การนะศีหะฮฺ(ตักเตือน)พี่น้อง (สู่อีมานที่มั่นคง 51)

Submitted by dp6admin on Mon, 01/06/2020 - 07:01
เนื้อหา

กรณีที่เราพบเห็นความผิด เห็นพี่น้องของเรากระทำความผิดในลักษณะที่ขัดกับหลักการศาสนา เราต้องรอให้เขามาถามเราเกี่ยวกับความผิดนั้น หรือเราต้องไปหาเขาเพื่อให้นะศีหะฮ์แก่เขา? อุละมาอ์ได้เปรียบเทียบการให้นะศีหะฮ์แก่พี่น้องมุสลิมว่าเสมือนกับเรากำลังเห็นคนจมน้ำหรือถูกไฟเผาหรือกำลังประสบปัญหาที่จะนำไปสู่ความหายนะ ด้วยความสงสารและความรับผิดชอบเราต้องเป็นฝ่ายวิ่งไปหาเขาเพื่อนำเขาออกจากหายนะนั้น เมื่อเราเห็นคนหนึ่งคนใดปฏิบัติในสิ่งที่จะทำให้เขาถูกนำไปยังนรกญะฮันนัมหรือความหายนะแห่งปรโลก เราก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ของเราในการให้นะศีหะฮ์

 

พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพทั้งหลายครับ อัสสลามุอลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์

ในศาสนาของเรามีหลายเรื่องที่มีความสำคัญที่ย่อมจะเป็นสิ่งที่มุสลิมต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและจะมีเรื่องที่ศาสนาเน้นมาก ให้ความสำคัญให้ความยิ่งใหญ่กับเรื่องนี้นั่นก็คือ การตักเตือน การให้นะศีหะฮ์ ดังที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

الدين النصيحة
ความว่า “ศาสนานั้นคือการนะศีหะฮ์”
(บันทึกโดยมุสลิม)

ท่านนบีพูดประโยคนี้ซ้ำ 3 ครั้ง (เน้นย้ำเพื่อชี้ถึงความสำคัญ) จนบรรดาเศาะหาบะฮ์ถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า การที่ศาสนาคือการตักเตือนนั้นจะตักเตือนใคร? ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ตอบว่า

لله ولكتابه ولرسوله ولأئمة المسلمين وعامتهم
ความว่า “การนะศีหะฮ์นั้นเป็นการตักเตือนเพื่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา เพื่อคัมภีร์ของพระองค์ เพื่อศาสนทูตของพระองค์ เพื่อบรรดาผู้นำของประชาชาติ และเพื่อบรรดามุสลิมโดยทั่วไป”
(บันทึกโดยมุสลิม)

นี่เป็นการบ่งบอกถึงหน้าที่ของมุสลิมที่อยู่ในสังคม เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ยึดมั่นในศาสนาที่มั่นคง หน้าที่ของทุกคนที่มีอีหม่านต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ต่อคำบัญชาของพระองค์ 

แต่ในหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่กล่าวว่า “แท้จริงศาสนาคือการนะศีหะฮ์” และอีกสำนวนกล่าวว่า “ศาสนานั้นคือการนะศีหะฮ์” หมายถึงว่าศาสนาคือการตักเตือน เราก็อาจเข้าใจว่าศาสนามีแต่การตักเตือน แต่นักภาษาอาหรับจะพูดว่า “ศาสนาคือการตักเตือน” มิได้หมายความว่าศาสนามีแต่การตักเตือน แต่หมายความว่า “สิ่งสำคัญมากในศาสนาคือการตักเตือน” เหมือนที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

الحج عرفة
ความว่า “การประกอบพิธีหัจญ์นั้นคือการอยู่ที่ทุ่งอะเราะฟะฮ์” (บันทึกโดยอบูดาวูด)

