สาส์นจากน้ำ

Submitted by dp6admin on Tue, 27/12/2011 - 01:12

 1. ทั้งๆที่คนไทยมีประสบการณ์กับน้ำในเชิงลบ เช่น สึนามิ ดินถล่ม น้ำป่า และอื่นๆ แต่ก็ยังมองว่าน้ำเป็นมิตรเสมือนเพื่อนตาย  ทำให้เกิดความสำนึกที่ไม่ให้มองน้ำเป็นภยันตราย  งานเทศกาลต่างๆ ทั้งสงกรานต์และลอยกระทงก็ล้วนเกี่ยวกับน้ำ ประเพณีเช่นนี้ทำให้คนไทยประมาทต่อสถานการณ์น้ำท่วมในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับผู้นำประเทศจนถึงชาวบ้านทั่วไป ซึ่งเห็นได้จากการประสบภัยน้ำท่วมช่วงแรกและความเพิกเฉยของรัฐบาลในการเตรียมแผนรับมือวิกฤติน้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่ในรอบเจ็ดสิบปี แต่เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้จะต้องสอนให้มุสลิมระมัดระวังและเตรียมตัวต่อทุกสถานการณ์ ทั้งยังต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่แก่สังคมให้ประเมินทุกสถานการณ์ตามความเป็นจริงและไม่ประมาท 

2. สถานการณ์น้ำท่วมของปี 2554 นี้ เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง ซึ่งภัยพิบัตินี้ต้องมีนัยยะในการบริหารกฎธรรมชาติต่างๆ ที่ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาวางไว้ เมื่อพิจารณาแล้วดูเหมือนว่าเมืองกรุงมีอะไรมากมายที่ต้องชำระให้สะอาด และการที่มีน้ำท่วมถึงถนนสัญจรหลักๆ ห้างสรรพสินค้า นิคมอุตสาหกรรม และสถานบันเทิง อันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าพวกชาวกรุงจงทำความสะอาดบ้านเมืองของพวกเจ้าซะ  ชำระมลทิน ล้างบาปและขจัดความโสโครก หากน้ำหมดลงแล้วชาวกรุงยังไม่ได้บทเรียนก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร

 

3. วิกฤติน้ำท่วมประเทศไทยมิได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชนอย่างที่คนส่วนมากเข้าใจกัน ผู้เสียชีวิตประมาณห้าร้อยกว่าคน เท่ากับจำนวนผู้เสียชีวิตในการฉลองเทศกาลประจำปีหนึ่งครั้ง ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นผู้อพยพอยู่บ้านไม่ได้หรือผู้ที่ต้องสู้อยู่กับบ้านที่น้ำท่วม ก็ไม่ถึงขั้นที่อดตายหรือประสบความยากลำบากในการหาอาหารกิน ถึงแม้ว่าจะลำบากในวิถีชีวิตบางประการ  ผมได้เห็นบ้านที่น้ำท่วมแต่ก็ยังเปิดทีวีดูละคร กินขนม และสนุกสนานราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในช่วงเทศกาลลอยกระทงที่ผ่านพ้นไปเมื่อเร็วๆนี้ ผมอพยพไปอยู่ต่างจังหวัดแต่ต้องกลับมาทำธุระที่กรุงเทพและไปดูบ้าน เมื่อเดินทางมาถึงฝั่งพระนครบริเวณสนามหลวงก็พบว่ามีการฉลองลอยกระทง จุดพลุ ขายของ เดินเที่ยว ถ่ายรูป แต่เมื่อข้ามไปฝั่งธนบุรีก็มีแต่น้ำท่วม ความมืด ความหวาดกลัว จึงพูดกับพรรคพวกว่า เหมือนอยู่กันคนละประเทศ แต่ปรากฏว่าคนที่ไปฉลองก็มีผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้วย กล่าวคือมันไม่ใช่ความเดือดร้อนที่เกิดจากวิกฤติน้ำท่วมเช่นที่เกิดในปากีสถาน จีน และบังกลาเทศ เป็นต้น ในประเทศไทยยังมีศักยภาพและทุนทรัพย์ที่จะนำมาใช้ในการฟื้นฟูสภาพบ้านเมือง ซึ่งอาจไม่ต้องพึ่งพาใครเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องขอบคุณอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ได้โปรดเมตตาพวกเรา   จึงประสบความเดือดร้อนน้อยกว่าผู้อื่นมากมาย ขอต่อพระองค์ให้พวกเราพ้นวิกฤตินี้ด้วยความศรัทธาที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น

