การรับใช้ศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นแก่มุสลิมทุกคน 3

Submitted by dp6admin on Fri, 28/12/2018 - 12:34

ความจริงการเคลื่อนไหวเพื่อรับใช้ศาสนาและการเสียสละด้วยพลังและความสามารถในการเรียกร้องไปสู่อัลลอฮฺตะอาลา และการมีอำนาจในการโน้มน้าวจิตใจเพื่อให้เกิดความเข้าใจในบทบัญญัติของอัลลอฮฺตะอาลา และการเทอดทูนคำกล่าวของพระองค์ให้สูงส่งในหน้าแผ่นดินนี้ จำเป็นต้องยึดถือให้เป็นปัจจัยหรือรากฐานที่สำคัญในองค์ประกอบหรือแก่นสารของการอีมานสำหรับมุสลิมทุกคน ดังนั้นเขาจะต้องหยุดตรวจสอบตัวของเขาอยู่เสมอว่าเขาได้ทำอะไรไปบ้างเพื่อศาสนาของอัลลอฮฺ? เวลานอนเขาจะพลิกตัวกลับไปกลับมาด้วยความเป็นห่วงว่าจะนอนไม่เต็มอิ่ม เมื่อได้รับข่าวคราวของพี่น้องมุสลิมทั้งใกล้และไกลเขาก็รู้สึกเป็นห่วงและไม่สบายใจ จะนึกคิดเพื่อหาแนวทางในการนำสัจธรรมไปสู่มหาชน และเกรงไปว่าจะเกิดความบกพร่อง มีความกังวลและห่วงใยว่าจะมีผู้ให้การสนับสนุนศาสนาของอัลลอฮฺจำนวนน้อย เขาไม่เพียงแต่นึกคิดถึงเพื่อบ้านหรือเพื่อนของเขาเท่านั้นว่าจะเรียกร้องเชิญชวนอย่างไร แต่เขาได้คิดถึงเพื่อนร่วมโลกว่าจะทำให้พวกเขาเข้าสู่ศาสนาของอัลลอฮฺตะอาลาเป็นกลุ่มๆอีกด้วย มันช่างเป็นความใฝ่สูงเสียนี่กระไร ! หากมีจิตใจที่จะตอบรับความใฝ่ฝันของมุอฺมินผู้ศรัทธาคนนี้

เมื่อเราพิจารณาใคร่ครวญถึงบางตัวบทของบัญญัติศาสนา ซึ่งระบุเยียวยาสภาพสังคมของมุสลิมแล้ว เราจะพบว่ามันเน้นหนักในด้านการแก้ไขปรับปรุงเป็นปัจจัยสำคัญในการธำรงไว้ซึ่งศาสนา ในทำนองเดียวกันการแก้ไขปรับปรุงจะเกิดเป็นรูปธรรมโดยปราศจากคุณงามความดี และคุณงามความดีหรือความชอบธรรมจะไม่ปรากฏเป็นรูปธรรมโดยปราศจากการแก้ไขปรับปรุง ตามนัยแห่งความหมายนี้ อัลลอฮฺตะอาลาได้ตรัสยืนยันไว้ในซูเราะฮฺอาลิอิมรอน อายะฮฺที่ 110 ว่า

كُنتُمْ خَيْرَ أُمَّةٍ أُخْرِجَتْ لِلنَّاسِ تَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَتَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنكَرِ

ความว่า "พวกเจ้าเป็นประชาชาติที่ดียิ่งซึ่งถูกอุบัติขึ้นสำหรับมนุษยชาติ โดยที่พวกเจ้าใช้กันให้ปฏิบัติความดีและห้ามปรามกันให้ละเว้นความชั่ว"

และท่านร่อซูลุลลอฮฺ صلى الله عليه وسلم ได้กล่าวไว้ว่า

الدِّيْنُ النَّصِيْحَةُ
ความว่า "ศาสนาคือการตักเตือนสั่งสอน"  (บันทึกโดยมุสลิม ในศ่อเฮียะฮฺของเขา)

 

ดังนั้นจงพิจารณาใคร่ครวญดูซิว่า เหตุใดประชาชาติที่ดียิ่งนั้นจึงจำเป็นต้องทำหน้าที่ในการแก้ไขปรับปรุง และศาสนานั้นจะต้องประกอบด้วยรากฐานที่สำคัญคือการตักเตือนสั่งสอนซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้เศาะฮาบะฮฺบางท่านจึงให้สัตยาบันกับท่านนบี  صلى الله عليه وسلم ที่จะให้มีการตักเตือนสั่งสอนแก่พี่น้องมุสลิม

มีรายงานจาก ญะรีร อิบนุอับดุลลอฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า "ฉันได้ให้สัตยาบันกับท่านร่อซูลุลลอฮฺ โดยปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจาอัลลอฮฺ และมุฮัมมัดเป็นเราะซูลของอัลลอฮฺ และให้ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด บริจาคซะกาต เชื่อฟัง จงรักภักดี และให้มีการตักเตือนสั่งสอนแก่มุสลิมทุกคน"  (บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ)

