ซุนนะฮฺในวันอีด 2 : ละหมาดอีดและกล่าวตักบีร

Submitted by dp6admin on Tue, 17/11/2009 - 21:37

 เรียบเรียงจากการบรรยายของ เชคริฎอ อะหมัด สมะดี เรื่อง ซุนนะฮฺในวันอีด

5. ละหมาดอีด - อุละมาอฺส่วนมากเห็นว่าเป็นซุนนะฮฺมุอั๊กกะดะฮฺ(ชอบให้กระทำ) บางท่านก็ว่าเป็นฟัรดูอัยนฺเพราะท่านนบีรณรงค์ให้ละหมาดอีด แม้กระทั่งผู้หญิงที่มีประจำเดือน,คนชรา, หญิงสาวที่มีความอายไม่ชอบออกข้างนอก ก็ให้ออกไปร่วมด้วย

عَنْ أُمِّ عَطِيَّةَ رضي الله عنها أنها قَالَتْ : أَمَرَنَا رَسُولُ اللَّهِ    أَنْ نُخْرِجَهُنَّ فِي الْفِطْرِ وَالْأَضْحَى ، الْعَوَاتِقَ وَالْحُيَّضَ وَذَوَاتِ الْخُدُورِ ، فَأَمَّا الْحُيَّضُ فَيَعْتَزِلْنَ الصَّلَاةَ وَيَشْهَدْنَ الْخَيْرَ وَدَعْوَةَ الْمُسْلِمِينَ ، قُلْتُ يَا رَسُولَ اللَّهِ إِحْدَانَا لَا يَكُونُ لَهَا جِلْبَابٌ ؟ قَالَ :«لِتُلْبِسْهَا أُخْتُهَا مِنْ جِلْبَابِهَا» .

ท่านนบี  กล่าวว่า  "สำหรับหญิงที่มีประจำเดือนให้แยกตัวออกจากการละหมาด แต่ให้ไปร่วมในบริเวณที่ละหมาด เพื่อจะได้รับความดี" อุมมุอะฏียะฮฺถามว่า "คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกเราบางครั้งไม่มีหิญาบเพื่อจะออกข้างนอก จะทำอย่างไร" ท่านนบี ตอบว่า "ให้ยืมจากพี่น้อง(เพื่อจะไปละหมาดอีด)" แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการละหมาดอีด ท่านอิบนุตัยมียะฮฺมีทัศนะว่าผู้หญิงจำเป็น(วาญิบ)ต้องออกไปละหมาดอีด โดยอ้างอิงจากคำกล่าวของท่านอบูบักร อัศศิดดี๊ก» .

6. ละหมาดอีดที่มุศ็อลลา - ลักษณะมุศ็อลลาเป็นที่โล่งในทะเลทรายไม่มีอาคารใกล้ๆ ตลอดชีวิตของท่านนบีไม่เคยละหมาดอีดที่มัสญิด (ยกเว้นครั้งเดียวที่ฝนตกท่านนบีได้ละหมาดที่มัสญิด ซึ่งเป็นหะดีษฎออีฟ) ท่านละหมาดที่มุศ็อลลาทุกครั้ง อันเป็นซุนนะฮฺที่ถูกละเลยในปัจจุบัน แต่ทุกช่วงของประวัติศาสตร์อิสลามก็จะมีผู้ฟื้นฟูซุนนะฮฺอยู่เสมอ แม้ว่าในซาอุดิอาระเบียจะปฏิบัติตามซุนนะฮฺนี้มาตลอด แต่ประเทศอาหรับอื่นๆกลับละทิ้ง ผู้ฟื้นฟูท่านแรกคือเชคอัลบานียฺซึ่งอยู่ที่ซีเรีย (ท่านเป็นช่างซ่อมนาฬิกา สมญานามท่านคือ อัซซาอะฮฺ ท่านจะเปิดร้านนาฬิกาครึ่งวันเช้า พอบ่ายก็จะไปอยู่ที่ห้องสมุดเมืองดิมัชกฺ เป็นห้องสมุดที่มีหนังสือโบราณตั้งแต่สมัยอิมามอัลบุคอรียฺ อิมามมุสลิม ฯลฯ เป็นตำราโบราณเกี่ยวกับหะดีษ ใช้ภาษาอาหรับโบราณ ไม่มีจุด เชคอัลบานียฺเป็นคนแรกที่เข้ามาจัดระเบียบห้องสมุดแห่งนี้) ท่านถูกต่อต้านและต่อว่าที่ไปละหมาดอีดที่มุศ็อลลาซึ่งสมัยนั้นไม่มีใครทำ ท่านจึงได้เขียนหนังสืออัซซุนนะฮฺให้ละหมาดที่มุศ็อลลา มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ซุนนะฮฺการละหมาดอีดที่มุศ็อลลาจึงได้รับการฟื้นฟูทั่วโลก