 

4. น้ำจิตน้ำใจของผู้บริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้เห็นได้ชัดว่ามันสำคัญกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นวัตถุ บางคนหมดเนื้อหมดตัวแต่ยังมีน้ำใจของพี่น้องที่จะนำมาซึ่งกำลังใจและความอบอุ่นใจ กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติได้รับบริจาคเงินจากต่างประเทศคือ สมาคมอัลอิศลาหฺแห่งประเทศคูเวต ในช่วงที่จังหวัดอยุธยากำลังถูกน้ำท่วมหนัก ผมได้พบหัวหน้าแผนกเอเชียและแอฟริกาของสมาคมนี้ คือเชคฟะฮดฺ อัชชามรียฺ ได้รับทราบถึงความลำบากที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น ท่านจึงอนุมัติเงินหกหมื่นดอลลาร์ (ประมาณหนึ่งล้านแปดแสนบาท)อย่างทันที ซึ่งได้รับความร่วมมือจากท่านวิศวกรอิซซัท อัสสลามุนียฺ ตัวแทนของสมาคมอัลอิศลาหฺในประเทศไทย สำรองเงินด่วนเพื่อใช้ในวิกฤติน้ำท่วม และพี่น้องชาวไทยที่เป็นมุสลิมและต่างศาสนิกได้ร่วมบริจาคประมาณหกแสนบาท อันเป็นกำลังสำคัญและทุนทรัพย์ที่ล้ำค่าสำหรับกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ โดยทางกลุ่มฯ ได้นำมาใช้ซื้อสิ่งของจำเป็นไปมอบให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมและเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งหน่วยกู้ภัยและบรรเทาสาธารณภัยของกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ ทางกลุ่มฯ สามารถจ้างรถหกล้อเพื่อนำสิ่งของเข้าไปมอบแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่น้ำท่วมสูงและปรับรถกระบะของกลุ่มฯ ให้สูงขึ้น พร้อมทั้งจัดซื้อเรือเพื่อใช้เข้าไปกู้ภัยและช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมระดับสูง พี่น้องที่ไม่มีทุนทรัพย์จะบริจาคแต่ก็อาสาบริจาคเวลาและกำลังกายมาช่วยเหลือกลุ่มฯ ในการจัดเตรียมของ แจกของ ทำอาหาร และกู้ภัย  ผมได้ออกไปกับทีมงานของกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติครั้งหนึ่งและได้ลิ้มรสชาติแห่งความสามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คาดว่าถ้าวิกฤตินี้สอนให้เรามีความเป็นปึกแผ่น ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ก็จะเป็นบทเรียนที่ล้ำค่าสำหรับสังคมของเรา 

 