บรรดานักวิชาการทางนิติศาสตร์ได้มีความเห็นตรงกันว่า เคล็ดลับที่อัลลอฮฺตะอาลาทรงบัญญัติข้อบัญญัติต่างๆของศาสนาเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับความจำเป็น และสิ่งที่เป็นความต้องการ และสิ่งที่เป็นความเหมาะสมนั้น จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เป็นความจำเป็นนั้นเป็นรากฐานแห่งผลประโยชน์ ซึ่งการดำรงชีวิตจะต้องขึ้นอยู่กับมัน และถ้าหากคาดการณ์ว่ามันไม่ปรากฏอยู่ แน่นอนย่อมจะนำไปสู่การสูญเสียการดำรงชีวิตของมนุษย์ และย่อมจะก่อให้เกิดความวุ่นวายสับสนและไม่เป็นระเบียบในการดำรงชีวิต

และรากฐานแห่งความจำเป็นนั้นย่อมจะกลับไปหาการรักษาไว้ซึ่งเนื้อหาสาระ 5 ประการคือ -- ศาสนา จิตใจ สติปัญญา เครือญาติ และทรัพย์สิน -- และถ้าหากไม่มีการรักษาไว้ซึ่งห้าประการดังกล่าวนี้แล้ว มนุษยชาติจะดำรงชีวิตอยู่เหมือนสัตว์ป่า และจะดื่มด่ำอยู่กับความชั่วร้ายและความเลวทราม และการดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติและมีชื่อเสียงของเขาจะสูญหายไป อันเป็นพระประสงค์ของอัลลอฮฺตะอาลาที่จะให้มีขึ้นกับพวกเขา

บรรดานักวิชาการได้จัดให้ การรักษาไว้ซึ่งศาสนา เป็นความจำเป็นอันดับแรก ดังนั้นแกนหลักของบัญญัติศาสนาจึงให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ อันได้แก่การมีความเชื่อมั่นอย่างถูกต้องซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของศาสนา รวมถึงหลักการศรัทธาทั้งห้าด้วย ซึ่งโครงสร้างของศาสนาและหลักการศรัทธานี้จะทำให้การกระทำกิจกรรมต่างๆ และการกระทำความดีเป็นสิ่งที่ถูกต้องและได้รับการตอบรับ เช่นเดียวกับการทำญิฮาด อันเป็นจุดยอดสูงสุดของศาสนา และการตักเตือนกันให้กระทำความดีและละเว้นความชั่ว ซึ่งนับได้ว่าเป็นวิญญาณของบทบัญญัติอิสลามดังที่ท่านนบี  صلى الله عليه وسلم ได้กล่าวไว้

จุดมุ่งหมายของบทบัญญัติต่างๆ เหล่านี้ก็คือ การรักษาศาสนา และในทางปฏิบัติดังกล่าวนั้นเป็นที่เข้าใจว่าการงานต่างๆ ที่จะต้องรับผิดชอบนั้นจะหมุนเวียนอยู่กับความจำเป็นนี้ และผู้ที่วาดมโนภาพการดำรงชีวิตที่เต็มไปด้วยการปฏิบัติการงานที่ดี โดยไม่นำเอาการตั้งเจตนานี้มาเป็นจุดเริ่มต้น เกรงไปว่าจะถูกนับเข้าอยู่ในดำรัสของอัลลอฮฺตะอาลาที่ว่า
 

أَلَمْ تَرَ إِلَى الَّذِينَ قِيلَ لَهُمْ كُفُّوا أَيْدِيَكُمْ وَأَقِيمُوا الصَّلَاةَ وَآتُوا الزَّكَاةَ فَلَمَّا كُتِبَ عَلَيْهِمُ الْقِتَالُ إِذَا فَرِيقٌ مِّنْهُمْ يَخْشَوْنَ النَّاسَ كَخَشْيَةِ اللَّـهِ أَوْ أَشَدَّ خَشْيَةً ۚ وَقَالُوا رَبَّنَا لِمَ كَتَبْتَ عَلَيْنَا الْقِتَالَ لَوْلَا أَخَّرْتَنَا إِلَىٰ أَجَلٍ قَرِيبٍ ۗ قُلْ مَتَاعُ الدُّنْيَا قَلِيلٌ وَالْآخِرَةُ خَيْرٌ لِّمَنِ اتَّقَىٰ وَلَا تُظْلَمُونَ فَتِيلًا

ความว่า "เจ้าไม่เห็นดอกหรือว่าผู้ที่ถูกกล่าวกับพวกเขาว่า จงยับยั้งมือของพวกเจ้า (หมายถึงระงับการต่อสู้กับพวกมุชริกีนไว้ก่อน) และจงดำรงการละหมาดและจงบริจาคซะกาต ครั้นต่อมาเมื่อการสู้รบได้ถูกบัญญัติแก่พวกเขา ขณะนั้นกลุ่มหนึ่งในพวกเขาก็กลัวมนุษย์เช่นเดียวกับการกลัวอัลลอฮฺ หรือกลัวมากกว่า และพวกเขากล่าวว่า โอ้พระเจ้าของเรา เหตุไฉนพระองค์ท่านจึงบัญญัติการสู้รบแก่พวกเรา หากพระองค์ท่านจะทรงยืดเวลาแก่พวกเราออกไปอีกสักระยะเวลาหนึ่ง จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ความสนุกสนานแห่งโลกนี้นั้นเป็นเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น ส่วนโลกอาคิเราะฮฺนั้นดียิ่งกว่าสำหรับผู้ที่มีความยำเกรง และพวกเจ้าจะไม่ถูกอธรรมแม้แต่น้อย"  (ซูเราะตุนนิซาอฺ 77)
 


ที่มา : หนังสือ การรับใช้ศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นแก่มุสลิมทุกคน, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี