มีหนังสือเล่มหนึ่งของอิมามอัลฮาริษ อัลมุฮาซิบี ได้จินตนาการเหตุการณ์ของวันกิยามะฮฺเป็นขั้นตอน โดยท่านได้นำเนื้อหาจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺมาเรียบเรียง มีความหมายดังนี้
“ท่านจงจินตนาการและคำนึงถึง ในขณะที่ท่านยืนอยู่ต่อหน้ามนุษยชาติทั้งหลาย คอยที่จะถูกคิดบัญชีการงานของท่าน ขณะที่ท่านรู้สึกเดือดร้อนอยู่ ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้ศีรษะของท่าน สภาพเปลือยกาย กำลังเห็นความรุนแรง ความยิ่งใหญ่และความเดือดร้อนของคนอื่น ขณะนั้นมีเสียงได้ตะโกนเรียกท่าน ชื่อนี้ คนนี้ ลูกของคนนี้ ให้นำตัวมาเสนอต่อหน้าพระผู้อภิบาล”
ลองถามพวกจำเลยที่ต้องขึ้นศาลสิว่าเวลาเขาถูกเรียกชื่อ หากไม่ขนลุกก็อาจจะปัสสาวะราด นี่เพียงเรียกรับโทษที่ทำผิดต่อมนุษย์บนโลกนี้ หรือในกรณีสอบเข้ามหาวิทยาลัย เขาจะประกาศผลสอบโดยขานชื่อในเวลาที่กำหนด นักเรียนบางคนทนไม่ไหวอยากรู้ผลสอบเร็วๆ ก็ไปฟัง หากมีชื่อก็ยินดี บางคนก็เต้น ร้องเพลง แสดงความดีใจต่างๆ กัน หากไม่มีชื่อแสดงว่าตก บางคนเป็นลม ภาพที่เห็นส่วนใหญ่คนที่ตกหรือสอบไม่ติดจะตีขมับตนเอง
แต่ภาพของคนที่จะถูกเรียกในวันกิยามะฮฺคงจินตนาการไม่ง่ายนัก...
ให้จินตนาการว่าตัวเองในวันกิยามะฮฺจะเป็นอย่างไร เมื่ออัลลอฮฺเรียกท่าน ?
ชีวิตของท่านบนโลกนี้ ทบทวนหรือยัง ?
ชีวิตบนโลกนี้ได้ทำอะไรไว้ ?
มีอะไรเก็บไว้ในสมุดบันทึกบ้าง ?
การปฏิบัติของท่าน เมื่อถูกเรียกแล้วเป็นคนดี หรือคนเลว หรือครึ่งๆ ?
เป็นคนที่มีความหวังจะเข้าสวนสวรรค์ หรือความหวังสูงกว่าที่จะเข้านรก ?
...เมื่อถูกเรียกแล้วทุกคนจะรู้ตัว แล้วรู้ด้วยว่าจะตอบอย่างไร…
ฉะนั้น ขณะที่อยู่บนโลกนี้โอกาสในการกลับเนื้อกลับตัวยังมี...
แม้คนที่ถูกเรียกตัวเพื่อประหารชีวิตก็ยังมีความหวัง....
ไม่นานนี้มีคดีหนึ่งของชาวซาอุดิอารเบีย คือมีคนไปฆ่าลูกพี่ลูกน้อง เขาโมโหก็เลยหยิบปืนไปยิงตาย ศาลชะรีอะฮฺสั่งประหารชีวิต ซึ่งในหลักศาสนานั้นจะรอดจากการประหารชีวิตได้ด้วยเหตุผลเดียวคือวลีหรือผู้ปกครองของผู้ที่ถูกฆ่าให้อภัยแก่ผู้ฆ่า สำหรับคดีนี้คนที่เสียชีวิตเป็นชาวเผ่าอูเตบี้(เป็นเผ่าใหญ่รองจากเผ่าของกษัตริย์) ญาติของผู้ต้องหาก็ได้รวมตัวกันไปหาวลีของผู้ที่ถูกฆ่า บอกว่าจะชดเชยให้ด้วยเงิน 20 ล้านริยัล (ประมาณ 200 ล้านบาท) ขนาดหลานของผู้ถูกฆ่าซึ่งเป็นญาติกันก็มาขอร้องด้วย แต่เขาก็ปฏิเสธ ไม่รับเงินชดเชย จนกระทั่งถึงวันประหารชีวิต นักโทษ 3 คนถูกนำตัวมา สองคนแรกถูกประหารโดยการตัดคอเนื่องจากคดีค้ายาเสพติดซึ่งให้อภัยไม่ได้ นักโทษจากคดีนี้เป็นคนที่ 3 เขาถูกนำตัวมาในขณะที่พ่อของผู้ถูกฆ่านั่งอยู่ และเมื่อถูกถามว่าจะให้อภัยแก่นักโทษคนนี้ไหม เขาตอบว่าไม่ให้อภัยโดยเด็ดขาด จนกระทั่งนักโทษกำลังจะถูกตัดคอแต่ในใจก็ยังขอดุอาอฺให้อัลลอฮฺ ทรงช่วยให้พ่อของคนที่ถูกฆ่าสงสารเขา อภัยแก่เขาด้วยเถิด พ่อของคนที่ถูกฆ่ามองหน้าบิดาของฆาตกร และตัดสินใจกล่าวว่า “เพื่ออัลลอฮฺเท่านั้น มิใช่เงินทองใดๆ ข้าพเจ้าให้อภัย” ในวินาทีสุดท้ายก่อนจะประหารชีวิต
จะเห็นว่าในโลกนี้แม้กระทั่งคนกำลังจะตายก็ยังมีความหวัง แต่ในวันกิยามะฮฺขณะที่ถูกลากไปนรกตามคำสั่งของอัลลอฮฺ แล้ว จะขอเปลี่ยนคำสั่งของอัลลอฮฺ ไม่ได้แล้ว ในโลกนี้ เรายังมีเวลามีอิสระในการทบทวนชีวิต แต่หลังจากการตัดสินของพระเจ้าให้เข้านรก เราคงไม่มีโอกาสเช่นนี้ ท่านอุมัร อิบนิ ค็อฏฏ็อบ จึงได้กล่าวว่า “จงประดับประดาตนเอง” ซึ่งหมายถึง การประดับประดาด้วยการประกอบความดี)
เมื่อถึงวันกิยามะฮฺแล้วเราถูกเสนอตัวต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พระองค์จะสั่งมะลาอิกะฮฺให้เปิดสมุดบันทึกของคนๆนี้ดูว่ามีอะไรบ้าง ? หน้าแรกละหมาดครบถ้วน หน้าที่ 2 อิสติฆฟารฺ (ขออภัยโทษ) สรรเสริญ สดุดีอัลลอฮฺ หน้าที่ 3 ทำความดี เศาะดะเกาะฮฺ(บริจาค) หน้าที่ 4-5 ความชั่วมีไหม คำตอบว่าไม่มีหรืออาจจะมีนิดหน่อย แต่ความดีมีมากกว่า แล้วความชั่วที่เป็นบาปใหญ่มีไหม ผลว่าไม่มีเลย มีแต่ความดี นี่แหละคือการประดับประดา(ด้วยการทำความดี)
ก่อนที่มะลาอิกะฮฺจะคิดบัญชี เมื่อได้รับสมุดบันทึกคนเราจะรู้ตัวแล้วว่าจะอยู่ในสภาพไหน คนที่ไม่รอดรับด้วยมือซ้าย คนที่จะรอดรับด้วยมือขวา เมื่อรับด้วยมือขวาก็สบายใจได้ระดับหนึ่ง หมายถึงเป็นชาวสวรรค์แน่ แต่อาจจะถูกลงโทษในนรกบ้าง เช่น จากบันทึกเปิดหน้าแรกก็ละหมาดไม่ครบ ไม่ครบกี่ปี อยู่ในโลกนี้จนถึงอายุ 60 ปี บรรลุศาสนภาวะเมื่ออายุ 15 ปี มีชีวิตบนโลก 45 ปี ละหมาดได้ 5 ปี เราจะรู้สึกอย่างไร ทำอย่างไรดี
