การตอบโต้เอกสารของ อาลี อีซา ที่จำหน่ายเมื่อ 12 เม.ย. 46 (1)

Submitted by dp6admin on Mon, 30/11/2009 - 15:12

1. การตอบโต้คำนำ (หน้า 4-6)
2. การตอบโต้ข้อมูลเกี่ยวกับก๊อดยานียฺ (หน้า 8-20)
3. การตอบโต้การอ้างรูปภาพอิบรอฮีม กุเรชี กับมุฮัมมัดอาลี (หน้า 21-22)
4. การตอบโต้ “ความเป็นมาของลัทธิก๊อดยานีย์ในประเทศไทย” (หน้า 24-25)
5. การตอบโต้การอ้างหนังสือของอาจารย์ดารี บินอะหมัด (หน้า 26-34)
6. การตอบโต้ “แถลงการณ์ของเชคอาลี อีซา พ.ศ.2520” (หน้า 36-46)

 


1. การตอบโต้คำนำ (หน้า 4-6)

    ในคำนำ อาลี อีซา ได้ระบุถึงการบรรยายธรรมของข้าพเจ้าที่เจียรดับ(งานบึงเตย) และนำคำพูดของข้าพเจ้าที่ยืนยันว่า อิบรอฮีม กุเรชี มิใช่ก๊อดยานียฺ และท้าทายผู้ที่มีหลักฐานในการกล่าวหาว่า อิบรอฮีม กุเรชี เป็นก๊อดยานียฺ และการที่ข้าพเจ้ากล่าวหาว่า นักวิชาการหลอกชาวบ้านเรื่องก๊อดยานียฺมาเสนอ แต่เขาไม่ได้ระบุที่มาของปัญหาเกี่ยวกับ อิบรอฮีม กุเรชี เพราะเป็นข้อมูลที่เขาไม่มีความกล้าที่จะเสนอให้สังคมรับทราบ

    ที่มาของการท้าทายของข้าพเจ้าในงานดังกล่าวนั้น อันเนื่องจากว่า อาลี อีซา พร้อมทั้งนักวิชาการบางท่าน ได้ดำเนินการต่อต้านข้าพเจ้ามากว่าสองปี ในหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการเผยแผ่อัลอิสลาม เช่น การอ่านอัลฟาติหะฮฺ ที่อาลี อีซา ได้ประกาศท้าทายข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงไปพบเขาที่มัสยิดอัลฟุรกอนและพยายามชี้แจงทำความเข้าใจ เพราะเห็น ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิชาการ และขอร้องให้รักษาความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นในสังคมซุนนะฮฺ แต่ เขากลับกล่าวว่า มะอฺมูมที่ไม่อ่านฟาติหะฮฺขณะที่อิมามอ่านเสียงดังนั้นไม่ใช่ซุนนะฮฺและจะมารวมกับซุนนะฮฺไม่ได้ (มีพยานมากกว่า 15 คน)

นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการอีก 2 คน ที่เคยขู่ข้าพเจ้าและอัล-อิศลาหฺสมาคม ให้ตัดความสัมพันธ์กับมูลนิธิอนุรักษ์ มรดกอิสลาม ไม่เช่นนั้นเขาจะตัดความสัมพันธ์กับ อัล-อิศลาหฺสมาคมอย่างเด็ดขาด ข้าพเจ้าก็พยายามประนีประนอม และทำงานเพื่อให้กลุ่มซุนนะฮฺปรองดองกัน แก้ไขปัญหาด้วยการเชื่อมระหว่างแต่ละสถาบัน แต่มาถึงเรื่องสุดท้าย คือการที่ข้าพเจ้าร่วมบรรยายกับ อ.มุรีด ทิมะเสน ทำให้ อาลี อีซา และนักวิชาการ 2 คนนั้น วางแผนเพื่อต่อต้านบทบาทของข้าพเจ้าในอัล-อิศลาหฺสมาคม และในสังคมทั่วไป มีการพูดคุยกับผู้ใหญ่ในหมู่บ้านของข้าพเจ้า แม้กระทั่งกับบิดาของข้าพเจ้าว่า ริฎอ อะหมัด สมะดี ไม่มีมารยาท ล้ำหน้าผู้ใหญ่ ทำลายสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างไว้ (การต่อต้านก๊อดยานียฺ) การพูดเช่นนี้ไม่ได้พูดในเชิงลับเท่านั้น แต่ยังเปิดเผยและเผยแพร่ทั่วไป จนกระทั่งข้าพเจ้าได้ยินด้วยหูข้าพเจ้าเองในงานวลีมะฮฺหนึ่ง ขณะที่แขกกำลังรับประทานอาหาร อาลี อีซา ออกมาและพูดกับเลขานุการของ อัล-อิศลาหฺสมาคม ซึ่งเป็นบุคคลที่ผมเคารพ อาลี อีซา กล่าวว่า อุดมการณ์ของอิศลาหฺสมาคมในอดีตคือการต่อต้านก๊อดยานียฺ แต่ขณะนี้อิศลาหฺสมาคมกำลังเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์

และในงานอิศลาหฺสมาคมครั้งล่าสุด ช่วงหลังเดือนรอมฎอน ก็มีการเคลื่อนไหวของนักวิชาการดังกล่าวที่พยายาม ต่อต้านงานบรรยายของอิศลาหฺสมาคม ซึ่งข้าพเจ้าและกรรมการอิศลาหฺสมาคมได้เชิญ อ.มุรีด ทิมะเสน มาบรรยาย พร้อมกับนักวิชาการหลายท่าน ได้มีบุคคลจากสถาบันที่มีชื่อ เสียงแห่งหนึ่ง มาพูดคุยกับผู้ใหญ่และสมาชิกอิศลาหฺสมาคมว่า อ.มุรีด เป็นก๊อดยานียฺ เอามาพูดได้อย่างไร  ที่น่าประหลาดคือ แม้ว่างานดังกล่าว อ.มุรีด ไม่สามารถมาร่วมบรรยายได้ เนื่องจากอยู่ต่างจังหวัดและประสบปัญหาเกี่ยวกับรถยนต์ของ ท่าน แต่หลังจากงานดังกล่าวก็ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ริฎอ อะหมัด สมะดี นำก๊อดยานียฺมาพูดที่บางกอกน้อย  ซึ่งการวิจารณ์ดังกล่าวมาจากสองสถาบันที่ไม่พอใจบทบาทการทำงานของข้าพเจ้าในสังคม

