ดินแดนแห่งการอภัยโทษ

Submitted by dp6admin on Sat, 07/11/2009 - 21:51

มีหะดีษบทหนึ่งมีประเด็นที่น่าวิเคราะห์เกี่ยวกับดินแดนแห่งความดี ดินแดนแห่งการอภัยโทษ ว่าบรรดาผู้ศรัทธามีท่าทีหรือมีความรู้สึกอย่างไร ในการบันทึกของท่านอิหม่ามบุคอรียฺและมุสลิม ท่านอบูสะอี๊ด สะอฺด อิบนิมาลิก อิบนิสินาน อัลคุดรียฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า

 إن عبدا قتل تسعة وتسعين نفسا ، ثم عرضت له التوبة ، فسأل عن أعلم أهل الأرض ؟ فدل على رجل ( وفي رواية : راهب ) ، فأتاه ، فقال : إني قتلت تسعة وتسعين نفسا ، فهل لي من توبة ؟ قال : بعد قتل تسعة وتسعين نفسا ؟! قال : فانتضى سيفه فقتله به ، فأكمل به مائة ، ثم عرضت له التوبة ، فسأل عن أعلم أهل الأرض ؟ فدل على رجل ( عالم ) ، فأتاه فقال : إني قتلت مائة نفس فهل لي من توبة ؟ فقال : ومن يحول بينك وبين التوبة ؟! اخرج من القرية الخبيثة التي أنت فيها إلى القرية الصالحة قرية كذا وكذا ، ( فإن بها أناسا يعبدون الله ) ، فاعبد ربك ( معهم ) فيها ، ( ولا ترجع إلى أرضك فإنها أرض سوء …

ท่านนบี   ได้กล่าวกับเศาะฮาบะฮฺว่า ในหมู่ชนยุคก่อนหน้าพวกท่าน มีชายคนหนึ่งได้ฆ่า 99 ชีวิต 

ซึ่งฆาตกรรมนั้นในทุกศาสนาถือว่าเป็นความผิดอย่างมหันต์ และในศาสนาอิสลามถือว่าเป็นบาปใหญ่มาก จนกระทั่งอุละมาอฺมีทัศนะว่าเป็นบาปใหญ่ที่การอภัยโทษไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัลลอฮฺเท่านั้น แต่เป็นสิทธิของผู้ถูกฆ่าด้วย เพราะเป็นสิทธิของมนุษย์  ท่านนบี กล่าวว่า ในวันกิยามะฮฺคนที่ถูกฆ่าจะถูกฟื้นคืนชีพจากกุโบร์ของเขาด้วยสภาพที่ตัวเองถูกฆ่า ซึ่งในสำนวนหะดีษบอกว่า จะถูกฟื้นคืนชีพโดยถือศีรษะของตัวเอง เพราะถูกฆาตกรฆ่าตัดคอ และไปยังบัลลังก์ของอัลลอฮฺโดยจูงฆาตกรไปด้วย  ไปยืนต่อหน้าอัลลอฮฺและพูดว่า “โอ้อัลลอฮฺ ได้โปรดถามคนๆ นี้ว่า ทำไมเขาถึงฆ่าฉัน” คนที่ไปฆ่าคนอื่นก็จะมีคำตอบในโลกนี้ที่สามารถไปอ้างกับอัลลอฮฺได้ หากต้องประหารเขาด้วยเหตุผลทางด้านศาสนาหรือความยุติธรรม ก็จะเป็นคำตอบให้ข้อตัดสินในวันกิยามะฮฺผ่านด้วยดี  เช่น เขามาละเมิดชีวิตของฉัน ฉันก็ปกป้องสิทธิ หรือเขาเองเป็นฆาตกรและมีคำสั่งให้ประหารชีวิตเขา  แต่ถ้าละเมิดชีวิตคนบริสุทธิ์ คำตอบนั้นจะลำบากมากในวันกิยามะฮฺ 