ในขณะนี้ เรายังมีชีวิตอยู่ เราต้องทบทวนให้ได้คำตอบ เตรียมคำตอบไว้ คำตอบที่ได้จะแสดงถึงการเตาบัตตัว อย่างเช่น ต่อไปเราจะไม่ขาดละหมาดแล้ว แม้กระทั่งความชั่วที่เคยทำแล้วก็ต้องทบทวน เตรียมไว้ให้มีเหตุผล ความชั่วที่ทำไปแล้วก็แล้วกัน เราต้องเตาบัตตัวแล้วทำความดีเพื่อลบล้างความผิดเหล่านั้น
ท่านอุมัร อิบนิ ค็อฏฏ็อบ ครั้งหนึ่งเคยคัดค้านท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในสงครามฮุดัยบิยะฮฺ ท่านนบีจะทำสัญญาสันติภาพกับเผ่ากุเรช ท่านอุมัรคัดค้าน บอกว่าเราชนะแล้ว เราเหนือกว่าพวกกุเรช (จะไปทำสัญญากับพวกกุเรชทำไม) แต่แล้วท่านอุมัรก็สำนึกได้ว่าไม่สมควรที่ไปคัดค้านท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังนั้นตลอดชีวิตที่เหลือของท่านอุมัรจึงได้ขยันทำความดี (เพื่อลบล้างความผิดในครั้งนั้น)
การทบทวนบัญชีในวันกิยามะฮฺจะลดลง หากเราได้พิจารณาทบทวนตนเองตั้งแต่โลกนี้ เพราะเมื่อเราทบทวนตนเองในโลกนี้ มันจะชัดเจน คำตอบก็จะอยู่ในตัวมันเอง อัลลอฮฺก็จะรู้ มะลาอิกะฮฺก็จะรู้ จึงไม่ถาม ไม่พิจารณาเพราะคิดบัญชีมาแล้ว
มีหะดีษหลายบท ได้กล่าวถึงการกระทำแบบนี้แบบนั้นจะลบล้างความผิดในระยะ 2 ปี เช่น ถือศีลอดในวันที่ 9 ของเดือนซุลฮิจญะฮฺ หรือถือศีลอดในวันที่วุกุฟ(วันอะเราะฟะฮฺ) ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้บอกว่า
عن النبي صلى الله عليه وسلم أنه قال :" صيام يوم عرفه أحتسب على الله أنه يكفر السنة التي قبله والسنة التي بعده " [ رواه مسلم
ความหมาย “มีความหวังว่าใครถือศีลอดในวันที่ 9 ของเดือนซุลฮิจญะฮฺ อัลลอฮฺ จะลบล้างความผิด ซึ่ง 2 ปีที่เราได้สะสมไว้ คือในปีที่ผ่านมาแล้วและในปีปัจจุบัน”
“ลบล้างความผิด” ในที่นี้ก็คือ ความผิดที่เคยถูกบันทึกไว้ หรือความผิดที่เราได้กระทำในช่วงปีที่ผ่านมา เมื่อเราได้ทำความดีเช่นนี้ ความผิดเหล่านั้นก็จะถูกลบล้างไป เมื่อถึงวันกิยามะฮฺ ความผิดบางอย่างที่เรากระทำไปนั้นไม่มีแล้ว หายไปแล้ว เพราะเราได้ทบทวนตั้งแต่ตอนที่เรายังมีลมหายใจอยู่