หลังจากนั้น อ.มุรีด ทิมะเสน ได้ไปพบ อาลี อีซา และถามถึงหลักฐานในการกล่าวหาว่า อ.มุรีด เป็นก๊อดยานียฺ หรือผู้สนับสนุนก๊อดยานียฺ แต่ อาลี อีซา ไม่มีคำตอบใดๆทั้งสิ้น เพียงแต่พูดว่า “คุณมีหนังสือหลายสิบเล่ม ทำไมไม่ต่อต้าน อิบรอฮีม กุเรชี”  ขณะเดียวกันก็ยังมีการกล่าวหาข้าพเจ้าและ อ.มุรีด อย่างต่อเนื่อง ข้าพเจ้าพยายามที่จะอดกลั้นไม่ตอบโต้ แต่ฝ่ายกล่าวหาก็ไม่ยอมยุติคำพูดที่ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้สนับสนุนก๊อดยานียฺ แล้วยังวางแผนเพื่อลดบทบาทของข้าพเจ้าจนกระทั่ง นักวิชาการคนหนึ่งได้พูดกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งว่า “ถ้าเชิญ มุรีด ทิมะเสน ฉันจะไม่เข้าบางกอกน้อยอีกแล้ว” 

ข้าพเจ้าพยายามค้นหาสาเหตุในหลายแง่มุม เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของนักวิชาการดังกล่าว แต่ไม่พบสาเหตุใดๆ ที่ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจพฤติกรรมของขบวนการต่อต้านข้าพเจ้าและ อ.มุรีด แต่ก็เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับข้าพเจ้าที่ต้องปกป้องตัวข้าพเจ้าและ อ.มุรีด จากข้อกล่าวหาว่าเป็นก๊อดยานียฺ หรือเป็นผู้สนับสนุนก๊อดยานียฺ ข้าพเจ้าจึงกล่าวถึงปัญหานี้ในการบรรยาย โดยไม่ได้ระบุชื่อบุคคลหรือเหตุการณ์ใดๆ แต่สถานการณ์ยิ่งร้อนขึ้น จึงทำให้ข้าพเจ้าตัดสินใจแสดงความเด็ดขาดต่อผู้กล่าวหาและข้าพเจ้า ก็ไม่สามารถปลีกตัวออกจากเรื่องก๊อดยานียฺ เพราะทาง อาลี อีซา และกลุ่มของเขาได้ผูกพันข้าพเจ้าและ อ.มุรีด กับสถาบันญัมอียะฯ และ อิบรอฮีม กุเรชี ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นก๊อดยานียฺ จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องอธิบายปัญหาของ อิบรอฮีม กุเรชี เพื่อให้เรื่องก๊อดยานียฺมีความชัดเจน

ข้าพเจ้าจึงประกาศในงานบึงเตยว่า อ.มุรีด และข้าพเจ้าไม่ใช่ก๊อดยานียฺ สถาบันญัมอียะฯ และ อิบรอฮีม กุเรชี ก็ไม่ใช่ก๊อดยานียฺเช่นเดียวกัน  แต่ข้าพเจ้ายังยืนยันว่า ถึงแม้ว่า อิบรอฮีม กุเรชี ไม่ใช่ก๊อดยานียฺ แต่เขาก็มีข้อผิดพลาดหลายประการ ใครที่ฟังเทปงานดังกล่าว สามารถพิสูจน์ได้ถึงความเป็นธรรมในเรื่องเหล่านี้ 

แต่ขบวนการของ อาลี อีซา กลับถือเป็นโอกาสดีที่จะเพิ่มความรุนแรงในการต่อต้านข้าพเจ้าและ อ.มุรีด ดังนั้นจึงเกิดปัญหาของวันที่ 12 เมษายน ซึ่ง อาลี อีซา ได้ประกาศรับการท้าทายของข้าพเจ้า และกำหนดวัน สถานที่ หัวข้อ และผู้ดำเนินการไปทั่วประเทศ โดยไม่ได้ปรึกษาหรือแจ้งให้ข้าพเจ้าหรือ อ.มุรีด รับทราบเป็นทางการ ซึ่งขณะนั้นโลกมุสลิมอยู่ในภาวะสงคราม ข้าพเจ้าและ อ.มุรีด จึงถือเป็น อมานะฮฺ(ความรับผิดชอบ) ที่ต้องไปประนีประนอมกับ อาลี อีซา โดยติดต่อทางโทรศัพท์และทางบ้านของ อาลี อีซา ได้แจ้งว่า “เชิญไปคุยกับ เชคอาลี อีซา ได้ทุกเวลา และเขาจะต้อนรับอย่างดี”  ข้าพเจ้าและ อ.มุรีด จึงไปพบ อาลี อีซา ที่มัสยิดอัลฟุรกอน และเสนอเลื่อนการพูดคุยเรื่องนี้ออกไปหลังสงครามอิรัก แต่ อาลี อีซา ไม่ยอม จึงขอให้เขาแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับวันที่ 12 เม.ย. เขากลับไม่รับฟังประการใดทั้งสิ้น และเชิญชวนให้ไปในวันที่ 12 เม.ย. ข้าพเจ้าและ อ.มุรีด ไม่มีโอกาสพูดกับ อาลี อีซา เนื่องจากลูกศิษย์ลูกหาบได้ก่อกวนการพูดคุยระหว่างเราทั้งสองฝ่าย จึงต้องขอตัวลากลับ และประกาศไม่ร่วมการพูดคุยวันที่ 12 เม.ย. เพราะไม่มีการให้เกียรติตามกติกาและมารยาทแห่งความขัดแย้ง ซึ่งจะบ่งบอกถึงความไม่บริสุทธิ์ใจในการแสวงหาสัจธรรม

นั่นคือที่มาของเทปงานบึงเตย ที่ฝ่าย อาลี อีซา นำไปแจกทุกตำบล แล้วยังนำบัตรสนเท่ห์ที่พูดถึงเรื่องส่วนตัวของข้าพเจ้าไปแจกทั่วไป ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ทุกข้อกล่าวหาในบัตรสนเท่ห์หรือในเอกสารของ อาลี อีซา ต่อข้าพเจ้า หรือ อ.มุรีด เป็นเท็จ ไม่เป็นความจริงแต่ประการใดทั้งสิ้น และถ้าหากว่าผู้กล่าวหามีความกล้าที่จะเผชิญกับความจริง โดยมีความปรารถนาดีต่อสัจธรรมนั้น เขาจะไม่มีความประพฤติเช่นนั้น

    สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าอยากให้พี่น้องสังเกตว่า ในคำนำของเอกสาร อาลี อีซา นั้น(หน้า 4) ไม่มีการยืนยันว่า อิบรอฮีม กุเรชี เป็นก๊อดยานียฺ ซึ่งเป็นประเด็นที่เขารับจะตอบข้าพเจ้า และขอยืนยันว่าข้อมูลที่มีอยู่ในเอกสารดังกล่าวของ อาลี อีซา เป็นเรื่องเก่าแก่ที่ อาลี อีซา ได้บิดเบือนบางส่วนและไม่ยอมรับในการสำนึกตัวของ อิบรอฮีม กุเรชี บางเรื่อง ดังที่จะได้ชี้แจงในประเด็นต่อไป