เราทราบกันดีว่าการประกอบพิธีหัจญ์นั้นมีหลายเงื่อนไขที่เราต้องปฏิบัติ เช่น การตั้งเจตนา การครองอิห์รอม การพักค้างคืนที่มินา การเฏาะวาฟ การสะแอ ฯลฯ ประเด็นต่างๆ นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบพิธีหัจญ์เช่นกัน แต่ท่านนบีจะเน้น ให้ความสำคัญ ให้ความยิ่งใหญ่กับการอยู่ที่อะเราะฟะฮ์ อันเนื่องจากเป็นรุกุ่น เป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการประกอบพิธีหัจญ์

เช่นเดียวกันในศาสนาของเราก็จะมีหลายประเด็นที่มีความสำคัญ แต่สำหรับสายตาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะเห็นว่าเรื่องที่มีความยิ่งใหญ่ในศาสนานั้นก็คือการตักเตือนซึ่งกันและกัน นั่นเป็นสิ่งที่ถูกระบุในอัลกุรอานอย่างชัดเจน โดยที่เกี่ยวกับความศรัทธาที่มีอยู่ในใจของบรรดาผู้ศรัทธานั้น อัลลอฮ์ได้ตรัสไว้ในกุรอานว่า

﴿ وَٱلۡعَصۡرِ ١ إِنَّ ٱلۡإِنسَٰنَ لَفِي خُسۡرٍ ٢ إِلَّا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلۡحَقِّ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلصَّبۡرِ ٣ ﴾ [العصر: ١،  ٣]  
ความว่า “ขอสาบานด้วยเวลา แท้จริงมนุษย์อยู่ในการขาดทุน เว้นแต่บรรดาผู้ศรัทธาและประกอบการงานที่ดี และตักเตือนซึ่งกันและกันในสัจธรรม และตักเตือนซึ่งกันและกันให้อดทน”
(อัลอัศร์ อายะฮ์ที่ 1-3)

นี่คือคุณลักษณะของบรรดาผู้ศรัทธา ของมนุษย์ที่ประสบความสำเร็จ ที่ไม่มีการขาดทุน บ่งบอกว่าศาสนามีการยืนยันถึงบทบาทหน้าที่ของบรรดาผู้ศรัทธาที่ต้องตักเตือนซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงถือว่าเป็นสิทธิของผู้ศรัทธาทุกคนที่เมื่อเขาขอการนะศีหะฮ์จากพี่น้องผู้ศรัทธาแล้ว ผู้ที่ถูกขอจำเป็นต้องให้คำแนะนำตักเตือนแก่เขา เป็นสิทธิที่เราต้องปฏิบัติซึ่งกันและกัน ดังที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

فإذا استنصح أحدكم أخاه فلينصح له
ความว่า“เมื่อคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านได้ขอนะศีหะฮ์จากพี่น้องของเขาแล้ว พี่น้องของเขาก็จงให้นะศีหะฮ์แก่เขา” (บันทึกโดยอัลบุคอรี)

นี่คือหน้าที่และสิทธิที่เราต้องให้เกียรติและปฏิบัติ และการให้นะศีหะฮ์นั้นจะมีหลายกรณีที่เราประสบในสังคมแต่เรามักจะไม่ให้ความสำคัญ เช่น บางคนที่จะมาถามนักวิชาการหรือผู้รู้เพื่อขอคำปรึกษาหรือคำพิพากษาจากศาสนาว่าตัดสินอย่างไรในเรื่องนั้นๆ หากไม่มีผู้รู้คนอื่นที่จะทำหน้าที่ตรงนี้แทนเขา ผู้รู้ที่ถูกถามโดยตรงก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้คำตอบแก่ผู้ถาม หากว่าไม่ได้ให้คำตอบก็จะถือว่าเขาบกพร่องในมุมมองของศาสนา เช่นเดียวกันผู้รู้ที่มีความรู้ในด้านหนึ่งด้านใด แม้กระทั่งวิชาการแห่งสามัญหรือทางโลก หากเขาถูกถามหรือขอคำปรึกษาจากพี่น้องมุสลิมคนใดก็ตาม ก็จำเป็นอย่างยิ่งแก่เขาที่ต้องให้นะศีหะฮ์

