คุชูอฺด้วยการตั้งเจตนาที่บริสุทธิ์ 2 (สู่อีมานที่มั่นคง 47)

Submitted by dp6admin on Wed, 11/12/2019 - 19:27
เนื้อหา

เจตนานั้นต้องอยู่พร้อมกับตักบีเราะตุลอิห์รอม การที่เราจะเตรียมเจตนารมณ์ มีความตั้งใจในการละหมาดนั้นมีหลายประเภท ดังนี้ 

พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพทั้งหลายครับ อัสสลามุอลัยกุมวะเราะหฺมะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮฺ 

เราได้พูดถึงความสำคัญแห่งการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่การเฝ้าอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา เคารพภักดี สักการะพระผู้เป็นเจ้าของเรา ซึ่งเป็นสถานการณ์อันยิ่งใหญ่ในชีวิตของมุสลิมในทุกวันทุกคืน เป็นอมานะฮ์ที่ลึกซึ้งสำหรับผู้ศรัทธาทุกคน การที่เราจะรับคำสั่งใช้จากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเข้าสู่การปฏิบัติศาสนกิจเป็นเรื่องที่เราต้องเตรียมพร้อมในทุกประการ

เราได้พูดถึงความสำคัญในการเตรียมเจตนาที่ดีที่เราต้องแสดงต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลาก่อนที่เราจะเข้าสู่การละหมาด ขณะที่เรากำลังเริ่มการละหมาดด้วยการกล่าวตักบีเราะตุลอิห์รอม อุละมาอ์กล่าวว่า เจตนานั้นต้องอยู่พร้อมกับตักบีเราะตุลอิห์รอม 

การที่เราจะเตรียมเจตนารมณ์ มีความตั้งใจในการละหมาดนั้นมีหลายประเภท ดังนี้ 

1. เจตนา(เนียต)ที่เกี่ยวกับการแยกการกระทำที่เป็นความเคยชินกับการกระทำที่เป็นการปฏิบัติศาสนกิจ

การกระทำที่เป็นเคยชิน เช่นการที่เรายืน ก้ม นั่ง มีหลายสภาพในการละหมาดที่หลายคนก็อาจจะมีสภาพเหล่านี้ในการออกกำลังกาย นั่นคือความเคยชิน เป็นอาดะฮ์ เป็นเรื่องปกติหรือการกระทำทั่วไปที่มนุษย์ทุกคนสามารถทำได้ แต่เราจะแยกอย่างไรเพื่อให้การกระทำดังกล่าวออกจากสภาพความชินที่เราทำทุกวันทุกคืนให้เป็นการปฏิบัติศาสนกิจ นั่นคือการตั้งเจตนาก่อนการละหมาด ที่ต้องเจตนาว่าสิ่งที่เราจะทำขณะนี้เป็นการละหมาด ไม่ใช่การออกกำลังกาย เป็นการปฏิบัติศาสนกิจ เป็นการเฝ้าพระผู้เป็นเจ้า เป็นการเคารพภักดี สักการะอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา มิใช่การออกกำลังกายเหมือนมนุษย์ทั่วไป ซึ่งเจตนาชนิดนี้เรียกว่า “เจตนาที่ใช้แยกแยะระหว่างอิบาดะฮ์ (ศาสนกิจ) และอาดะฮ์ (กิจกรรมทั่วไป)” 
ขณะที่เราจะทำอิบาดะฮ์เราต้องมีความตั้งใจว่าการกระทำที่เรากำลังจะปฏิบัติขณะนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา เกี่ยวกับการทำหน้าที่ทางศาสนา ไม่เกี่ยวกับดุนยาหรือประเพณีทั่วไป

2. “เจตนา(เนียต)ที่จำแนกระหว่างอิบาดะฮ์ที่เป็นฟัรฎูหรือสุนนะฮ์”

ก่อนจะละหมาดศุบหิเราก็ต้องเจตนาว่านี่คือการละหมาดฟัรฎูศุบหิไม่ใช่สุนนะฮ์ก่อนการละหมาดศุบหิ หรือจะละหมาดสุนนะฮ์ของซุฮ์ริไม่ใช่การละหมาดฟัรฎูซุฮ์ริ การจำแนกตรงนี้มีความสำคัญเพื่อจะได้แยกแยะระหว่างสิ่งที่เป็นวาญิบกับสุนนะฮ์ เพราะการละหมาดวาญิบนั้นสำคัญและยิ่งใหญ่กว่าการละหมาดสุนนะฮ์ ถ้าจะละหมาดโดยมีเจตนาทำสุนนะฮ์ขณะที่ยังไม่ได้ละหมาดฟัรฎูก็จะถือว่าเป็นข้อบกพร่องของบรรดาผู้ศรัทธา เพราะฉะนั้นการที่จะเตรียมเจตนาที่ถูกต้องตรงนี้ เป็นเรื่องที่จะทำให้เรามีศักยภาพในการทำอิบาดะฮ์อย่างถูกต้อง

