การประกันภัยชรีอะฮฺ(ตะกาฟุล) ตอนที่ 2

Submitted by dp6admin on Sun, 01/11/2009 - 20:26

ที่มา : เรียบเรียงจากการบรรยายของ เชคริฎอ อะหมัด สมะดี
เรื่อง การประกันภัยชรีอะฮฺ(ตะกาฟุล)คืออะไร

ระบอบประกันภัย

คำว่า “ระบอบ” เป็นกระบวนการที่กว้างขวางลึกซึ้งและละเอียดมากกว่า “ระบบ” นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านประกันภัยบอกว่า อาณาจักรของบริษัทประกันภัยยิ่งใหญ่มาก งบประมาณของบางบริษัทเท่ากับงบประมาณแผ่นดินของประเทศระดับเล็กหรือกลาง  มีอิทธิพลในการควบคุมกฎหมาย งบประมาณแผ่นดิน และกระบวนการปกครองบ้านเมืองบางประการ

การประกันภัย มี 2 ระบอบ คือ

1.    ประกันภัยระบอบสากล  มีกระบวนการ  รายละเอียด กฎเกณฑ์ และต้นกำเนิดจากประเทศตะวันตก ไม่ได้เกิดในประเทศมุสลิมหรือกฎหมายอิสลาม
2.    ประกันภัยชะรีอะฮฺ เปรียบเสมือนบุตรบุญธรรม คือ เอาลูกที่เกิดจากคนกาเฟรมาเลี้ยงในบ้านเรา  ถ้าเราเลี้ยงเขาดีตามหลักการ เขาก็จะเติบโตเป็นมุสลิม นั่นคือ เอารูปแบบของเขามาใช้ โดยที่ยังอยู่ในกรอบของเศรษฐศาสตร์อิสลาม  แต่ก็ต้องยอมรับว่ารายละเอียดและกระบวนการของการประกันภัยนั้นไม่ได้เป็นไปตามหลักการอิสลามทั้งหมด

รูปแบบของประกันภัยสากล

ประกันภัย เป็นธุรกิจที่นักเศรษฐศาสตร์และพวกมหาเศรษฐีส่วนใหญ่ชอบ ดังที่มหาเศรษฐีคนหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์ว่า  ธุรกิจที่ทำให้รวยเร็วที่สุดและลงทุนน้อยที่สุด คือ เกมส์ประกันภัย  เหตุที่เหมือนเกมส์เพราะต้นทุนของบริษัทประกันภัยสากลส่วนมากมาจากเงินที่ประชาชนชำระค่าประกัน โดยงบประมาณของบริษัทประกันภัยส่วนหนึ่งจะเป็นค่าใช้จ่าย และอีกส่วนเป็นค่าชดเชยสำหรับผู้รับประโยชน์ของสัญญาประกันภัย

นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัยชาวเยอรมันท่านหนึ่งได้ให้ข้อมูลทางวิชาการว่า ค่าใช้จ่ายมหาศาลของบริษัทประกันภัยคือค่าใช้จ่ายในการโฆษณา  นอกจากนี้ก็มีค่าใช้จ่ายในการวิจัยสถิติอุบัติเหตุต่างๆ  รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรณรงค์ลดอุบัติเหตุ เงินเดือนของพนักงานที่มีอัตราสูงที่สุด ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายเหล่านี้รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับการชดเชยที่ให้กับผู้รับประโยชน์และความเสี่ยงทีมีอยู่ รวมแล้วไม่ถึง 2.5% จากต้นทุนที่ได้มาจากผู้ชำระ  จะเห็นได้ว่ากำไรมหาศาลมาก

ในโลกนี้ไม่มีบริษัทประกันภัยฟีซาบีลิ้ลลาฮฺ  แม้กระทั่งฟินันซาตะกาฟุ้ลชะรีอะฮฺก็ไม่ใช่ แต่เป็นบริษัทที่ถูกก่อตั้งเพื่อให้ได้รับอัตรากำไรสูงที่สุดในตลาด อันเป็นที่รู้กันว่าบริษัทประกันภัยเป็นบริษัทที่มีกำไรสูงมาก จนกระทั่งทุกประเทศต้องมีสำนักงานควบคุมบริษัทประกันภัยเพื่อป้องกันความหายนะของประเทศ  เพราะการดำเนินกิจการของบริษัทประกันภัยได้เปรียบทุกประการ