 

2. การตอบโต้ข้อมูลเกี่ยวกับก๊อดยานียฺ (หน้า 8-20)

    ในส่วนนี้ อาลี อีซา ได้นำข้อมูลของนักวิชาการอื่นมาเสนอ  เพื่อให้เห็นว่าตนมีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับก๊อดยานียฺ ซึ่งในสังคมโดยทั่วไปมีความเชื่อว่า อาลี อีซา นั้น เชี่ยวชาญอย่างยิ่งในเรื่องก๊อดยานียฺ แต่ที่คนส่วนมากไม่รู้ก็คือ ข้อมูลที่ อาลี อีซา นำเสนอในเอกสารเป็นข้อมูลที่ทุกคนเห็นด้วย แม้กระทั่ง อิบรอฮีม กุเรชี 

บทความดังกล่าวยืนยันหลักความเชื่อของก๊อดยานียฺต่อ มิรซา ฆุลาม อะหมัด ว่าเป็นนบี หรือเป็นอัลมะซีหฺอัลเมาอู๊ดหรือมะหฺดีมุญัดดิ๊ด แต่หาได้มีข้อความที่เกี่ยวข้องกับ อิบรอฮีม กุเรชี ไม่ เป็นเพียงบทความที่ประณามลัทธิก๊อดยานียฺเท่านั้น ซึ่ง อิบรอฮีม กุเรชี เองก็เคยเขียนบทความเกี่ยวกับลัทธิก๊อดยานียฺ  และมีข้อมูลมากกว่าที่ อาลี อีซา ได้นำเสนอ ซึ่งในบทความดังกล่าวมีการประณามลัทธิก๊อดยานียฺอย่างชัดแจ้งและเขายังได้ประกาศว่า

ข้าพเจ้า (อิบรอฮีม กุเรชี) ไม่เคยเชื่อเลยว่า มิรซา ฆุลาม อะหมัด เป็นนบีในรูปแบบใดๆ หรือเป็นมุญัดดิ๊ดแห่งสมัยใด ไม่เคยเชื่อในข้อเขียนของเขาหรือผู้สืบช่วงทั้งหลายของเขา ซึ่งได้ตั้งลัทธิก๊อดยานียฺหรืออะหฺมะดียะฮฺเพื่อแบ่งแยกมุสลิมออกเป็นสอง พวกด้วยคำสั่งสอนอันแผลงๆ  (ลัทธิกอดิยานีย์โดยย่อ, วารสาร อัล-หุดา ฉบับ 42 (มี.ค. 2533)  และ ฉบับ 41 (ธ.ค. 2532) ; และวารสาร อัล-ฮิดายะฮฺ ฉบับ 32 (ม.ค.-ก.พ. 2546))

ในบทความดังกล่าวยังได้ระบุด้วยว่า ลัทธิก๊อดยานียฺเป็นจำพวกที่อยู่นอกแวดวงของอิสลาม

    คำประกาศของ อิบรอฮีม กุเรชี เป็นการยืนยันที่มีคุณค่าในเชิงนิติศาสตร์อิสลามและสากล เพราะเป็นการปฏิเสธข้อกล่าวหาด้วยคำยืนยันของผู้ถูกกล่าวหาเอง  ซึ่งผู้ที่ไม่ยอมรับคำยืนยันนั้น จำเป็นต้องมีหลักฐานที่จะมาหักล้างคำยืนยันดังกล่าว แต่หลักฐานที่ อาลี อีซา นำมาเพื่อโจมตีและป้ายสี อิบรอฮีม กุเรชี ส่วนมากเป็นข้อมูลที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นความผิดในการตีความความหมายอัลกุรอาน แม้บางประเด็นจะผิดหลักอะกีดะฮฺอย่างชัดเจน แต่ไม่ถึงขั้นตอนที่จะเรียกว่าเป็นก๊อดยานียฺ กาฟิร หรือมุรตัด และจากข้อตอบโต้ในเอกสารฉบับนี้ เราจะพิสูจน์ให้เห็นว่า ระหว่างคำกล่าวหาว่าเป็นก๊อดยานียฺกับหลักฐานที่นำมาเสนอนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันเลย

    ข้าพเจ้าขอชี้แจงว่า อิบรอฮีม กุเรชี เป็นนักวิชาการที่มีความผิดพลาดในการอธิบายความหมายอัลกุรอานหลายประเด็น แต่ความผิดของเขาส่วนมากได้แก้ไขแล้ว เหลือเพียงบางส่วน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องตักเตือนด้วยมารยาทแห่งความขัดแย้งระหว่างนักวิชาการ

    อีกประเด็นหนึ่งที่คนส่วนมากแม้กระทั่ง อาลี อีซา ไม่รู้ก็คือ ลัทธิของก๊อดยานียะฮฺหรืออะหฺมะดียะฮฺ ไม่เคยแฝงตัวหรือแอบซ่อนการเผยแพร่ของเขา แต่ได้ประกาศตัวและเปิดเผยอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นลักษณะของก๊อดยานียะฮฺตั้งแต่ก่อตั้งยุคแรก เมื่อ มิรซา ฆุลาม อะหมัด ยังมีชีวิตอยู่ แม้กระทั่งฝ่ายละโฮร์ที่ อาลี อีซา อ้างว่าเป็นฝ่ายที่อันตรายที่สุด เพราะแฝงตัวในกลุ่มมุสลิม(คำอธิบายอัลกุรอาน ซูเราะฮฺยูนุส , โดย อาลี อีซา หน้า 215)   ซึ่งเป็นการอ้างจากข้อมูลที่ อาลี อีซา คิดเอาเอง โดยปราศจากข้อเท็จจริง เพราะฝ่ายละโฮร์นั้นได้ประกาศตัวและอุดมการณ์ของเขา ในทุกสถานการณ์และทุกสมัย นอกจากนี้ อาลี อีซา ยังกล้ายืนยันในตำราของเขาว่า แนวความคิดของกลุ่มลาโฮร์ปรากฏในตำราที่เป็นภาษาไทยหลายเล่ม อาทิ กุรอานมะญีด บยานุลกุรอาน... (คำอธิบายอัลกุรอาน ซูเราะฮฺยูนุส , โดย อาลี อีซา หน้า 215)   ซึ่งการอ้างของ อาลี อีซา นั้นขัดแย้งกับความจริงหลายประการดังนี้

1.    อุดมการณ์ของอะหฺมะดียะฮฺ (ฝ่ายละโฮร์) ในการเผยแพร่ของเขาคือ การยืนยันว่า มิรซา ฆุลาม อะหมัด เป็นมะซีหฺเมาอู๊ดหรือมะหฺดีมุญัดดิ๊ด ซึ่งมุฮัมมัดอาลี(อดีตหัวหน้า ฝ่ายละโฮร์) ผู้แปลความหมายอัลกุรอานฉบับภาษาอังกฤษได้ระบุในหนังสือของเขาว่า มิรซาฯ เป็นมุญัดดิ๊ดและมะซีหฺเมาอู๊ด และได้ระบุถึงความสำคัญในการแสดงความเคารพต่อมิรซา (The Holy Quran , 1951, Muhammad Ali (president Ahmadiyyah anjuman isha'at islam, Lahore), preface vii.)