7. ให้เดินไปสู่มุศ็อลลา(สถานที่โล่ง ไม่มีอาคาร)- เมื่อก่อนมะดีนะฮฺเป็นเมืองเล็กๆ ขนาดเท่ากับมัสญิดนบีในปัจจุบัน มุศ็อลลาสมัยท่านนบี ตั้งอยู่บริเวณชานเมืองมะดีนะฮฺ ท่านนบีจะเดินออกจากบ้านไปมุศ็อลลาซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของท่าน หลักฐานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัร ว่า ท่านนบี จะออกไปสู่มุศ็อลลา และขากลับท่านจะเดินหากทำได้ (หรือจะขี่พาหนะก็ได้)

8. ให้สลับเปลี่ยนทางเดินขาไปและขากลับจากมุศ็อลลา คือไปทางหนึ่งกลับอีกทางหนึ่ง

في صحيح البخاري عَنْ جَابِرِ بْنِ عَبْدِ اللَّهِ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمَا قَالَ : "كَانَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا كَانَ يَوْمُ عِيدٍ خَالَفَ الطَّرِيقَ ".ولعل العلة أن يقابل عدداً كبيراً من أصحابه بذلك [زاد المعاد (1/449

มีหะดีษบันทึกโดยอิมามอัลบุคอรียฺ รายงานจากท่านญาบิร อิบนิอับดิลลาฮฺ ว่า ท่านนบี จะเดินทางในวันอีดโดยจะเปลี่ยนทางเดินขากลับ - อุละมาอฺให้เหตุผลว่า เพื่อที่ท่านนบีจะได้ให้สลามกับผู้ที่อยู่ในเส้นทางทั้งสองนั้น เป็นการพบปะเยี่ยมเยียนพี่น้องมุสลิมให้ทั่ว, หรือเพื่อเปิดเผยกิจกรรมของศาสนาให้คนทั่วไปทราบว่านี่เป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองของมุสลิม, หรือเพื่อที่สถานที่ต่างๆที่เราผ่านไปจะเป็นสักขีพยานแก่เรา เหล่านี้เป็นทัศนะของอุละมาอฺที่ได้จากการตีความ ไม่มีตัวบทหลักฐานจากท่านนบี

9. การกล่าวตักบีร - เป็นซุนนะฮฺของท่านนบี ที่ให้ตักบีรในสองอีด สำหรับอีดุ้ลอัฎฮาเศาะฮาบะฮฺเริ่มตักบีร(และซิกรุลลอฮฺ)ตั้งแต่วันแรกของซุลฮิจญะฮฺ เป็นการตักบีรทั่วไป(ตักบีรมุฏลัก) ตักบีรเมื่อใดก็ได้ไม่ใช่เฉพาะหลังละหมาด ส่วนตักบีรเฉพาะอีด(ตักบีรมุก็อยยัด)จะเริ่มตั้งแต่หลังละหมาดซุบฮิวันที่ 9 ซุลฮิจญะฮฺ (วันอะเราะฟาต) ตักบีรเสียงดังหลังละหมาดทุกเวลา จนถึงหลังละหมาดอัสริวันที่ 13 ซุลฮิจญะฮฺ รวมห้าวัน และให้กล่าวตักบีรทั่วไปตั้งแต่ออกจากบ้านในวันอีดจนกระทั่งถึงมุศ็อลลา ให้ตักบีรตลอดเวลา ทั้งเสียงดังและเบา หยุดตักบีรเมื่อเริ่มละหมาดอีด