ชี้ให้เห็นว่าฆาตกรรมเป็นบาปใหญ่ในศาสนาอิสลาม ถึงขั้นที่อับดุลลอฮฺ อิบนุ อับบาส เคยบอกว่า ฆาตกรรมเป็นบาปชนิดหนึ่งที่เตาบัตไม่ได้ หมายถึงเตาบัตอย่างไรก็ต้องมีการลงโทษ แต่อุละมาอฺได้กล่าวว่าภายหลัง ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อับบาส ได้เปลี่ยนทัศนะไปตามทัศนะอุละมาอฺและเศาะฮาบะฮฺส่วนมาก คือฆาตกรรมถึงแม้จะเป็นบาปใหญ่ก็สามารถได้รับการอภัยโทษ

จะเห็นได้ว่า การฆ่าเพียงชีวิตเดียวก็เป็นบาปใหญ่แล้ว และการที่ฆาตกรไปละเมิด 99 ชีวิต ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนบริสุทธิ์จะบาปขนาดไหน  อย่างไรก็ตาม ฆาตกรคนนี้ก็ได้สำนึกในความผิดของตัวเอง และได้ถามหาผู้ที่มีความรู้มากที่สุดในโลกนี้  ชี้ให้เห็นว่าคนที่ทำความผิด แม้จะเลวทรามเพียงใดก็ตาม แต่สำนึกแห่งความดีก็ยังมีอยู่  ฉะนั้นเมื่อเห็นใครที่เป็นคนชั่ว ก็อย่าได้รีบตัดสินว่าเขาจะเตาบัตหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้ ให้เผื่อไว้ว่าทุกเรื่องอยู่ที่พระประสงค์ของอัลลอฮฺ  เพราะสำนึกแห่งความดีมีอยู่ในหัวใจของคนทุกคน

ฆาตกรคนนี้ได้ถามคำถามที่แสดงถึงความฉลาดที่รู้ว่าทางออกของตัวเองคือการต้องกลับเนื้อกลับตัว แต่จะเตาบัตตัวอย่างไร  จะไปหาอัลลอฮฺเพื่อขอให้พระองค์อภัยโทษอย่างไร ก็ต้องไปหาคนที่มีความรู้ที่จะสามารถนำตัวเองไปหาอัลลอฮฺอย่างถูกต้อง ครั้นเมื่อถามหาผู้รู้ที่มีความรู้มากที่สุดในโลกนี้ แต่กลับ มีคนชี้แนะให้ไปหาบาทหลวงคนหนึ่ง(ที่ขยันทำอิบาดะฮฺแต่ไม่มีความรู้) ทั้งๆ ที่ฆาตกรคนนี้ต้องการหาผู้รู้ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสมัยบนีอิสรออีล ฆาตกรที่รู้ว่าตัวเองผิดอย่างร้ายแรง ก็บอกบาทหลวงคนนี้ว่า ฉันได้ฆ่าคนมา 99 ชีวิตแล้ว จะเตาบัตตัวได้หรือไม่ บาทหลวงก็ตอบว่า ไม่สามารถเตาบัตตัวได้