2.    ขบวนการอะหฺมะดียะฮฺ(ฝ่ายละโฮร์) มีระบบการเผย แพร่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นทางอินเตอร์เน็ทหรือโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม โดยมีจุดมุ่งหมายอันชัดเจนเพื่อบรรลุความสำเร็จในการเผยแพร่ลัทธิของเขาและมีสาขาอยู่ทั่วโลก เห็นได้ว่าพวกเขาไม่เคยแฝงความเห็นของเขาในกลุ่มซุนนะฮฺ หรือในสังคมมุสลิมทั่วไป

3.    หากว่า อิบรอฮีม กุเรชี เป็นก๊อดยานียฺหรือเป็นสาขาของฝ่ายละโฮร์ในประเทศไทย เหตุใดจึงไม่มีผู้สืบทอดการดำเนินงานของเขา ตำรับตำราของ อิบรอฮีม กุเรชี ก็ไม่มีความต่อเนื่องในการเผยแพร่ ซึ่งทุกคนที่ใกล้ชิดเขาสามารถยืนยันว่า อิบรอฮีม กุเรชี ไม่เคยเผยแพร่เรื่องก๊อดยานียฺ ไม่เคยระบุถึงมิรซาฯหรือมุฮัมมัดอาลีในเชิงยกย่องให้เกียรติ ไม่เคยบังคับให้ใช้ตำราของก๊อดยานียะฮฺหรืออะหฺมะดียะฮฺ หรือแม้กระทั่งตำราของตนเอง ทั้งๆที่เขาเคยอุดหนุนหลายสถาบัน ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอิสลามในประเทศไทย  (นักเขียนมุสลิม, แจกในงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ฮ.ศ.1423, หน้า 38)

4.    สาขาอะหฺมะดียะฮฺ(ฝ่ายละโฮร์) และสาขาก๊อดยานียะฮฺ(ฝ่ายร็อบวะฮฺ) มีอยู่ในประเทศไทยหลายปีแล้วและมีกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ลัทธิของเขาด้วย แต่ อาลี อีซา ซึ่งเป็นผู้ชำนาญในเรื่องก๊อดยานียฺตลอดสามสิบปีกลับไม่เคยรับทราบข้อมูลดังกล่าว
 


3. การตอบโต้การอ้างรูปภาพอิบรอฮีม กุเรชี กับมุฮัมมัดอาลี (หน้า 21-22)

    ในเอกสารของ อาลี อีซา ได้นำรูปภาพจากวารสารที่ไม่มีที่มา โดยมีภาพ อิบรอฮีม กุเรชี นั่งอยู่กับมุฮัมมัดอาลี (หัวหน้าฝ่ายละโฮร์) และชาวต่างประเทศหลายคน ในภาพนี้ระบุอย่างชัดเจน   ว่าเป็นภาพของมุฮัมมัดอาลีกับมิตรสหายและผู้ที่นิยมชมชอบเขาจากประเทศต่างๆ ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธว่าภาพนั้นเป็นภาพจริง แต่หาเป็นหลักฐานยืนยันว่า อิบรอฮีม กุเรชี เป็นก๊อดยานียฺไม่ เพราะบุคคลในภาพเป็นชาวต่าง ประเทศที่รู้จักมุฮัมมัดอาลีจากผลงานของเขาหลายเล่ม โดย เฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือความหมายและคำอธิบายอัลกุรอานภาคภาษาอังกฤษ

มีผู้รู้หลายท่านที่ติดตามผลงานของมุฮัมมัดอาลีในอดีตโดยไม่รู้ว่าเขาเกี่ยวข้องกับลัทธิก๊อดยานียฺ เช่น ดร.อับดุล วาฮาบ อัซซาม อดีตเอกอัครราชทูตอียิปต์ ประจำประเทศปากีสถาน เป็นนักภาษาอาหรับ นักเขียน และกรรมการสภาองค์กรภาษาอาหรับแห่งประเทศอียิปต์ ผู้รู้ท่านนี้มีชื่อระบุในเว็บไซต์ของขบวนการอะหฺมะดียะฮฺ ว่าเป็นมิตรสหายและเป็นผู้ที่นิยมชมชอบมุฮัมมัดอาลี ที่ได้ขออนุญาตแปลตำราของมุฮัมมัดอาลีเป็นภาษาอาหรับด้วย (ข้อมูลจากเว็บไซต์ของขบวนการอะหฺมะดียะฮฺ(ฝ่ายละโฮร์) http://aaiil.org/ : The Lahore Ahmadiyya Movement for the Propagation of Islam.)  แต่ทว่าไม่มีผู้ใดในกลุ่มประเทศอาหรับหรือมุสลิมที่รู้จัก ดร.อับดุลวาฮาบ อัซซาม กล่าวถึงท่านว่าเป็นก๊อดยานียฺหรือเกี่ยวข้องกับก๊อดยานียฺแต่ประการใดทั้งสิ้น 

อิบรอฮีม กุเรชี ก็เช่นเดียวกัน มีชื่อระบุในเว็บไซต์ของอะหฺมะดียะฮฺ ว่าเป็นบุคคลที่แปลหนังสือของมุฮัมมัดอาลีเป็นภาษาไทย (http://www.aaiil.org/text/biog/biog/mali.shtml แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าการแปลหนังสือฉบับใดก็ตาม ไม่เป็นหลักฐานว่าผู้แปลนั้นเชื่อทุกประเด็นในต้นฉบับ และหลักฐานที่ชัดเจนในการปฏิเสธว่า อิบรอฮีม กุเรชี มิได้เป็นผู้เผยแผ่ลัทธิอะหฺมะดียะฮฺ(ฝ่ายละโฮร์)ในประเทศไทยก็คือ การประกาศในเว็บไซต์ของอะหฺมะดียะฮฺว่า หัวหน้าสาขาฝ่ายละโฮร์ในประเทศไทยไม่ใช่ อิบรอฮีม กุเรชี  (http://www.aaiil.org/text/cntct/contact.shtml ) ซึ่งข้าพเจ้าได้ติดต่อกับสาขาอะหฺมะดียะฮฺ(ฝ่ายละโฮร์)ในประเทศไทยแล้ว และได้รับคำตอบยืนยันว่า ฝ่ายละโฮร์ไม่มีตำรับตำราเกี่ยวกับแนวคิดของเขาที่เป็นภาษาไทยเล่มใดทั้งสิ้น และไม่มีผู้เผยแผ่ลัทธิของเขาที่สามารถพูดภาษาไทยได้เลย

    อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกลุ่มก๊อดยานียฺที่เกี่ยวกับคนบริสุทธิ์นั้น ไม่สมควรที่จะรับมาโดยไม่วิเคราะห์หรือไตร่ตรอง เพราะการถ่ายรูปร่วมกับผู้อื่นและอ้างว่าเขาเป็นสมาชิกของก๊อดยานียฺนั้น เป็นพฤติกรรมที่มีในกลุ่มก๊อดยานียฺ เป็นเรื่องปกติ เช่นกรณีที่ ลอร์ด เฮ็ดลี มุฮัมมัดบักต์ฮาล, เซอร์ อาร์ยีบาลด์ เฮมิลตัน, ดร.ชีล เร็ก และ เซอร์ สติวาร์ด ริงกัล ชาวยุโรปที่เข้าอิสลาม แต่ ควาจา กมาลุดดีน (มือขวามุฮัมมัดอาลี) ได้อ้างว่าบุคคลเหล่านี้เข้าศาสนาอิสลามโดยกลุ่มอะหฺมะดียะฮฺ แม้กระทั่งอาจารย์อับดุลฮักก์ อัลมะหฺรูส (บรรณาธิการวารสาร อัร-ริซาละฮฺ ที่มีชื่อเสียงในประเทศอียิปต์) ก็ได้ประกาศว่ามีผู้เผยแผ่อิสลามที่มีบทบาท สูงในยุโรปชื่อ ควาจา กมาลุดดีน (เพราะไม่ทราบว่าเขาเป็นก๊อดยานียฺ)แต่ปรากฏว่าลอร์ดเฮ็ดลีและบุคคลเหล่านั้นได้ประกาศ ว่า เขาไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก๊อดยานียฺด้วยประการทั้งปวง (อัลกอดิยานียะฮฺ , โดย เอียะหฺซาน อิลาฮี ซอฮีร หน้า 259)  แต่พวกก๊อดยานียฺ(ฝ่ายละโฮร์) ก็ยังนำรูปและชื่อของเขาลงในเว็บไซต์ด้วย (Converted to islam, http://aaiil.org/)

    จากข้อมูลดังกล่าว นักวิชาการผู้มีความเชี่ยวชาญและมีความซื่อสัตย์ในการวินิจฉัยและวิเคราะห์ สามารถเห็นได้ว่าการที่ อาลี อีซา นำรูปภาพมาเป็นหลักฐานในการกล่าวหา อิบรอฮีม กุเรชี เป็นเรื่องตลกในเชิงวิชาการ โดย เฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราทราบกันดีว่า อิบรอฮีม กุเรชี ปฏิเสธแล้วว่าไม่ได้เป็นก๊อดยานียฺหรืออะหฺมะดียฺ และข้าพเจ้าขอยืนยันว่า การที่อิบรอฮีม กุเรชี ถ่ายรูปร่วมกับมุฮัมมัดอาลี เป็นการกระทำที่บ่งบอกถึงความบริสุทธิ์ของ อิบรอฮีม กุเรชี เพราะภาพนี้ถ่ายเมื่อปี พ.ศ.2494 (เว็บไซต์ของขบวนการอะหฺมะดียะฮฺ(ฝ่ายละโฮร์)ระบุว่า เป็นปีที่มีการประชุมของตัวแทนโลกมุสลิมจากประเทศต่าง ๆ ซึ่ง อิบรอฮีม กุเรชี เป็นคนหนึ่งในตัวแทนจากประเทศไทยไปประชุมที่การาจี ประเทศปากีสถาน และได้ไปเยี่ยมมุฮัมมัดอาลีพร้อมกับผู้ร่วมประชุมจากประเทศอื่นๆ)   ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ อิบรอฮีม กุเรชี ยังไม่ได้รับคำเตือนจากใครเกี่ยวกับผลงานของเขา เพราะเหตุการณ์ที่อาจารย์ดารี บินอะหมัด ได้พบกับ อิบรอฮีม กุเรชี เพื่อเตือนเขาถึงความผิดพลาดในหนังสือบยานุลกุรอาน เล่ม 3 (พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2500)   (โดยมีข้อสรุปว่า อิบรอฮีม กุเรชี ยอมรับข้อผิดพลาด ) ก็เกิดขึ้นหลังปี พ.ศ.2500 ซึ่งเป็นหลักฐานว่าเหตุการณ์ของรูปภาพนั้น เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับ อิบรอฮีม กุเรชี เพราะถ้าหากว่า อิบรอฮีม กุเรชี ถูกกล่าวหาว่าเป็นก๊อดยานียฺหรืออะหฺมะดียฺและเขาได้ปฏิเสธแล้ว ก็เป็น ไปไม่ได้ที่จะไปถ่ายรูปร่วมกับกลุ่มก๊อดยานียฺ เพื่อเป็นการสนับสนุนข้อกล่าวหาของคู่กรณี

สุดท้ายนี้ เราไม่ปฏิเสธว่า อิบรอฮีม กุเรชี เคยใช้ตำราของมุฮัมมัดอาลี ในการแปลอัลกุรอานเป็นภาษาไทย แต่ในยุคนั้นหนังสือตัฟซีรของมุฮัมมัดอาลี เป็นตำราที่ได้รับความนิยมจากนักเขียนที่ไม่ใช่ชาวอาหรับทั่วไป แม้กระทั่งในปัจจุบันก็มียอดขายสูงมากตามสถิติของ www.amazon.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียง ในการขายหนังสือวิชาการนานาชนิดทางอินเตอร์เน็ท

การกระทำของ อิบรอฮีม กุเรชี ก็ไม่ต่างจากนักวิชาการอื่นๆที่อาจใช้ตำรับตำราของพวกบิดอะฮฺที่ชำนาญ ในวิชาการด้านอื่น เช่นอัซซะมัคชะรียฺ ซึ่งเป็นผู้ที่ยึดในแนวมุอฺตะซิละฮฺแต่มีความรู้ในด้านภาษาศาสตร์ดีเยี่ยม อุละมาอฺของซุนนะฮฺก็ยอมรับในความรู้ด้านนี้ แม้กระทั่ง อาลี อีซา ก็ยังใช้ตำรับตำราของอุละมาอฺที่มีบิดอะฮฺ แต่มีความเชี่ยวชาญในด้านอื่นๆ เช่น ชัยคฺมุฮัมมัด อบูซุฮฺเราะฮฺ,  ชัยคฺมุฮัมมัดรอชีด ริฎอ, ชัยคฺอัฏฏอนฏอวียฺ เยาฮะรียฺ, ชัยคฺอับดุรเราะฮฺมาน อิบนุคอลดูน