5. หลายคนที่ประสบภัยน้ำท่วมต้องพบปัญหาในการประกอบศาสนกิจ เพราะในยามปกติเราอาบน้ำละหมาดที่บ้านแล้วเดินไปยังมัสญิด ไม่เคยคิดว่าจะมีความลำบากเกิดขึ้นจนทำให้เราเสียโอกาสประกอบศาสนกิจอย่างสะดวกสบายเช่นนี้ จึงไม่ได้ศึกษาข้ออนุโลมในการประกอบศาสนกิจที่ศาสนากำหนดไว้ อาทิเช่น หากเดินทางไปยังมัสญิดลำบากก็อนุโลมให้ละหมาดที่บ้าน แต่ถ้าไปมัสญิดแล้วก็อนุโลมให้รวมละหมาดระหว่างดุฮฺริกับอัศริ หรือมัฆริบกับอิชาอฺโดยไม่ต้องย่อ แม้กระทั่งข้ออนุโลมให้ตะยัมมุมหากน้ำท่วมนั้นมีกลิ่นเหม็นหรือเปลี่ยนสีและน้ำใช้มีเพียงพอเฉพาะให้บริโภคเท่านั้น  หรือข้ออนุโลมในการงดละหมาดญุมุอะฮฺที่มัสญิดถ้าไม่สามารถละหมาดในมัสญิดได้ หรือสำหรับผู้คนถ้าที่ไม่สามารถเดินไปยังมัสญิดหรือแม้กระทั่งกรณีที่มีเรือพายไปมัสญิดได้แต่มีความเสี่ยงต่อชีวิต อาทิเช่น มีจระเข้หรือกลัวไฟดูด เป็นต้น แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ความรู้เหล่านี้จึงถูกเผยแพร่ทางสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง ทำให้ชาวบ้านรับรู้ความง่ายดายของศาสนาอิสลามอย่างเป็นรูปธรรม จึงถือได้ว่าเป็นความรู้ที่มาจากน้ำเช่นเดียวกัน

 

6. ผมได้มีโอกาสกลับไปดูบ้านที่บางกอกน้อยซึ่งถูกน้ำท่วมจนล้อมชุมชนทั้งหมด ผมต้องลุยน้ำจากเชิงสะพานปิ่นเกล้าเข้าไปถึงริมคลองบางกอกน้อย ขณะที่ลุยน้ำอยู่ได้เห็นร้านอาหารปากซอยจอดรถเข็นปรุงอาหารบนฟุตบาธโดยตั้งโต๊ะอาหารพร้อมเครื่องปรุงอยู่ในน้ำ ซึ่งขณะนั้นสูงประมาณหนึ่งเมตร แต่ร้านอาหารริมถนนนี้ไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง นั่นหมายรวมว่าลูกค้าจะต้องยืนรับประทานอาหาร เป็นเรื่องแปลกที่ร้านอาหารนี้ตั้งอยู่ฝั่งเชิงสะพานปิ่นเกล้าซึ่งมีศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยของกระทรวงมหาดไทยซึ่งแจกอาหารเป็นระยะๆ แต่แน่นอนว่าอาหารกล่องคงสู้อาหารสดๆร้อนๆไม่ได้ ถึงแม้ว่าอาหารกล่องจะแจกฟรีก็ตาม นึกในใจว่าคนไทยให้ความสำคัญมากในเรื่องอาหาร เพราะในภาวะวิกฤติแบบนี้ที่เกิดขึ้นทั่วโลกเขากินอะไรก็ได้ แต่ประเทศไทยจะต้องกินก๋วยเตี๋ยวพร้อมเครื่องปรุงครบสมบูรณ์ ซึ่งเป็นบรรยากาศอีกมุมหนึ่งให้เห็นการต่อสู้ของประชาชนเมื่อประสบวิกฤติ ในยามปกติถ้าฝนตกหนักและน้ำท่วมคงไม่ถึงสิบเซนติเมตรก็เก็บของกลับบ้านบ่นทั้งวันแล้ว ไฉนเลยเมื่อน้ำท่วมหนึ่งเมตรต่อสู้กันได้ ก็เพราะสถานการณ์ยามวิกฤติที่ก่อให้เกิดอารมณ์และความตระหนักอีกอย่างหนึ่งซึ่งจะไม่มีในยามสุขสบาย ถ้าจะหาครูมาสอนบทเรียนแบบนี้คงต้องใช้เวลานานกว่าจะเข้าใจ แต่น้ำมาสอนพวกเราสองสัปดาห์ได้ผลทันที

 

