มาตรฐานการตรวจสอบข้อมูลที่ข้าพเจ้าใช้ในการรับข่าวการเห็นเดือน(หิล้าล)จากต่างประเทศ

Submitted by dp6admin on Fri, 03/04/2009 - 00:18

1. ข้าพเจ้าถือว่าข้อมูลเกี่ยวกับเข้าเดือนใหม่จากต่างประเทศที่ได้แจ้งแก่ประชาชนนั้น เป็นข้อมูลข่าวสารโดยทั่วไปที่ประชาชนอาจจะรับทราบได้จากแหล่งข่าวต่างๆ โดยมิได้ละเมิดอำนาจของจุฬาราชมนตรีหรือองค์กรมุสลิมต่างๆ ซึ่งทางกฎหมายได้ระบุอย่างชัดเจนว่าองค์กรดังกล่าวมีอำนาจประกาศการเห็นเดือนภายในประเทศ แต่สำหรับการปฏิบัติศาสนกิจนั้นจะเป็นในรูปแบบใดก็เป็นสิทธิอิสระของแต่ละบุคคล ดังที่ระบุอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญมาตรา 38 คือ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งมาตราดังกล่าวข้าพเจ้าหยิบยกมา มิใช่อื่นใด เว้นแต่เพื่อตอบโต้ผู้ที่ต้องการอาศัยความขัดแย้งเรื่องนี้ในการหาเสียงทางการเมืองโดยใช้กฎหมายบ้านเมืองข่มขู่พี่น้องมุสลิมมิให้ปฏิบัติศาสนกิจตามความเชื่อดังที่ข้าพเจ้าได้ระบุไว้ข้างต้นของเอกสารฉบับนี้ ทั้งๆที่ในหลักการศาสนาไม่มีใครสามารถบังคับให้เราปฏิบัติตามความเชื่อของผู้อื่น เว้นแต่ต้องมีความสมัครใจอย่างเต็มที่

2. ต้องถือว่าการติดตามข่าวดูเดือนจากต่างประเทศขึ้นอยู่กับความสามารถของเรา ถ้าเร าปฏิบัติอย่างเต็มความสามารถแล้วก็ไม่ถือว่าบกพร่องแต่ประการใดทั้งสิ้น แต่หากมีความสามารถหรือศักยภาพด้านหนึ่งด้านใด แต่เราไม่ใช้หรือไม่ปฏิบัติเท่าที่กระทำได้ ก็ถือว่าเป็นข้อบกพร่องที่อาจเป็นความผิดที่จะส่งผลกระทบไม่ดีต่อสังคมด้วย

3. ข้อมูลจากต่างประเทศมีทั้งทางโทรทัศน์ภายในประเทศและต่างประเทศผ่านดาวเทียม วิทยุ อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ หรืออื่นๆ ซึ่งทุกวิธีดังกล่าว ผู้ที่มีความสามารถใช้ข้อมูลจากทุกแหล่งก็จะใช้อย่างแน่นอน แต่ในทางปฏิบัติอาจเป็นการเปลืองเวลาที่จะใช้ทุกสื่อเพื่อตรวจสอบข้อมูลที่มีการประกาศทั่วโลกจนไม่มีโอกาสสงสัยได้แล้ว เช่นนี้เราจะถือหลักศาสนาโดยเฉพาะหลักวิชาหะดีษ ที่ให้การรับรองต่อข้อมูลข่าวสารที่มีกระแสเป็นมุสตะฟีฎหรือมุตะวาติร คือกระแสข่าวที่แจ้งมาหลายกระแสโดยไม่มีใครสามารถปฏิเสธหรือตั้งข้อสงสัย แต่ถ้าหากเป็นข้อมูลที่มีกระแสน้อยเราก็จำเป็นต้องตรวจสอบเองหากมีความสามารถ เช่น ข้อมูลที่ข้าพเจ้าได้รับทราบจากประเทศไนจีเรียว่า มีการเห็นหิล้าลรอมฎอนหรือเชาวาล จึงจำเป็นต้องสอบถามเพื่อนที่อยู่ที่นั่น เพื่อรับรองข่าวสารการเห็นเดือนที่มีองค์กรรับรองการเห็นเดือนนั้น ซึ่งข้าพเจ้าก็เคยแจ้งข่าวสารประเภทนี้ตามกระบวนการตรวจสอบดังกล่าว และปรากฏว่าข้อมูลที่ข้าพเจ้าได้รับทราบเป็นความจริงที่ถูกแจ้งทางสื่อต่างๆ ภายหลัง