ประวัติของการประกันภัย

การประกันภัยเกิดขึ้นที่ประเทศอิตาลีเมื่อประมาณ 6 ศตวรรษแล้ว ส่วนสัญญาประกันอัคคีภัยเเกิดที่ประเทศอังกฤษ เมื่อประมาณ ค.ศ.1666 และสัญญาประกันภัยที่เป็นรูปแบบบริษัทได้เกิดครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1699 หลังจากที่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐต่างๆ สามารถรวบรวมสถิติมรณกรรมของประชาชนทุกปีได้อย่างละเอียด  โดยนำ้หลักการทางคณิตศาสตร์ทางสถิติมาจัดการกับข้อมูลอุบัติภัยต่างๆ ก็คือได้นำเอาหลักการที่เรียกว่า “กฎของจำนวนมาก” (Law Of Large Number) มาใช้ซึ่งก็จะมีความเกี่ยวข้องกับทฤษฎีความน่าจะเป็น “Theory of Probability” โดยเป็นการคาดการณ์โอกาสของการที่จะเกิดความสูญเสีย เกิดอุบัติเหตุ หรือการเจ็บป่วยต่างๆ  ทำให้มีความสามารถในการคาดเดาเหตุกาณ์ในอนาคตได้ และสามารถควบคุมอุบัติเหตุได้

ตัวอย่างเช่น ตลอดระยะเวลา 50 ปี จะเกิดอุบัติเหตุทุกปี ถ้าเรามองอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทุกปีโดยไม่มีการวิเคราะห์ทางสถิติ  ก็จะเห็นว่าเกิดอุบัติเหตุมาก แต่ถ้ามีการเก็บสถิติ จะสามารถทราบรายละเอียดได้ทั้งจำนวนผู้ตาย  สาเหตุการตาย  คนป่วย และรายละเอียดของอุบัติเหตุ ฯลฯ ทำให้นักวิชาการด้านคณิตศาสตร์สามารถคาดเดาได้ว่าปีหน้าจะมีอุบัติเหตุรถยนต์กี่ครั้ง จะมีผู้ป่วย ผู้เสียชีวิตกี่คน ความสามารถในการคาดเดาอนาคตจากสถิตินี้ ไม่ใช่การคาดเดาอนาคตแบบหมอดูเพราะไม่ได้กำหนดแน่นอนว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น แต่จะบอกเพียงว่าอยู่ในเกณฑ์นั้นเท่านั้น  อันเป็นโอกาสดีที่สุดสำหรับบริษัทประกันภัย เช่น เขาทราบจากสถิติว่าทุกๆปีจะมีคนเสียชีวิตมี 100 คน แต่คนที่จะทำประกันชีวิตมี 1 ล้านคน เขาก็จะทราบทันทีถึงรายได้ที่จะได้รับจากผู้ประกันตน สถิติจึงเป็นสิ่งที่ควบคุมกิจการของบริษัทประกันภัย โดยมี  “นักคณิตศาสตร์ประกันภัย” ผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติ เป็นที่ปรึกษาที่มีความสำคัญและมีอิทธิพลมากที่สุดในบริษัทประกันภัย

ดร.สุไลมาน บินอิบรอฮีม บินษินิยาน นักวิชาการศาสนา เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยอิมามมุฮัมมัดบินสุอู๊ด  ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัย ท่านได้ไปทำปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาเรื่องประกันภัย และได้เขียนหนังสือเรื่อง “ประกันภัยและฮุก่มของประกันภัย” โดยได้หาข้อมูลด้านทัศนคติของประชาชนเกี่ยวกับเรื่องประกันภัยในประเทศตะวันตกเอง ซึ่งจากข้อมูลบ่งชี้ว่ากระบวนการของประกันภัยนั้น แม้คนทั่วไปจะมองว่ามีอะไรดีเด่น แต่สังคมตะวันตกค่อนข้างไม่เห็นด้วย แม้แต่นักวิชาการตะวันตกเองก็ยังต่อต้านระบอบประกันภัย เพราะเห็นว่าเป็นระบอบที่สร้างความหายนะให้แก่มนุษยชาติ

สถิติที่ได้มาจากการสอบถามประชาชนชาวตะวันตกในเมืองต่างๆ ที่ประเทศเยอรมันถึงสาเหตุที่ประชาชนต้องทำสัญญากับบริษัทประกันภัย ผลปรากฏว่า 58% ให้คำตอบเหมือนกันหมดว่า “เห็นคนอื่นทำก็ทำด้วย” แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของการโฆษณาหรือกระแสที่บริษัทประกันภัยได้สร้างขึ้น โดยการสร้างความเสี่ยงหรือความวิตกกังวลให้กับประชาชน เพื่อกดดันความรู้สึกของประชาชนให้ไปสมัครทำสัญญากับบริษัทประกันภัย

ดร.สุไลมานได้กล่าวว่า สิ่งที่เราต้องศึกษาเกี่ยวกับบริษัทประกันภัยคือ กระบวนการการทำงานของบริษัทประกันภัย ดังที่นักวิชาการเยอรมันที่เชี่ยวชาญด้านการประกันภัยได้กล่าวว่าบริษัทประกันภัยส่วนมากปกปิดเงื่อนไขและกระบวนการทำงานของบริษัทไว้ไม่ให้ประชาชนรับทราบ มิฉะนั้นจะไม่มีใครทำประกันภัยกับบริษัทเหล่านี้