แต่ข้าพเจ้าก็ยังยืนยันว่า การที่ อิบรอฮีม กุเรชี นำหนังสือตัฟซีรของมุฮัมมัดอาลีมาเป็นแหล่งข้อมูลนั้นไม่สมควร สำหรับผู้ที่ยึดมั่นในแนวซุนนะฮฺ แต่เนื่องจากว่า อิบรอฮีม กุเรชี นั้นไม่มีความสามารถสูงในด้านภาษาอาหรับ จึงจำเป็นสำหรับเขาที่ต้องอาศัยตำราภาษาอังกฤษที่เขาเชี่ยวชาญอยู่แล้ว

ภาพที่ อาลี อีซา เสนอให้สังคมพิพากษาว่า อิบรอฮีม กุเรชี เป็นก๊อดยานียฺนั้น ตามหลักการตัดสินอิสลามหรือกฎหมายสากลถือว่าเป็นหลักฐานที่โมฆะ เพราะทุกคนอาจประสบกับกรณีเช่นนี้ได้ เช่น คนที่มีภาพกราบผู้อื่นในหน้าที่ปฏิบัติของข้าราชการ จะถือว่าเป็นคนที่ยึดศาสนาพุทธไม่ได้, หรือเคยถ่ายรูปกับเพื่อนฝูงที่เป็นชีอะฮฺ จะเรียกว่าเขาเป็นชีอะฮฺด้วยไม่ได้, หรือคนที่เคยร่วมกิจกรรมกับรัฐบาลพรรคอัลบาธของ ซัดดัม ฮุสเซน จนกระทั่งส่งลูกศิษย์ไปเรียนในมหาวิทยาลัยซัดดัมฮุสเซน ก็จะถือว่าเป็นผู้ชื่นชมแนวของพรรคอัลบาธไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่พรรคอัลบาธนั้นมีฟัตวาจากเชคบินบาซ ว่าเป็นพรรคที่ออกนอกกรอบศาสนาและปฏิเสธหลักอะกีดะฮฺอันมั่นคงในศาสนาอิสลาม (ฟะตะวาฮัยอัตกิบาร อัลอุละมาอฺ , สภาอุละมาอฺอาวุโสแห่งประเทศซาอุดิอาระเบีย)  ฯลฯ  และถ้าการอ้างภาพสามารถนำมาเป็นหลักฐานในการกล่าวหาผู้อื่น แสดงว่าใครก็ตามที่ถ่ายภาพคนที่เดินอยู่ในซอยนานาหรือถนนข้าวสารหรือพัฒนพงษ์ ก็สามารถนำภาพนั้นมากล่าวหาผู้อื่นได้โดยปราศจากความยุติธรรม

แท้จริงแล้ว ระหว่างนักวิชาการไม่สมควรที่จะป้ายสีกันด้วยวิถีทางนี้(อ้างภาพ) เพราะเป็นวิถีทางของนักการ เมืองมากกว่าเป็นวิถีทางของนักวิชาการ โดยเฉพาะผู้ที่ต้อง การให้สัจธรรมกระจ่างในสังคมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำวิชาการอันมีน้ำหนักเท่านั้นมาเป็นข้ออ้างอิง แต่ อาลี อีซา หาได้ทำเช่นนั้นไม่
 

4. การตอบโต้ “ความเป็นมาของลัทธิก๊อดยานีย์ในประเทศไทย” (หน้า 24-25)

    อาลี อีซา นำข้อความเก่าแก่ระหว่าง อิบรอฮีม กุเรชี และผู้ที่มีชื่อว่า เอ.แอม.บหาเดอร์ และอ้างว่าบุคคลนั้นเคยกล่าวหา อิบรอฮีม กุเรชี ว่าเป็นก๊อดยานียฺ แต่เมื่อ อาลี อีซา นำข้อความที่ถูกเขียนในช่วงนั้นมาเสนอ ปรากฏว่าไม่มีประเด็นที่เกี่ยวกับก๊อดยานียฺเลย จะเห็นว่าการที่นำเรื่องความขัดแย้งระหว่าง อิบรอฮีม กุเรชี กับผู้อื่นมาเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับปัญหาก๊อดยานียฺนั้น เป็นวิธีใส่ร้ายที่น่าเกลียดมาก เพราะจะสังเกตได้ว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 2491-2493 ก่อนที่ อาลี อีซา จะเข้ามาเมืองไทย (พ.ศ. 2508) ด้วยซ้ำ ถ้าหากว่า อาลี อีซา มีข้อมูลที่ได้มาจาก เอ.แอม.บหาเดอร์ จริง ทำไมไม่นำมาเปิดเผย แต่กลับนำรื่องส่วนตัวระหว่าง อิบรอฮีม กุเรชี กับคนๆนั้นมาเสนอ และตีความโดยคิดเอาเองว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับก๊อดยานียฺ หากท่านผู้อ่านได้กลับไปดูข้อความในเอกสารของ อาลี อีซา แล้วพิจารณาด้วยความเป็นธรรม ก็จะเป็นที่ประจักษ์ว่าข้อมูลที่ถูกนำมาเสนอนั้นมีน้ำหนัก ณ ผู้มีสติปัญญาหรือในเชิงวิชาการหรือไม่ ?
 

5. การตอบโต้การอ้างหนังสือของอาจารย์ดารี บินอะหมัด (หน้า 26-34)

    หนังสือของ อาจารย์ดารี บินอะหมัด เป็นการชี้แจงการโต้เถียงเกี่ยวกับเรื่องนบีอีซามีพ่อ ที่ปรากฏในบยานุลกุร อาน และสุดท้ายมีข้อสรุปว่า อิบรอฮีม กุเรชี ยอมแก้ไขข้อผิดพลาดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่ง อิบรอฮีม กุเรชี ได้ทำใบแทรกและแจกกับหนังสือบยานุลกุรอาน แต่อาจารย์ดารี ถือว่า อิบรอฮีม กุเรชี เบี้ยวคำสัญญาและนำเรื่องนบีอีซามีพ่อมาระบุในกุรอานมะญีด เล่มที่ 3 หน้า 1990 (พิมพ์ครั้งแรก) ซึ่งมีข้อความว่า มัรยัม : ก่อนจะแต่งงานได้มีทำนายเกี่ยวกับการเกิดของท่านนบีอีซา  ประโยคนี้ทำให้ อาลี อีซา และอาจารย์ดารีเข้าใจว่า อิบรอฮีม กุเรชี ยังคงเชื่อว่านบีอีซามีพ่อ แต่แท้จริงประโยคดังกล่าวเป็นประโยคที่คลุมเครือ เพราะในหนังสือตัฟซีรอัฏฏ๊อบรียฺ (เล่ม 16 หน้า 63 พิมพ์ที่เลบานอน ปี ฮ.ศ.1405) ก็มีข้อความทำนองเดียว กันว่า

قَالَتْ مَرْيَمُ لِجِبْرِيْلَ أَنَّى يَكُوْنُ لِيْ غُلامٌ : مِنْ أَيِّ وَجْهٍ يَكُوْنُ لِيْ غُلامٌ أَمِنْ قَبْلِ زَوْجٍ أَتَزَوَّجُ ...

