อะลัมนัชเราะหฺละกะศ็อดร็อก 2 : การผ่าหัวใจของท่านนบี

Submitted by dp6admin on Wed, 30/01/2013 - 10:09

เชคริฎอ อะหมัด  สมะดี

การผ่าหัวใจของท่านนบีนั้นเป็นความจริงที่เกิดขึ้นกับท่าน แต่ประเด็นที่อุละมาอมีความเห็นไม่ตรงกันคือจำนวนครั้งของการผ่าหัวใจของท่าน อุละมาอฺบางท่านให้ความเห็นว่ามีหนึ่งครั้ง บางท่านให้ความเห็นว่ามีสองครั้ง บางท่านให้ความเห็นว่ามีสามครั้ง   

ครั้งหนึ่งเกิดขึ้นตอนที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถูกนำไปเลี้ยงกับแม่นมที่เผ่าบนีซะอดฺ แม่นมของท่านคือ ฮะลีมะฮฺ อัซซะอฺดียะฮฺ ที่ได้พาท่านไปเลี้ยงนอกเมืองมักกะฮฺ ซึ่งเป็นชนบท มีทะเลทรายที่โล่งและบริสุทธิ์ ตอนนั้นท่านนบีอายุประมาณ 6-8 ขวบ มีชายสองคนมาหาท่าน และได้พาท่านไปจนหลบจากสายตาผู้คน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เล่าว่า คนสองคนนั้นได้ลงมือผ่าตัดทรวงอกของท่าน และนำออกมาจากหัวใจซึ่งส่วนที่ชั่วร้ายในหัวใจของท่าน เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นตอนที่ท่านยังเป็นเด็กไม่บรรลุศาสนภาวะ  การผ่าตัดหัวใจของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อีกครั้งหนึ่งที่มีสายรายงานที่น้ำหนักมากกว่า คือก่อนที่ท่านนบีจะอิสรออฺมิอฺรอจญฺ  
 
โดยทั้งสองเหตุการณ์นั้นมีเนื้อหาที่เหมือนกันคือ การที่ท่านนบีถูกผ่าหัวใจและได้ถูกนำออกมาซึ่งสิ่งไม่ดีที่อยู่ในหัวใจ อุละมาอฺอะลิสซุนนะฮวัลญะมาอะฮฺส่วนมากให้ความเห็นว่าการผ่าหัวใจของท่านเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรมไม่ใช่นามธรรม แต่มีอุละมาอฺบางท่านได้ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริงแต่เป็นเพียงนามธรรม ซึ่งได้อ้างว่าไม่มีปรากฏในชีวประวัติของท่านนบีว่า ทรวงอกของท่านมีรอยผ่าตัด อย่างไรก็ตามอุละมาอฺท่านนั้นก็ไม่ได้ให้ความเห็นต่อหะดีษที่เกี่ยวกับการผ่าตัดที่ปิดจนไม่มีรอยผ่า  เราไม่ควรเอาวิธีนี้มาคิด เพราะผู้ที่ทำอภินิหารนี้คงไม่ผ่าตัดเหมือนแพทย์ในทุกวันนี้
 
หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ได้ลงว่าปัจจุบันมีคลีนิกญินเปิดบริการเพื่อรับการผ่าตัด โดยจะมีเจ้าหน้าที่คลีนิกประสานงานกับหมอดูบางคน หมอดูก็จะขอเอกสารที่ผู้รับบริการเคยไปตรวจในโรงพยาบาลต่างๆ เช่น ภาพถ่ายเอ๊กซ์เรย์ หลังจากนั้นจึงให้ผู้รับบริการนอนบนเตียงแล้วจะมีญินมาตรวจ (ตามที่ผมได้อ่านในหนังสือพิมพ์) ญินจะวินิจฉัยว่าผู้รับบริการดังกล่าวนั้นมีปัญหาอะไรและจะบอกถึงวิธีการต่างๆที่จะรักษา ซึ่งบางครั้งต้องทำการผ่าตัด ถ้าได้รับความยินยอมจากญาติ ญินก็จะลงมือทำการผ่าตัด เช่น เมื่อพบว่าผู้รับบริการมีเส้นเลือดหัวใจตีบในระดับที่ต้องผ่าตัด หมอญินก็จะผ่าตัด เมื่อทำการผ่าตัดเสร็จก็จะทำการถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์ใหม่แล้วจะพบว่าตนเองนั้นได้หายจากการเป็นโรคนั้นแล้ว  
 