4. ข้อมูลการเห็นเดือนที่มาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศมุสลิมหรือไม่ก็ตาม จำเป็นต้องมีองค์กรหรือผู้หนึ่งผู้ใดที่เรารู้จักหรือเป็นที่น่าเชื่อถือรับรองการเห็นเดือนนั้น หากเป็นข่าวที่มีกระแสน้อยและไม่มีการรับรองจากองค์มุสลิมหรือบุคคลที่เรารู้จักดีก็ไม่ควรนำมาเสนอต่อประชาชน

5. การตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการดูเดือนนั้น เรามีหน้าที่ตรวจสอบในกรณีเดียวคือ เมื่อผู้เห็นเดือนมาแจ้งกับตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลก็ตาม แต่ถ้าหากว่าการเห็นเดือนนั้นเป็นข่าวที่แน่นอนโดยมีองค์กรมุสลิมรับรองแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบการเห็นเดือนอีก แต่ควรจะตรวจสอบข่าวสารให้มีความมั่นใจตามที่ระบุข้างต้น

6. สำหรับข้อมูลจากประเทศที่มีความวุ่นวายทางด้านการเมืองการปกครอง ซึ่งอาจจะสร้างความสับสนแก่พี่น้องบางท่าน เราจำเป็นต้องตระหนักว่า มุสลิมนั้นย่อมจะปฏิบัติศาสนกิจอย่างปกติ เพราะเป็นภารกิจที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติอยู่แล้วแม้กระทั่งในสภาวะที่มีสงคราม ดังนั้น ประเด็นที่เราต้องให้ความสำคัญคือ ข้อมูลที่มาจากประเทศนั้นๆ เป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือไม่ แต่ถ้าหากเราใช้สถานการณ์ในประเทศนั้นมาเป็นปัจจัยสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร ก็ย่อมจะไม่มีข่าวใดๆที่น่าเชื่อถือเลยในโลกใบนี้ เพราะมีหลายประเทศที่กำลังประสบปัญหาภายใน ทำให้มีความวุ่นวาย อาทิเช่น ประเทศปาเลสไตน์ซึ่งอยู่ในสภาวะสงครามมากว่า 40 ปีแล้ว แต่ประชาชนก็ยังคงดำรงการปฏิบัติศาสนกิจอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งในประเทศไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มุสลิมก็คงไม่พลาดในการรักษาหลักการเข้าบวชออกบวชโดยยึดการเห็นเดือนเสี้ยวเป็นบรรทัดฐาน แม้ว่าเห็นภายในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม

7. ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าไม่เคยใช้ข้อมูลทางดาราศาสตร์ในการตรวจสอบการเห็นเดือนภายใน ประเทศหรือต่างประเทศ อันเป็นจุดยืนที่ข้าพเจ้าได้ชี้แจงไว้แล้วในหลักการศาสนาในการเข้าเดือนใหม่

8. สำหรับการดูเดือนในประเทศไทย ข้าพเจ้าเห็นว่ามีบุคคลและองค์กรที่ปฏิบัติหน้าที่นี้อยู่แล้ว จึงถือว่าตัวข้าพเจ้าพ้นจากหน้าที่การดูเดือนภายในประเทศ

9. สำหรับการตรวจสอบข้อมูลเห็นเดือนจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของผู้เห็นเดือนหรือวิธีการเห็นเดือนนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นหน้าที่ขององค์กรมุสลิมที่รับผิดชอบในการประกาศเห็นเดือน โดยต้องมีการประกาศว่าเห็นหิล้าลตามบรรทัดฐานหลักการที่ระบุข้างต้นในเอกสารฉบับนี้ แต่มิใช่หน้าที่ขององค์กรมุสลิมทุกองค์กรที่จะต้องตรวจสอบข้อมูลของผู้เห็นเดือนหรือการเห็นเดือนในประเทศหนึ่งประเทศใด ตราบใดที่การเห็นเดือนนั้นมิได้อยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรนั้นๆ เพราะหากทุกองค์กรต้องตรวจสอบข้อมูลการเห็นเดือนเอง พี่น้องมุสลิมในบ้านเราก็คงไม่มีโอกาสที่จะถือศีลอดพร้อมเพรียงกันอย่างแน่นอน เพราะต่างคนต่างตรวจสอบดังที่ปรากฏในสังคมของเรา แต่หากเป็นข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบจากองค์กรต่างประเทศก็ถือว่าพอเพียงแล้วตามหลักศาสนา และตามหลักเกณฑ์ในการแจ้งข่าวสารที่มีความน่าเชื่อถือโดยทั่วไป

