

ในบันทึกของท่านอิหม่ามบุคอรียฺ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวไว้ว่า
قال رسول الله صلى الله عليه وسلم الْإِيمَانُ بِضْعٌ وَسِتُّونَ أَوْ سَبْعُونَ شُعْبَةً ، أَفْضَلُهَا قَوْلُ لَا إِلَهَ إِلا اللَّهُ ، وَأَدْنَاهَا إِمَاطَةُ الأَذَى عَنِ الطَّرِيقِ ،
ซึ่งมีความหมายว่า “อัล-อีมาน (ความศรัทธา)ของเรานั้นมีมากกว่า 60 ตำแหน่ง ทั้งหมดนั้นจะครอบคลุมประเด็น(หลายประการ)ในศาสนา ตำแหน่งสูงที่สุดของอัลอีมานก็คือการกล่าว “ลา อิลาฮะ อิลลัลอฮฺ มุฮัมมัด เราะซูลลุลลอฮฺ (แปลว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอะลา และไม่มีศาสนฑูตที่ต้องปฏิบัติตามหรือเลียนแบบนอกจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และตำแหน่งที่ต่ำที่สุดของการประพฤติของอัลอีมาน ก็คือ (การที่หลีกหรือ) การทำให้สิ่งที่จะทำอันตรายนั้นออกห่างจากหนทาง”
การทำความสะอาดตามถนนนั้น ก็ถือเป็นอีมานส่วนหนึ่ง ดั่งที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมระบุไว้ ระหว่างคำว่า “ลา อิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ” ถึง “การทำความสะอาดในถนนที่เราใช้เดินทาง” ซึ่งมีหลายประเด็นหลายประการที่เราเรียกได้ว่าเป็นอีมาน(ความศรัทธา) การละหมาดก็เป็นอีมาน การถือศีลอดก็เป็นอีมาน การทำความดีต่อพี่น้องมุสลิมของเราก็ถือว่าเป็นอีมาน แม้กระทั่งการทำความดีกับบิดามารดาที่ป็นมุอฺมินหรือไม่ใช่มุอฺมินก็ตาม ถือว่าเป็นคุณธรรม เป็นความดีแห่งอัลอีมานทั้งสิ้น
บางคนอาจจะเข้าใจว่าอัลอีมานเป็นเพียงแค่ความศรัทธา อันเป็นการปฏิบัติด้านจิตใจเท่านั้น แต่แท้จริงนั้น อัลอีมานนั้นครอบคลุมทั้งการศรัทธาด้วยจิตใจของเรา และสิ่งที่เราศรัทธาด้วยลิ้นของเรา รวมทั้งสิ่งที่เราศรัทธาด้วยการประพฤติปฏิบัติทางอวัยวะของเรา
ในด้านจิตใจนั้น ก็คืออีมาน มนุษย์จะเข้าใจว่านั่นคืออีมานที่เราต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อีมาน คือความเชื่อมั่นด้วยจิตใจต่อพระผู้เป็นเจ้า และต่อสิ่งเร้นลับอื่นๆที่ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอะลาทรงใช้ให้เราเชื่อมั่น ให้เราศรัทธา และการศรัทธาด้วยลิ้นก็คือการกล่าวกะลีเมาะฮฺชะฮาดะฮฺ รวมทั้งการกล่าวคำพูดต่างๆที่เราต้องเชื่อมั่นหลักศรัทธา เช่นการกล่าว “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ มุฮัมมัดดุรเราะสูลลุลลอฮฺ” การอ่านอัลกุรอ่าน หรือการที่เราพูดดีก็ถือว่าเป็นอีมานเช่นเดียวกัน ความประพฤติที่จะเรียกว่าอีมานนั้น ถือว่าเป็นการศรัทธาที่เราต้องเชื่อมั่นเช่นเดียวกัน
ซึ่งอะกีดะฮฺของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺนั้นถือว่า อีมานเป็นการเชื่อด้วยจิตใจ เป็นการพูดด้วยลิ้น เป็นการประพฤติด้วยอวัยวะต่างๆ อันเป็นประเด็นที่บรรดาผู้ศรัทธาปรับความเข้าใจของเขาต่อความหมายของ “อัลอีมาน” อีมานที่มั่นคงนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับความเชื่อหรือความศรัทธาด้านจิตใจเท่านั้น เราต้องนำอีมานของเราไปพูดด้วยลิ้น ไปปฏิบัติด้วยอวัยวะต่างๆ เพื่อที่อีมานของเราจะได้มั่นคง อันจะทำให้อิสลามในตัวของเรานั้นเป็นอิสลามที่สมบูรณ์
เราต้องกระจายความศรัทธาของเราไปในทุกประเด็นและทุกกิจกรรมในชีวิตของเรา ไปยังครอบครัวของเรา สังคมของเรา ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจก็ดี ด้านการเมืองก็ดี หรือแม้กระทั่งในด้านจริยธรรมมารยาทก็ใช่
ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้ผูกพันเรื่องอีมานต่ออัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอะลา และต่อวันกิยามะฮฺไว้กับเรื่องจริยธรรมต่างๆ ซึ่งบ่งบอกถึงความสำคัญของจริยธรรมและจรรยามารยาทของมุอฺมินว่าเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา ดังหะดีษบทหนึ่ง ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวว่า
((مَنْ كَانَ يُؤْمِنُ بالله واليَوْمِ الآخِرِ فَليُكْرِمْ جَارَهُ )) رواه البخاريُّ ومُسلمٌ
ความหมาย “ ใครก็ตามที่ศรัทธาในอัลลอฮฺและในวันกิยามะฮฺก็ต้องให้เกียรติเพื่อนบ้านของเขา (หรือทำความดีกับเพื่อนบ้านของเขา)”
อันเป็นอีมานส่วนหนึ่งที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมถือว่าเป็นภาคปฏิบัติที่ต้องแสดงออก การให้เกียรติเพื่อนบ้าน การทำความดีกับบิดามารดา หรือการทำความดีทั่วไปกับมนุษย์ แม้กระทั่งการทำความดีกับสัตว์ก็ตาม มีหะดีษบทหนึ่งท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมส่งเสริมให้บรรดาเศาะฮาบะฮฺปฏิบัติ จึงมีเศาะฮาบะฮฺบางท่านถามว่า การที่เราจะให้อาหารแก่สัตว์ มันจะเป็นผลบุญสำหรับเราหรือ ท่านนบีจึงตอบว่า ในทุกสิ่งที่มีชีวิตนั้น ถ้าหากว่าเราให้อาหารหรือทำความดีกับมัน ก็ถือว่าเป็นผลบุญที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอะลาจะบันทึกอย่างแน่นอน
ในหะดีษหลายบท ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ชี้แจงถึงผลบุญมหาศาลที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอะลาจะประทานให้แก่คนที่ทำความดี ถึงแม้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะเลวร้ายขนาดไหนก็ตาม เช่นหะดีษบทหนึ่งที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวถึงผู้หญิงคนหนึ่งในบนีอิสรออีล นางทำผิดประเวณีหรือทำซินามาตลอดชีวิต แต่ได้ทำความดีกับสุนัขตัวหนึ่ง โดยที่ผู้หญิงคนนั้นนำน้ำมาให้สุนัข อัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอะลา จึงให้อภัยโทษแก่ผู้หญิงคนนั้น
นั่นเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความกว้างขวางของอัลอีมานในอิสลาม การที่เราทำความดีในสังคม หรือทำความดีในชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นลักษณะใดก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของอีมาน อันเป็นส่วนประกอบในความศรัทธาของเรา นั่นเป็นเรื่องที่เราต้องพยายามแก้ไขความเข้าใจของเรา เพราะในสังคมของเรามักจะเข้าใจว่าอีมานนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ บางคนคิดว่าเมื่อเขาศรัทธาในอัลลอฮฺและเราะสูลก็พอแล้ว แม้ไม่มีภาคปฏิบัติ ไม่มีการละหมาด หรือความประพฤติของเขาจะไม่สอดคล้องกับอีมานนั้น ก็ถือว่าการศรัทธาของเขาสมบูรณ์แล้ว ความคิดเหล่านี้เป็นความคิดที่ขัดต่อหลักการศาสนาอิสลาม ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติในอัลกุรอ่านและสุนนะหฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
ชีวิตของมุอฺมินทั้งมวลไม่ว่าจะเป็นความประพฤติหรือการกระทำใดๆ ล้วนขึ้นอยู่กับความศรัทธาทั้งสิ้น โดยที่การดำเนินชีวิตของเรานั้นหากว่าไม่สอดคล้องกับอีมานที่เราศรัทธาและเชื่อมั่น ในบรรดาสิ่งเร้นลับต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศรัทธาในวันกิยามะฮฺ แน่นอนแล้ว ชีวิตของเรานั้นก็จะไม่มีคุณค่าหรือไม่มีคุณภาพตามมาตราฐานในศาสนาอัล-อิสลาม