ฆาตกรคนนี้แม้เป็นคนชั่วเพียงใด แต่สำนึกแห่งความดีก็ยังมีอยู่ จึงอยากจะกลับตัว แต่ปัญหาคือสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อไม่สนองความต้องการ  เขาต้องการหาผู้รู้ แต่กลับต้องไปพบกับผู้ที่ไม่มีความรู้มาบอกเขาว่าเตาบัตตัวไม่ได้ เขาจึงฆ่าบาทหลวงคนนั้นอีกคน ครบ 100 ชีวิต  นับเป็นการกระทำที่สมกับความผิดพลาดของบาทหลวงคือไปตอบว่าอัลลอฮฺไม่รับเตาบัต อันเป็นการกีดกั้นระหว่างมนุษย์ที่ทำความชั่วกับอัลลอฮฺ    ทั้งๆ ที่ไม่ใช่สิทธิและหน้าที่ที่เขาจะยึดตัวเองเป็นพระเจ้าตัดสินเช่นนั้น หากเป็นตัวแทนของศาสนามีความรู้ในพระดำรัสของอัลลอฮฺ   ก็ต้องบอกตามที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ ไม่ใช่ตอบด้วยความรู้สึกของตัวเองว่า ชั่วอย่างนี้อัลลอฮไม่รับเตาบัต  อันเป็นเรื่องที่ชาวอะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺต้องระวังในการกล่าวถึงความเมตตาของอัลลอฮฺ    หรือเรื่องนรกสวรรค์ แม้แต่เรื่องการสาปแช่งกาฟิร  อุละมาอฺมากมายมีทัศนะว่าไม่ควรเจาะจงสาปแช่งเขา เพราะการสาปแช่งคือการ ขับไล่ออกจากความเมตตาของอัลลอฮฺ   (ละอฺนัต) ซึ่งมนุษย์แม้จะเป็นผู้ศรัทธาก็ไม่มีสิทธิ ถือเป็นเรื่องอะกีดะฮฺที่ต้องควบคุมอารมณ์และลิ้น เพราะการกล่าวหา การตัดสิน หรือการต่อว่าคนหนึ่งคนใดจะต้องขึ้นอยู่กับหลักการ ห้ามละเมิดสิทธิของอัลลอฮฺ

ในการบันทึกของอิหม่ามบุคอรียฺ ท่านนบี ได้เล่าเหตุการณ์สมัยบนีอิสรออีลว่า  มีพี่น้อง 2 คน คนหนึ่งเป็นคนดี อีกคนเป็นคนชั่ว คนดีก็จะคอยเตือนคนชั่วอยู่เสมอว่าทำไมไม่เตาบัตเสียที จนกระทั่งครั้งหนึ่งคนชั่วก็ตอบด้วยความไม่สุภาพ  คนดีซึ่งหวังดีแต่พลาดตอบไปโดยไม่มีหลักการ ว่า เตือนแล้วก็ไม่เอา ขอสาบานว่า ทำอย่างนี้อัลลอฮฺไม่ให้เข้าสวรรค์ ท่านนบี   ได้กล่าวว่า อัลลอฮฺจึงตรัสว่า “ใครล่ะที่จะมาสาบานเกี่ยวกับสิทธิของข้า ใครที่จะมาละเมิดต่อข้า สาบานว่า คนนั้นคนนี้จะได้เข้าสวรรค์ ข้าตัดสินว่า คนดีนี่แหละให้เข้านรก และให้คนชั่วได้เข้าสวรรค์” ก็เป็นสิทธิของอัลลอฮฺ   ฉะนั้นคนดีก็ต้องระมัดระวัง คนที่มีหลักการถ้าจะตักเตือนก็ต้องอยู่ในกรอบของศาสนาเป็นเกณฑ์

ฆาตกรคนนั้น (ที่ฆ่าไปแล้ว 100 ชีวิต ก็ยังไม่สิ้นหวัง) ได้ไปถามคนหาที่มีความรู้มากที่สุดในโลกนี้ และได้รับการบอกกล่าวให้ไปหาคนอาลิม(ผู้รู้)คนหนึ่ง เขาก็ได้หาและถามว่า เขาได้ฆ่าคนมาครบ 100 ชีวิตแล้ว เขามีสิทธิที่จะเตาบัตตัว และอัลลอฮฺจะรับเตาบัตของเขาหรือไม่ ผู้รู้ท่านนั้นก็ตอบว่า ได้เลย ใครจะมีสิทธิมาห้ามเขาไม่ให้เตาบัตตัว

หนทางอันดีของคนที่ต้องการทางรอดอยู่ที่ความรู้ เราอย่าถูกหลอกลวงด้วยสภาพภายนอกของคนบางคนที่มีมารยาทพูดจาดีเพียงอย่างเดียว  แต่ต้องหาคนที่มีทั้งมารยาท มีความดีและมีความรู้  