มัรยัมเถียงญิบรีลว่า ฉันจะมีลูกก่อนจะแต่งงานกับสามีได้อย่างไร

    ข้อความของ อิบรอฮีม กุเรชี อาจสร้างความสับสนให้ผู้ที่ทราบความเห็นของเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ในอดีต แต่ในหนังสือของอาจารย์ดารีที่ อาลี อีซา ยกมา อ.ดารี ก็ได้ยืนยันว่า ความหมายอัลกุรอานอายะฮฺที่ อิบรอฮีม กุเรชี เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องนบีอีซามีพ่อ ก็ไม่ปรากฏสิ่งที่จะบ่งบอกว่าเขามีความเชื่อเหมือนอดีต (หน้า 33) ถึงแม้ว่า อิบรอฮีม กุเรชี เคยยืนยันเรื่องนี้ในบยานุลกุรอานและวารสารอัลหุดา แต่เป็นที่เข้าใจกันว่า อิบรอฮีม กุเรชี ประกาศความผิดพลาดของเขาในครั้งที่มีการโต้เถียงระหว่าง อิบรอฮีม กุเรชี กับชีอะฮฺเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ซึ่งมีพยานเป็นสิบๆคน ได้ยิน อิบรอฮีม กุเรชี ประกาศว่าเขาผิดพลาดในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าขอระบุผู้เป็นพยาน 2 ท่านที่ได้ยิน อิบรอฮีม กุเรชี ประกาศอย่างชัดเจนว่า การที่นบีอีซาไม่มีพ่อและการพูดของนบีอีซาตั้งแต่อยู่ในเปล เป็นมหัศจรรย์ที่ต้องยอมรับ คือ อาจารย์อิมรอน บินยูซุฟ  (ที่อยู่ : เจริญกรุง 103 กทม.) และ อาจารย์ศอดิกีน อับดุลบารีย์ โฆษกของรายการวิทยุส่องทางธรรม ซึ่งเป็นบุคคลที่เรารู้จักกันดี

นอกจากนั้น การพิมพ์กุรอานมะญีดครั้งล่าสุดก็ได้แก้ไขเรื่องเหล่านี้แล้ว แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนกุรอานมะญีดได้สำนึกตัว โดยแก้ไขและประกาศอย่างชัดเจนแล้ว ดังนั้น ไม่มีใครมีสิทธิที่จะนำเรื่องอดีตมาพูดแล้วพูดเล่า เสมือนเอาความผิดของแต่ละบุคคลที่เขาเตาบัตแล้วมาเปิดเผยทุกยุคทุก สมัย โดยอ้างตัวเปรียบเสมือนศาลที่จะพิพากษาคนอื่นด้วยอำนาจล้นเหลือ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ศาสนาได้ประณามและตักเตือนมิให้บรรดามุอฺมินีนกล่าวหากัน ในความผิดที่สำนึกตัวแล้ว เพราะพระผู้ทรงเมตตากรุณา ทรงให้อภัยในความ ผิดทุกชนิดในเมื่อแก้ไขและประกาศแล้ว ส่วนคนที่ไม่รู้ว่าเขาประกาศหรือไม่ ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อบกพร่องสำหรับผู้สำนึกผิด

อันที่จริงทัศนะที่ว่าท่านนบีอีซามีพ่อนี้ เป็นเรื่องที่สังคมลืมไปนานแล้ว แต่ อาลี อีซา เป็นผู้ฟื้นปัญหานี้ขึ้นมาอีก จนทำให้คนบริสุทธิ์บางคนถามว่า ใครหรือที่พูดว่านบี  อีซามีพ่อ? ซึ่งจะบ่งบอกว่าเรื่องนี้ไม่เป็นอันตรายต่อสังคมแล้ว เพราะตำราของ อิบรอฮีม กุเรชี ที่มีระบุเรื่องนี้ไม่ได้ถูกตีพิมพ์อีกแล้วและหายากมากด้วยซ้ำ (นอกจากจะมีผู้ไม่บริสุทธิ์ใจนำออกมาให้ประชาชนทั่วไปอ่าน) จึงขอให้พี่น้องทุกท่านอยู่ในความปลอดภัย และอย่าให้มีการขาดทุนในการกล่าวหาผู้บริสุทธิ์โดยปราศจากหลักฐาน เพราะท่านนบี  กล่าวว่า “ใครก็ตามที่กล่าวหาคนหนึ่งคนใดว่าเป็นกาฟิร ในเมื่อผู้ถูกกล่าวหาไม่เป็นเช่นนั้น การกล่าวหานั้นจะกลับมาสู่ผู้กล่าวหา”
 

6. การตอบโต้ “แถลงการณ์ของเชคอาลี อีซา พ.ศ.2520” (หน้า 36-46)

    แถลงการณ์ดังกล่าว อาลี อีซา ระบุประวัติของเขากับ อิบรอฮีม กุเรชี ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าคิดและและนำมาวิเคราะห์ แต่ข้าพเจ้าไม่อยากจะให้การโต้ตอบของข้าพเจ้าเป็นการจับผิดหรือพิจารณาข้อความอย่างละเอียดเพื่อโจมตีคนหนึ่งคนใด เพียงแต่แสวงหาเหตุผลที่จะให้ข้าพเจ้าเข้าใจ ความประพฤติและบทบาทของ อาลี อีซา ต่อ อิบรอฮีม กุเรชี

อาลี อีซา ได้ระบุในหน้าที่ 36 ว่า

ก่อนที่เขาจะเดินทางมาประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2508 ในฐานะผู้แทนอิสลามิกคองเกรส (มุอฺตะมัรอิสลาม)แห่งประเทศอียิปต์ เขาได้ศึกษารายงานเกี่ยวกับมุสลิมในประเทศไทยและทราบว่า อิบรอฮีม กุเรชี ได้แปลความ หมายอัลกุรอานเป็นภาษาไทย(บยานุลกุรอาน)มาได้ 4 ญุชอฺเท่านั้นก็ต้องหยุดชะงัก เนื่องจากมีความคิดที่ไม่ตรงกับอิสลามหลายประการ