10. ตามหลักศาสนานั้นทัศนะของบรรดาอุละมาอฺส่วนมากเห็นว่าการเข้าบวชจำเป็นต้องมีพยานเห็นเดือนอย่างน้อย 1 คน โดยยึดการปฏิบัติของท่านนบี   เป็นบรรทัดฐาน ซึ่งข่าวสารที่ข้าพเจ้าเคยแจ้งแก่ประชาชนจะมีผู้เป็นพยานไม่ต่ำกว่า 2 คน จึงถือว่ามีความพอเพียงสำหรับความน่าเชื่อถือ

11. สำหรับมาตรฐานแห่งอดาละฮฺของผู้เห็นเดือน คือจริยธรรมของเขา ก็มีความขัดแย้งระหว่างอุละมาอฺในหลายระดับ แต่พื้นฐานอดาละฮฺ (จริยธรรม)ของผู้เห็นเดือนนั้นคือ ต้องรู้ดีว่าเป็นมุสลิมอย่างชัดเจน ส่วนข้อมูลที่มากกว่านี้ก็อยู่ในกรอบความรับผิดชอบขององค์กรที่ตรวจสอบการดูเดือน ฉะนั้นจึงไม่สมควรที่จะนำประเด็นนี้มาเป็นข้ออ้างอิงเพื่อปฏิเสธการเห็นเดือนจากต่างประเทศ เพราะหากเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องตรวจสอบอดาละฮฺ(จริยธรรม)ของผู้เห็นเดือนนั้น ก็จำเป็นที่ต้องตรวจสอบทุกกรณีที่มีการดูเดือน ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม

 

ทั้งนี้ขอยืนยันว่าอดาละฮฺ(จริยธรรม)ที่เป็นคุณลักษณะของผู้เห็นเดือนที่น่าเชื่อถือนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับอดาละฮฺ(จริยธรรม)ของการรายงานหะดีษ ซึ่งมีมาตรฐานที่สูงกว่า เพราะนักรายงานหะดีษ(รุวาตุ้ลหะดีษ)ต้องมีคุณลักษณะด้านจริยธรรมและศีลธรรมอย่างบริบูรณ์ เพราะเป็นผู้สืบทอดศาสนบัญญัติอันสูงส่ง จึงต้องมีประวัติที่ดีงามและเคร่งครัด   หาใช่ผู้ดูเดือนต้องเหมือนนักรายงานหะดีษไม่ เพราะการดูเดือนนั้นเป็นเรื่องที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งการดูเดือนต่างๆ แต่ถ้าหากว่าจะยึดมาตรฐานอดาละฮฺของนักรายงานหะดีษให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับผู้เห็นเดือน ก็จะหมายรวมว่าผู้เห็นเดือนต้องเป็นระดับอุละมาอฺเช่นนักรายงานหะดีษเท่านั้น ถ้าหากผู้เห็นเดือนเป็นสามัญชนหรือคนธรรมดาการเห็นเดือนของเขาย่อมเป็นโมฆะ จึงทำให้เรื่องการดูเดือนถูกจำกัดอยู่ในระดับผู้รู้ที่มีอดาละฮฺเหมือนนักรายงานหะดีษ อันเป็นสภาพที่จะทำให้การเข้าเดือนใหม่เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับประชาชนทั่วไป และเราทราบกันดีว่าการติดตามจันทร์เสี้ยวเดือนใหม่นั้นเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺ หมายถึงเป็นหน้าที่โดยภาพรวม ทุกคนในสังคมที่มีความสามารถจึงต้องมีความสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่ในด้านนี้

สุดท้ายนี้ ขอให้พี่น้องนำข้อมูลที่อ่านในเอกสารฉบับนี้และเข้าใจหลักการศาสนาเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยคำนึงถึงหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัฮิวะซัลลัม  ได้กล่าวไว้ว่า “แท้จริงศาสนานี้เป็นเรื่องง่าย” ดังนั้นใครที่จะอุตริสิ่งที่ทำให้ศาสนาเป็นเรื่องยาก หรือจะนำเสนอข้อมูลที่ทำให้หลักการศาสนาได้ปฏิบัติอย่างลำบากนั้น ก็คงมีความผิดอย่างมหันต์ในการที่จะให้ประชาชนหันห่างหรือหลีกหนีจากหลักการศาสนากันเที่ยงธรรม และจะทำให้ศาสนานั้นเป็นสิ่งประหลาดที่ไม่ได้รับความนิยม อันเป็นผลร้ายต่อหลักการศาสนาอันบริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งส่วนตัวหรือความรู้สึกส่วนตัว ดังนั้น ขอให้หลักการศาสนาอยู่ในแนวหน้า และขอให้เราเป็นผู้น้อมตามหลักการศาสนา

 


ที่มา : หนังสือ "หลักการศาสนาในการเข้าเดือนใหม่(จันทรคติ)", เชคริฎอ อะหมัด สมะดี, 14 เชาวาล 1424 (7 ธันวาคม 2546)