พี่น้องผู้มีอีมานทั้งหลาย สิ่งที่อยากจะฝากไว้กับพี่น้องก็คือการที่เราต้องพยายามปรับปรุงและแก้ไขอีมานของเราอย่างต่อเนื่อง พยายามทำให้การศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอะลา นั้นเป็นการศรัทธาที่สมบูรณ์และมั่นคง หัวข้อที่เราจะพูดอย่างต่อเนื่องก็คือ เราจะเข้าใจอีมาน(ความศรัทธา)อย่างไร อีมานของเรา ที่พูดถึงตลอดชีวิตว่าเราเป็นมุอฺมิน และเราพูดถึงบรรดาพี่น้องมุอฺมินีนของเราว่าเป็นบรรดาผู้ศรัทธานั้น มันมีอะไรบ้าง
อีมานหรือความศรัทธาที่มีอยู่ในศาสนาอิสลามนั้นเป็นเรื่องที่กว้างขวาง มีหลายประการดังหะดีษที่ระบุไว้ข้างต้นว่าอีมานมีมากกว่า 60 ตำแหน่ง เราจะพยายามอธิบาย และพูดถึงเรื่องอีมานที่มีอยู่ในอัลอิสลามนั้น คือเรื่องละหมาด ความศรัทธาในด้านการละหมาด เรื่องซะกาต(การบริจาค) ความศรัทธาในด้านซะกาต ผลกระทบที่จะออกมาจากการประพฤติต่างๆนั้น ต่ออีมานของเราจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และเราจะปฏิบัติศาสนกิจของเราอย่างไรเพื่อให้การปฏิบัตินั้นมีผลดีงามในอีมานของเรา นั่นคือสิ่งที่เราต้องศึกษากันอย่างต่อเนื่อง อันจะนำพาจิตใจของเราและวิญญาณของเรา ไปสู่อีมานที่มั่นคง
เพราะถ้าหากว่าเราอีมานด้วยลิ้น หรืออีมานด้วยอวัยวะ แต่ไม่มีอีมานในจิตใจ หรือไม่มีผลงาน ไม่มีผลที่ดีงามต่อจิตใจของเรานั้น แน่นอนแล้ว ความศรัทธาที่เราอ้างต่อหน้าคนอื่นก็จะเป็นความศรัทธาที่ไม่มีคุณภาพ หรือความศรัทธาที่ไม่มีคุณค่า สิ่งที่เราต้องศึกษากันอย่างต่อเนื่องก็คืออีมานที่มีอยู่ในอัลกุรอ่าน ที่มีอยู่ในหะดีษของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มีข้อมูลอย่างไรบ้าง แม้กระทั่งการศึกษาที่เราจะปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่องนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับการอีมานส่วนหนึ่ง มันขึ้นอยู่กับความศรัทธาในอัลลอฮฺ และท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ดั่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอะลาสั่งไว้ให้แก่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า
فَاعْلَمْ أَنَّهُ لَا إِلَـٰهَ إِلَّا اللَّـهُ وَاسْتَغْفِرْ لِذَنبِكَ وَلِلْمُؤْمِنِينَ وَالْمُؤْمِنَاتِ
ความหมาย “โอ้มุฮัมมัด จงรู้เถิดว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ ดังนั้น สูเจ้าจงขอความอภัยโทษให้แก่บรรดามุอฺมินีนและบรรดามุอฺมินาตทั้งมวล” (ซูเราะฮฺมุฮัมมัด 47:19)
การที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอะลาสั่งให้ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม “รู้” หมายถึง ศึกษาในเรื่องอีมาน ซึ่งท่านอีหม่ามบุคอรียฺได้ระบุอายะฮฺนี้ ในหนังสือเศาะฮี้ฮฺอัลบุคอรียฺของท่าน โดยมีบทหนึ่งชื่อว่า باب العلم قبل القول و العمل มีความหมายว่า “การที่เราจะศึกษา(ความรู้)ก่อนพูดหรือก่อนทำ”
พี่น้องมุอฺมินีนทั้งหลาย การที่เราจะกระทำสิ่งที่ดีงามในชีวิตของเราขึ้นอยู่กับความรู้ที่มั่นคงในศาสนาอิสลามของเรา นั่นคือสิ่งที่เราจะพูดคุยกันกับพี่น้องอย่างต่อเนื่อง ฝากไว้กับพี่น้องเพียงเท่านี้....
เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 4, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ-อุมมุซัยฟุลลอฮฺ
วีดีโอ/ไฟล์เสียง :
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 89 views