เรื่องเตาบัตเป็นประตูที่อัลลอฮฺเปิดไว้สำหรับคนชั่วที่จะกลับเนื้อกลับตัว จนกระทั่งดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันตก (หมายถึงเมื่อสัญญานใหญ่ของวันกิยามะฮฺปรากฏ ซึ่งเตาบัตไม่ได้แล้ว) ตามหะดีษที่อิหม่ามบุคอรีได้บันทึกไว้  ฉะนั้นตราบใดที่มีลมหายใจ มีสติปัญญาบริบูรณ์ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องการเตาบัตตัวระหว่างเขากับอัลลอฮฺ    สามารถเตาบัตตัวได้

การเตาบัตตัว ถ้าเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (ฮักกุ้ลลอฮฺ حق الله) ต้องกระทำตามเงื่อนไข 3 ประการ
1.    ต้องเลิก
2.    ต้องเสียใจ
3.    ต้องตั้งใจไม่ทำอีกแล้ว 
ถ้าไม่ครบ 3 ประการนี้ การเตาบัตที่เป็นสิทธิของอัลลอฮฺใช้ไม่ได้   และถ้าเป็นสิทธิของมนุษย์ (ฮักกุ้ลอาดะมียฺ ?? ??????)  ต้องเพิ่มเงื่อนไขอีกข้อ คือ ต้องชำระกับเจ้าของสิทธิ เช่น ไปลักทรัพย์ ไปยืมของเขาก็ต้องไปคืนเขา ไปนินทาเขาก็ต้องไปขออภัยเขา ไปฆ่าเขาก็ต้องขออภัยกับทายาทเขา

สิทธิของมนุษย์ (ฮักกุ้ลอาดะมียฺ حق الآدمي)  เช่น ทรัพย์สินที่เราติดค้างคนอื่น มีความสำคัญมาก ถึงขั้นคนที่ญิฮาด(ดิ้นรนต่อสู้)ในหนทางของอัลลอฮฺ   และเสียชีวิตในสมรภูมิ เป็นพวกชะฮีดซึ่งท่านนบี   กล่าวว่า คือบุคคลที่รอด ยกเว้นบุคคลที่มีหนี้สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นทรัพย์สินส่วนรวม ดังที่ท่านนบี   ได้กล่าวว่า มีคนๆ หนึ่งไปเก็บทรัพย์เชลยซึ่งเขาก็มีสิทธิ แต่เขาไปเก็บก่อนที่จะมีการแบ่งกัน แล้วเสียชีวิต  ในวันกิยามะฮฺทรัพย์สินนั้นจะเป็นไฟนรกมาสู่เขา 

จะเห็นได้ว่า นั่นเป็นเพียงแค่ทรัพย์สิน แล้วสำหรับชีวิต ทำไมผู้รู้จึงบอกกับฆาตกรที่ฆ่า 100 ชีวิต ว่าเตาบัตได้โดยไม่บอกว่าต้องไปขออภัยเขาก่อน ทั้งๆ ที่เป็นฮักกุ้ลอาดะมียฺ

หลักฐานของศาสนา จะต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ครบถ้วน ไม่ใช่เพียงยึดหลักฐานเดียว  สิทธิของลูกหลานอาดัม เป็นเรื่องที่เราต้องไปชำระกับเขา แต่เดชานุภาพของอัลลอฮฺ    หากพระองค์ประสงค์จะอภัยโทษให้กับคนหนึ่งคนใด พระองค์ก็จะแบกความผิดของคนเหล่านั้น และชดเชยให้ลูกหลานอาดัมหรือคนที่ถูกละเมิดก็ได้ ส่วนระหว่างเขากับอัลลอฮฺ  ที่เขาเตาบัตตัว ไม่มีใครสามารถที่จะบอกว่า เตาบัตแล้วใช้ไม่ได้  ระหว่างเขากับมนุษย์เขามีความผิดส่วนหนึ่ง เขาเตาบัตตัวแล้ว เขามีความผิด เขาก็อาจมีความดี  และในวันกิยามะฮฺเขาก็มีความดีมาชั่งน้ำหนักเฉลี่ยกัน  ซึ่งอัลลอฮฺจะไม่ทรงอธรรมใคร มีความดีอัลลอฮฺก็จะทรงชั่งทั้งหมด มีความชั่วอัลลอฮฺก็จะทรงชั่งทั้งหมด