ในเรื่องนี้นั้นสามารถมีความเป็นไปได้ที่ญินจะมาช่วยรักษา แต่การประสานงานระหว่างญินและมนุษย์เป็นอย่างไรอันนี้ไม่ทราบ ชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮได้เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ และอุละมาอฺต่างๆ ก็มีความเห็นที่ขัดแย้งกันในประเด็นนี้ โดยอิบนุตัยมียะฮได้กล่าวถึงเรื่องการขอความช่วยเหลือจากญินว่าสามารถกระทำได้หรือไม่? เช่น การรักษาของญินจากทรงร่างของมนุษย์ บางครั้งก็มีญินมาพูดกับมนุษย์ว่า “ฉันจะช่วยรักษาให้” หรือพูดประมาณว่า “ฉันเป็นคนดีถ้าท่านต้องการความช่วยเหลือให้ฉันไปรักษาใคร ฉันสามารถช่วยท่านได้” การขอความช่วยเหลือจากญินในลักษณะนี้สามารถกระทำได้หรือไม่? ท่านอิมามอิบนิตัยมียะฮได้ให้น้ำหนักว่า ถ้าหากไม่เกิดความเสียหายหรือผิดหลักการศาสนาก็สามารถจะกระทำได้ แต่ทัศนะอุละมาอฺส่วนมากไม่เห็นด้วยกับท่าน เนื่องจากในสมัยท่านของนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมไม่เคยปรากฏว่าท่านนบีและเศาะฮาบะฮเคยได้รับรับความช่วยเหลือจากญินหรือขอความช่วยเหลือจากญิน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่งมงายในการพึ่งพาสิ่งเร้นลับ นอกจากนี้แล้วก็ไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่าญินที่จะขอความช่วยเหลือหรือให้ความช่วยเหลือนั้นเป็นญินมุอฺมิน เพราะเราไม่สามารถอยู่กับมันได้ตลอดเวลา เราให้ญินกล่าว ลาอิลาฮาอิลลัลลอฮ ญินมันก็สามารถกล่าวตามที่บอกได้ โดยที่เราไม่รู้ว่าที่ญินได้กล่าวไปนั้นเกิดจากด้วยความศรัทธาในอัลลอฮ ซุบฮานะฮูวะตาอา จริงหรือไม่   สรุปว่าทัศนะที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ ไม่สามารถกระทำได้
 
หากเรายืนยันว่าเหตุการณ์การผ่าตัดทรวงอกของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นรูปธรรมแสดงว่าสิ่งไม่ดีที่อยู่ในหัวใจนั้นเป็นรูปธรรมที่สามารถเอาออกได้ แต่ถ้าหากเรายืนยันว่ามันเป็นนามธรรมแสดงว่าสิ่งที่มะลาอิกะฮฺเอาออกจากหัวใจท่านนบีนั้นเป็นนามธรรมเช่นกัน   มีเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับสิ่งโสโครกที่เป็นนามธรรมว่ามันจะส่งผลต่อรูปร่างร่างกายสรีระของเราที่เป็นรูปธรรมไหม? เช่น คนที่นินทาใส่ร้าย คนที่มองสิ่งหะรอม คนที่พูดมดเท็จ จะมีผลต่อสรีระร่างกายของเขาอย่างเป็นรูปธรรมไหม? หัวใจของเขาจะมีสิ่งโสโครกที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม อันที่จริงความโสโครกที่เรามองเห็นเป็นนามธรรมบางทีมันอาจไม่ใช่นามธรรม มันอาจมีความโสโครกที่เป็นรูปธรรมจริงๆ หมายถึง คนโกหก คนนินทาใส่ร้ายจะสามารถสะสมได้ซึ่งความสกปรกในหัวใจในร่างกายของเขา สามารถอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ได้คือ คนที่ชอบนินทาคนอื่นคือคนที่หัวใจของเขาเต็มไปด้วยความแค้น จึงต้องระบายความแค้นด้วยการนินทาใส่ร้าย วิทยาศาสตร์บอกว่าความแค้นสามารถทำให้จิตใจมีสภาพไม่ปกติซึ่งจะส่งผลให้การทำงานของต่อมต่างๆในร่างกายผิดปกติ เช่น ต่อมที่ทำงานควบคุมระบบเลือด การหมุนเวียนเลือด สภาพการยืดหยุ่นของหลอดเลือดทำงานผิดปกติเนื่องจากความเครียด จึงส่งผลให้อวัยวะต่างๆทำงานตามปกติไม่ได้ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะสะสมไขมัน น้ำตาลที่มากเกินความจำเป็น อันเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยต่างๆ   
 