10. สำนวนตักบีร - มีหลายสำนวน

1- จากการบันทึกของอิมามอิบนุอบีชัยบะฮฺ เชคอัลบานียฺตรวจสอบและว่าสายสืบเศาะฮี้ฮฺ

كان ابن مسعود رضي الله عنه يقول : اللَّهُ أَكْبَرُ اللَّهُ أَكْبَرُ ، لَا إلَهَ إلَّا اللَّهُ ، وَاَللَّهُ أَكْبَرُ اللَّهُ أَكْبَرُ وَلِلَّهِ الْحَمْدُ [ابن أبي شيبة] .

ในวันอีดท่าน(อิบนิมัสอู๊ด)จะตักบีรว่า "อัลลอฮุอักบะรุลลอฮุอักบัร (อัลลอฮฺทรงเกรียงไกร) ลาอิลาหะอิลลัลลอฮุ วัลลอฮุอักบัร(ไม่มีพระเจ้าใดนอกจากอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺทรงเกรียงไกร) อัลลอฮุอักบัร(อัลลอฮฺทรงเกรียงไกร) วะลิลลาฮิลฮัมดฺ(การสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ)" มีอีกรายงานหนึ่งที่เพิ่มตักบีรเป็น 3 ครั้ง ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ทั้งสองแบบ

2-  จากท่านอิบนิอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ท่านเคยตักบีรว่า

وعن ابن عباس رضي الله عنهما :" الله أكبر ، الله أكبر ، الله أكبر ، ولله الحمد ، الله أكبر وأجل ، الله أكبر على ما هدانا" [البيهقي[

"อัลลอฮุอักบะรุลลอฮุอักบัร (อัลลอฮฺทรงเกรียงไกรยิ่ง)  อัลลอฮุอักบัร วะลิลลาฮิลฮัมดฺ (อัลลอฮฺทรงเกรียงไกรยิ่ง การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ) อัลลอฮุอักบะรุวะอะญัล (อัลลอฮฺทรงเกรียงไกร อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่) อัลลอฮุอักบะรุอะลามาหะดานา (อัลลอฮฺทรงเกรียงไกรเนื่องจากว่าอัลลอฮฺทรงให้ทางนำแก่เรา)"   (บันทึกโดยอิมามอัลบัยหะกียฺ เชคอัลบานียฺบอกว่าสายสืบเศาะฮีฮฺ)

ตักบีรแล้วให้รำลึกถึงความหมายด้วยว่าอัลลอฮฺยิ่งใหญ่กว่าทุกสิ่งทุกอย่าง อย่าหลงไปกับสิ่งต่างๆในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัวสวยงาม, การเชือดกุรบาน(อุฎหิยะฮฺ) ซึ่งเรากระทำด้วยความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ อัลลอฮฺทรงบัญชาให้เราทำเนื่องจากการเชือดของท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม ที่ถูกทดสอบให้เชือดลูกของท่านและท่านก็ยอมที่จะกระทำตามบัญชา เพราะอัลลอฮฺยิ่งใหญ่กว่าทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน บิดามารดา สถาบัน ฯลฯ และเราก็ต้องกลับมาทบทวนว่าชีวิตของเรามีอะไรยิ่งใหญ่กว่าอัลลอฮฺหรือไม่