มีคำถามที่เราต้องหาคำตอบว่า เมื่อมีกรณีที่เราพบเห็นความผิด เห็นพี่น้องของเรากระทำความผิดในลักษณะที่ขัดกับหลักการศาสนา เราต้องรอให้เขามาถามเราเกี่ยวกับความผิดนั้น หรือเราต้องไปหาเขาเพื่อให้นะศีหะฮ์แก่เขา? อุละมาอ์ได้เปรียบเทียบการให้นะศีหะฮ์แก่พี่น้องมุสลิมว่าเสมือนกับเรากำลังเห็นคนจมน้ำหรือถูกไฟเผาหรือกำลังประสบปัญหาที่จะนำไปสู่ความหายนะ ด้วยความสงสารและความรับผิดชอบเราต้องเป็นฝ่ายวิ่งไปหาเขาเพื่อนำเขาออกจากหายนะนั้น เมื่อเราเห็นคนหนึ่งคนใดปฏิบัติในสิ่งที่จะทำให้เขาถูกนำไปยังนรกญะฮันนัมหรือความหายนะแห่งปรโลก เราก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ของเราในการให้นะศีหะฮ์

การให้นะศีหะฮ์นั้นเป็นอมานะฮ์ที่ศาสนายืนยันว่าเป็นสิทธิของพี่น้องมุสลิมของเรา ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

المستشار مؤتمن
ความว่า “ผู้ที่คอยให้คำปรึกษาผู้อื่นนั้นต้องเป็นผู้มีอมานะฮ์”
(บันทึกโดยอบูดาวูด)

ต้องทำหน้าที่ให้คำปรึกษาอย่างซื่อสัตย์สุจริต คนหนึ่งคนใดถูกถามว่า “สมควรไหมที่จะกระทำสิ่งเหล่านี้?” หากเขารู้ว่าไม่สมควรกระทำหรือหากทำจะเกิดอันตราย แต่เขาจะยังให้คำปรึกษาในมุมที่ตรงข้ามกับความจริงที่ต้องพูด ก็ถือว่าเขาทรยศต่ออมานะฮ์ ไร้ความซื่อสัตย์ เป็นผู้ให้คำปรึกษาที่จะนำผู้อื่นสู่หายนะ ถือว่าเป็นคนที่ทุจริตต่อหน้าที่ของเขาในฐานะที่ปรึกษาไม่ว่าในเรื่องใดก็ตาม แต่ที่เป็นความผิดมหันต์ก็คือการให้คำปรึกษาแก่พี่น้องมุสลิมของเราไปสู่แนวทางที่ขัดกับหลักการศาสนา

หลายประเด็นนะครับในสังคมที่เราจะเห็นได้ว่าเป็นหน้าที่ที่เราต้องปฏิบัติแต่เรามักจะไม่ปฏิบัติ คนหนึ่งถูกถามว่า “สมควรไหมหากฉันจะยกลูกสาวฉันกับผู้ชายคนนี้? เพราะเขาเป็นคนที่มีศาสนา มีฐานะที่ดีในด้านหลัการ ด้านจริยธรรม” เขามาถามเราเพราะบุคคลนั้นเป็นญาติหรือเพื่อนสนิทหรือคนที่เราเกรงใจ แต่ขณะเดียวกันผู้ถามก็ไม่รู้ว่าเขาก็เป็นศัตรูของเรา เป็นคนที่เราไม่รักไม่ชอบเขา เราก็จะบิดเบือนความจริงและบอกว่า “เขาเป็นคนเลว” เพื่อให้คนที่มาขอคำปรึกษาได้นำคำพูดของเราไปปฏิบัติ เช่นนี้ก็เป็นการทุจริต เป็นการให้คำปรึกษาโดยไม่มีอมานะฮ์ ไม่มีความสุจริต นี่คือการให้นะศีหะฮ์ในฐานะผู้ศรัทธาโดยปราศจากผลประโยชน์ตอบแทน แต่ถ้าหากทำงานในบริษัทหรือข้าราชการเป็นที่ปรึกษาที่รับเงินเดือน มีค่าตอบแทน แล้วไม่ทำหน้าที่ตรงนี้อย่างถูกต้องตามหลักการตามบรรทัดฐานแห่งอาชีพของเขาก็จะยิ่งเป็นการทุจริตที่ตกต่ำสำหรับจริยธรรมของบรรดาผู้ศรัทธา

พี่น้องจะสังเกตว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมแห่งศาสนา แต่ในบรรดาบทบัญญัติต่างๆ จะผูกพันเรื่องเหล่านี้กับอีหม่านกับศาสนา จะถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และนั่นคือคำพิพากษาในอัลกุรอานว่าการนะศีหะฮ์นั้นเป็นศาสนาเป็นความศรัทธา สังคมและผู้ศรัทธาจะมีความมั่นคงตราบใดที่เราปฏิบัติเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด นะศีหะฮ์ซึ่งกันและกัน สังคมจะไม่มียาเสพติด จะไม่มีใครสูบบุหรี่ สังคมจะไม่มีใครทรยศตำแหน่ง สังคมจะไม่มีใครกระทำสิ่งที่ผิดหลักการ หรือจะทำให้ความผิดต่างๆ ในสังคมลดน้อยลงไป หากว่าเราปฏิบัติหน้าที่การตักเตือนซึ่งกันและกัน

เราเห็นลูกหลานของเราแม้ไม่ใช่ทางสายเลือดโดยตรงกำลังทำความผิด เราก็ไปหาเขาแล้วบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผิดนะ อย่าทำนะ เราจะไม่ถือว่าลูกหลานคนอื่นเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ควรไปยุ่ง นี่เป็นลักษณะการปฏิบัติของใครหลายคนแม้กระทั่งคนที่เคร่งศาสนาบางคน เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องก็มักจะไม่ไปยุ่ง หาว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ที่จริงปัญหาของพี่น้องมุสลิมของเรานั้นถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุด เพราะเป็นหน้าที่ เป็นความรับผิดชอบของเราที่ต้องนะศีหะฮ์พี่น้องมุสลิมของเรา

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผมอยากจะฝากให้พี่น้องได้พิจารณาว่าเราสามารถทำอะไรได้ให้สังคมของเรา เราสามารถนะศีหะฮ์ด้วยลิ้นของเรา หรือนะศีหะฮ์ด้วยหนังสือ แต่อย่าเขียนบัตรสนเท่ห์นะครับ นะศีหะฮ์ต้องเอ่ยชื่อ ไม่ใช่เขียนบัตรสนเท่ห์ด่าชาวบ้านแล้วอ้างว่านี่คือนะศีหะฮ์ ที่จริงคือการนะศีหะฮ์อันเลวร้ายที่ศาสนาประณามอย่างรุนแรง ไม่ใช่มารยาทของมุสลิม เพราะมุสลิมจะนะศีหะฮ์ก็ต้องเสนอตัวอย่างชัดเจน ให้คำปรึกษาด้วยความสุจริตด้วยการยืนยันว่านี่คือหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ การนะศีหะฮ์จะใช้วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือช่องทางอื่นๆ ก็ได้ แต่ขอให้เราได้มีหน้าที่ในการตักเตือนพี่น้องมุสลิมของเรา

วัสสลามุอลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์
 


เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 51, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ-อุมมุซัยฟุลลอฮ

การนะศีหะฮฺ(ตักเตือน)พี่น้อง (สู่อีมานที่มั่นคง 51)