3. เจตนา(เนียต)จำแนกระหว่างการทำอิบาดะฮ์เพื่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลากับการทำอิบาดะฮ์เพื่อผู้อื่นจากอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา” หรือที่เรียกกันว่า “อัลอิคลาศ-ความบริสุทธิ์ใจ” แต่ความหมายที่แท้จริงนั้นลึกซึ้งกว่านั้น 
อัลอิคลาศนั้นหมายถึงการหลีกเลี่ยง การหันห่างออกจากสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่เป็นการตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่สกปรกคือการตั้งภาคี (ชิรก์) และการโอ้อวด (ริยาอ์) โดยพยายามทำให้การงานของเราบริสุทธิ์จากทุกสิ่งทุกอย่างที่ขัดกับพระประสงค์ของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา 

นี่คือสามประเภทที่เราจะต้องตั้งเจตนาก่อนการละหมาด การจำแนกระหว่างอิบาดะฮ์กับอาดะฮ์, การจำแนกระหว่างฟัรฎูกับสุนนะฮ์ และการมีเจตนาที่อิคลาศ

แต่การเตรียมเจตนานี้ไม่ใช่เรื่องง่ายดายสำหรับทุกคน ทว่าเป็นเรื่องที่ยากสำหรับผู้ศรัทธา เพราะทุกคนอ้างได้ว่าเขามีความบริสุทธิ์ใจ แต่ความจริงว่าใครที่มีความบริสุทธิ์ใจนั้น นั่นเป็นเรื่องของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา เพราะไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่าใครมีอิคลาศหรือใครไม่มี เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้ คนที่แสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยลิ้นของเขา อวดว่าเขามีอิคลาศ คนเหล่านี้แหละคือบุคคลที่อิคลาศของเขาน่าสงสัย แต่คนที่ไม่ชอบพูด คนที่ไม่ชอบอวด ซึ่งเป็นบุคคลที่ยำเกรงต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา กลัวว่าสถานภาพจิตใจของเขานั้นจะมีริยาอ์ ไม่มีอิคลาศ นั่นคือบุคคลที่จะมีอิคลาศ เพราะฉะนั้นอิคลาศไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาอวดได้ เพราะเป็นเรื่องภายในจิตใจของเรา 

หากว่าเราพูดว่าเราหิวอาหาร กระหายน้ำ นั่นคือการบอกถึงเรื่องที่อยู่ภายในของเรา ซึ่งเราอาจจะพูดถูกหรือผิดก็ได้ แต่เรื่องอิคลาศนั้นเป็นเรื่องของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ไม่มีใครสามารถยืนยันตรงนี้ได้นอกจากผู้ที่อัลลอฮ์ได้รับรองว่าเขาเหล่านั้นเป็นคนที่มีอิคลาศ
พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพทั้งหลายครับ การที่จะตั้งเจตนานั้นไม่เกี่ยวกับลิ้นและอวัยวะต่างๆ อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลาและท่านนบีมิได้ใช้ให้เรากล่าวด้วยลิ้นหรือแสดงด้วยอวัยวะต่างๆ ว่าเรามีเจตนาที่ถูกต้องก่อนละหมาด แต่มันเกี่ยวกับจิตใจหรือหัวใจทั้งสิ้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

إنما الأعمال بالنيات
“แท้จริงนั้นการกระทำทั้งหลายขึ้นอยู่กับเจตนา”
(อัลบุคอรีและมุสลิม)..[อธิบายหะดีษนี้]

จะเห็นได้ว่าเราใช้ศัพท์ว่า “เจตนารมณ์หรือการตั้งใจ” นั้นเป็นคำศัพท์ที่เกี่ยวกับจิตใจทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับลิ้นและอวัยวะต่างๆ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่หน้าที่ของมุอ์มินที่มีอีหม่านที่มั่นคงที่จะแสดงเจตนารมณ์ของเขาด้วยลิ้น โดยกล่าวว่า “ฉันตั้งใจจะละหมาด...” นั่นไม่ใช่อีหม่านที่มั่นคง แต่อีหม่านที่มั่นคงของเขาคือความมั่นคงแห่งเจตนารมณ์ที่มั่นคงในด้านอิคลาศ และแสดงมันด้วยหัวใจ นี่คือสิ่งที่ฝากไว้กับพี่น้องและเราจะพูดถึงความสำคัญในการเตรียมจิตใจและหัวใจของเราสู่การละหมาดต่อไปในฉบับหน้า อินชาอัลลอฮ์ 
วัสสลามุอะลัยกุมวะเราะหฺมะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮฺ


เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 47, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ-อุมมุซัยฟุลลอฮ

คุชูอฺด้วยการตั้งเจตนาที่บริสุทธิ์ 2