ในข้อความนี้มีการยืนยันจาก อาลี อีซา ว่าเขาทราบมาก่อนแล้วว่า อิบรอฮีม กุเรชี มีทัศนะที่ไม่ตรงกับอิสลามหลายประการ

แต่ในหน้า 39 อาลี อีซา ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2510 ว่า

เขารู้ว่า อิบรอฮีม กุเรชี อาศัยหนังสือตัฟซีรภาคภาษาอังกฤษของมุฮัมมัดอาลี ในการจัดทำกุรอานมะญีดฉบับภาษาไทย และเจ้าหน้าที่อาหรับก็ได้เตือน อาลี อีซา แล้วว่าการใช้หนังสือตัฟซีรของมุฮัมมัดอาลีนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่ อาลี อีซา ตอบว่า ข้าพเจ้ายังไม่พบอะไรจากเขา (อิบรอฮีม กุเรชี) ที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เขามิได้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง จึงยังไม่น่าจะปลีกตัวออกห่างจากเขา

จากข้อความนี้ เราขอถาม อาลี อีซา ว่า ขณะที่ท่านได้อ่านรายงานเกี่ยวกับ อิบรอฮีม กุเรชี ที่บ่งบอกว่าเขามีทัศนะที่ผิดหลักการอิสลาม และขณะที่ท่านรู้ว่า อิบรอฮีม กุเรชี อาศัยหนังสือของมุฮัมมัดอาลีในการจัดทำกุรอานมะญีด และเจ้าหน้าที่อาหรับก็เตือนท่านว่าการใช้ตำราของมุฮัมมัดอาลีเป็นเรื่องอันตราย แต่ท่านกลับกล่าวว่ายังไม่มีเครื่องพิสูจน์ว่า อิบรอฮีม กุเรชี อยู่ในแนวทางที่ถูกต้องหรือไม่ ขอถามว่า เมื่อไรที่ท่านได้พิสูจน์ว่า อิบรอฮีม กุเรชี อยู่ในแนวทางที่ถูกต้องหรือไม่

ขอชี้แจงให้ผู้อ่านทราบว่า อาลี อีซา เคยคลุกคลีกับชาวบางกอกน้อยตั้งแต่มาอยู่ประเทศไทยช่วงแรกๆ และได้รับคำตักเตือนจากชาวบางกอกน้อยแล้วว่า อิบรอฮีม กุเรชี มีทัศนะที่บิดเบือนในบยานุลกุรอาน นอกจากนี้ ครูสอ๊าด อับดุลเลาะห์ ครูใหญ่โรงเรียนมุสลิมวิทยาคารก็เคยเตือน อาลี อีซา เรื่องนี้แล้ว แต่ อาลี อีซา ไม่ยอมรับคำเตือนและยังยืนยันในความเป็นเพื่อนสนิทกับ อิบรอฮีม กุเรชี จนกระทั่งพา อิบรอฮีม กุเรชี เข้าไปบริหารโรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร และครูสอ๊าดซึ่งทราบดีถึงข้อหาเกี่ยวกับ อิบรอฮีม กุเรชี แต่ไม่เคยต่อต้าน อาลี อีซา ว่าเป็นก๊อดยานียฺหรือผู้สนับสนุนก๊อดยานียฺ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่น่าประหลาดสำหรับนักวิชา การที่อ้างว่ามีจุดยืนในเรื่องอะกีดะฮฺ แต่กลับอ้างว่า ในเวลานั้นยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับ อิบรอฮีม กุเรชี ว่าเป็นก๊อดยานียฺ กรุณากลับไปฟังเทปของวันที่ 12 เม.ย. 46 อาลี อีซา และครูสอ๊าดได้ยืนยันว่า ปัญหาของก๊อดยานียฺเก่าแก่มากกว่า 50 ปี ซึ่งครูสอ๊าดเองก็พูดว่า เขาได้รับรู้ปัญหานี้ตั้งแต่อายุ 14 ปี เมื่อเขายังเรียนที่มัสยิดอันซอริซซุนนะห์ บางกอกน้อย

ข้าพเจ้าไม่อยากจะวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีตให้มากกว่านี้ แต่ขอตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ทั้งๆที่ข้าพเจ้าไม่เคยพบ อิบรอฮีม กุเรชี ไม่เคยสนิทกับ อิบรอฮีม กุเรชี ไม่เคยปกป้อง อิบรอฮีม กุเรชี แต่กลับถูกกล่าวหาจาก อาลี อีซา, ครูสอ๊าด อับดุลเลาะห์, ครูตอฮา อับดุลเลาะห์ และครูอับดุลลอฮฺ แดงโกเมน ว่าข้าพเจ้าเป็นก๊อดยานียฺ หรือเป็นผู้สนับสนุนก๊อดยานียฺ หรือเป็นผู้สนับสนุนผู้ที่สนับสนุนก๊อดยานียฺ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ตลกมากในเชิงวิชาการและสำหรับนักเผยแผ่อิสลาม

ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า อิบรอฮีม กุเรชี มีข้อผิดพลาดหลายประเด็น แต่เนื่องจากเขาเคยยืนยันว่า เขามิใช่ก๊อดยานียฺ และไม่เกี่ยวข้องกับก๊อดยานียฺ และได้ประณามลัทธิก๊อดยานียฺอย่างชัดเจน จึงเป็นหลักฐานอันชัดแจ้งสำหรับข้าพเจ้าว่า อิบรอฮีม กุเรชี ถึงแม้ว่าจะมีข้อผิดพลาด แต่ข้าพเจ้าไม่บังอาจที่จะชี้ขาดว่าเขาเป็นก๊อดยานียฺด้วยประการทั้งปวง

จึงขอให้พี่น้องผู้ศรัทธาตระหนักในหน้าที่ของมุอฺมิน ที่จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงจากการกล่าวหาผู้อื่นด้วยความสงสัย หรือป้ายสีผู้อื่นด้วยความแค้นในปัญหาส่วนตัว และขอให้มีความตระหนักในหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่ต้องตักเตือน ชี้แจง นะศีฮัตสังคม ด้วยมารยาทแห่งผู้เผยแผ่อิสลาม และอย่าให้การชี้แจงตักเตือนของเรามีความแข็งกระด้าง ก้าวร้าว หรือไร้จริยธรรมแห่งอิสลาม เพราะเป็นสาเหตุที่จะทำลายอิสลามเหมือนลัทธิอุบาทว์เช่นเดียวกัน