความชำนาญ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการรับใช้ศาสนาอิสลาม
3)    ปลูกฝังการทำงานรับใช้ศาสนากับบุตรหลานของเรา ให้เป็นอุปนิสัยที่สามารถเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมในทุกสถานการณ์ที่ต้องการแรงพลังจากเยาวชนมุสลิมจัดกิจกรรมที่จะฟื้นฟูศาสนา โดยใช้วิถีทางที่ทันสมัย เพื่อจูงใจพี่น้องมุสลิมให้ตระหนักในหน้าที่ต่อศาสนาอิสลาม
4)    ติดตามบทบาทของผู้ไม่หวังดีต่อศาสนาอิสลาม และเตรียมพร้อมที่จะต่อต้าน ตอบโต้ และต่อสู้ทุกคนที่มีแผนทำลายอัลอิสลาม
 


ที่มา : หนังสือ อมานะฮฺคืออะไร ?, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง