21. ซะกาตุลฟิฏรฺ

Submitted by dp6admin on Sat, 04/04/2009 - 00:58

1 บัญญัติซะกาตุลฟิฏริ

ซะกาตุลฟิฏริเป็นบัญญัติบังคับ ดังฮะดีษของอิบนุอุมัรแจ้งว่า “ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้บัญญัติให้ซะกาตุลฟิฏริแก่ผู้คนในเดือนรอมฎอน” บันทึกโดย : อัลบุคอรีย์ และมุสลิม

และฮะดีสของอิบนฺอับบาสที่ว่า “ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้บัญญัติให้ซะกาตุลฟิฏริเป็นฟัรฎูที่จำเป็น” บันทึกโดย : อะบูดาวู๊ด และอันนะซาอีย์

2 ซะกาตุลฟิฎริได้บัญญัติบังคับแก่ใครบ้าง ?

ซะกาตุลฟิฏริได้บัญญัติบังคับแก่ เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้ชาย ผู้หญิง ผู้เป็นอิสระ และทาสหรือคนรับใช้ที่เป็นมุสลิม ดังมีรายงานฮะดีษของอับดุลลอฮฺ อิบนฺอุมัร แจ้งว่า “ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้บัญญัติบังคับซะกาตุลฟิฏริจำนวนหนึ่งศ๊ออฺจากอินทผลัม หรือข้าวสาลี (หนึ่งศ๊ออฺ = หนึ่งทะนาน หรือประมาณ 2 1/2 ก.ก.) แก่ทาสหรือคนรับใช้ผู้เป็นอิสระผู้ชาย ผู้หญิง เด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นมุสลิม”   บันทึกโดย : อัลบุคอรีย์ และมุสลิม

3 ชนิดของซะกาตุลฟิฎริ

ชนิดของอาหารที่ใช้ตวงเวลาออกซะกาตุลฟิฎริ คือ

1.ข้าวบาร์เล่ย์ หรือ 2. อินทผลัม หรือ 3. อิกฎ หรือ 4. ลูกเกด หรือ 5. ซัลตฺ

ดังมีรายงานฮะดีษของอะบีสะอี๊ด อัลคุดรีย์ กล่าวว่า “พวกเราได้ออกซะกาตุลฟิฎริจำนวนหนึ่งศ็ออฺในประเภทอาหาร หรือ ข้าวบาร์เล่ย์ หรืออินทผลัม หรืออิกฎหรือลูกเกต”   บันทึกโดย : อัลบุคอรีย์ และมุสลิม

และรายงานฮะดีษของอิบนฺอุมัร แจ้งว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “ได้มีบัญญัติให้จ่ายศ่อดะเกาะฮฺอัลฟิฎเราะฮฺ หนึ่งศ็ออฺจากข้าวบาร์เล่ย์ หรืออินทผลัม หรือซัลตฺ”   บันทึกโดย : อิบนฺคุซัยมะฮฺ และอัลฮากิม

(หมายเหตุ : อิกฏ = นมก้อนแข็ง, ซัลตฺ = ข้าวสาลีชนิดหนึ่งไม่มีเปลือก)

ได้มีความคิดเห็นแตกต่างกันในการอธิบายความหมายของคำว่า “ประเภทอาหาร” ที่ระบุอยู่ในฮะดีษของอะบีสะอี๊ด อัลคุดรีย์ โดยกล่าวกันว่าหมายถึงข้าวโพดหรือข้าวโอ๊ด และกล่าวอีกว่าอื่นจากนี้ แต่เป็นที่มั่นใจได้ว่ามีความหมายโดยทั่วไปครอบคลุมถึงทุกสิ่งที่เป็นอาหารที่ตวงได้ เช่น ข้าวโพด ข้าวโอ๊ด รวมทั้งประเภทอาหารที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และแป้งสาลี และแป้งชนิดอื่น ๆ ดังกล่าวทั้งหมดนั้นได้มีการปฏิบัติกันในสมัยท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังมีรายงานฮะดีษของ อิบนฺอับบาส แจ้งว่า “ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ใช้ให้เราจ่ายซะกาตรอมฎอน หนึ่งศ็ออฺจากอาหารประเภทดังกล่าวแทนเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้เป็นอิสระ ทาสหรือคนรับใช้ ผู้ใดจ่ายซัลตฺก็จะถูกรับ และฉันคิดว่าเป็นเช่นนั้น และกล่าวว่าผู้ใดจ่ายแป้งสาลี ก็จะถูกรับ และผู้ใดจ่ายแป้งชนิดอื่นก็จะถูกรับ”   บันทึกโดย : อิบนฺคุซัยมะฮฺ ด้วยสายสืบที่ศ่อเฮี๊ยะฮฺ

และมีรายงานฮะดีษจากอิบนฺอับบาส เช่นเดียวกันแจ้งว่า “ซะกาตรอมฎอน หนึ่งศ็ออฺจากอาหารประเภทต่างๆ ผู้ใดจ่ายข้าว ข้าวโพด หรือข้าวโอ๊ด จะถูกรับผู้ใดจ่ายข้าวบาร์เล่ย์จะถูกรับ ผู้ใดจ่ายลูกเกตจะถูกรับ และฉันคิดว่าเป็นเช่นนั้น และผู้ใดจ่ายแป้งชนิดอื่นๆ ก็จะถูกรับ"   บันทึกโดย : อิบนฺคุซัยมะฮฺ ด้วยสายสืบที่ศ่อฮี้ฮฺ