ดังกล่าวนั้นแสดงว่าสิ่งโสโครกต่างๆ อาจจะเป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม การที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถูกนำออกไปซึ่งสิ่งต่างๆที่ไม่ดีในหัวอกแล้ว ท่านนบีจึงไม่มีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อผู้อื่นเลยแม้แต่น้อย แม้กระทั่งต่อผู้ที่เป็นศัตรูหรือต่อต้านท่าน เช่น คนปฏิเสธศรัทธาที่เอาเท้ามาเหยียบศีรษะท่าน คนที่เคยประกาศไม่ให้มีข้อผูกพันกับญาติตระกูลของท่าน ทำให้ตระกูลของท่านนบีและอับดุลมุฏฏอลิบต้องหนีไปอาศัยอยู่ที่หุบเขาเป็นเวลาสามปี บางครั้งไม่มีอาหารก็ต้องกินใบไม้แทน ท่านอลี รอฎิยัลลอฮอันฮุ ได้กล่าวว่า “อุจจาระของเราในช่วงเวลานั้นเหมือนมูลสัตว์” เพราะไม่ได้กินอาหารอื่นนอกจากใบไม้เลย
 
หากผู้ที่ถูกกระทำดังกล่าวเป็นนักรบ และต่อมาเขาผู้นั้นได้กลายเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่แล้ว เขาคงจะเผาเมืองทั้งเมืองที่เคยกระทำการโหดร้ายกับตนไว้ แต่ท่านนบีไม่ได้กระทำเช่นนั้น ในทางตรงข้ามเมื่อมุสลิมได้รับชัยชนะเหนือมุชริกีนมักกะฮ ท่านนบีได้เข้าเมืองมักกะฮฺด้วยความนอบน้อมถ่อมตน ก้มศีรษะแสดงความต่ำต้อย เมื่อท่านขึ้นปราศรัยท่านได้ถามพวกกุเรชว่า “พวกเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าจะทำอย่างไรกับพวกเจ้า” พวกกุเรชกล่าวว่า “พวกเราเป็นพี่น้องกัน” ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวตอบว่า “ข้าพเจ้าให้อภัยแก่พวกท่านทั้งหลาย” 
 
การปฏิบัติต่อผู้ที่เคยเป็นศัตรูด้วยดีเช่นนี้ ถ้าเป็นมนุษย์ธรรมดาย่อมทำไม่ได้และไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์โลกว่ามีมนุษย์คนใดว่าเคยทำมาก่อน   คริสต์ชนได้อ้างว่ามีคำสั่งสอนจากท่านนบีอีซา อะลัยฮิสะลาม ว่าถ้าหากถูกตบใบหน้าข้างขวา ก็ให้ยื่นใบหน้าข้างซ้ายให้  ถามว่ามีคริสต์ชนคนไหนในโลกนี้ที่ทำตามคำสั่งนี้ได้ และเมื่อท่านนบีอีซาลงมาก่อนวันสิ้นโลกก็จะไม่ทำเช่นนี้ ท่านนบีอีซาจะให้ทางเลือกแก่พวกคริสต์ที่บิดเบือนสองทาง คือ หากไม่เข้ารับอิสลามก็ให้ประหารชีวิต   นั่นแสดงว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมมีความรู้สึกอัธยาศัยที่ดีต่อมนุษย์ทั้งหลาย 
 
การให้อภัยของท่านนบี เกิดจากการที่อัลลอฮได้ให้หัวใจของท่านมีความโล่งอกโล่งใจ มีความกว้างขวาง มีความใจบุญ มีความรู้สึกที่ดีแก่มนุษยชาติ  นี่เป็นสิ่งที่อัลลอฮได้ทรงให้แก่ท่าน   อัลลอฮจึงถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่า “อะลัมนัชเราะหฺละกะศ็อดร็อก” “เราไม่ได้ผ่าอกเจ้าแล้วเอาส่วนที่ไม่ดีออกไปหรือ”  อุละมาอฺให้ความเห็นว่านี่เป็นนามธรรม อย่าลืมซิว่าเราได้ปรับความรู้สึกของเจ้าให้มีความรู้สึกที่ดี ให้เจ้าสบายใจได้เลย อย่าได้เคร่งเครียด   ดังนั้นความโล่งอกโล่งใจของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงเป็นเรื่องที่ท่านได้รับเป็นพิเศษจากอัลลอฮ ซุบฮานะฮุวะตะอาลา
 