นั่นคือสิทธิของลูกหลานอาดัมถึงแม้จะยังค้างอยู่ แต่เตาบัตตัวในความผิดที่เป็นข้อห้ามระหว่างเขากับอัลลอฮฺแล้ว  ถ้าเขาไปชำระกับลูกหลานอาดัมแล้วก็ดี แต่ถ้าเขายังไม่ชำระก็ยังคงเป็นความผิด ซึ่งต้องไปชั่งน้ำหนักกับความดีที่เขามีอยู่ ถ้าความดีมีมากกว่าความชั่ว ความชั่วก็จะล้มไปและได้เข้าสวรรค์ ถ้าความชั่วมีมากกว่า ก็อยู่ที่พระประสงค์ของอัลลอฮฺ   ว่าพระองค์ฺจะทรงให้อภัยโทษหรือไม่ แต่ถ้าอัลลอฮฺทรงประสงค์จะให้อภัยโทษ ความผิดที่ติดค้างอยู่กับลูกหลานอาดัม อัลลอฮฺก็จะทรงจัดการให้ โดยทรงชดเชยให้กับลูกหลานอาดัม

ในบันทึกของอิหม่ามบุคอรี ท่านนบี ได้รายงานเหตุการณ์ในวันกิยามะฮฺที่จะเกิดขึ้น มีชายคนหนึ่งทำความชั่วไม่มีความดีประการใด  พออัลลอฮฺ  ทรงเรียกหาสมุดบันทึกของเขา มะลาอิกะฮฺก็แบกบันทึกความชั่วของเขามา 99 เล่ม อัลลอฮฺจึงได้ตรัสกับชายคนนี้ว่า วันนี้เขาจะไม่ถูกอธรรมเลย เพราะเขายังมีอีกบัตรหนึ่งที่มีความดีบันทึกอยู่ ซึ่งชายคนนั้นก็คิดว่า เพียงบัตรเดียวจะสู้บันทึก 99 เล่มได้อย่างไร แต่เมื่ออัลลอฮฺทรงบอกให้นำบัตรใบเดียวนั้นซึ่งมีความดีเพียงอย่างเดียวที่ได้มาจากโลกนี้ คือเชื่อมั่นเลื่อมใสใน “ลาอิลาฮะอิ้ลลัลลอฮฺ มุฮัมมะดุรรอซูลุลลอฮฺ”  มาชั่งกับบันทึก 99 เล่มที่มีความชั่ว ซึ่งย่อมต้องมีสิทธิของมนุษย์อยู่ด้วย ปรากฎว่าบันทึกทั้ง 99 เล่ม กระเด็นกระจายไป เนื่องจากน้ำหนักของ “ลาอิลาฮะอิ้ลลัลลอฮฺ มุฮัมมะดุรรอซูลุลลอฮฺ”  ทั้งนี้เพราะอัลลอฮฺทรงชำระและชดเชยได้ สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ฆาตกรคนนี้ก็เช่นกัน หากอัลลอฮฺทรงประสงค์  แน่นอนความชั่วที่เขาได้ละเมิดชีวิตคนอื่น ย่อมต้องถูกชำระด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮฺเช่นเดียวกัน 
 


หมายเหตุ : ตัวสีน้ำเงินคือความหมายของหะดีษ

เรียบเรียงจากการบรรยายของเชคริฎอ อะหมัด สมะดี เรื่อง ดินแดนแห่งการอภัยโทษ

 

ดินแดนแห่งการอภัยโทษ