4 จำนวนหรือปริมาณของซะกาตุลฟิฎริ

มุสลิมจะต้องออกซะกาตุลฟิฎริหนึ่งศ็ออฺจากอาหารประเภทต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว ได้มีทัศนะที่แตกต่างกันในประเภทของข้าวโอ๊ดและข้าวโพด กล่าวกันว่าจะต้องออกหนึ่งศ็ออฺ ซึ่งเป็นทัศนะที่มีน้ำหนักกว่าและถูกต้องกว่า ดังคำกล่าวของท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า  “พวกเราได้ออกซะกาตุลฟิฎริจำนวนหนึ่งศ็ออฺในประเภทอาหาร หรือ ข้าวบาร์เล่ย์ หรืออินทผลัม หรืออิกฎหรือลูกเกต”   บันทึกโดย : อัลบุคอรีย์ และมุสลิม

ข้าวสาร(หอมมะลิ) 1 ศออฺ หนักประมาณ 2.8 กก. ( 2 กิโลกรัม 8 ขีด) แต่เนื่องจากข้าวสารแต่ละชนิด (เช่น ข้าวใหม่ เก่า ข้าวหอม ข้าวเคี่ยว ฯลฯ) น้ำหนักไม่เท่ากัน ดังนั้นควรออกให้เกินไว้คือ 3 กิโลกรัม เพื่อที่จะให้การออกซะกาตุ้ลฟิฏรฺของเราครบถ้วนตามคำสั่งของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ส่วนที่เกินก็ถือเป็นเศาะดะเกาะฮฺ

5 ใครบ้างที่จะต้องออกซะกาตุลฟิฎริ

มุสลิมจะต้องออกซะกาตุลฟิฎริเพื่อตัวเองและแทนทุกคนที่อยู่ภายใต้การปกครอง เช่น เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้ชาย ผู้หญิง ผู้เป็นอิสระ และทาส ดังมีรายงานฮะดีษของอิบนฺอุมัร แจ้งว่า “ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ใช้ให้จ่ายศ่อดะเกาะตุลฟิฎริแทนเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้เป็นอิสระ และทาส จากผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองของท่าน”   บันทึกโดย : อัดดฺรุกุฎนีย์ และอัลบัยฮะกีย์ ด้วยสายสืบที่หะซัน

6 ซะกาตุลฟิฎริจะต้องจ่ายให้แก่ใครบ้าง ?

ซะกาตุลฟิฎริจะต้องไม่จ่ายให้แก่ผู้ใด นอกจากคนยากจนอนาถา ดังมีรายงานฮะดีษของอิบนฺอับบาส แจ้งว่า “ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้บัญญัติซะกาตุลฟิฏริ เพื่อล้างมลทินของผู้ถือศีลอดจากการพูดที่ไร้สาระและการกล่าวคำหยาบคาย และเพื่อเป็นอาหารแก่คนยากจนอนาถา”   บันทึกโดย : อัดดฺรุกุฎนีย์ และอัลบัยฮะกีย์ ด้วยสายสืบที่หะซัน

7 เวลาจ่ายซะกาตุลฟิฏริ

จะต้องจ่ายซะกาตุลฟิฏริก่อนผู้คนจะออกไปละหมาดอีด และไม่อนุญาตให้จ่ายล่าไปหลังละหมาดอีดหรือก่อนละหมาด เว้นแต่ก่อนหน้าเพียงวันหนึ่งหรือสองวัน ดังปรากฎจากการกระทำของอิบนฺอุมัร (ซึ่งผู้เล่าฮะดีษได้กล่าวว่า) “ถ้าหากการจ่ายซะกาตุลฟิฎริหลังละหมาดอีดแล้วเป็นการจ่ายศ่อดะเกาะฮฺชนิดหนึ่งจากการจ่ายศ่อดะเกาะฮฺทั้งหลาย” ดังมีฮะดีษรายงานโดยอิบนฺอับบาส กล่าวไว้ว่า “ผู้ใดจ่ายซะกาตุลฟิฎริก่อนละหมาดถือว่าเป็นซะกาตที่ถูกรับและผู้ใด จ่ายมันหลังละหมาดถือว่าเป็นศ่อดะเกาะฮฺชนิดหนึ่งจากศ่อดะเกาะฮฺทั้งหลาย”   บันทึกโดย : อัลบุคอรีย์

อุละมาอฺบางท่านมีความเห็นว่าอนุญาตให้จ่ายซะกาตุลฟิฏริตั้งแต่วันแรกของเดือนรอมฎอน โดยอ้างหลักฐานคำกล่าวของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า “ผู้ใดจ่ายซะกาตุลฟิฎริก่อนละหมาดถือว่าเป็นซะกาตที่ถูกรับ”

8 เคล็ดลับของการจ่ายซะกาตุลฟิฎริ

พระผู้ทรงบัญญัติศาสนาผู้ทรงปรีชาญาณได้บัญญัติการจ่าย ซะกาตุลฟิฎริเพื่อเป็นการล้างมลทินของบรรดาผู้ถือศีลอดจากการพูดจาที่ไร้สาระ และการกล่าวคำหยาบคายแก่คนยากจนอนาถา เป็นการพอเพียงแก่พวกเขาในวันสำคัญนั้น ดังที่ฮะดีษของอิบนฺอับบาสได้กล่าวไว้ข้างต้น

 

อย่าลืมจ่ายซะกาตุ้ลฟิฏริก่อนละหมาดอีดนะครับ

--- แก้ไขล่าสุด 20 ส.ค.53 ---


ที่มา : หนังสือ การถือศีลอดตามบัญญัติอิสลาม, อาจารย์อะหมัด สมะดี ร่อหิมะฮุลลอฮฺ