แต่สำหรับคนที่ไม่ทบทวนตัวเอง คิดแต่ว่าฉันได้ทำมาเยอะแล้ว เพียงพอแล้ว พอบอกให้ถือศีลอดซุนนะฮฺ เช่น การถือศีลอดในวันวุกุฟบ้าง ก็จะบอกว่า ไม่เป็นไรน่า อัลลอฮฺผู้ทรงเมตตา อัลลอฮฺทรงอภัยโทษ “อินนัลลอฮะ เฆาะฟูรุลเราะฮีม - อัลลอฮฺผู้ทรงอภัยผู้ทรงเมตตา” อยู่แล้ว แบบนี้เราก็อย่าไปเครียดมากเลย เหล่านี้เป็นคำพูดที่นิยมในหมู่ชาวอาหรับ แต่ความจริงแล้วในอัลกุรอานก็มีบทอื่น เช่น “อินนัลลอฮะ ชะดีดุลอิกอบ - อัลลอฮฺทรงลงโทษอย่างเจ็บปวดเจ็บแสบ” กลับไม่ยอมจำไม่ยอมนำมาใช้ จึงไม่ยอมทบทวนตนเอง ไม่ยอมปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านนบี
ที่อัลลอฮฺ เฆาะฟูรุ้ลเราะฮีม เพราะอัลลอฮฺ เห็นว่าบ่าวของพระองค์ดี อัลลอฮฺก็เลยให้ความเมตตา แต่ถ้าเราไม่ใช่คนดีแล้วจะได้รับความเมตตาจากอัลลอฮฺ ได้อย่างไร ทั้งที่เราได้ละเมิดอัลลอฮฺ ท้าทายอัลลอฮฺ ไม่เชื่ออัลลอฮฺ ไม่ปฏิบัติในหลักการของอัลลอฮฺ แล้วมีเหตุผลอะไรที่อัลลอฮฺ จะให้ความเมตตากับเราละ ถ้าเป็นคนอย่างนี้ก็ไม่ต่างอะไรเลยกับคนที่ปฏิเสธศรัทธา หรือคนที่ไม่ยอมรับในพระเจ้า รู้ว่ามีอัลลอฮฺ แต่ไม่ยอมรับในหลักการ ไม่ยอมทำหน้าที่ต่ออัลลอฮฺ แบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ปฏิเสธศรัทธาเลย
ท่านอิหม่ามมัยมูน อิบนุมิหฺรอน (อยู่ในยุคตาบีอีน) ได้บอกว่า
لَا يَكُونُ الْعَبْدُ تَقِيًّا حَتَّى يُحَاسِبَ نَفْسَهُ كَمَا يُحَاسِبُ شَرِيكَهُ مِنْ أَيْنَ مَطْعَمُهُ وَمَلْبَسُهُ
“บ่าวของอัลลอฮฺจะไม่เป็นผู้ที่มีความตักวา(ยำเกรงอัลลอฮฺ) จนกระทั่งจะมีการทบทวน(คิดบัญชี)ตนเอง ประหนึ่งว่า(เปรียบเสมือนว่า) ได้คิดบัญชีกับผู้ร่วมหุ้น
เช่น เพื่อนที่มาทำธุรกิจด้วยกัน แต่วันดีคืนดีผู้ร่วมหุ้นของเรากลับสร้างตึก 10 ชั้น เราก็ต้องมาคิดบัญชีแล้วว่า เงินที่ใช้มาจากไหน ในเมื่อเริ่มหุ้นทำธุรกิจกัน เพื่อนคนนี้ยังไม่มีเงินเลย ที่เราต้องคิดแบบนี้ก็เพราะเราคิดบัญชีเนื่องจากความหวงในทรัพย์ของเรา ว่ามีใครยักยอกหรือโกงไปหรือเปล่า
ท่านอิหม่ามมัยมูนบอกว่า เราจะไม่มีความตักวา จนกว่าเราจะมีความหวงต่อความถูกต้องกับตัวเราเปรียบเสมือนเหมือนกับเป็นผู้ร่วมหุ้น อย่าคิดว่าเราเป็นเจ้าของตัวเอง เพราะนั่นจะทำให้เราคิดว่าเราจะทำอะไรกับตัวเราเองก็ได้ เป็นสิทธิของฉัน ใครอย่ามาว่านะ แบบนี้จะทำให้เราพลาดในการคิดบัญชี แต่ถ้าเราเปรียบเสมือนเป็นผู้ร่วมหุ้น เราต้องคิดบัญชีให้ละเอียดที่สุด เพื่อนำไปสู่การทบทวนตนเองอย่างละเอียดที่สุด
เรียบเรียงจาก ทบทวนชีวิต (ไฟล์เสียง), ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี, 3 ธ.ค.49 โดย อุมมุญันนะฮฺ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- Log in to post comments
- 101 views