7. ก่อนน้ำท่วมสมาชิกครอบครัวในประเทศไทยถูกแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน ลูกๆ ถ้าไม่ไปโรงเรียนก็ไปเล่นเกมในร้านอินเตอร์เน็ต คุณพ่อคุณแม่ต่างก็มีภาระส่วนตัวที่จะต้องไปโน่นไปนี่ หรือมิฉะนั้นถ้าอยู่ในบ้านต่างคนต่างก็ดูทีวี เล่นอินเตอร์เน็ต คุยโทรศัพท์ ไม่มีโอกาสพบปะกันและสร้างกิจกรรมอย่างเป็นกิจจะลักษณะ แต่เมื่อเกิดวิกฤติน้ำท่วมสมาชิกครอบครัวหันมามองหน้ากันและส่งสัญญาณซึ่งกันและกันว่าถ้าเราไม่อยู่ด้วยกันและช่วยเหลือกันก็อยู่ไม่รอด แม้แต่กับเพื่อนบ้านวิกฤติน้ำท่วมก็สอนให้เราค้นพบความสำคัญของการติดต่อเชื่อมโยงเมื่อต้องปรากฏตัวในศูนย์อพยพเดียวกัน แม้ว่าจะมีความขัดแย้งกันเล็กน้อยแต่สุดท้ายน้ำที่ล้อมศูนย์อพยพก็คอยเตือนอยู่ตลอดถึงความสำคัญของความสามัคคี

 

8. หลังเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้จะมีโครงการฟื้นฟูบ้านเมืองครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งรัฐบาลและประชาชนจะถูกตรวจสอบให้ระมัดระวัง 2 ประเด็นที่สำคัญยิ่ง เรื่องแรกคือการคอรัปชั่นและเรื่องที่สองคือความฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย เพราะไม่มีใครจะยอมให้ใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างไม่มีเหตุไม่มีผล และเงินก็จะถูกนำไปใช้กับความบันเทิงอย่างที่เคยเห็นก่อนวิกฤติน้ำท่วม จะไม่ปรากฏอย่างแน่นอนในช่วงหลังวิกฤติน้ำท่วม เพราะมันเป็นการละเมิดเหยียดหยามความทุกข์ความเจ็บปวดของชาวบ้านที่หาทางออกในการฟื้นฟูที่อยู่อาศัยและเครื่องมือทำมาหากินของเขา นี่เป็นบทเรียนสำคัญที่ผู้ปกครองต้องนำมาใช้อย่างเคร่งครัด

 

9. เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกวิจารณ์มากมายจากภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายวิชาการ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายที่ลงไปกู้ภัยช่วยเหลือประชาชน ผมจะไม่พูดถึงข้อวิจารณ์ต่อรัฐบาลแต่อยากจะให้ประชาชนมีความตื่นตัวอย่างสม่ำเสมอ เพราะการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนเฉพาะเวลาเกิดวิกฤติหรือภัยพิบัติ แต่ประชาชนจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ภาครัฐในทุกกรณียกิจและทุกเวลา วิกฤติน้ำท่วมสอนพวกเราให้เข้าใจว่าการตรวจสอบรัฐบาลยามสุขสบาย จะให้มีผลแน่นอนในการบริหารของภาครัฐยามวิกฤติ

 

10. มุสลิมทุกคนเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เกิดด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ฉะนั้นทุกบทเรียนเช่นที่เอ่ยมาหรือบทเรียนอื่นๆ ย่อมเป็นสัญญาณที่อัลลอฮฺส่งมายังพวกเราทั้งหลายให้พินิจพิจารณาและไตร่ตรองเพื่อเสริมสร้างความเข้มข้นของอีมานและการยืนหยัดบนหลักการ ครั้งนี้เราได้บทเรียนจากน้ำ ครั้งหน้าเราจะได้บทเรียนจากอะไรก็ได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นกองทัพของอัลลอฮฺ พระองค์จะทรงใช้ในสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์และทรงเห็นว่ามีความเหมาะสมสำหรับปวงบ่าวของพระองค์ หน้าที่ของเราเมื่อประสบภัยหรือวิกฤติให้กล่าว “อินนาลิลลาฮิ วะอินนาอิลัยฮิรอญิอูน” เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้จะต้องสอนว่าเราจำต้องกลับไปยังอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และการกลับของมนุษยชาติยังพระผู้เป็นเจ้าของเขาคือคำสั่งสอนที่ใหญ่หลวงที่สุดสำหรับชีวิต

 

ริฎอ อะหมัด สมะดี

ศูนย์อพยพบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

16 พฤศจิกายน 2554