อิมามอิบนุก็อยยิมได้กล่าวไว้ในหนังสือของท่าน ชื่อ ซาดุลมะอาด ฟีฮัดยิค็อยริลอิบาด ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่อัลลอฮให้แก่ท่านนบีเป็นสิ่งเฉพาะแก่ท่านนบีนั้น ทุกคนในประชาชาติอิสลามที่เดินตามรอยเท้าของท่าน ก็จะได้รับส่วนหนึ่งของสิ่งที่อัลลอฮได้ให้แก่ท่านนบีเช่นกัน กล่าวคือ ยิ่งเราปฏิบัติตามที่ท่านนบีได้บอกไว้เราก็จะยิ่งอยู่ในสภาพที่ท่านนบีได้รับ คือสิ่งที่อัลลอฮได้ให้พิเศษแก่ท่าน   ถ้าอัลลอฮให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มีความโล่งอกโล่งใจ ใครที่ทำตามเหมือนท่านนบี ใช้ชีวิตเหมือนท่านนบีก็จะได้รับแบบท่านนบีเช่นกัน 
 
ท่านอิมามอิบนุก็อยยิมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับการทำบุญของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แม้ว่าท่านนบีจะอยู่ในสภาพที่ขัดสนมาก ท่านนบีก็จะให้ อิมามอิบนิก็อยยิมได้กล่าวว่า การให้ของท่านนบีไม่ใช่ให้ในรูปของเงินอย่างเดียว แต่การให้ของท่าน คือการให้ทุกอย่าง การให้จึงเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตท่าน ให้เวลา ให้ความรู้ ให้ กำลังใจ ให้คำพูดวาจาที่ดี ให้ความช่วยเหลือ แม้กระทั่งอัลลอฮซุบฮานะฮุวะตะอาลา ได้สั่งสอนแก่ท่านในเรื่องที่ท่านได้ทำเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ได้ระบุไว้ในอัลกุรอานเพื่อเป็นอุทาหรณ์ว่าอัลลอฮสั่งท่านนบีให้ทำแบบนี้ประชาชาติของท่านก็ต้องทำเหมือนกับท่านนบีเช่นกัน  แสดงว่าสิ่งที่ท่านนบีทำเราก็ต้องทำ และสิ่งที่อัลลอฮได้ให้แก่นบี สิ่งดีดีเหล่านี้อัลลอฮก็จะให้เราเช่นกัน ในซูเราะอัลอิสรออ ในอายะที่ 26-27 ว่า
 
وَآتِ ذَا الْقُرْبَىٰ حَقَّهُ وَالْمِسْكِينَ وَابْنَ السَّبِيلِ وَلَا تُبَذِّرْ تَبْذِيرًا ( 26 ) 
และจงให้สิทธิแก่ญาติที่ใกล้ชิด และผู้ขัดสน และผู้เดินทาง และเจ้าอย่าสุรุ่ยสุร่ายอย่างฟุ่มเฟือยเลย 
إِنَّ الْمُبَذِّرِينَ كَانُوا إِخْوَانَ الشَّيَاطِينِ ۖ وَكَانَ الشَّيْطَانُ لِرَبِّهِ كَفُورًا ( 27 ) 
แท้จริงบรรดาผู้สุรุ่ยสุร่ายนั้นเป็นพวกพ้องของเหล่าชัยฏอน และชัยฏอนนั้นช่างปฏิเสธต่ออัลลอฮฺเสียนี่กระไร
 
ถ้ามีคนมาขอทานจากเรา แต่เราไม่มีทรัพย์สินหรือสิ่งใดๆที่จะให้เขา โดยที่เรามีความหวังต่อความเมตตาของอัลลอฮ เราจงอย่าปฏิเสธการให้แก่เขา จงให้ด้วยคำพูดที่ดีงาม   เมื่อมีคนยากจนขัดสนมาขอทานที่บ้านท่านนบี ท่านก็จะตอบกลับไปว่า “ตอนนี้ยังไม่มี ซะกาตที่เขาส่งมายังไม่มี ถ้ามีแล้วข้าพเจ้าจะให้” จงอย่าปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ให้ให้ความหวังแก่เขาด้วย เช่น “มะอัฟด้วย ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี ถ้ามีเมื่อไหร่แล้วจะให้” ชีวิตของเราถ้าเป็นไปเช่นนี้เราก็จะได้รับเหมือนกับที่ท่านนบีได้รับ คือ “อะลัมนัชเราะหฺละกะศ็อดร็อก”
 
“อะลัมนัชเราะหฺละกะศ็อดร็อก” มีพื้นที่ที่ไพศาสเพียงพอที่จะให้ทุกคนที่มีปัญหามาอยู่ในหัวใจของท่านนบีได้ ท่านอิมามอิบนุก็อยยิม กล่าวว่า เพราะฉะนั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงใช้วิธีการให้เพราะการให้ของท่านทำให้ท่านโล่งอกโล่งใจ ทำให้ในหัวใจของท่านมีพื้นที่มากมายสำหรับรับปัญหาของทุกคน 
 

ผู้เรียบเรียง อุมมุอุกกาชะฮฺ